WeBooking by TrueMoney ก้าวที่มีนัยหรืออีกช่องทางหาเงิน


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา True ภายใต้แบรนด์ True Money เป็นหัวหอกจัดงานเล็กๆ ขึ้นบนชั้น 5 สยามพารากอน อันเป็นแหล่ง รวมความบันเทิงแบบ Out-Home ของคนเมืองรุ่นใหม่

เริ่มต้นด้วยพรีวิวการแสดงละครเวทีของนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ โชว์หุ่นละครเล็กโจหลุยส์ ตบท้ายคอนเสิร์ตของเหล่าศิลปินวงอินดี้

ส่วนเนื้อหาที่แท้ของงานเป็นการเปิดตัวบริการใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นธุรกิจใหม่ของ True ก็ว่าได้ นั่นคือ บริการจองบัตรบันเทิงทุกประเภท โดยใช้ชื่อว่า WeBooking by TrueMoney หรือก็คือธุรกิจแบบเดียวกับ Thaiticketmajor ของกลุ่มเมเจอร์นั่นเอง

ทั้งนี้ การนำเอาละครมหาวิทยาลัยและศิลปินอินดี้มาแสดง เปิดงาน ไม่เพียงเพื่อเป็นสื่อที่น่าจะช่วยให้ "แบรนด์น้องใหม่" เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กวัยรุ่นได้ดี ท่ามกลางความคุ้นชินกับ "เจ้าเก่า" ซึ่งเป็นรายแรกและเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย "ความอินดี้" หรือการอยู่นอกกระแส ยังเป็นจุดเด่นที่อาจทำให้ผู้บริโภคตระหนักในแบรนด์ WeBooking ได้เร็วขึ้น

และยังเป็นวิธีอำพรางจุดอ่อนอย่างแนบเนียน เพราะขณะที่ True เพิ่งเปิดตัวและยังไม่มีคอนเสิร์ตระดับโลก หรือละครเวทีฟอร์มยักษ์ในลิสต์ มีเพียงคอนเสิร์ต True AF5 ซึ่งปีก่อนๆ ยังต้อง พึ่งพาบริการของ Thaiticketmajor วันนี้ "พี่ใหญ่" มีการแสดงใหญ่ระดับชาติและระดับโลกอยู่ในลิสต์หลายสิบรายการ

สำหรับ "สินค้า" ที่ WeBooking สรรหามาขายมีทั้งคอนเสิร์ต ละครเวที ตั๋วโดยสาร แพ็กเกจทัวร์ โรงแรมที่พัก บัตรชมการแข่งขันกีฬา ซีดีเพลงหายาก แม้แต่คอร์สอบรมสัมมนา แพ็กเกจตรวจสุขภาพ แพ็กเกจเชียร์บอลติดขอบสนาม แพ็กเกจ ดูฟอร์มูล่าร์ 1 กระทั่งนวนิยายอมตะอย่างเพชรพระอุมา หรือสินค้านำเข้าจาก Loft ฯลฯ

สินค้ามากมายที่โชว์ในเว็บไซต์ www.weloveshopping. com ใน section WeBooking

เหล่านี้ถือเป็นความหลากหลาย...ที่ใกล้เคียงกับความปนเป สะเปะสะปะจนเกือบแยกไม่ออก สมกับสโลแกนที่ผู้บริหาร True Money ตั้งไว้ว่า "นึกถึงการจอง นึกถึง WeBooking" แถมยังต่อท้ายว่า จองด้วย WeBooking ก็อย่าลืมจ่ายด้วย True Money เพื่อความสะดวกแบบเบ็ดเสร็จ

อีกทั้งยังชูจุดขายสำคัญ ได้แก่ ช่องทางจอง-จ่าย-รับบัตรที่มากและสะดวกกว่า โดยเฉพาะช่องทางจอง-จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือทรูมูฟ ทรูชอป ทรูมูฟชอป ทรูไลฟ์ชอป ทรูคอฟฟี่ เคาน์เตอร์ ทรูมันนี่เอ็กเพรสในซีพีเฟรชมาร์ท เคาน์เตอร์เซอร์วิสใน 7-11 ภายใต้คาถาบทเดิม "convergence"

อันที่จริง ช่องทางที่เพิ่มขึ้นอาจไม่มีนัยสำคัญนักสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งวิชา พูลวรลักษณ์ ระบุว่าเป็นผู้มีรายได้และการศึกษาสูง ดังนั้นเพียงมีเว็บไซต์ที่เสถียรและใช้ได้ 24 ชั่วโมง กับ Call Center ที่มีคู่สายมากพอและระบบจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตที่ปลอดภัย เท่านี้ก็ "ได้ใจ" แล้ว

ขณะที่การรับบัตร True อาจได้เปรียบกว่าเล็กน้อย เพราะ นอกจากบูธหน้างาน WeBooking ยังมีทรูชอป ทรูมูฟชอป ทรูไลฟ์ชอป ทรูคอฟฟี่ ซึ่งมีมากกว่า 100 สาขา หลายแห่งเปิดจนดึก ส่วนอีกแบรนด์จะมีจุดรับตามห้างใหญ่ที่มักปิดราว 21.00 น. และที่เมเจอร์และอีจีวีทุกสาขา แต่ต้องเสียค่าบริการ 10 บาท

อย่างไรก็ดี หาก True ฝันจะวางตัวเองเป็น "เจ้าแห่งความบันเทิงและไลฟ์สไตล์" โดยมี True Visions เป็น Gateway to In-Home Entertainment และหมายมั่นให้ WeBooking เป็นประตูสำหรับความบันเทิงนอกบ้าน การโค่นแชมป์เก่าอย่างเมเจอร์ ก็คงเป็นศึกที่ใหญ่หลวงนัก

แต่หากแค่หวังเม็ดเงินจากเจ้าของ "สินค้า" และกระแสเงินสดในบัญชี True Money จากการใช้บริการของลูกค้า แม้ว่าเส้นทางนี้จะไม่มีคู่แข่งมากมาย แต่ True ก็คงต้องเดินอีกไกลเพื่อพิสูจน์ตัวเอง โดยหวังว่าจะไม่หลงทางไปเสียก่อน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.