|
รุกเปิด K-Buyer Financing ต่อห่วงโซ่การเงินให้กับ IRPC
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
สำหรับวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ต้องถือว่าเป็นการออกงานครั้งแรกหลังรับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และห่างไปจากวงการหลักทรัพย์จัดการกองทุน อันเป็นงานที่เธอมีประสบการณ์คร่ำหวอดถึง 15 ปี
วิถีใหม่ของวิวรรณในกรอบบทบาทของผู้ใหญ่ในพิธีเปิดงานแถลงข่าวร่วมกับบริษัทปิโตรเคมี IRPC ดำเนินไปอย่างเป็นพิธีการ โดยแถลงถึงวัตถุประสงค์ของบริการนวัตกรรมทางการเงินใหม่" K-Buyer Financing" ที่ธนาคารจะสนับสนุนสินเชื่อแก่กลุ่มผู้แทนจำหน่ายเม็ดพลาสติกของ IRPC ในวงเงินเบื้องต้น 800 ล้านบาท
"วงเงินสินเชื่อดังกล่าวจะได้รับเงื่อนไขพิเศษ ด้านอัตราดอกเบี้ยและหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะช่วยสภาพคล่องทางธุรกิจ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ธนาคารยังนำระบบเทคโนโลยีทางการเงิน e-Supply Chain ซึ่งเป็นระบบชำระเงินและเบิกใช้วงเงินสินเชื่อออนไลน์มาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ผู้แทนจำหน่าย เม็ดพลาสติกของ IRPC อีกด้วย" รองกรรมการผู้จัดการกล่าว
สำหรับการทำธุรกิจแบบ B2B ที่เชื่อมโยงระบบชำระเงิน กับระบบสั่งซื้อขายออนไลน์ของ IRPC ที่ชื่อว่า "IDEALS" (IRPC Digital E-commerce Account & Logistic System) ถือว่าเป็นครั้งแรกที่เปิดใช้โดยสุพล ทับทิมจรูญ รองกรรมการผู้จัดการ ใหญ่ บมจ.IRPC เปิดเผยว่า
"ในปีที่ผ่านมา IRPC ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ IRPC Digital Ecommerce Account & Logistic System เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระหว่างกัน
ในปีนี้เอง เราพัฒนาอยล่างต่อเนื่องได้นำระบบ ERP และ SAP เข้ามาช่วยการบริหารการจัดการและวางแผนภายในของบริษัท เชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ จากต้นทางสู่ปลายทางธุรกิจ ให้เป็นมาตรฐาน เดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลผู้แทนจำหน่าย ผู้ค้า บริษัทในเครือให้มีประสิทธิภาพ"
กระบวนการเชื่อมโยงจากต้นทางสู่ปลายทางของห่วงโซ่ทางการเงิน Cashflow ที่ KBank ให้บริการ เริ่มต้นเมื่อผู้แทนจำหน่ายสั่งซื้อเม็ดพลาสติกเกรดต่างๆ ด้วยราคา และจำนวนสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ของ IRPC เพื่อขอ Purchase Order Request (POR) จากนั้นข้อมูลสั่งซื้อจะส่งมายังระบบ e-Supply Chain ของ KBank เพื่อให้เอเย่นต์เลือกจ่ายเงินด้วยการหักเงินจากบัญชีเงินฝากหรือใช้วงเงินสินเชื่อ K-Buyer Financing เมื่อทำรายการเรียบร้อยแล้ว KBank ก็จะยืนยันคำสั่งชำระเงินให้กับ IRPC เพื่อให้บริษัทจัดส่งสินค้าแก่เอเยล่นต์ และธนาคารจะโอนเงิน ค่าสินค้าเข้าบัญชี IRPC ในวันครบดีลชำระเงิน
สำหรับผู้แทนจำหน่าย IRPC ที่เป็นลูกค้าชั้นดีของ KBank อย่างบริษัทสยามถ่านหินและเชื้อเพลิงและบริษัท Poly Biz ของพีรพันธ์ นภาศรี นักธุรกิจหนุ่มวัย 36 เขาให้ความเห็นว่า
"การที่ KBank เข้ามาเป็นคนกลาง ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นที่ต้องการ เช่น ผมอยู่ที่ฮ่องกงก็สามารถออนไลน์ขออนุมัติ ได้ เราก็ได้ POR และเรามีบัญชีกับ KBank ก็ตัดบัญชีได้เลย การส่งของและส่งมอบสินค้าก็เร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาและตรวจสอบได้ชัดเจน เช็กสต็อกตรงกันไหม? ประหยัดเวลากว่าสมัยก่อน ประมาณหนึ่งวันซึ่งมีค่ามาก เพราะนอกจากขายแล้วเรายังต้องให้บริการส่งสินค้าให้ลูกค้าเร็วขึ้น การใช้ K-Buyer Financing ทำให้ระบบตรงเวลาและเร็วมากขึ้น
ผมเป็นลูกค้าชั้นดีของ KBank ก็จะได้อัตรา MLR-ประมาณ 1 กว่าๆ ตัวผมเองมีหลายบริษัทคือ เป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันของ IRPC ด้วย มีบริษัททำเหมืองถ่านหินและบริษัทในเครือเยอะ วงเงินที่ใช้ก็ค่อนข้างกว้างมาก ในเม็ดพลาสติกเราใช้อยู่ประมาณ 200 -250 กว่าล้าน"
ทิศทางการทำธุรกิจส่วนหนึ่งของ KBank จึงมุ่งสู่ K-Supply Chain Solutions ที่มีกลยุทธ์การสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ เช่น K-Buyer Financing และตัวอื่นๆ ตามมา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้เกิด win win ทางธุรกิจ สมดังสโลแกนที่วิวรรณตบท้ายงานนี้ว่า Better Together
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|