ข่าวดีของเงินดอลลาร์


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปล/เรียบเรียง
เรื่อง ดิอีโคโนมิสต์ 14 สิงหาคม 2551

เศรษฐกิจของประเทศร่ำรวยกำลังใกล้จะถดถอย แต่กลับเป็นข่าวดีสำหรับค่าเงินดอลลาร์

ผู้จัดการกองทุนและผู้บริหารธนาคารต่างเรียนรู้ว่า นักลงทุนมักจะยอมให้อภัย ถ้าหากว่านักลงทุนรายอื่นๆ กำลังขาดทุนเช่นเดียวกันกับพวกเขา บทเรียนนี้ยังนำมาใช้ได้ เมื่อกล่าวถึงเศรษฐกิจและค่าเงินของประเทศต่างๆ แม้ว่าปัญหายุ่งยากต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินโลกในขณะนี้ อาจจะมีชนวนเหตุมาจาก การตกต่ำของตลาดบ้านและที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ แต่ประเทศที่ร่ำรวยอื่นๆ คือผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ตัวเลขเศรษฐกิจที่เปิดเผยล่าสุดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม แสดงว่าเศรษฐกิจของประเทศในเขตยูโรโซนหดตัวลงในไตรมาสสอง ส่วนตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นก็ตกลงในไตรมาสเดียวกัน ขณะที่ Mervyn King ผู้ว่า การธนาคารกลางอังกฤษกล่าวว่า เศรษฐกิจของอังกฤษคงจะซบเซาภายในอนาคตอันใกล้

แล้วทันใดนั้น ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ดูเหมือน จะแย่น้อยลงในทันที อันที่จริงแล้ว ยอดการส่งออกของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนก็หมายความว่า ตัวเลขการเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสสอง คงจะได้รับการปรับเพิ่มจาก 1.9% เมื่อคิดตามอัตราต่อปีด้วย ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน ในเดือนสิงหาคม ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโรและเงินปอนด์ เนื่องจากตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศรู้สึกว่า คงจะไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก หากจะลงโทษค่าเงินดอลลาร์ ในเมื่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ต่างหากที่แย่ลง ความกลัวว่าค่าเงินดอลลาร์จะตกต่ำอย่างหมดรูป ซึ่งคอยตามหลอกหลอนตลาดการเงินโลกมานานแล้ว ถึงกับทำให้ Ben Bernanke ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) ต้องคอยออกมา พูดเชียร์ค่าเงินดอลลาร์นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ดูเหมือน กำลังจะค่อยๆ มลายหายไป

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้คิดว่า ความกลัวเกี่ยวกับค่าเงินดอลลาร์จะไม่หวนกลับมาอีก ก็เนื่องจากการที่มีฐานรองรับอย่างกว้างขวาง สำหรับการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ เหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ราคาน้ำมันลดลงอย่างมากในช่วงนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นเศรษฐกิจที่จะต้องสูญเสียมากที่สุด ถ้าหากว่าน้ำมันมีราคาแพง เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ เมื่อเทียบกับยุโรปซึ่งมีประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงที่ดีกว่า ดังนั้น เงินดอลลาร์จึงไหลเข้ากระเป๋าประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมากกว่าเงินยูโร เมื่อใดก็ตามที่ราคาน้ำมันพุ่งทะยานขึ้น ขณะที่เขตยูโรโซนยังกลับได้รับเงินยูโรกลับคืนมามากขึ้นจากรายรับที่มาจากการส่งออก เพราะประเทศในเขตยูโรโซนส่งสินค้าออกมากกว่าสหรัฐฯ ถึง 3 เท่าไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมันผู้ร่ำรวยกระเป๋าตุงจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจวางใจได้ว่า การร่วงลงของราคา น้ำมันในขณะนี้จะคงอยู่ตลอดไป แต่ตลาดอาจจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจ ของสหรัฐฯ น่าจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศร่ำรวยอื่นๆ สิ่งที่เป็นตัวจุดชนวนให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร คือการออกมากล่าวยอมรับอย่างลังเล เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมของ Jean-Claude Trichet ประธานธนาคารกลางแห่งยุโรป (European Central Bank: ECB) เขากล่าวว่า ความกลัวที่ว่าเศรษฐกิจ ของเขตยูโรโซนอาจจะหดตัวลงอย่างค่อนข้างรุนแรงอาจจะกลายเป็นความจริง มีน้อยคนที่คาดว่า ธนาคารกลางยุโรปจะตัดสินใจ ลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ เพราะปัญหาเงินเฟ้อในเขตนี้ยังคงสูงเกินกว่าที่จะวางใจได้ และเป็นไปไม่ได้ที่ปัญหาเงินเฟ้อจะลดลงจนกว่าจะถึงปีหน้า (2009) ตลาดมองว่า การออกมายอมรับของ Trichet มีความหมายว่า ความเคลื่อนไหวต่อไปของอัตราดอกเบี้ย ในเขตยูโรโซนคงจะเป็นขาลงเป็นแน่ โดยเราอาจจะได้เห็นธนาคาร กลางยุโรปเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในปีหน้า

แต่เมื่อถึงตอนนั้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ อาจจะบ่ายหน้าไปในทิศทางตรงข้ามและโอกาสที่ช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ กับในยุโรปจะหดแคบลงนี้ ยังเป็นผลดีต่อค่าเงินดอลลาร์ด้วย หลายคนตำหนิ Fed มานานแล้วว่ากดอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ให้อยู่ในระดับที่ต่ำเกินไปมานานเกินไป คือนับตั้งแต่เกิดเหตุฟองสบู่ dotcom แตก ตั้งแต่ต้นทศวรรษนี้เป็นต้นมา เป็น เพราะความซบเซาของเศรษฐกิจในเขตยูโรโซนในขณะนั้น ที่ทำให้ธนาคารกลางยุโรปรู้สึกไม่พร้อมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนกระทั่งถึงเดือนธันวาคม 2005 หรือหลังจากที่ Fed เริ่มคุมเข้มนโยบายดอกเบี้ยมานานแล้วความตกต่ำในครั้งนั้นแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวได้เร็วเพียงใด ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่า กว่าที่ยูโรโซนจะโผล่พ้นขึ้นมาจากความซบเซาได้นั้นต้องใช้เวลาช้านานเพียงใด

หากราคาน้ำมันยังคงลดลงเช่นนี้ต่อไป และเมื่อความตกต่ำ ในตลาดบ้านและที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ตกต่ำลงถึงขีดสุด ซึ่งวันนั้นจะต้องมาถึง การแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์ครั้งนี้จะไปได้ไกลสักเพียงใด สำหรับตัววัดบางตัวอย่างเช่นการเปรียบเทียบอำนาจซื้อเงินดอลลาร์ยังคงดูมีราคาถูกเมื่อเทียบกับยูโร นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันที่ไปเยือนยุโรปต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำไมข้าวของทุกอย่างถึงได้แพงไปหมด ในทางกลับกัน ชาวยุโรปที่เดินทางท่องเที่ยวในสหรัฐฯ กลับนึกยินดีที่เงินของพวกเขาดูมีค่ามากขึ้นที่นั่น การที่ค่าเงินดอลลาร์มีราคาถูกนั้นมีเหตุผล นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน Peterson Institute for International Economics ในกรุงวอชิงตัน คาดการณ์ว่า ค่าเงินดอลลาร์ต่อยูโรที่จะทำให้สหรัฐฯ สามารถรักษาระดับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไว้ในระดับ ที่สม่ำเสมอได้นั้น ควรจะอยู่ที่ 1.47 ดอลลาร์ ซึ่งก็ไม่ต่ำไปกว่าค่าเงินดอลลาร์ต่อยูโรที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่าใดนัก

แม้หากการแข็งแกร่งขึ้นของเงินดอลลาร์ในครั้งนี้อาจจะไม่ยาวนานนัก แต่บทเรียนที่เพิ่งได้รับเมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ มิได้อ่อนแออย่างเป็นเอกเทศ ประเทศเจ้าหนี้อย่างเช่นเยอรมนีกับญี่ปุ่น ซึ่งไม่ได้มีส่วนโดยตรงในความรุ่งเรืองของตลาด ที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ เคยใช้ชีวิตอย่างสุขสบายจากการที่มีความต้องการซื้อสินค้าของพวกเขาเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะนี้บรรดาประเทศเจ้าหนี้ต่างกำลังดิ้นรนกันอย่างสุดฤทธิ์ เพื่อหาเครื่องกระตุ้นอื่นๆ ที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของพวกเขาได้ ในขณะที่ความมืดมนกำลังแผ่กระจายออกไป แต่เมฆหมอกอย่างหนึ่งกลับหายไป การฟื้นตัวขึ้นของดอลลาร์น่าจะทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในเอเชียและประเทศที่ถือครองทุนสำรองเงินตรารายใหญ่ๆ รู้สึกสบายใจมากขึ้น ที่จะยึดมั่นกับเงินดอลลาร์ต่อไป กล่าวโดยสรุปแล้วความเสี่ยงที่ค่าเงินดอลล์จะตกต่ำ และจะสร้างความเสียหาย ที่ไม่อาจคาดคำนวณได้ต่อตลาดสินทรัพย์ทั้งหมด ได้บรรเทาเบาบางลงอย่างมากแล้วในขณะนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.