รถไฟฟ้ารฟม.มาต.ค. เล็งขายหุ้นในตลาดฯปี47


ผู้จัดการรายวัน(21 กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เร่งผลิตรถไฟฟ้า รฟม.ได้เร็วกว่ากำหนด 4 เดือนตามเป้า เตรียมส่งมอบตุลาคมนี้ทางเครื่องบิน บีเอ็มซีแอลมั่นใจภาวะเศรษฐกิจที่ขยับดีขึ้นช่วยเพิ่มผู้โดยสาร เล็งเข้าตลาดกระจายหุ้น 25-30% จากทุน 6,800 ล้านบาทในปี 47 เผยมี 5 บริษัทใหญ่สนใจซื้อหุ้น ช.การช่าง ผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมบริหารรถไฟฟ้าใต้ดิน ฟุ้งคุณภาพแผนบริหารที่ดีดึงดูดนักลงทุน ประกาศจับมือพันธมิตรเดิมทั้งแบงก์-ซีเมนส์-ซัปพลายเออร์-ซับคอนแทคเตอร์ ร่วมชิงรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายแน่นอน "สุริยะ"ปลื้มผลงานเร่ง สนข.สรุป ระบบตั๋วร่วมในเดือนก.ค.นี้

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2546 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมในพิธี "ROLLOUT" (การประกอบตัวรถสำหรับรถไฟฟ้าขบวนแรกแล้วเสร็จ) ที่ศูนย์ผลิตตัวรถและประกอบรถ (SIEMENS ROLLING STOCK PLANT) กรุงเวียนนาประเทศออสเตรีย ซึ่งบริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (บีเอ็ม ซีแอล) ผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้ามหานคร สาย เฉลิมรัชมงคล ระยะทาง 20 ก.ม. ( หัวลำโพง-ห้วยขวาง-บางซื่อ) จากการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามในสัญญาให้ บริษัทซีเมนส์ จำกัด เป็นผู้ผลิตและจัดหาอุปกรณ์รถไฟฟ้า โดยมีนายฮูเบิร์ต กอร์บาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนวัตกรรมและเทคโนโลยี แห่งสาธารณรัฐออสเตรีย, นายฮันส์ ดีเทอร์ บอทท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทซีเมนส์ ส่วนธุรกิจระบบขนส่ง,นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าฯรฟม. นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานบริษัทบีเอ็มซีแอล และกรรมการผู้จัดการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บีอีซีแอล ร่วมงาน

นายสุริยะ กล่าวว่า การมีระบบรถไฟฟ้าใต้ ดินจะเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ผลักดันมาตลอดและมั่นใจอัตราค่าโดยสารของ รฟม.ที่ต่ำกว่าระบบรถไฟฟ้า บีทีเอส จะทำให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการมาก อย่างไรก็ตาม ในเดือน กรกฎาคมนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องตั๋วร่วมแน่นอน โดยสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.)จะหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทั้งบีเอ็มซีแอลและบีทีเอส

นายฮูเบิร์ต กอร์บาค รมว.คมนาคม ออสเตรีย กล่าวว่ารถไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย เป็นระบบที่สะดวกสบายมาก ซึ่งซีเมนส์ ผลิตให้กับโครงการในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก จีน(เซี่ยงไฮ้) จึงมั่นใจว่าไทยได้รับระบบที่ดีที่สุดในทศวรรษนี้ไปแน่นอน

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานบริษัท บีเอ็มซีแอล กล่าวว่า การที่ซีเมนส์ สามารถผลิต รถไฟฟ้าให้บีเอ็มซีแอลได้ตามกำหนด ซึ่งเร่งรัดตามนโยบายรัฐบาลนั้น นับเป็นความสำเร็จที่เกิด จากความร่วมมือระหว่างบริษัท กระทรวงคมนาคม รฟม.รวมทั้งสถาบันการเงินที่สนับสนุนโครงการอยู่ และเชื่อว่าการที่บริษัทมีพันธมิตรที่ดี ทำให้บริษัทมีความพร้อมในการเสนอตัวเข้าดำเนินโครงการในส่วนต่อขยายตามนโยบายของรัฐอย่างแน่นอน

สำหรับรถไฟฟ้าขบวนแรก 3 ตู้ ผลิตเสร็จแล้วจะมีการทดสอบ STATIC TEST ที่โรงงานในกรุงเวียนนา สำหรับหน้าที่ต่าง ๆ ของระบบที่ติดตั้งประมาณ 2 เดือน จากนั้นจะส่งไปยังศูนย์ทดสอบในเรื่อง WILDENRATH ประเทศเยอรมนี ในส่วนทางกลศาสตร์ (DYNAMIC TEST) อีก 3 เดือน

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการบีเอ็มซีแอล กล่าวว่า บีเอ็มซีแอลทำสัญญาให้ซีเมนส์ ผลิตรถไฟฟ้า 30 เดือน แต่มีการเร่งรัดใหัเหลือ 26 เดือนคาดว่ารถไฟฟ้าจะถึง กรุงเทพฯในกลางเดือนตุลาคม 2546 และขนส่ง มาทางเครื่องบินทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 6 เท่าแต่ทำให้ได้รถไฟฟ้ามาทดสอบได้เร็วขึ้น

ขณะเดียวกันมั่นใจภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้มีปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการรถไฟฟ้า มากขึ้นตามลำดับ สำหรับแผนในการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้นเตรียมที่จะเข้าไปกระจายหุ้นจำนวน 25-30 % จากทุน 6,800 ล้าน บาท ภายในปี 2547 ขณะนี้มีบริษัทใหญ่ 5 แห่งได้ขอเจรจาและสนใจที่จะซื้อหุ้นกับช.การช่างในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อหวังเข้าร่วมบริหารรถไฟฟ้าใต้ดิน

หลังจากที่รถไฟฟ้าใต้ดินเปิดเดินรถอย่างเป็นทางการ หลังวันที่ 12 สิงหาคม 2547 การคิดอัตราค่าโดยสารจะอยู่ในอัตราเฉลี่ย 12-30 บาท ตลอดระยะทาง 18 สถานี เฉลี่ยสถานีละ 2 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ปรับลดลง 15% จากอัตราเดิม 14-36 บาท และหลังจากเปิดให้บริการคาดว่าจะมีประชาชนใช้บริการ 250,000-270,000 คนต่อวัน มีรายได้ตอบแทนวันละ 6 ล้านบาท และ บีเอ็มซีแอล สามารถปรับราคาตามดัชนีผู้บริโภค ทุก 2 ปี

ขณะที่ปัจจุบันโครงการมีภาระดอกเบี้ยจาก เงินกู้ปีละ 600 ล้านบาทต่อปี วงเงินกู้ 11,500 ล้านบาท และคาดว่าหากแผนการจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมาย บีเอ็มซีแอล จะสามารถคืน ทุนจากโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินภายใน 12-14 ปี และคาดว่าจะจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นได้ภายใน 5 ปี

สำหรับความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน ขณะนี้หลังจากที่การก่อสร้างระบบรางคืบหน้าแล้วกว่า 90% ความคืบหน้าของระบบรางไฟฟ้าเองก็แล้วเสร็จมากกว่า7 0% การผลิตอุปกรณ์สำหรับรองรับระบบงานอื่นๆ คืบหน้าร้อยละ 70% โดยจะมีการส่งมอบรถไฟฟ้าขบวน แรกโดยเครื่องบินมายังไทยในกลางเดือนตุลาคม นี้ ก่อนจะมีการเปิดวิ่งให้บริการบางส่วน ในวันที่ 13 เมษายน 2547 และจะมีการเปิดวิ่งให้บริการอย่างเป็นทางการทั้ง 13 ขบวน ในเดือนสิงหาคม ของปีเดียวกัน

ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวถึงการเปิดเดินรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อให้ประชาชนทดลองใช้ หลังวันที่ 13 เมษายน 2547 นั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังหารือถึงกรอบระยะเวลาที่จะให้ประชาชนทดลองใช้ เนื่องจากปัจจุบันยอมรับว่าค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าใน แต่ละวันสูงหลายล้านบาท โดยโครงการถไฟฟ้า ใต้ดิน หรือรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล มีระยะทาง 20 กิโลเมตร จำนวน 18 สถานี จะมีขบวนรถไฟฟ้าใต้ดินในโครงการทั้งสิ้น 19 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ มูลค่าโครงการ 352 ล้านยูโร หรือประมาณกว่า 16,000 ล้านบาท โดยมีองค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าของโครงการ บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ BMCL เป็นเอกชนผู้ลงทุนพัฒนาระบบการเดินรถ และได้ว่าจ้างบริษัท ซีเมนส์ ของ เยอรมนี เป็นผู้ประกอบรถไฟฟ้าด้วยวงเงินทั้งสิ้น 10 ล้านยูโร หรือประมาณ 470 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.