"เพียงภาพเดียวก็แทนคำพูดได้นับหมื่นคำ"
ภาพ "แม่ของลูก" โดยฝีมือวาดของกำจร สถิรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริษัทยูนิคอร์ด ได้สะท้อนถึงความรู้สึกลึกซึ้งที่มีต่อมารดาบังเกิดเกล้า
"ห่วง สถิรกุล"
ภาพนี้กำจรได้วาดขึ้นเพื่อแทนคำพูดไว้อาลัยมารดาผู้ล่วงลับในหนังสืองานศพเมื่อปี
2526 ขณะที่มารดาอายุ 71 ปี ในภาพวาดนั้นได้สะท้อนถึงริ้วรอยแห่งชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งผ่านมรสุมชีวิตได้สำเร็จด้วยอารมณ์อันสุขุมเยือกเย็นและอ่อนเศร้า
งานวาดภาพเขียนจึงเป็นเสมือนหนึ่งสื่อความรู้สึกที่ดีในยามที่เขารู้สึกสูญเสียและโดดเดี่ยว
แม้กระทั่งปัจจุบันนี้กำจรก็ยังรู้สึกเฉกเช่นนี้ และยังรักที่จะเขียนภาพแห่งความรู้สึกลึก
ๆ ในใจ ภายหลังจากที่เขาต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไปอย่างขมขื่น
"ศัตรูให้ดูเหมือนแก้วนะลูก" คำสอนแม่ยังก้องหูและนับเป็นหลักปฏิบัติของอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติกำจรที่ไม่โต้ตอบข่าวร้ายใด
ๆ และทำเสมือนศัตรูไม่มีตัวตนขณะที่มองทะลุผ่านไปเลย นับว่าเป็นการต่อสู้อันขัดแย้งภายในจิตใจตัวเองยิ่งนัก
กำจรเป็นบุตรชายคนที่สี่ของลูกแม่ห้าคน ซึ่งต่างก็ประสบความสำเร็จในชีวิตบั้นปลายโดยมีพี่ชายคนโตคือ
ศ. กำธร สถิรกุล อดีตผู้บริหารคุรุสภา พี่สาวและน้องสาวคนเล็กเป็นนายแพทย์หญิง
โดยเฉพาะพี่สาว พญ. วัชรี พงศ์พานิช มีความสามารถในการขีดเขียนหนังสืออย่างดีโดยมีผลงานลง
"สตรีสาร" ส่วนพี่ชายอีกคนคือ ดร. กำแหง สถิรกุล เป็นถึงอดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
ตระกูล "สถิรกุล" เป็นตระกูลเศรษฐีใหญ่ของอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
เพราะตามประวัติศาสตร์การค้าของไทย อำเภอปากพนังเป็นเมืองท่าเทียบเรือที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของภาคใต้ฝั่งตะวันออก
มารดาของกำจรนับเป็นนักเรียนสตรีบ้านนอกรุ่นแรกที่เข้ามาศึกษาระดับมัธยมในกรุงเทพโดยเข้าเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย
ในสมัยนั้นการเดินทางค่อนข้างลำบาก ต้องนั่งเรือแจวมีม่านกั้นมาที่ตัวจังหวัดนครศรีธรรมราช
แล้วจึงต่อรถไฟอีกทอดหนึ่งเข้ากรุงเทพมหานคร
การที่มารดาของกำจรได้รับโอกาสทางการศึกษาสูงขณะที่เด็กบ้านนอกน้อยคนนักที่จะได้รับ
ก็เพราะคุณยายซึ่งมีฐานะร่ำรวยจากกิจการร้านขายทองประจำอำเภอมีโลกทัศน์กว้างไกลจากการเดินทางติดต่อซื้อทองรูปพรรณจากกรุงเทพ
และต้องการส่งเสริมให้หลานสาวมีทั้งรูปสมบัติและคุณสมบัติทางการศึกษา
จากพื้นฐานครอบครัวที่เห็นคุณค่าการศึกษา ได้ทำให้มารดาของกำจรส่งเสริมลูกทั้งห้าให้สำเร็จการศึกษาระดับสูง
ทั้ง ๆ ที่ตนเองต้องเป็นหม้ายในวัยสาวที่มีอายุเพียง 28 ปี ต้องทำงานกิจการโรงสีแทนสามีที่ล่วงลับไปแล้ว
และปกป้องลูกเล็กทั้งห้าจากภัยสงครามโลก ซึ่งขณะนั้นญี่ปุ่นบุกไทยโดยยกพลขึ้นบกที่นครศรีธรรมราช
"ถึงแม้ฉันจะมีมรสุมต่าง ๆ ในชีวิตมากแต่สิ่งหนึ่งที่เป็นสุดยอดปรารถนาของฉันที่สมหวัง
สิ่งนั้นคือลูก ๆ ทั้งห้า ลูกทุกคนเล่าเรียนดีมาก อยู่ในโอวาท จิตใจมีศีลธรรม
ลูกชายสามคนไปอยู่โรงเรียนประจำที่วชิราวุธวิทยาลัย ทุกคนสอบซ้อมและสอบไล่ได้ที่หนึ่งทุกครั้ง
เมื่อมีการสอบชิงรางวัลอะไรก็มักจะได้สมความปรารถนาเสมอ ต่อมาลูกชายทั้งสามสอบชิงทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศได้สามคน
ไปอเมริกาสองคน อังกฤษหนึ่งคน ส่วนลูกสาวฉันส่งไปอยู่โรงเรียนประจำที่โรงเรียนราชินีล่างทั้งสองคน
ลูกสาวคนเล็กเรียนจบเภสัชกรรมแล้วต่อแพทย์จุฬาฯ ส่วนคนโตจบแพทย์ศิริราช ต่อมาลูกสาวทั้งสองได้ไปทำโทต่อที่สหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน"
บันทึกแห่งอดีตของห่วง สถิรกุลได้เล่าไว้ถึงความภูมใจที่มีต่อลูก ๆ
ในวัยเด็ก ขณะที่กำจรอายุ 4-5 ขวบ ได้ป่วยหนักเป็นไข้ไทฟอยด์ไข้ขึ้นสูงมาก
เสมือนหนึ่งอยู่ใต้เงามัจจุราช มารดาของกำจรได้พยายามสุดชีวิตที่จะปกป้องชีวิตลูกน้อยอย่างไม่นึกถึงตัวเอง
จนกระทั่งพ่อของกำจรเตือนสติให้นึกถึงตัวเองและลูกค้าคนอื่น ๆ โดยยกอุปมาอุปมัยว่ากล้วยเครือหนึ่งจะมีสักผลที่เสียไปก็ต้องยอม
"แม่ไม่ยอม และบอกว่าจะเอาลูกของแม่ไปเทียบกล้วยไม่ได้ แม่ไม่ยอมให้เสียไปสักคนเดียว
แม่จะต้องเอาชีวิตแม่สู้ไว้ แม่รักษาน้องจนพ้นเขตอันตราย และพวกเราก็กลับจากตัวจังหวัด
เห็นน้องชายคนเล็กผอมจนเหลือหนังหุ้มกระดูก ผมร่วงหมดต้องหัดเดินใหม่ เราสงสารน้องจนน้ำตาไหล"
กำธร สถิรกุล พี่ชายคนโตบันทึกไว้
ความสงสารน้อง ทำให้พี่ ๆ รวบรวมภาพการ์ตูน "สโนไวท์" ของวอลท์
ดีสนีย์จากกระดาษหนังสือพิมพ์ที่เขาใช้เป็นกระดาษห่อของ โดยอุตส่าห์เก็บจากที่ต่าง
ๆ จนครบจบเรื่อง เย็บเป็นเล่มเองด้วยด้าย เอามาให้กำจรดูแต่ด้วยความไม่ประสีประสาในวัยเด็ก
ทำให้กำจรฉีกขาดหมด ทั้งที่พวกพี่ ๆ ยังหัดวาดภาพคนแคระทั้งเจ็ดยังไม่ครบทุกตัว
แต่แม่ก็อธิบายว่าน้องยังเล็กไม่เข้าใจเรื่องราวและความสวยงามของภาพ อย่าโกรธน้องเลย
จากวันนั้นถึงวันนี้ กำจรเข้าใจความสวยงามและความอัปลักษณ์แห่งชีวิต เฉกเช่นเดียวกับจิตรกรที่จับเอาแสงเงาจากมุมมืดหรือมุมสว่างนำมาเขียนภาพบนผืนผ้าใบ
เพื่อสื่อความรู้สึกอันปวดร้าวหรือชื่นชมต่อชีวิต