กองทุนฟื้นฟูฯ เตรียมขายทอดตลาดสิทธิเรียกร้องลูกหนี้อีกครั้งในเดือนกันยายนนี้
ตั้งเป้าหมายขายได้ในระดับที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของมูลค่าหนี้ทั้งหมด ขณะที่การเพิ่มกลุ่มผู้เข้าประมูลสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้
ยังรออนุมัติจากก.ล.ต. ด้านระบบการหักบัญชีเช็คระหว่างธนาคารด้วยการใช้ภาพ คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในปีหน้า
นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายจัดการกองทุน ในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อการพื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในเดือนกันยายน 2546 นี้ กองทุนฟื้นฟูฯ จะเปิดประมูลสิทธิเรียกร้องในลูกหนี้อีกครั้ง
ภายหลังจากที่ได้มีการขายสิทธิเรียกร้องในลูกหนี้ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดรายละเอียดได้ว่าจะมีมูลค่าเท่าใด เพราะต้องมีการหารือกับกรมบังคับคดีอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าในการนำสิทธิเรียกร้องลูกหนี้อาจจะมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับการมูลค่าการขายสิทธิเรียกร้องลูกหนี้
2 ครั้งก่อนหน้านี้ ที่มีการนำสิทธิเรียกร้องลูกหนี้รวมของบริษัทเงินทุน (บง.)
และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) 5 แห่ง
โดยคาดว่าการประมูลขายสิทธิเรียกร้องในครั้งนี้ จะสามารถขายสิทธิเรียกร้องได้ที่ประมาณร้อยละ
14-15 ของมูลค่าหนี้ ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับการประมูลขายสิทธิเรียกร้องครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่ขายสินทรัพย์ได้ร้อยละ
14 ของมูลค่า ซึ่งราคา ดังกล่าวสามารถขายได้ไม่ต่ำกว่าที่คณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
(ปรส.) ทำไว้จากก่อนหน้านี้
สำหรับความคืบหน้าในเรื่องการเพิ่มกลุ่มผู้เข้าประมูลสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้น
ขณะนี้กองทุนฟื้นฟูฯ กำลังรอความเห็นชอบจากทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด
หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ทางบริษัทหลักทรัพย์เข้าประมูลสิทธิเรียกร้องได้
หลังจากที่ได้ส่งหนังสือร้องขอไปทาง ก.ล.ต. พิจารณาก่อนหน้านี้ และกำลังรอความเห็นชอบในเรื่องขอการแก้ไขระเบียบให้บริษัทบริหารสินทรัพย์
(เอเอ็มซี) สามารถเข้าประมูลสิทธิเรียกร้องได้เช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าการเพิ่มผู้ประมูลให้มากขึ้นนอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์
บริษัทเงินทุน ตลอดจนกองทุนต่างๆ จะทำให้การประมูลสิทธิเรียกร้องสูงขึ้น
ส่วนประเด็นการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูนั้น โดยหลักการต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกระทรวงการคลัง
ซึ่งหากออกพันธบัตรเพื่อชดเชยความเสียหายให้กับกองทุนฟื้นฟูในช่วงนี้ จากกำหนด
เดิมที่จะออกในปี 2547 คาดว่าจะส่งผลดีต่อประเทศ เพราะขณะนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ใน
ระดับต่ำ รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางในการออมเงิน ตลอดจนการเพิ่มสินค้าในตลาดพันธบัตรอีกทางหนึ่งอีกด้วย
ระบบหักบัญชีเช็คด้วยภาพเริ่มปีหน้า
ด้านนายสายัณห์ ปริวัตร ผู้อำนวยการอาวุโส สายระบบการชำระเงิน ธปท. กล่าวถึง
ความคืบหน้าของการพัฒนาระบบการหักบัญชีเช็คระหว่างธนาคารด้วยการใช้ภาพ (Image)
ที่จะนำไปสู่กระบวนการการลดการเดินทางของเช็ค (Cheque Truncation) ว่า ขณะนี้ยังถือว่าโครงการดังกล่าวยังเป็นไปตามเป้าหมาย
ที่คาดว่าจะสามารถเริ่มได้อย่างเร็วที่สุดในช่วง ปี 2547 โดย ธปท. ได้ทยอยเตรียมความพร้อมและพัฒนาในด้านต่างๆ
เพื่อรองรับระบบดังกล่าวอย่างต่อเนื่องไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม การที่จะมีการนำระบบหักบัญชีเช็คด้วยภาพมาใช้ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทางสถาบันการเงินภาคเอกชนทั้งหมดว่าจะต้องการที่จะนำระบบดังกล่าวมาใช้หรือไม่
เนื่องจาก ธปท. ต้องรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนด้วย รวมทั้งยังต้องรอความพร้อมในเรื่องระบบเทคโนโลยีต่างๆ
ของบรรดาสถาบันการเงินทั้งหมดที่จะเข้าร่วมโครงการ เพราะขณะนี้ยังมีความแตกต่างกันบ้างในเรื่องของเทคโนโลยี
ที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการปรับปรุงระบบการชำระเงินและศูนย์หักบัญชีเช็คใหม่ ซึ่งถือเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการที่จะนำไปสู่การหักบัญชีเช็คด้วยภาพต่อไปในอนาคต
เช่น การหักบัญชีเช็คข้ามจังหวัดที่ใช้ระยะเวลาเรียกเก็บเงินได้ภายใน 3 วัน รวมถึงเรื่องของการกำหนดมาตรฐานเช็คที่มีมาตรฐานเดียวกันหมด
ซึ่งขอให้สถาบันการเงินพิมพ์เช็ครูปแบบใหม่หากเช็ครูปแบบเดิมหมดลง รวมถึงการจัดสัมมนา
และการจัดทำเอกสารต่างๆ เพื่อรองรับระบบดังกล่าวไปแล้ว