ยุโรปตะวันออก งานเลี้ยงใกล้เลิกรา


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปล/เรียบเรียง
เรื่อง ดิอีโคโนมิสต์ 14 สิงหาคม 2551

หลังจากวิ่งฉิวมานานหลายปี เศรษฐกิจยุโรปตะวันออกกำลังจะเปลี่ยนมาเป็นเดิน

เศรษฐกิจยุโรปตะวันออกเจริญรุดหน้าอย่างสวยหรูมานานหลายปี และงานเลี้ยงก็ยังไม่จบลงเสียทีเดียว เป็นเวลา 10 ปีหรือมากกว่านั้น ที่ยุโรปตะวันออกได้รับอานิสงส์จากความโชคดีอย่างล้นเหลือชนิดที่คาดไม่ถึง การมีเสถียรภาพทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งรวมถึงชาติยุโรปตะวันออก 10 ชาติ ที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (European Union: EU) ได้เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและช่วย ลดต้นทุนการกู้ยืม แถมยังมีแรงงานที่ขยัน ขันแข็งจำนวนมากซ้ำยังมีค่าแรงถูก บวก พรสวรรค์ในด้านการประกอบการที่เพิ่งจะมีโอกาสแสดงตัว ซึ่งสร้างธุรกิจใหม่ๆ ของเอกชนให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น ดังนั้น ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปตะวันออกจึงมีอัตราการเติบโตที่แสนสดใส

อย่างไรก็ตาม ความรุ่งโรจน์นี้ไม่อาจคงอยู่ได้ตลอดไป ค่าจ้างแรงงานในยุโรปตะวันออกกำลังขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ การขาดแคลนแรงงานเริ่มส่งผลกระทบแล้ว โครงสร้างพื้นฐานที่ล้าสมัย อย่างเช่นสภาพถนนในโปแลนด์ กำลังเป็นเครื่องถ่วงการค้าของหลายประเทศในยุโรปตะวันออก อัตราเงินเฟ้อก็กำลังเพิ่มขึ้นและ ตลาดโลก ซึ่งเป็นทั้งแหล่งระดมทุนและตลาดส่งออกของยุโรปตะวันออก ก็เริ่มฝืดเคืองมากขึ้น แม้จะเผชิญกับปัญหาทั้งหมดข้างต้น แต่การเติบโตในปีนี้ของยุโรปตะวันออกก็ยังคงแข็งแกร่งอย่างเหลือเชื่อ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในเขตยูโรโซนยังเพิ่งจะอยู่ในขั้นเริ่มต้น อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะความ ต้องการภายในยุโรปตะวันออกเองยังคงเพิ่มขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากการค้าภายในยุโรปตะวันออกด้วยกันเองเริ่มเข้ามาชดเชย การส่งออกไปยังยุโรปตะวันตกที่ลดลง

ข้อยกเว้นใหญ่คือ 2 ประเทศแถบทะเลบอลติก เอสโตเนีย และลัตเวีย ซึ่งมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมหาศาลและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าหวาดเสียวมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะนี้ฟองสบู่ในประเทศทั้งสองแตกแล้ว ในลัตเวีย ยอดค้าปลีกลดลง 8.3% ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตในภาคอุตสาหกรรมลดลง 6.4% อุตสาหกรรมก่อสร้างล่ม เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 17% สภาพเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับประเทศที่ตรึงค่าเงินตายตัว อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเอสโตเนียและลัตเวียจะตกต่ำอย่าง รุนแรง ยังไม่มีหลักฐานใดๆ มาสนับสนุน ลัตเวียไม่ได้ถูกบีบให้ ต้องลดค่าเงิน ธนาคารต่างชาติในลัตเวีย ส่วนใหญ่เป็นของสวีเดน และเป็นเจ้าของระบบการเงินส่วนใหญ่ของลัตเวีย ดูจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติในตลาดสินเชื่อโลก และยังไม่มีสัญญาณว่าความตกต่ำในเอสโตเนียและลัตเวียจะระบาดไปยังส่วนอื่นๆ ของภูมิภาค

ส่วนในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันออกคือ โปแลนด์ ทุกอย่างดูดีกว่า การเติบโตในไตรมาสแรก ของปีนี้สดใสคือ 6.1% ชาวโปแลนด์จำนวนมากที่เดินทางไปทำงาน ในอังกฤษและไอร์แลนด์กำลังกลับบ้าน เพราะถูกจูงใจด้วยค่าจ้าง แรงงานที่สูงขึ้น อัตราการว่างงาน ซึ่งเคยสูงถึง 20% ในปี 2003 เกือบจะไม่มีแล้วในโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม การเติบโตของโปแลนด์ อาจจะชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอัตราดอกเบี้ยยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป อัตราดอกเบี้ยในโปแลนด์เคยอยู่ที่ 4% ในปี 2007 และเพิ่มขึ้นเป็น 6% ในขณะนี้และยังอาจจะเพิ่มขึ้นต่อไปอีก ซึ่งจะทำให้ค่าเงิน zloty ของโปแลนด์แข็งแกร่งขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับ เงินยูโร นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวโปแลนด์มุ่งหน้ากลับบ้าน จากอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินที่แข็งขึ้นได้ส่งผลกระทบกับผู้ส่งออกของโปแลนด์

ผู้ที่คอยตำหนิติเตียนรัฐบาลแนะนำว่า รัฐบาลโปแลนด์ควรจะปฏิรูปการคลังของรัฐให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะเงินที่จ่ายไปเป็นสวัสดิการบำนาญ และควรจะเร่งเดินหน้าโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ก่อนที่การหดตัวลงของภาคแรงงาน จะเริ่มขึ้นในทศวรรษหน้า ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้โปแลนด์สามารถเข้าร่วมสกุลเงินยูโรได้ ซึ่งยังดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้เลยก่อนปี 2013 จนกระทั่งบัดนี้ มีสโลวีเนียเพียงประเทศเดียวของยุโรปตะวันออกที่สามารถใช้เงินสกุลเดียวของยุโรป คือเงินยูโรได้ และสโลวะเกียจะเป็นประเทศต่อไปในปีหน้า ส่วนประเทศอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดยังคงห่างไกล

ประเทศที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือฮังการี ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพิงความเชื่อมั่นของตลาดทุนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลที่ไม่ มั่นคงของฮังการีสามารถทำได้ดีเกินคาด ในการฟื้นฟูเสถียรภาพ ของเศรษฐกิจมหภาค หลังจากการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายและการกู้ยืมอย่างแหลกลาญในช่วงปีต้นๆ ของทศวรรษนี้ การขาดดุล งบประมาณของฮังการีสูงถึง 9.4% ของ GDP ในปี 2006 อย่างไร ก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การขาดดุลงบประมาณของฮังการี อาจจะลดลงเหลือเพียง 3.5% ภายในสิ้นปี 2008

แต่นั่นก็ต้องจ่ายไปด้วยราคาที่แสนแพงในรูปของคะแนน นิยมในรัฐบาลที่ตกต่ำหนักขึ้น และเศรษฐกิจที่ชะงักงันเมื่อปีที่แล้ว เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นบ้างแล้ว แต่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่เป็นปัญหาคือสูงกว่า 6% คำถามคือ รัฐบาลฮังการีจะยังเหลือความกล้าพอที่จะรัดเข็มขัดทางการคลังอีกสักรอบหรือไม่ การใช้จ่ายภาครัฐยังคงสูงกว่า 50% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในยุโรป สิ่งที่น่าวิตกอีกประการคือ การที่เศรษฐกิจตั้งท่าจะชะลอตัว ในอีกซีกหนึ่งของทวีปยุโรปซึ่งร่ำรวยกว่า เพราะเศรษฐกิจฮังการีพึ่งพิงการส่งออกไปยังยุโรปตะวันตกอย่างมาก โดยการส่งออกไปยุโรปตะวันตกมีสัดส่วนถึงเกือบ 40% ของ GDP ฮังการี

แม้ว่า EU จะรู้สึกวิตกเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชั่นและแก๊ง อาชญากรรมในชาติสมาชิกหน้าใหม่ล่าสุด (และยากจนที่สุด) คือ โรมาเนียและบัลแกเรีย แต่เศรษฐกิจของทั้ง 2 ชาตินี้กลับเติบโตอย่างรวดเร็วถึงประมาณ 7-8% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทั้งโรมาเนียและบัลแกเรียกลับเป็นประเทศที่เป็นไปได้มากที่สุดว่า เศรษฐกิจจะชะลอตัวอย่างแรง ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในบัลแกเรีย ใกล้จะแตกเต็มที แม้ว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะถูกกรองผ่านส่วนที่เหลือของเศรษฐกิจบัลแกเรียก็ตาม อย่างไรก็ตาม สำหรับในขณะนี้แทบจะไม่มีใครในโรมาเนียและบัลแกเรียจะรู้สึกวิตกเท่าใดนัก หลังจากสามารถหลบเลี่ยงมาตรการลงโทษจาก EU ไปได้ (แม้จะไม่เต็มที่นักในกรณีของบัลแกเรีย) ทำให้นักการเมือง ของ 2 ประเทศบนคาบสมุทรบอลข่านนี้ ดูเหมือนจะคิดว่า การท้าทายกฎแห่งแรงโน้มถ่วงทางเศรษฐกิจก็คงจะไม่ใช่เรื่องยากเช่นเดียวกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.