"หมดยุค "มืด" กสท.?"

โดย สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ชวลิต ธนะชานันท์กันโครงการอื้อฉาว 8 รายการของการสื่อสารแห่งประเทศไทยออกมาศึกษาเป็นพิเศษ หลังเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการฯ หมาด ๆ ทำให้เขาพบว่า ภายใต้ม่านมืดของ กสท. นั้นมีจุดบอดในรายละเอียดที่ต้องแก้ไขไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นวิธีพิเศษหรือสเป็กเลือกข้าง แต่เหนืออื่นใดระบบใหญ่อันไม่โปร่งใสต่างหากที่เป็นปัญหากว่าสิ่งอื่น

"ตอนนี้ยังมีเวลาทำอะไรอีกบ้างหรือเปล่า?"

ใครเลยจะนึกว่าถ้อยความแรกของคนชื่อ นุกูล ประจวบเหมาะที่เอ่ยผ่านสายโทรศัพท์ไปยังอดีตลูกน้องผู้เป็นเพื่อนสนิทเพื่อทาบทามให้รับภารกิจใหญ่จะสั้นและเรียบง่ายเพียงนี้

แต่เพียง 5 วันหลังจากที่การสนทนาระหว่างเพื่อน 2 คนด้วยเวลา 2 นาทีนี้ผ่านพ้นไป คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลฟื้นฟูบ้านเมืองก็มีคำสั่งปลด พล.อ.อ. อนันต์ กลินทะ ออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) พร้อมกับแต่งตั้ง ชวลิต ธนะชานันท์ ประธานกรรมการบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) เข้าแทนที่

ขณะเมื่อเป็นผู้ถือสายอยู่อีกข้างหนึ่งและได้รับการถามไถ่เช่นนั้นในวันที่ 18 มิถุนายน ชวลิตไม่ทันได้นึกคิดเลยว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น คำคอบของเขาจึงยิ่งสั้นและธรรมดายิ่งกว่า

"ยังพอมีอยู่บ้าง" อดีตผู้ช่วยฯ ตอบอดีตผู้ว่าการธนาคารชาติไปเช่นนี้

และสองประโยคสามัญนี้เองก็ได้ทำให้ 'ม่านมืด' หรือที่ชวลิตเรียกว่า 'ฟิลม์กรองแสงสีดำทึบ' ซึ่งปกคลุมการสื่อสารแห่งประเทศไทยมานานเริ่มต้นพริ้วสั่นขึ้นมา

โดยที่แรงสั่นนั้นนับวันยิ่งรุนแรงขึ้นและส่งสะท้อนไปถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ อีกหลายแห่งด้วยลักษณาการอันมีขั้นตอนคล้ายคลึงกัน คือ เริ่มด้วย 'ม่านสีเขียว' ที่คลุมทับ ณ ชั้นบนสุดถูกกระชากออกก่อน ประธานคณะกรรมการที่เป็นนายทหารใหญ่ทั้งหลายพากันกระเด็นออกไป เปิดให้เห็นความคลุมเครือภายในที่แท้จริง ซึ่งเป็นม่านชั้นที่ไม่สามารถกระชากออกได้ง่าย ๆ เนื่องจากมีความเปราะบางและผ่านการสะสมความมืดทึบมาเนิ่นนานนัก

แหล่งข่าวระดับสูงในคณะกรรมการกฤษฎีกาเปิดเผยกับ 'ผู้จัดการ' ว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับ กสท. นั้น กล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการยกเรื่องขึ้นมาถามกันตรง ๆ เกี่ยวกับความชอบธรรมของตัวประธานคณะกรรมการ ซึ่งแท้จริงแล้วพิจารณาตามระเบียบโดยไม่ต้องตีความก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าขาดสภาพตั้งแต่วันที่เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง นั่นคือ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 เมษายน

แต่ พล.อ.อ. อนันต์ กลินทะก็อยู่ในตำแหน่งอย่างไม่ถูกต้องมาได้นานกว่า 2 เดือน แม้ว่าจะมีการทำหนังสือลาออกฉบับหนึ่งลงวันที่ 14 มิถุนายนเอาไว้แต่ก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะรัฐมนตรีได้รับจดหมายนี้ในวันเดียวกับที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปลดเรียบร้อยแล้ว

ความเหลื่อมของบทบัญญัติกับผลบังคับเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนในที่นี้

กรรมการร่วมชุดของ พล.อ.อ. อนันต์คนหนึ่งกล่าวว่า "บอร์ดต่างก็ไม่สบายใจ มีการพูดคุยกันว่าคุณสมบัติของท่านประธานน่าจะไม่ครบแต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะทำอย่างไร ในเมื่อประธานนี้ก็คือหัวหน้า ก็เลยได้แต่บอกกล่าวท่าน เมื่อท่านไม่ตัดสินใจอะไร และผู้มีอำนาจ คือ คณะรัฐมนตรีไม่ได้วินิจฉัยลงมาเราก็ไม่สามารถทำอะไรได้"

จึงกล่าวได้ว่าหากมิใช่อานันท์ ปันยารชุนมาเป็นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่ใช่คนที่ชื่อนุกูล ประจวบเหมาะ ผลก็อาจจะไม่ใช่อย่างที่ออกมา

อย่างไรก็ตาม แม้ พล.อ.อ. อนันต์ กลินทะจะพ้นจากตำแหน่งไปในทีสุด แต่สิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น 'ผลงาน' กลับยังคงอยู่ โครงการจำนวนหนึ่งที่มีการเสนอเข้าที่ประชุมวันที่ 20 พฤษภาคม และ 4 มิถุนายน ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีความไม่ชอบมาพากล ทั้งนี้โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางทางหน้าหนังสือพิมพ์ ตลอดจนมีเอกชนบางรายร้องเรียนไปยังหน่วยงานระดับสูงด้วย โดยที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเองก็ได้ตีความให้การประชุมของคณะกรรมการ กสท. ใน 2 ครั้งนั้นเป็นโมฆะทั้งหมด

ภารกิจในตำแหน่งหน้าที่ใหม่ของชวลิตจึงเสมือนเป็นภารกิจแห่งการติดตามสะสางเรื่องเก่า ๆ นั่นเอง

เรื่องทั้งหมด 20 เรื่องจากการะประชุม 2 ครั้ง ต้องถูกนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ ภายใต้การนำของประธานคนใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกและนัดเดียวของชวลิตร่วมกับกรรมการชุดเก่า ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบกับการตีความของกฤษฎีกาว่า ตำแหน่งวุฒิสมาชิกเป็นตำแหน่งทางการเมืองและให้กรรมการของรัฐวิสาหกิจที่เป็นวุฒิสมาชิกต้องพ้นจากตำแหน่งไป ซึ่งสำหรับบอร์ด กสท. ที่เข้าข่ายนี้ได้แก่ รองประธานกรรมการ คือ มหิดล จันทรางกูร และกรรมการอีก 4 คน คือ กมล สนธิเกษตริน ไพบูลย์ ลิมปพยอม พล.อ.อ.ประชุม ฉายศิริ และ พล.ท. ทศพร ทรงสุวรรณ

และด้วยมติการประชุมของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมเช่นนี้เอง 'เพื่อน 2 คน' จึงได้ก้าวรุกไปอีกขั้นหนึ่งในงานการคลี่ม่าน กสท.

เป็นที่น่าสังเกตว่า คณะกรรมการของการสื่อสารชุดใหม่ที่นุกูลเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งในวันเดียวกันมีกรรมการจากชุดเก่าเหลืออยู่เพียง 2 คนเท่านั้นคือ อัศวิน เสาวรส และอานันท์ ตันติเฉลิม โดยที่คนแรกเป็นผู้ว่าการ กสท. คนปัจจุบัน ส่วนคนที่สองคือรองอธิบดีกรมบัญชีกลางผู้หญิงเพียงคนเดียวในคณะกรรมการ

พิจารณาในแง่ของการทำงานการร่วมอยู่ของบุคคลทั้งสองมีความหมายและจำเป็นอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากคนแรกนั้นเป็นผู้ใหญ่ของหน่วยงานที่ควรจะคงไว้อยู่แล้วตามหลักการ เพื่อประโยชน์ทั้งในการประสานงานและการผลักดันให้การปฏิบัติงานของ กสท. เป็นไปตามนโยบายที่บอร์ดกำหนด

ส่วนอีกคนหนึ่งก็เป็นตัวแทนจากกระทรวงการคลังผู้มีความชำนาญและเป็นช่องทางประสานที่สำคัญในเรื่องที่เกี่ยวกับการงบประมาณ

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งซึ่งไม่น่าจะเป็นเพียงความบังเอิญธรรมดา ๆ ก็คือ ทั้ง 2 คนนี้ต่างก็มีรายชื่อปรากฏอยู่ในรายการการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมในฐานะกรรมการเพียง 2 คนผู้ทักท้วงเกี่ยวกับปัญหาความถูกต้องชอบธรรมของตัวประธานบอร์ดที่ชื่อ อนันต์ กลินทะ!

ส่วนคนอื่นนัยว่าได้แต่มีการสนทนากันนอกรอบ-นอกห้องประชุม บางคนถึงกับกล้าหาญติงเตือนประธานโดยตรง แต่กลับไม่ได้ทำให้เป็นกิจจะลักษณะ ณ โต๊ะประชุมเหมือนอย่างที่อัศวินและอานันท์ทำ

จากการประชุมครั้งแรกและครั้งเดียวดังกล่าว ชวลิตพบว่า เรื่องที่มีการพิจารณาไปในวันที่ 20 พฤษภาคม และ 4 มิถุนายน ซึ่งต้องเป็นโมฆะนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องภายใน ว่าด้วยงานบริหารจัดการทั้งหลาย เช่น เรื่องการบรรจุแต่งตั้ง เรื่องการก่อสร้างปรับปรุงศูนย์โทรคมนาคมลำปาง เรื่องการแก้ไขข้อบังคับการลาของพนักงาน เป็นต้น จาก 17 เรื่องที่เป็นเรื่องเพื่อพิจารณา (ไม่นับเรื่องเพื่อทราบ) มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างอยู่ 5 เรื่อง

ชวลิตได้ขอกันทั้ง 5 เรื่องนี้ออกมาเพื่อศึกษาก่อน รวมกับเรื่องการให้เอกชนเข้าร่วมงานและเรื่องสเป็ก (SPECIFICATION) อีก 3 เรื่อง รวม 8 เรื่องด้วยกัน

"ผมพยายามดึงเรื่องออกมาให้มากที่สุด ในเรื่องที่ดูชื่อแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ต้องเอามาดูเพิ่มเติม คือเริ่มจากความไม่เข้าใจเรื่อง อยากทำความเข้าใจ" ชวลิตบอกกล่าวถึงหลักเกณฑ์การคัดเรื่องมาทบทวน

5 เรื่องที่เกี่ยวกับการจัดซื้อ จัดจ้างนั้นได้แก่ หนึ่ง-การจัดซื้อชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ไอทีเอสซี 3 สอง-การว่าจ้างก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำใยแก้วอาเซียน ระยะที่ 1 มาเลเซีย-ไทย สาม-การว่าจ้างจัดสร้างข่ายสายเคเบิลใยแก้ว (FIBER OPTIC) สี่-การจัดซื้ออุปกรณ์ระบบไอดีอาร์ สำหรับงานดาวเทียมในประเทศ และห้า-การจัดจ้างขยายวงจรชุมสายไอทีเอสซี 1 แบบเอ็มเอฟซีอาร์ 2

ทั้ง 5 เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องเจ้าปัญหาตามที่หนังสือพิมพ์พยายามรายงานข่าวออกมา ซึ่งบางโครงการก็ไม่ตรง มีทั้งส่วนที่เกินและขาด แต่ที่มีการกล่าวขวัญกันมากที่สุดก็หนีไม่พ้นเรื่องเคเบิลใต้น้ำใยแก้วอาเซียน

โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ที่สุดในจำนวนโครงการทั้งหมด คือมีวงเงินลงทุนสำหรับระยะที่ 1 สูงถึง 4,083.25 ล้านบาท ทั้งนี้โดยใช้เงินรายได้ของ กสท. เอง เป็นโครงการที่ กสท. ได้เสนอแก่คณะกรรมการฯ และได้รับความเห็นชอบมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 จากนั้นผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม และคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนปีเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเป็นการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

ระบบของเคเบิลใต้น้ำใยแก้วมีเป้าหมายการจัดสร้างเป็น 2 เส้นทางคือ ระหว่างประเทศจากจังหวัดเพชรบุรีไปยังกวนตัน ประเทศมาเลเซียและภายในประเทศจากเพชรบุรีถึงแหลมฉบัง

นอกจากนี้ยังจะเข้าร่วมทุนเป็นเจ้าของ (OWNERSHIP) ข่ายเคเบิลใต้น้ำใยแก้วในย่านมหาสมุทรแปซิฟิก 13 เส้นทาง ซื้อสิทธิการใช้ช่องสัญญาณ (IRU Purchase) ข่ายเคเบิลใต้น้ำใยแก้วในย่านมหาสมุทรแปซิฟิก 5 เส้นทาง พร้อมทั้งจัดตั้งระบบเชื่อมโยงภายในประเทศระหว่างเพชรบุรีกับกรุงเทพฯ และบางรักกับนนทบุรีด้วย

สำหรับการก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำใยแก้วระหว่างมาเลเซีย-ไทย จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการระบบเคเบิลใต้น้ำใยแก้วระยะที่ 1 งบประมาณในส่วนนี้มีอยู่ 2,6922.11 ล้านบาท และเป็นโครงการที่ กสท. ต้องทำงานร่วมกับบริษัทโทรคมนาคมมาเลเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ สังกัดกระทรวงพลังงานโทรคมนาคมและไปรษณีย์แห่งประเทศมาเลเซีย

ก่อนที่จะมีการเสนอเป็นวาระเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 จนกระทั่งกลายเป็นโครงการมีปัญหานั้น โครงการนี้ได้ผ่านการพิจารณามาแล้วหลายขั้นตอน

กล่าวคือ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2534 คณะกรรมการ กสท. ได้อนุมัติการประกวดราคา, วันที่ 28 ตุลาคม 2534 สำนักงานอัยการสูงสุดร่างเอกสารประกวดราคา, 15 พฤศจิกายน 2534 กสท. ออกหนังสือเชิญชวนประกวดราคา โดยกำหนดเวลาเปิดซองพร้อมกันทั้งที่กรุงเทพฯ และกัวลาลัมเปอร์ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535

ในขั้นตอนการประกวดราคามีการดำเนินงาน และพิจารณาร่วมกันระหว่างมาเลเซีย และไทยอย่างใกล้ชิดการยื่นซองของบริษัทเอกชนก็เปิดให้ทำได้ในทั้ง 2 ประเทศ โดยคณะกรรมการของ กสท. และของบริษัทโทรคมนาคมได้มีการประชุมพิจารณาผลร่วมกันในระหว่างวันที่ 15-19 เมษายนที่ผ่านมาเพื่อคัดเลือกผู้ชนะ จากนั้น กสท. จึงได้รายงานผลให้กับคณะกรรมการฯ พิจารณา

ไล่เรียงตามขั้นตอนแล้วถือว่าครบถ้วนและเป็นไปตามหลักการอย่างดี แต่โครงการนี้กลับมีการร้องเรียน โดยบริษัท เอสทีซี 1 ใน 5 บริษัทที่เข้าร่วมยื่นซอง

สำหรับโครงการจัดซื้อชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ไอทีเอสซี 3 เป็นโครงการเร่งด่วนที่จะช่วยสนับสนุนในโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (TELEPORT) แหลมฉบังและมาบตาพุด

ทั้งนี้โดยเป็นการพัฒนาการให้บริการโทรคมนาคมแก่ผู้ใช้ในบริเวณดังกล่าวให้สามารถติดต่อกับต่างประเทศได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านชุมสายโทรศัพท์ทางไกลขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ที่กรุงเทพฯ

โครงการ TELEPORT ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2534 การดำเนินงานกระทำร่วมกันระหว่าง กสท. และ ทศท. โดยมีกระทรวงคมนาคมเป็นผู้บริหารโครงการ วงเงินงบประมาณของทั้งโครงการคือ 969.64 ล้านบาท

เฉพาะชุมสาย ไอทีเอสซี 3 ที่จะจัดซื้อเป็นชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ขนาด 3,000 วงจร จัดซื้อพร้อมการติดตั้งและอุปกรณ์ประกอบจำนวน 1 ระบบในวงเงินงบประมาณ 350 ล้านบาท จุดติดตั้งคือบริเวณสถานีดาวเทียมศรีราชาของ กสท.

ขั้นตอนการจัดซื้อได้กระทำโดยมีการเสนอ SPECIFICATION ผ่านการเห็นชอบของคณะอนุกรรมการเทคนิคของคณะกรรมการ กสท. ก่อน จากนั้นคณะกรรมการฯ ได้อนุมัติสเป็กและให้มีการจัดประกวดราคาในแบบวิธีพิเศษ โดยคัดเลือกเอกชนเข้าแข่งขันเพียง 2 รายเท่านั้น คือ บริษัทอิริคสัน และบริษัทชินวัตร

และในวันที่ 20 พฤษภาคมก็ได้มีการเสนอเรื่องนี้เข้าเป็นวาระให้พิจารณาในคณะกรรมการฯ มีการรายงานผลการเปิดซองราคาพร้อมกับเสนอขออนุมัติจัดซื้อ ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็ได้มีมติอนุมัติตามเสนอ โครงการนี้จึงเป็นอีกโครงการปนึ่งที่ได้รับการวิจารณ์ค่อนข้างมาก

โครงการที่มีปัญหาในแง่ของการไม่เปิดประมูลวงกว้างอีกโครงการหนึ่งก็คือ เอ็มเอฟซีอาร์ 2 ซึ่งเป็นการขยายวงจรเพิ่มตเมให้กับชุมสาย ไอทีเอสซี 1 ที่บางรักอีก 8900 วงจร และทาง กสท. ก็ใช้วิธีพิเศษจัดซื้อจากบริษัทอิริคสันโดยตรงเช่นกัน

แต่โครงการนี้ไม่ได้รับการกล่าวถึงมากเท่า 2 โครงการแรก ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นโครงการที่มีวงเงินไม่สูง เพียง 25 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนโครงการว่าจ้างจัดสร้างข่ายสายเคเบิลใยแก้วและโครงการจัดซื้ออุปกรณ์ระบบไอดีอาร์ ทั้ง 2 โครงการไม่ได้รับการวิพากษ์ในประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างชัดแจ้ง

แต่ก็เป็นเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับเอกชน และวงเงินจำนวนพอสมควร อีกทั้งมีการกล่าวถึงในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า อาจมีบางประเด็นไม่ชอบมาพากล ชวลิตจึงกันออกมาพิจารณาด้วย

เรื่องการว่าจ้างสร้างข่ายสายเคเบิลใยแก้วที่มีปัญหาในครั้งนี้เป็นการว่าจ้างสร้างระบบเครือข่ายสาย 1 ใน 2 เส้นทางของโครงการเคเบิลใยแก้ว ซึ่งจะต้องกระทบทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร โดยข่าวสายที่จัดจ้างนี้เป็สายเหนือ มีมูลค่าประมาณ 153 ล้านบาทเชื่อมโยงจากชุมสายโทรคมนาคมบางรักไปสิ้นสุดที่ชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศ จังหวัดนนทบุรี สำหรับอีกสายหนึ่งได้แก่ สายตะวันออกเริ่มจากบางรักเช่นกันแต่ไปสิ้นสุดที่พระโขนง

ส่วนเรื่องอุปกรณ์ระบบไอดีอาร์นั้นเกี่ยวข้องกับงานดาวเทียมในประเทศ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อสมรรถนะชุมสาย 1 บางรักให้มีวงจรมากขึ้น ในการจัดซื้อครั้งนี้ต้องการขนาด 900 วงจร จำนวน 1 ชุด ในวงเงิน 65 ล้านบาท

ถ้าคำนวณงบประมาณทั้ง 5 โครงการรวมกันก็เป็นเงินประมาณ 3,285 ล้านบาท เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมากถึงเพียงนี้ เผอิญได้รับการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการสื่อสารฯ ในช่วงเวลาเดียวกันได้อย่างน่าประหลาดใจ และเผอิญเป็นช่วงที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะวุ่นวายเสียด้วย!

นอกจากนี้ยังมีอีก 3 เรื่องที่ต้องกล่าวถึง ในฐานะที่เป็นเรื่องได้รับการเสนอในห้วงเวลาเดียวกันและเข้าข่าย 'มีปัญหา' เหมือนกัน

เรื่องที่หนึ่งนั้นเกี่ยวข้องกับโครงการจัดตั้งระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมเพื่อกิจการเดินอากาศ กิจการเดินเรือ และยวดยานพาหนะทั่วไป (INMARSAT) ระยะที่ 1 ซึ่งผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายใต้วงเงินลงทุนจากเงินรายได้ของ กสท. เองจำนวน 385 ล้านบาท

เป้าหมายของโครงการก็คือ การจัดตั้งสถานีภาคพื้นดินพร้อมเครื่องมือควบคุมการทำงานเพื่อสื่อสารกับวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสำหรับเครื่องบิน เรือเดินทะเลหรือรถไฟ รถยนต์ ฯลฯ มีประโยชน์ทั้งในการส่งสื่อข้อมูลข่าวสารตามปกติและในยามวิกฤต สามารถใช้เป็นระบบสื่อสารเพื่อเตือนภัยและเพื่อค้นหาในกรณีประสบอุบัติเหตุ

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม วันประชุมครั้งประวัติศาสตร์ของบอร์ด กสท. ทาง กสท. ได้มีการเสนอขออนุมัติรายละเอียดทางเทคนิคโครงการ INMARSAT นี้ให้พิจารณาด้วย และก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คณะกรรมการมีมติเห็นชอบทั้งในด้านเทคนิคและเงื่อนใขการประกวดราคา ตลอดจนได้อนุมัติให้ดำเนินการขั้นต่อไปได้

ข้อครหาสำหรับเรื่องนี้มีอยู่หลายกระทง ตั้งแต่ในเง่ของขั้นตอนการพิจารณาด้านเทคนิคที่มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าไม่ได้ผ่านคณะอนุกรรมการเทคนิคอย่างที่ควรเป็น อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโดยไม่มีสาเหตุอันกระจ่างอีกถึง 2 ประเด็นด้วยกัน นั่นคือเปลี่ยนสถานที่ตั้งสถานีและเปลี่ยนเงื่อนไขการประมูล

เรื่องนี้ค่อนข้างว่าด้วยความไม่ชอบมาพากลด้านเทคนิค ยังไปไม่ถึงขั้นตอนการจัดซื้อหรือจัดจ้างอย่าง 5 เรื่องข้างต้น!

ส่วนอีก 2 เรื่องก็แตกต่างออกไปอีก กล่าวคือเป็นเรื่องของการร่วมดำเนินบริการกับภาคเอกชน ซึ่งในระยะหลายปีหลังนี้เป็นรูปแบบหนึ่งที่ทาง กสท. นิยมพอสมควร หลังจากที่ได้ผ่านการชิมลางและประสบผลเป็นที่น่าพอใจมาแล้วกับงานบริการวิทยุคมนาคมเซลลูล่าและบริการวิทยุติดตามตัว

บริการระบบการสื่อสารระหว่างเครื่องบินกับพื้นดิน (INFLIGHT PHONE) เป็นบริการใหม่ที่มีเอกชนเสนอกับทาง กสท. ขอร่วมดำเนินบริการ เช่นเดียวกับบริการสื่อสารข้อมูลแบบเคลื่อนที่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล (MOBITEX)

แต่บริการแรกนั้น กสท. เสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาในหลักการไปเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ในขณะที่บริการ MOBITEX เสนอเข้าเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน

ลักษณะการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ต่อ 2 เรื่องนี้ยังมิได้ไปถึงขั้นให้สัมปทานหรือให้มีการทำการใด ๆ อันเป็นสัญญาผูกมัดกับเอกชนที่เสนอเพียงอยู่ในขั้นตอนของการรับทราบและอนุมัติในระดับหลักการให้ กสท. ดำเนินการเจรจากับเอกชนผู้เสนอถึงรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติม จากนั้นจึงรายงานต่อคณะกรรมการฯ ให้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 เรื่องนี้ก็มีจุดที่ก่อให้เกิดความคลางแคลงใจเช่นกันโดยเฉพาะเมื่อมีการกล่าวถึงกันมากในหน้าหนังสือพิมพ์

"ว่าไปแล้ว กสท. ก็เป็นเสมือนผลพวง ที่ถูกตีก็เพราะท่านอดีตประธานท่านเป็นทหาร เป็นกลุ่ม รสช. ซึ่งในตอนนี้ใคร ๆ ก็ไม่ชอบ" นี่คือทัศนะของ 'คนใน' ระดับบริหารคนหนึ่งของการสื่อสารฯ ต่อกรณีที่เกิดขึ้น

ความเห็นเช่นนี้ หากมองว่าถูกต้อง 100 เปอร์เซนต์ก็ไม่ผิดนัก แต่คงไม่ใช่คำอธิบายที่ครอบคลุมปรากฏการณ์ทั้งหมดได้

เพราะแม้ในเบื้องต้น กสท. ต้องตกเป็นเป้าสายตาเนื่องจาก พล.อ.อ. อนันต์ กลินทะก็จริง

แต่สำหรับความไม่กระจ่างชัดหรือที่อาจเรียกว่าม่านดำ ซึ่งถูกค้นพบทีหลังนั้น ไม่น่าจะเกี่ยวกับคนซึ่งพ้นตำแหน่งไปแล้ว

การสื่อสารแห่งประเทศไทย ความจริงเป็นหน่วยงานที่มีอายุไม่มากนัก เพิ่งได้รับการสถาปนาขึ้นโดยแยกออกมาจากกรมไปรษณีย์โทรเลขเมื่อต้นปี 2520 นี่เอง หน้าที่ของหน่วยงานแห่งนี้ก็คือดำเนินกิจการไปรษณีย์ บริการการเงิน และการโทรคมนาคม รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องต่าง ๆ

ในระยะหลายขวบปีหลังนี้ เนื่องจากระบบโทรคมนาคมกลายเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งขึ้นมาก ตามแผนพัฒนาประเทศก็เน้นให้มีการขยายงานบริการด้านนี้อย่างค่อนข้างเร่งด่วน

จุดนี้เองจึงได้ทำให้เอกชนแทรกตัวเข้าไปมีบทบาทร่วมกับ กสท. เพิ่มขึ้นในหลายลักษณะ ไม่เพียงแต่เป็นผู้ขายของหรือรับจ้างทำโครงการเล็ก ๆ เท่านั้น หากมีทั้งการร่วมลงทุนและการรับสัมปทานดำเนินงานให้บริการด้วย

ข้อดีของการให้เอกชนเข้าร่วมงาน นอกจากเพื่อความรวดเร็วว่องไวแล้ว อีกด้านที่มีประโยชน์มากก็คือ เป็นการลดภาระการลงทุนของภาครัฐเพราะโครงการของ กสท. มักต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมาก หลายงานที่เปิดให้เอกชนประมูลนั้นมีมูลค่านับพันล้านบาททีเดียว

และนี่เองคือแรงจูงใจที่ทำให้ภาวะการแข่งขันของเอกชนในการเข้ารับงาน กสท. เต็มเปี่ยมไปด้วยกลยุทธ์และเคล็ดลับไม่แพ้งานประมูลของหน่วยงานใหญ่อื่น ๆ หรือบางครั้งอาจมีมากกว่าก็เป็นได้

แหล่งข่าวในบริษัทเอกชนที่เคยเสนอตัวเข้าร่วมกับ กสท. กล่าวเปรียบเปรยเอาไว้ว่า "เวลาเข้าประมูลจะมีหลายบรรยากาศ มีทั้งวางตะปูให้เหยียบ บางครั้งก็เป็นการขุดหลุมไว้"

ความที่ กสท. เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นแนวหน้าในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่มีอิสระในการลงทุนเพื่อนดำเนินงานค่อนข้างเต็มที่ โดยทั่วไปในการจัดซื้อจัดจ้างหรือเปิดให้สัมปทาน กสท. ก็จะตั้งโครงการได้เองโดยเสนอให้มีการรับทราบและอนุญาตในระดับคณะกรรมการเท่านั้น

ยกเว้นแต่โครงการที่มีงบประมาณดำเนินการตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปจึงจะต้องนำเสนอผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีก่อน ตามข้อกำหนดของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2534

นอกจากนี้ถ้าเป็นเรื่องให้สัมปานเอกชนทำโครงการก็ต้องผ่านสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย

โครงการด้านโทรคมนาคมของ กสท. อาจเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะใหย่ ๆ คือ ทาง กสท. เป็นผู้ริเริ่มหรือเอกชนเสนอให้พิจารณา ถ้าเป็นลักษณะแรก กองวางแผนจะเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงโดยประสานกับกองอื่น ๆ ที่เป็นกองเฉพาะทาง เช่น กองดาวเทียม กองเคเบิล ฯลฯ ศึกษาข้อมูลและกำหนดโครงการร่วมกัน

"ปัจจัยกำหนดแผนที่ต้องดูได้แก่ หนึ่ง-ตลาด คือดูว่าประชาชนต้องการบริการอันไหน และสองคือเทคโนโลยีดันให้เกิด แต่ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจอื่นจะมีอีกอย่างคือ นโยบายรัฐบาล สำหรับ กสท. ดูเหมือนเทคโนโลยีเป็นตัวตัดสินมากที่สุด" พิทยาพล จันทนะสาโร อดีตเจ้าหน้าที่ของกองวางแผน ผู้ผันตัวมาอยู่กับบริษัทยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี บริษัทที่ทำมาหากินกับการสื่อสารฯ มาตั้งแต่แรกเริ่มกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ส่วนในกรณีที่เป็นความริเริ่มจากภาคเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่บริการเสริมต่าง ๆ นั้น โดยหลักการถ้า กสท. สนใจและตัดสินใจที่จะทำโครงการดังกล่าวก็สามารถทำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาได้ โดยทำเช่นเดียวกับโครงการที่ริเริ่มขึ้นเอง

จนกระทั่งโครงการผ่านการอนุมัติอย่างถูกต้องตามระดับที่ควรเป็นแล้ว ก็จะถึงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งกระทำได้ 5 วิธีคือ ประกวดราคา สอบราคา สืบราคา วิธีพิเศษ และกรณีพิเศษ การจะใช้วิธีไหนขึ้นกับว่าโครงการนั้น ๆ เข้าหลักการใด แต่โดยพื้นฐานแล้วก็ต้องยึดการเปิดประมูลเป็นหลัก เรียกว่าการ 'เปิดปกติ' นอกจากบางงานที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเป็นการเฉพาะ หรือไม่มีผู้เข้าประกวดราคาหรือเป็นสินค้าที่มีผู้ผลิตเพียงรายเดียวก็ใช้วิธี 'เปิดพิเศษ'

กล่าวได้ว่า การมี 'วิธีพิเศษ' นั้นก็เสมือนกับเป็นช่องทางยืดหยุ่นจากกฎระเบียบเพื่อตัดขั้นตอนและลดความล่าช้าในสถานการณ์ที่เหมาะสมและจำเป็น

ขณะเดียวกัน ในอีกแง่หนึ่ง ช่องทางนี้ก็เอื้อต่อการออกนอกลู่นอกทางด้วย เหตุผลสามารถถูกใช้เป็นข้ออ้างได้ทุกเมื่อ เนื่องจากขาดมาตรฐานและกรอบกำหนดที่ชัดเจนว่า ความเร่งด่วนคืออะไร และที่ว่ามีผู้ผลิตน้อยรายหรือรายเดียวนั้นตัดสินใจจากข้อมูลใด ของใคร?

สำหรับขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือก ไม่ว่าจะใช้วิธีพิเศษหรือปกติก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือแรกสุดจะต้องผ่านคณะกรรมการเปิดซองก่อน ซึ่งเกิดขึ้นจากผู้บริหารของส่วนงานเจ้าของโครงการเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ ความชำนาญเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ขึ้นมา ในแต่ละโครงการจึงมีกรรมการต่างชุดกันไปคอยทำหน้าที่พิจารณาข้อเสนอทุก ๆ ด้านของเอกชน

ต่อเมื่อได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่าจะเลือกเอกชนรายใด จึงเสนอต่อคณะกรรมการใหญ่ของการสื่อสารฯ พิจารณาอีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้การอนุมัติรับรองการดำเนินการขั้นต่อ ๆ ไป นับตั้งแต่ในขั้นของการเจรจาในรายละเอียด จนกระทั่งถึงทำสัญญา และลงมือดำเนินโครงการในที่สุด

"เมื่อก่อนการประมูลเขาให้ยื่นซองเทคนิคและราคา เสร็จแล้วเรียกประชุมเปิดทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน แต่ในปัจจุบันนี้ แม้จะยื่นพร้อมกันแต่ก็เปิดเฉพาะด้านเทคนิคก่อน ส่วนราคาเก็บไว้จนกว่าจะตรวจว่า เทคนิคถูกต้องตามต้องการแล้ว ค่อยเรียกผู้ผ่านด้านเทคนิคมาเปิดซองราคา ใครตกรอบแรกแล้วก็ไม่ต้องดูคุณสมบัติข้อที่สอง" ธงชัย โพธิ์แก้ว ผู้จัดการฝ่ายโทรคมนาคม บริษัทวรจักรอินเตอร์เนชั่นแนลเล่าถึงขั้นตอนที่เอกชนผู้เข้าเสนอจะต้องพบ

เพราะฉะนั้นเงื่อนใขที่มีความสำคัญอย่างมากในที่นี้คือ ข้อกำหนดทางเทคนิคที่ กสท. ระบุไว้

"สเป็ก" นับเป็นสิ่งที่มีความหมายมาก เป็นปัจจัยที่สามารถชี้ขาดได้ว่างานใดจะตกอยู่กับใคร ไม่เฉพาะในขั้นของการเปิดซองด้านเทคนิค แต่มีความหมายตั้งแต่ในขั้นก่อนการประกาศประกวดราคาเสียอีก เพราะระดับและลักษณะของข้อกำหนดที่เขียนขึ้นนั้นอาจมีกันบางราย หรือเอื้อบางรายตั้งแต่แรกทีเดียว

เรียกว่า ถึงไม่ใช้วิธีพิเศษเมื่อตอนเริ่มต้นแต่ผลที่สุดท้ายก็เป็นวิธีพิเศษจนได้!

"การจัดซื้อไม่มีใครทำผิดขั้นตอนได้ แต่มันอาจมีวิธีทำให้มันถูกต้องได้ คุณต้องทำให้มันถูกหรืออาจซ่อนความไม่ถูกเอาไว้" หลังจากคลุกคลีทำงานอยู่กับ กสท. มานานถึง 11 ปี ประโยคสั้น ๆ ที่พิทยาลพลกล่าวนับว่าบอกเล่าเรื่องราวได้มากมาย

ลักษณะเช่นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น 'สิ่งที่รู้ ๆ กันอยู่' ในวงการ ในแง่ที่เป็น 'แทคติก' หรือ 'กลยุทธ์' เฉพาะ เช่นเดียวกับที่สนามประมูลอื่น ๆ ต่างก็มีเป็นของตนเอง

ไม่ว่าจะเป็นการจับมือฮั้วราคากันในวงการก่อสร้าง หรือการตุกติกในแง่การเปิดซองหรือการให้ข้อมูลที่ไม่เท่ากัน

สำหรับเรื่องโทรคมนาคมเนื่องจากเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากที่สุด กลยุทธ์สำคัญจึงอยู่ที่ด้านเทคนิคนี่เอง

"การกำหนดแบบชัด ๆ อาจจะขัดกับระเบียบบังคับให้ต้องมีเข้าแข่ง 2 ราย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเรื่องที่ข้อกำหนดดูสมเหตุสมผลก็เป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การใช้วิธัพิเศษเลย ไม่มีการประมูล แต่ถ้าเป็นสินค้าที่มีผู้ผลิตหลายราย ลักษณะและคุณภาพทำได้พอ ๆ กัน แบบนี้ยังไงก็ต้องเขียนให้คนอื่นเข้าได้ด้วย อย่างน้อย 2 เจ้า แต่มีวิธีการคืออาจซ่อนเงื่อนไขเล็ก ๆ บางอันไว้ที่เป็นความต่างระหว่างยี่ห้อที่ต้องการกับยี่ห้ออื่น ทำให้อีกเจ้า MISS QUALIFY ไป นั่นเป็นเทคนิคที่สามารถทำได้" ผู้รู้ในวงการรายหนึ่งเล่าให้ฟัง

ในบางกรณีที่มีการทำเช่นนี้ ทั้งที่รู้แต่บริษัทเอกชนส่วนใหญ่ก็ยังยินยอมเข้าร่วม ยอมเป็นผู้สอบไม่ผ่านด้วยเหตุผลที่ว่า 'เพื่อเป็นการรักษาศักดิ์ศรี'

"ทำอย่างนั้นเป็นการแสดงสปิริต โดยเฉพาะถ้าเป็นานที่ทาง กสท. เชิญมาโดยตรงหรือแจ้งเรื่องมายิ่งต้องไป รู้ทั้งรู้ว่าเป็นตัวประกอบก็ต้องไป ไม่เช่นนั้นจะเท่ากับตัดช่องทางติดต่อในวันข้างหน้าเป็นการปิดโอกาสตัวเอง" เอกชนรายหนึ่งเล่าจากประสบการณ์

เรื่องการเขียนสเป็กเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ใน กสท. เช่นกัน เป็นพนักงานที่มีความรู้ได้รับการแต่งตั้งและมอบหมายจากระดับหัวหน้าหน่วยงาน

เขียนแล้วต้องนำเสนอให้ระดับบริหารและคณะกรรมการสื่อสารฯ พิจารณาด้วย

แต่ถ้าเป็นโครงการเล็ก ๆ วงเงินต่ำกว่า 10 ล้านบาทก็ผ่านเฉพาะผู้บริหาร คือรองผู้ว่าการฯ ฝ่ายโทรคมนาคมเพียงผู้เดียว ซึ่งรองผู้ว่าฯ ของฝ่ายนี้คนปัจจุบันก็คือ ธรรมนูญ จุลมณีโชติ เริ่มเข้าอยู่ในตำแหน่งเมื่อประมาณปลายปีที่ผ่านมา

"ผู้ใหญ่มักไม่ค่อยรู้ด้านเทคนิคเท่าไรการจะลงมาเอาใจใส่มากก็ไม่ได้นอกจากฟังการชี้แจงเท่านั้น ส่วนคนเขียนก็อาจจะไม่ได้มีเจตนาร้าสยแรงอะไร เพียงแต่อาจจะชื่นชอบสินค้ายี่ห้อใดเป็นพิเศษ อยากได้เป็นการเฉพาะก็เลยถือโอกาสระบุในสเป็กเสียเลย" ผู้รู้ในวงการโทรคมนาคมกล่าว

ส่วนวุฒิพร เดี่ยวพานิช ในฐานะอุปนายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย เขาไม่ได้กล่าวถึงการสื่อสารฯ โดยตรง หากเลี่ยงไปพูดถึงภาพกว้าง ๆ ว่า "โครงการสัมปทานแต่ละครั้งที่ออกมาจะเห็นได้ว่ามีเรื่องการวิ่งเต้น การล็อบบี้ มีหลายอย่างที่เรียกว่าเป็นความสกปรกในธุรกิจ และในระบบของบ้านเรา รวมทั้งคน พวกข้าราชการบางคนที่เอื้ออำนวยให้กับสิ่งไม่ถูกต้องเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว"

อย่างไรก็ตาม เรื่องของเจตนา รวมทั้งเรื่องแรงจูงใจ คงไม่มีใครระบุได้อย่างแท้จริงว่าอะไรคือข้อเท็จจริงและอะไรคือข้อจริง

พิจารณากันได้ก็แต่เพียงว่า เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามขั้นตอนและครรลองที่ควรจะเป็นหรือไม่ ตลอดจนในกรณีที่เกิดมีข้อสงสัยขึ้นมา ผู้เกี่ยวข้องสามารถชี้แจงสร้างความกระจ่างได้หรือไม่ เพียงใด

"การร้องเรียนมีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ แต่ในงานซื้อไม่ค่อยมีปัญหา หลักการง่าย ๆ ก็คือ ซื้อถูกต้อง ถูกสเป็ก และถูกเงิน แต่ถ้าใครสงสัยว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่กินเวลานาน เสียหายกันทั้งผู้ร้องเรียนและส่วนราชการ กรณีที่สมเหตุสมผลอย่างเก่งก็แค่ล้มของเก่า ไม่ใช่ว่าผู้แพ้หรือคนร้องจะได้ ต้องแล้วแต่การประมูลรอบใหม่" พิทยาพลกล่าว

ต่อกรณีการทบทวนโครงการของประธานคณะกรรมการการสื่อสารฯ คนใหม่ เสียงที่พูดกันในวงการส่วนใหญ่ต่างก็เห็นดีด้วย แม้ว่าจะไม่ได้คาดหวังถึงความเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายนัก แต่อย่างน้อยการที่ กสท. ถูก 'แตะต้อง' บ้างก็มีความหมายแล้ว

"สำหรับผมดูเสร็จแล้วก็พอใจ คิดว่าใช้ได้แล้ว แต่ใช้ได้ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า เห็นด้วยกับที่ทาง กสท. เสนอในตอนแรก" ชวลิต ธนะชานันท์ ประธานคณะกรรมการการสื่อสารฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" หลังจากใช้เวลา 'ดู' เรื่อง 8 เรื่องที่ขอกันไว้ศึกษาไปแล้วเกือบ 1 เดือนเต็ม

เขายอมรับว่า จากที่ไม่ได้คิดอะไรมากในตอนแรกรับตำแหน่ง และทั้ง ๆ ที่รู้สึกตัวอยู่ว่าไม่มีความรู้ด้านของงานการสื่อสารโทรคมนาคมเลย แต่เมื่อได้เริ่มศึกษาเรื่องต่าง ๆ แล้ว ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็คือ หนักใจและแปลกใจ

"การสื่อสารเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนและในปัจจุบันพัฒนาไปไวมาก ยิ่งมาดูเรื่องที่คาราคาซังอยู่ ผมก็ต้องนั่งอ่านการประชุมย้อนหลัง 2-3 ปี แล้วก็คุยกับคน ใช้เวลาถึง 75-80% งานอื่นเหมือนกับจะทิ้งหมด ผมเองไม่มีพื้นเลย และจะฟังจากทาง กสท. อย่างเดียวก็ไม่ได้ ข้อมูลอาจไม่สมบูรณ์ จึงต้องอ่านมากและคุยมาก"

โดยเฉพาะในด้านเทคนิค ชวลิตรู้ดีว่า พื้นฐานความรู้และประสบการณ์จากธุรกิจการธนาคารและความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของตนเองมีข้อจำกัดในการรับรู้และไม่ว่าจะพยายามอย่างไร แต่ประเด็นนี้ก็มิใช่ปัญหาใหญ่และไม่ใช่ภารกิจหลักที่ต้องทำ ตรงกันข้ามกลับเป็นข้อดีที่ทำให้เขาไม่ลืมที่จะเลือกคณะกรรมการชุดใหม่มีผู้ที่มีความเฉพาะทางด้านนี้ด้วย เพื่อช่วยเสริมให้การทำหน้าที่ที่จำเป็นสมบูรณ์ขึ้นและง่ายขึ้น

นั่นคือ ดูแลให้โครงการทั้งหลายดำเนินการด้วยความถูกต้องในทุกขั้นตอน เปิดโลกของ กสท. ให้มีความโปร่งใสอย่างแท้จริง

โครงการ INFLIGHT PHONE และ MOBITEX เป็น 2 เรื่องแรกที่ชวลิตดำเนินการแล้วหลังจากศึกษาพบว่า ยังไม่ได้มีผลผูกพันกับเอกชนรายใด เป็นเพียงแต่ 'ตั้งท่า' จะผูกพันกันในอนาคตอันใกล้ ชวลิตจึงขอพักไว้ให้ทำการศึกษาถึงความจำเป็นของบริการให้แน่ชัดเสียก่อน

สำหรับผลการพิจารณาโครงการที่เปิดประกวดราคาแล้ว ในทัศนะของประธานคนใหม่นั้นเห็นว่า คำชี้แจงของ กสท. ส่วนใหญ่พอรับฟังได้ โดยเฉพาะในประเด็นที่สื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตเอาไว้ยกเว้นแต่โครงการที่ใหญ่ที่สุด และเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมากที่สุด

นั่นคือ โครงการว่าจ้างก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำใยแก้วอาเซียนที่ต้องยืดเวลาออกไปมากกว่าโครงการอื่น ๆ

ชวลิตกล่าวว่า "ผมมีนิสัยเสียอยู่อย่างคือเวลาทำอะไรจะต้องลงไปในรายละเอียดพอสมควร ถึงแม้หลายคนจะบอกว่าเป็นประธานดูนโยบายก็พอ แต่ผมคิดว่าทำไม่ได้หากเราไม่เข้าใจเรื่องมากพอคือไม่ถึงกับต้องรู้หมด แต่ต้องรู้ อย่างเคเบิลใต้น้ำเมื่อเป็นโครงการใหญ่ มีคนร้องเรียนมามากก็ต้องดูให้มากขึ้น"

สำหรับประเด็นการร้องเรียนที่ทางบริษัทเอสทีซีแห่งอังกฤษระบุในหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมประกอบใปด้วยประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

หนึ่ง-การเปิดซองประมูลทั้งเทคนิคและราคาพร้อมกันถือเป็นการผิดต่อระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง

สอง-สายเคเบิลที่ทางบริษัทเสนอนั้นมีคุณสมบัติทนทานกว่าของทางบริษัทเอ็นอีซี-มิตซุย ผู้ชนะการประมูล

สาม-ข้อเสนอด้านราคาของบริษัทเอ็นอีซี-มิตซุยถูกกว่าเนื่องจากใช้ระบบการวางสายเคเบิลแบบไม่ฝังสายทำให้ค่าใช้จ่ายไม่มากเท่าเอสทีซี

และด้วยเหตุผลทั้ง 3 ข้อนี้เอง ทำให้เอสทีซีเชื่อว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม และมีการใช้อิทธิพลอันไม่ถูกต้องในระหว่างขั้นตอนการพิจารณา

จากการสืบค้นของ "ผู้จัดการ" พบว่า ทั้ง 3 ข้อข้างต้นตามหนังสือร้องเรียนของเอสทีซีล้วนคือ 'ข้อเท็จจริง' แต่จะให้หมายรวมถึงว่า 'ข้อกล่าวหา' ที่ตามมาถูกต้องด้วยคงจะไม่ได้ เพราะอย่างน้อยที่สุด กสท. ก็มีคำชี้แจงต่อทั้ง 3 ข้อให้พิจารณา

ข้อชี้แจงสำหรับเรื่องการเปิดซองมีอยู่ว่าเนื่องจากโครงการนี้ทำร่วมกับมาเลเซียจึงต้องยึดถือตามวิธีของมาเลเซียที่ยืนยันมาให้เปิดวองพร้อมกัน ซึ่งก็เป็นวิธีที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป รวมทั้ง กสท. เองในอดีตก็เคยใช้มาก่อน

ส่วนในเรื่องคุณสมบัติของสายเคเบิลและลักษณะของข้อเสนอเกี่ยวกับการฝังสายทาง กสท. ยอมรับว่า สิ่งที่เอสทีซีเสนอดีกว่าจริง ทว่าเป็นการดีกว่าที่เรียกว่า OVER SPECIFICATION เพราะตามข้อกำหนดทางเทคนิคที่เขียนไว้อย่างกว้าง ๆ นั้นไม่ได้เรียกร้องให้ใช้สายคุณภาพดีมากนักและไม่ได้กำหนดให้ต้องฝังสาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเทคนิคแล้ว มีผ่านแค่ 2 ราย ก่อนการพิจารณาราคา เปรียบเทียบกันก็ได้มีการปรับให้เป็นฐานเดียวกันแล้ว

คำชี้แจงเหล่านี้ ชวลิตเห็นว่าพอใช้ได้ แต่เนื่องจากในรายละเอียดของขั้นตอนการประกวดจัดจ้างยังไม่กระจ่างแจ้งทั้งหมด เนื่องจากโครงการนี้มีที่มายาวนานและมีรายละเอียดมากมาย

ดังนั้นแม้จะตระหนักดีว่าล่าช้านักไม่เป็นผลดีแต่ชวลิตก็ตัดสินใจเลือกความถูกต้องเอาไว้ก่อน จนกว่าจะแน่ใจในทุก ๆ ประเด็น

สำหรับกรณีของไอทีเอสซี 2 และเอ็มเอฟซีอาร์ 2 ที่มีการใช้วิธีพิเศษจากการศึกษาก็ทำให้พบว่ามีเหตุผลพอเนื่องจากโครงการแรกซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากไอทีเอสซี 1 และ 2 นั้นมีเอกชนเข้าแข่งขันน้อยรายอยู่แล้ว

เมื่อทำโครงการ 3 จึงเรียกมาแต่เจ้าเก่า ส่วนเอ็มเอฟซีอาร์ 2 เป็นการขยายวงจรชุมสายไอทีเอสซี 1 ที่บางรัก อันเป็นชุมสายที่ใช้อุปกรณ์ของบริษัทอิริคสันอยู่ ครั้งนี้เท่ากับเป็นการซื้อเพิ่มเติม จึงเลือกเจ้าเดิมเพื่อให้เป็นระบบเดียวกัน

ส่วนไอดีอาร์และเคเบิลใยแก้ว ทั้ง 2 โครงการผ่านขั้นตอนตามลำดับทุกประการ มีเอกชนเข้าร่วมประมูล 5 ราย และ 6 ราย ตามลำดับ

โดยที่โครงการแรกมีผู้ผ่านเทคนิค 2 ราย คือบริษัทบีเคอินเตอร์เทล จำกัด กับบริษัทจัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล รายแรกเสนอ 70 ล้านบาท รายหลังเสนอ 115 ล้านบาท จึงเสนอซื้อจากรายแรก

ในขณะที่โครงการเคเบิลใยแก้วก็มีผู้ผ่านเทคนิคเพียง 2 รายเช่นกัน ได้แก่บริษัทยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั้น อินดัสตรี จำกัดเสนอร่วมกับบริษัทโทเทิล แอ็คเว็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด และบริษัทมิตรสยามอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รายแรกเสนอ 147 ล้านบาท รายหลังเสนอ 153 ล้านบาท กสท. จึงเสนอต่อคณะกรรมการฯ ให้ซื้อจากบริษัทยูไนเต็ดฯ

อย่างไรก็ตาม ถึงจะ 'หลุด' จากข้อกล่าวหา แต่หลายโครงการก็กลับมีจุดด่างอื่น ๆ แต้มอยู่จนสะดุดตาชวลิตอย่างจังหลายจุด เช่นในกรณีเอ็มเอฟซีอาร์ 2 ที่ใช้วิธีพิเศษให้แก่อิริคสัน ปรากฏว่าราคาประมูลกลับสูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ หรืออย่างกรณีของเคเบิลใยแก้วและไอดีอาร์ก็มีผู้ผ่านเทคนิคน้อยรายเหลือเกินเมื่อเทียบกับผู้เข้าร่วมประมูลจำนวนมาก

"ผมสงสัยว่าการให้หลายรายตกนั้นเกิดจากอะไร เพราะบางทีที่ฟังมา เรื่องที่เกิดในบางหน่วยงานก็มีเหมือนกันที่กรรมการประมูลเขาปรับตกเพราะว่าเอกชนไม่ติดแสตมป์หรือไม่ได้เขียนวันที่ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้ ซึ่งคงแสดงเจตนาไม่ดีแน่ เพราะไม่ใช่สาระสำคัญ ผมก็เลยต้องเช็คดูให้ กสท. ชี้แจงก็ปรากฏว่ามีเหตุผล จุดที่เสนอแก้ไขก็เลยเป็นเรื่องว่า ต่อไปนี้เวลาเสนอเรื่องเข้ากรรมการ แทนที่จะบอกแต่เพียงว่า ตกเพราะข้อ 2.1 หรือ 2.2 ของ TOR ก็ให้เปลี่ยนเป็นคำอธิบายที่ชัดเจนไปเลย ส่วนกรณีเอ็มเอฟซีอาร์ 2 ผมฟังการชี้แจงแล้วก็ยอมรับได้เหมือนกัน" ชวลิตเล่าให้ฟัง

เป็นที่น่าสังเกตว่า การทบทวนโครงการจำนวนมากในคราวเดียวครั้งนี้ ทั้งที่ส่งผลกระทบกับเอกชนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ชนะการประมูล ซึ่งต้องเสียหายเพราะแทนที่จะได้งานตามเวลาที่ควรเป็นก็กลับต้องรอยืดเยื้อออกไป รวมทั้งยังต้องติดร่างแหเข้าข่ายมีส่วนในความถูกต้องด้วยแต่กลับปรากฏว่าไม่มีการคัดค้านหรือแสดงออกถึงความไม่พอใจแต่อย่างใด

"ผมคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผิดไปจากเดิม เพราะว่าเราผ่านสเป็ก ราคาเราดี ผ่านระเบียบทุกอย่าง ผมเชื่อว่าผู้ที่ทำหน้าที่เขาต้องยึดถือระเบียบเวลา ทำอะไรผมก็ยึดถือหลักการเป็นหลัก เดินตามหลักการตลอด ชนะก็ชนะ ถ้าแพ้ก็ต้องยอมรับ อาศัยฝีมือเป็นหลัก ส่วนการวิ่งเต้นอาจจะมีบางคนทำแต่ของเราอาศัยฝีมือ กสท. ซื้อของได้ดี ในราคาที่ดีก็เป็นประโยชน์ เพราะเราก็คนไทย" สมประสงค์ บุญยะชัย ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายโทรคมนาคมแห่งชินวัตรกรุ๊ปกล่าวแบบถนอมน้ำใจคนในการสื่อสาร

อิริคสันเองก็ให้เหตุผลคล้ายคลึงกัน โดยยืนยันด้วยว่า ถึงทบทวนนานเพียงใดก็ไม่เดือดร้อนเพราะไม่ใช่เป็นเรื่องของโครงการที่ลงทุนไปแล้วต้องชะงักค้างหรือล้มเลิก เอ็มเอฟซีอาร์ 2 เป็นรูปแบบของการซื้อขายของกัน การล่าช้าไม่ก่อความเสียหายอะไร

"ผมว่าดีเสียอีก เพราะในอดีตอยู่ในโลกมืดเกินไป ควรจะต้องสร้างความโปร่งใสกันเสียที กระบวนการทุกอย่างต้องเปิดเผยออกมา มีเหตุผลอย่างไรก็อธิบาย ผมเชื่อว่าเป็นที่เข้าใจได้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีพิเศษหรืออะไร ขอให้มีเหตุผลจริง" วุฒิพร เดี่ยวพานิช กล่าวถึงบทบาทของชวลิต

สำหรับชวลิตเองก็คิดอย่างนี้เช่นกัน เพียงแต่อดรู้สึกไม่ได้ว่า สิ่งที่ทำอยู่เป็นเพียงการจัดการกับสิ่งที่ตกค้างมาจากกรรมการชุดเก่าเท่านั้น ซึ่งแม้จะเป็นงานที่จำเป็นและมีคุณค่า แต่เหนือกว่านั้นการกำหนดทิศทางให้กับ กสท. ต่อไปในช่วงที่ยังอยู่ในตำแหน่งอีก 4 ปีก็เป็นสิ่งที่ประธานกรรมการฯ คนใหม่อยากทำมากกว่า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.