|
ปัญหาเงินเฟ้อของอังกฤษ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปล/เรียบเรียง
เรื่อง ดิอีโคโนมิสต์ 14 สิงหาคม 2551
ตราบใดที่ราคาสินค้ายังคงแพงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ธนาคารกลางอังกฤษก็ไม่อาจลดดอกเบี้ยได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลที่กำลังคลอนแคลน
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าทุกอย่างในอังกฤษจะพร้อมใจกันเลวร้ายลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเลวร้ายที่สุดเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดบ้านที่ตกต่ำลงกว่าที่คาดว่าจะตกต่ำอยู่แล้ว ทั้งราคาบ้าน ยอดการ ซื้อขาย และการลงทุนในที่อยู่อาศัยต่างตกต่ำลงอย่างฮวบฮาบ และนั่นก็คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในอังกฤษลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหักล้างพยากรณ์เศรษฐกิจก่อนหน้านี้ที่ว่า เศรษฐกิจของอังกฤษจะชะลอตัวลงปานกลาง นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุทำให้ การว่างงานเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่แย่ที่สุดก็คือ การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่รุนแรงมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้
ธนาคารกลางอังกฤษมีภาระที่จะต้องรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งวัดโดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2% ต่อปี แต่เพียงเดือนมีนาคม เงินเฟ้อก็เกินเพดานดังกล่าวไปเสียแล้ว โดยอยู่ที่ระดับ 2.5% สูงกว่าเงินเฟ้อเป้าหมายไปเล็กน้อย แต่พอถึงเดือนพฤษภาคม เงินเฟ้อก็พุ่งขึ้นแตะระดับ 3.3% แล้วกระโดดขึ้นไปอยู่ที่ 4.4% ใน เดือนกรกฎาคม การเพิ่มขึ้นถึง 0.6% ภายในเดือนเดียวตั้งแต่มิถุนายน (ซึ่งเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 3.8%) ถึงกรกฎาคม ยังเป็นการ เพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่มากที่สุด นับตั้งแต่เริ่มวัดค่าดัชนี CPI เมื่อปี 1997 เป็นต้นมา
แต่ตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่งเปิดเผยล่าสุดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ยิ่งเลวร้ายไปกว่าทั้งหมดที่ผ่านมาในปีนี้ โดยตัววัดเงินเฟ้อที่มีฐาน กว้างกว่าและใช้มานานกว่า CPI คือ ดัชนีราคาขายปลีก (RPI) พุ่งขึ้นถึง 5.0% ในรอบ 12 เดือนเมื่อนับถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ ซึ่งนับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นมา สาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรงมาจาก ราคาอาหารที่แพงขึ้น และหากวัดด้วยดัชนี CPI แล้ว เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 12.2% ในรอบระยะเวลา 1 ปีที่นับถึงเดือนกรกฎาคม อันเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา และเพิ่มจากเดือนมิถุนายนซึ่งอยู่ที่ระดับ 9.7%
อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าแพงขึ้นอย่างรวดเร็วแทบทุกอย่าง เพราะแม้กระทั่งตัววัดเงินเฟ้อที่เรียกว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core CPI) ซึ่งตัดราคาพลังงานและอาหาร อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจในครั้งนี้ออกไปแล้ว แต่ core CPI เดือนสิงหาคมก็ยังคงเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ธนาคารกลางอังกฤษได้คาดการณ์ไว้ โดยเพิ่มขึ้นจาก 1.6% ในเดือนมิถุนายนเป็น 1.9% ในเดือนกรกฎาคม
ราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงนี้ ทำให้พอจะมองเห็นแสงแห่งความหวังว่า เพราะเป็นการช่วยผ่อนคลายแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีต่อ supply chain ของผู้ค้าปลีก โดยราคาที่ผู้ผลิตต้องจ่ายเป็นค่าซื้อวัตถุดิบและเชื้อเพลิงได้ลดลง 0.6% ในเดือนกรกฎาคม กระนั้นก็ตาม ต้นทุนค่าวัตถุดิบและเชื้อเพลิงก็ยังคงมีราคาสูงกว่า เมื่อ 1 ปีที่แล้วถึง 30.1% นอกจากนี้ยังต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าราคาที่ลดลงเล็กน้อยนี้จะส่งผลดีไปถึงราคาสินค้าในร้านค้าและราคาของผู้ผลิตสำหรับการขายภายในประเทศยังเพิ่มขึ้น 10.2% ในรอบ 12 เดือนที่นับถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982 เป็นต้นมา
แตล่ในส่วนของผู้บริโภคกลับเลวร้ายยิ่งกว่าที่เคย ในรายงาน สถานการณ์เงินเฟ้อรายไตรมาสฉบับใหม่ของธนาคารกลางอังกฤษ ที่เรียกว่า Inflation Report ระบุว่า หากให้อัตราดอกเบี้ยพื้นฐาน (base rate) คงอยู่ที่ 5% ดัชนี CPI จะพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 5% ในไตรมาสที่สามของปีนี้และจะสูงอยู่เช่นนั้นต่อไปจนถึงต้นปี 2009 การพยากรณ์ครั้งใหม่ของธนาคารกลางอังกฤษนี้ เลวร้ายกว่าที่เคย พยากรณ์ไว้ในเดือนพฤษภาคมปีนี้
เท่านั้นยังไม่พอ ธนาคารกลางอังกฤษยังมองในแง่ร้ายมากขึ้นเกี่ยวกับอนาคตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ในเดือนพฤษภาคม รายงานของธนาคารกลางอังกฤษชี้ว่า การเติบโต ของ GDP อังกฤษในปีนี้จะชะลอตัวลงเหลือเพียง 0.9% ในไตรมาสแรกของปี 2009 แต่ในรายงานล่าสุดของธนาคารกลางอังกฤษกลับชี้ว่า เศรษฐกิจแทบจะไม่มีการเติบโตเลยในปีนี้ไปจน ถึงกลางปีหน้า แม้ว่าการส่งออกจะกระเตื้องขึ้นก็ตาม ส่วนการ ใช้จ่ายของผู้บริโภคก็จะลดต่ำลง รวมไปถึงการลงทุนของภาคธุรกิจ และการลงทุนในด้านที่อยู่อาศัยด้วย
ในการเปิดเผยรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม Mervyn King ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษเตือนว่า ปีหน้าจะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับอังกฤษ โดยเงินเฟ้อจะสูงและผลผลิตจะตกต่ำ เศรษฐกิจอังกฤษจะต้องผ่านการปรับตัวอย่างเจ็บปวด เพื่อรับวิกฤติ สินเชื่อและราคาพลังงานและอาหารที่แพงลิ่ว แนวโน้มราคาสินค้า ที่ยังคงสูงต่อไปจะทำให้เศรษฐกิจอังกฤษเกิดภาวะชะงักงัน ซึ่งธนาคารกลางอังกฤษระบุว่า อาจเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น เพื่อจะได้ช่วยปลดปล่อยศักยภาพที่แฝงไว้ออกมา ซึ่งจะช่วยยับยั้ง แรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นราคา ค่าจ้างแรงงานและเงินเฟ้อ
ปฏิกิริยาเบื้องต้นของตลาดการเงินต่อรายงานล่าสุดของธนาคารกลางอังกฤษคือเป็นการมองในแง่ดีเกินไป และเป็นการส่งสัญญาณว่า ธนาคารกลางอังกฤษจะเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวด ในนโยบายการเงินลงในอีกไม่ช้า ในรายงานดังกล่าวธนาคารกลาง อังกฤษยังลดตัวเลขประมาณการการเติบโต และยังคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะลดลงอย่างฮวบฮาบตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไป โดยจะลดลงเหลือต่ำกว่า 2% ซึ่งเป็นระดับเงินเฟ้อเป้าหมายภายในเวลา 2 ปี ขณะที่ตัวเลขตลาดแรงงานที่เปิดเผยในวันเดียวกันปรากฏว่า มีการขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่การเติบโตของรายได้กลับช้าลง นักเศรษฐศาสตร์บางคนคาดว่า ธนาคารกลางอังกฤษอาจจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยลงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้
แต่นั่นดูจะยังไม่ถึงเวลา ในรายงานล่าสุด ธนาคารกลางอังกฤษให้ความสำคัญความเสี่ยงต่างๆ ที่รายล้อมประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดอย่างมาก และแม้ว่าความเสี่ยงเหล่านั้นจะอยู่ในข้างที่ทำให้การเติบโตลดลง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอีกมากที่อยู่ในข้างที่จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ส่วน King ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษก็เลือกที่จะเน้นย้ำถึงความเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น โดยระบุว่า ความเสี่ยงเหล่านั้นดูเป็นจริงเป็นจัง และอธิบายว่าเป็น ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อาจส่งกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานและต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตอันใกล้
ทั้งหมดนี้ก็หมายความว่า ธนาคารกลางอังกฤษจะยังคงระดับอัตราดอกเบี้ย base rate ไว้ที่ 5% ต่อไป จนกว่าจะแน่ใจว่าอันตรายจากเงินเฟ้อได้ผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งคงจะเป็นในปี 2009 มากกว่าปีนี้และนั่นคงจะไม่เป็นการดีต่อนายกรัฐมนตรี Gordon Brown แห่งอังกฤษ ในยามที่พรรคแรงงานของเขาเพิ่งพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมเมื่อเร็วๆ นี้ถึง 3 ครั้งรวด ในเมื่อ ไม่อาจทำอะไรกับนโยบายการเงินได้ นายกรัฐมนตรี Brown ก็อาจจะต้องการหันไปพึ่งนโยบายการคลัง แต่ดูเหมือนว่าเขา จะมีชนักติดหลังจากการที่เคยดำเนินโยบายอย่างขาดความรอบคอบ เมื่อครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังอังกฤษ อย่างไรก็ตาม การเติบโตที่คาดว่าจะชะลอตัวลงยังส่งผลกระทบ ต่อการคลังของอังกฤษด้วย
เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทำให้ยิ่งเป็นการยากหากจะหวังใช้มาตรการทางการคลังมาช่วยผ่อนคลายปัญหาเศรษฐกิจ (อย่าง เช่น การช่วยจ่ายค่าเชื้อเพลิงในช่วงฤดูหนาวให้แก่ประชาชนซึ่งรัฐบาลอังกฤษกำลังพิจารณามาตรการนี้อยู่) ตัวอย่างเช่น งบประมาณสวัสดิการสังคมที่มีมูลค่าเกือบ 280,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2008-2009 จะต้องใช้เงินมากกว่านี้ในปีหน้าโดยวัดจากฐานของดัชนีเงินเฟ้อ RPI ของเดือนกันยายนปีนี้ซึ่ง Morgan Stanley ชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวจะสูงถึงระดับ 5.3% หรือมากกว่าถึง 2% จากระดับที่กระทรวงการคลัง อังกฤษเคยคาดไว้ในงบประมาณเดือนมีนาคม ส่วนสถาบันคลังความคิด Institute for Fiscal Studies ในอังกฤษคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงจะทำให้การใช้จ่ายภาครัฐของอังกฤษ มีภาระเพิ่มขึ้นอีก 3 พันล้านปอนด์ในปี 2009-2010
เมื่อทั้งนโยบายการเงินและการคลังต่างก็ขัดข้องไปเสียทั้งหมด รัฐบาล Brown จึงแทบไม่สามารถจะทำสิ่งใดเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในหลายปีข้างหน้าได้เลย เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น ผลกระทบต่อรายได้ที่แท้จริง เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษกำลังจะมาถึงภายในเดือนมิถุนายน 2010 Brown จึงเหลือเวลาเพียงสั้นๆ เท่านั้น ในการพยายามจะทำให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกลับมาเชื่อถือเขาอีกครั้ง แต่ถึงแม้หากเงินเฟ้อจะลดลงอย่างรวดเร็ว และเศรษฐกิจอังกฤษจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่กลางปีหน้าจริงๆ แต่การฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนก็ยังคงเป็นภาระที่หนักอึ้งสำหรับรัฐบาลอังกฤษอยู่ดี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|