ใคร ๆ ก็เรียก "โฮ กวง ปิง" ว่า "เค พี" เขาเป็นประธานกลุ่มวาชัง
(สิงคโปร์) และกลุ่มไทยวา (ประเทศไทย) ที่มีประวัติส่วนตัวที่น่าสนใจมาก
มิใช่ในฐานะทายาทมหาเศรษฐี โฮ ริท วา เพราะวิถีชีวิตคนรวยมักจะมีอะไรที่คล้ายคลึงกันไปเสียหมด
แต่ โฮ กวง ปิง แสวงหาความเป็นตัวของตัวเองที่มีลักษณะ "ขบถหัวแข็ง"
ตั้งแต่ยังเยาว์วัย
โฮ กวง ปิงเกิดที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 24 เดือนสิงหาคม ปี 2495 ซึ่งเป็นปีที่กิจการโรงงานทำวุ้นเส้นในไทยเพิ่งก่อตั้งเช่นเดียวกัน
เหลียนฟ่งมารดาของโฮ กวง ปิงเคยมีประสบการณ์ที่น่ากลัวเกี่ยวกับการคลอดลูกสาวคนโต
"มินฟอง" ที่พม่า เมื่อตั้งท้องคนที่สอง จึงบินไปคลอดที่ฮ่องกงและเมื่ออายุไม่ถึงขวบก็ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านกล้วยน้ำไท
แม้ว่า โฮ กวง ปิงจะได้รับการศึกษาจากโรงเรียนไทยตั้งแต่เยาว์วัย แต่การเขียนอ่านภาษาไทยของเขากลับใช้การไม่ได้มากนัก
"ในครอบครัว ผมเป็นคนที่ไม่เก่งภาษามากที่สุด" โฮ กวง ปิงเล่าให้ฟัง
เมื่อจบจากโรงเรียนบางกอกพัฒนา โฮ กวง ปิงได้ไปเรียนที่โรงเรียนนานาชาติ
ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เรียนอยู่ที่นั่นจนอายุประมาณ 16 ปี ก็ไปเรียนต่อภาษาจีนกลาง
(แมนดาริน) ที่ไต้หวันอีกหนึ่งปี โดยเรียนที่มหาวิทยาลัยตังฮาย (TUNGHAI
UNIVERSITY) ซึ่งให้ผลที่ดีมากแก่เขาในอนาคต เพราะที่ไต้หวัน ถ้าหากพูดภาษาจีนไม่ได้
อ่านหนังสือจีนไม่ออก คน ๆ นั้นจะดำเนินชีวิตไม่ได้เพราะสื่อความหมายไม่เข้าใจ
"อันที่จริง คุณแม่ของผมได้พยายามสอนภาษาจีนที่บ้านแต่ผมไม่ค่อยยอมเรียน
ท่านจึงส่งผมไปเรียนที่ไต้หวันเหมือนพี่สาว"
ชีวิตหนึ่งปีที่ไต้หวันได้กลายเป็นความทรงจำที่ลืมไม่ลงของโฮ กวง ปิง เพราะไต้หวันในยุคปี
2503 เป็นสังคมทหาร ความเป็นอยู่ยากลำบาก เขาต้องไปอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยซึ่งให้นักศึกษา
8 คนพักต่อหนึ่งห้อง ขณะที่อาหารการกินมีแต่ผัก โปรตีนที่จะได้ก็จากไข่ซึ่งจะได้ทานเพียงอาทิตย์ละหนึ่งฟอง
ความเป็นอยู่ที่ลำเค็ญเช่นนี้ผิดกันลิบลับกับเมืองไทยที่จากมา เพราะที่โรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพเพื่อนนักเรียนชายหญิงซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ
ต่างสุขสันต์เที่ยวหาความสนุกสนานตามประสาวัยรุ่นหลังเลิกเรียน ขณะที่สังคมไต้หวันจะคับแคบ
คนหนุ่มสาวจะเดินด้วยกันต่อสาธารณชนไม่ได้ เพราะจะถูกเข้าใจว่าเป็นคู่รัก
หรือถ้าจับมือกันก็คือคู่สมรสกันแล้ว
หลังจากกลับจากไต้หวัน โฮ กวง ปิง ได้เรียนต่อสาขาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
ทั้ง ๆ ที่เขาสามารถจะเรียนที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ที่ซึ่ง พ่อ แม่ และพี่สาวได้เคยศึกษาที่นั่น
"คนในครอบครัวถามผมว่า ทำไมไม่ไปเรียนคอร์แนลกับพี่สาว เหตุผลหนึ่งก็คือ
ผมอยากสนุกตามประสาวัยรุ่นโดยไม่มีพี่สาวคอยเฝ้ามองความประพฤติ" ตอนหนึ่งของการสนทนาถึงอดีตของโฮ
กวง ปิง
ยุคสมัยที่เขาไปอเมริกานั้น สหรัฐอเมริกาอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 1970 (ประมาณปี
2513) เป็นยุคแห่งการแสวงหาของคนหนุ่มสาว บรรยากาศการเมืองคุกรุ่นและขัดแย้งไปด้วยความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องส่งทหารไปรบในสงครามเวียดนาม
โฮ กวง ปิงเป็นหนึ่งในนักศึกษาหนุ่มหัวรุนแรงที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมและเดินขบวนต่อต้านสงครามเวียดนามนี้อย่างจริงจัง
"แต่นั่นไม่ได้สร้างปัญหาให้ผม สิ่งที่เป็นตัวปัญหาคือ มีศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งชื่อ
วิลเลี่ยม ซอกเลย์ (WILLIAM SHOCTLEY) ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาอีเลคทรอนิคส์
ท่านมีทฤษฎีว่าคนผิวดำเกิดมาด้อยกว่าคนผิวขาว ดังนั้นคนพวกนี้จึงควรถูกกำจัดจากสังคม!"
เล่าถึงตอนนี้ โฮ กวง ปิงยังรู้สึกไม่เห็นด้วย
"ผมมีเพื่อนผิวดำอยู่ในสหพันธ์นักศึกษาผิวดำ พวกเขาท้าให้ศาสตราจารย์ท่านนั้นเปิดอภิปรายในชั้นเรียน
แล้วชวนผมดูการอภิปราย ระหว่างการอภิปรายศาสตราจารย์วิลเลี่ยมได้ถ่ายรูปผู้อยู่ในเหตุการณ์ทุกคนทั้งคนดำและคนขาว
แล้วเอาไปให้ตำรวจมหาวิทยาลัยจัดการ"
ผลปรากฏว่ารูปของโฮ กวง ปิง ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มคนดำ ได้นำไปสู่ข้อหาก่อความวุ่นวายในชั้นเรียน
ทางมหาวิทยาลัยจึงสั่งพักการเรียนเขาสองปี
"ตอนนั้นศาสตราจารย์วิลเลี่ยมพูดกับผมว่า คุณควรจะได้อ่านหนังสือที่ผมแต่ง
เพราะในนั้นระบุว่า คนจีนเป็นคนที่ฉลาดที่สุด!" โฮ กวง ปิงเน้นเสียงหนักในตอนท้าย
ๆ
จริง ๆ แล้ว ก่อนที่กำหนดพักการเรียนจะมาถึง โฮ กวง ปิงได้ติดต่อมหาวิทยาลัยคอร์แนลเพื่อขอโอนย้ายไปเรียนต่อที่นั่นแล้ว
และทางคอร์แนลก็ตอบรับด้วย แต่ความเป็นนักสู้ที่ท้าทายความไม่เป็นธรรม และเหตุผลอื่น
ๆ ทำให้โฮ กวง ปิงตัดสินใจไม่เรียนต่อ แต่กลับมาสิงคโปร์ด้วยความรู้สึกเหมือนจะบ้า
"ในสมัยรุ่นหนุ่มผมทำสิ่งที่เขาเรียกว่าบ้าคลั่งหลายอย่าง และได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตมากมาย
ซึ่งผมก็ไม่เคยเสียใจกับสิ่งที่เรียนรู้ แต่สิ่งที่ผมทำผมไม่อยากให้ลูก ๆ
ทำเช่นการฉลองวันเกิดอายุ 19 ปีในปิรามิดที่อียิปต์ นอนค้างคืนในสุสานซึ่งเสี่ยงอันตราย"
ท่ามกลางความสับสนของการแสวงหา โฮ กวง ปิงได้ตัดสินใจเป็นทหารในหน่วยวิศวกรรมระหว่างปี
2515-2518 เมื่อเวลาผ่านไปสองปีกว่า เขามีสิทธิกลับไปเรียนที่สแตนฟอร์ด แต่ทุกอย่างมันไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว
โฮ กวง ปิงตัดสินใจเรียนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์แทน โดยต้องตั้งต้นเริ่มนับหนึ่งใหม่เพราะไม่มีการยอมรับการโอนย้ายเครดิตจากมหาวิทยาลัยอื่น
"ซึ่งเท่ากับว่าผมต้องใช้เวลาเรียนปริญญาตรี 9 ปี จาก พ.ศ. 2513-2521
ซึ่งตามปกติผมน่าจะได้ดอกเตอร์นะ" เสียงแซวตัวเองที่ซ่อนรสขื่นลึก ๆ
ในความไร้สาระนี้
เมื่อหวนกลับมาเรียนอีกครั้ง ความน่าเบื่อในห้องเรียนทำให้ต้องหากิจกรรมเพื่อส่วนรวมทำ
งานนั้นคือเป็นผู้สื่อข่าวมืออาชีพของนิตยสาร "ฟาร์อีสเทอร์น อีคอนโนมิค
รีวิว" ที่กล้าเขียนถึงความจริงท้าทายอำนาจรัฐ ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของนายกรัฐมนตรี
ลี กวน ยู ซึ่งมีสัมพันธ์เก่าแก่กับพ่อ
"ในปี 2519 สิงคโปร์มีการเลือกตั้ง ผมคิดว่าสื่อมวลชนของสิงคโปร์สมัยนั้นจะมีเสรีภาพเหมือนอเมริกา
จึงเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งและวิจารณ์รัฐบาล ผมถูกจับรวมกับนักหนังสือพิมพ์คนอื่น
ๆ อีก 30 คน อยู่ในเขตควบคุมประมาณสองเดือน แล้วก็ถูกปล่อยตัวเพราะสารภาพผิดทางทีวี"
โฮ กวง ปิงย้อนเล่าอดีตอย่างขัดแย้งในใจ
สองเดือนที่อยู่ในเขตควบคุมไร้อิสระภาพ โฮ กวง ปิงไม่มีโอกาสจะได้พบหน้าคนรักเลย
จนเขาเกิดความรู้สึกว่า "ผมคิดว่าถ้าได้เป็นอิสระ ผมจะแต่งงานกับแคลร์"
หลังจากถูกปล่อยตัวแล้ว โฮ กวง ปิงต้อง "หักปากกาทิ้ง" โดยรัฐห้ามประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์ในสิงคโปร์ต่อไป
และขีดวงกิจกรรมชีวิตให้เขาเรียนต่อจนจบเศรษฐศาสตร์ประมาณปี 2521 จากนั้นก็แต่งงานกับ
"แคลร์" ซึ่งในทัศนะของความรัก โฮ กวง ปิงกล่าวว่า
"แคลร์เป็นคนรูปงาม นิสัยดี แต่เหนือสิ่งอื่นใด เธอเป็นคนเข้มแข็งยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง
ส่วนผมก็เป็นคนหัวแข็งและชอบโน้มน้าวคนอื่น ถ้าคุณมีคู่ครองที่มีนิสัยเหมือนกัน
แข็งแกร่งพอกัน ชีวิตคู่จะไปได้ยืนยาวในทางตรงข้าม ถ้าฝ่ายหนึ่งอ่อนโยนมากชอบคล้อยตาม
สักวันหนึ่งคุณอาจเอาเปรียบเธอได้ แคลร์เป็นคนเชื่อมั่นในตัวเองสูง เราจึงอยู่ร่วมกันได้ดี"
สภาพที่ถูกปิดหู ปิดตา และปิดปากนั้นทำให้โฮ กวง ปิงย้ายครอบครัวไปฮ่องกง
และยืนยันที่จะประกอบอาชีพนักข่าวตามเดิม โดยเป็นหัวหน้าฝ่ายข่าวเศรษฐกิจของ
"ฟาร์อีสเทอร์น อีคอนโนมิค รีวิว" ที่ฮ่องกง เขียนเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจของเอเชีย
ยกเว้นประเทศสิงคโปร์เท่านั้น
"ชีวิตช่วงนั้นเป็นชีวิตที่ดีและมีความสุขมาก เราอยู่ในเกาะเล็ก ๆ
ที่เงียบสงบ เป็นหมู่บ้านชาวประมงชื่อ อ่าวบันยัน ทรี (BANYAN TREE BAY)
ซึ่งอยู่ห่างจากฮ่องกงเพียงนั่งเรือ 45 นาที ในเกาะนี้ไม่มีรถวิ่ง สัญจรโดยการเดินทางไปที่ท่าเรือ
นั่งเรือ 45 นาทีถึงเกาะฮ่องกงแล้วต่อรสบัสมาทำงาน" ความสุขเรียบง่ายในอดีตปรากฏเป็นคลื่นแห่งความทรงจำอันแสนสบายของโฮ
กวง ปิง และชื่อ "บันยัน ทรี" ที่มีคำแปลว่า "ต้นไทร"
ก็ได้ปรากฏเป็นผลงานชิ้นเอกในโครงการ 'ลากูน่าบีชรีสอร์ท' ที่ภูเก็ตด้วย
สามปีเต็มที่ทั้งคู่พำนักอยู่บนเกาะฮ่องกง ตั้งแต่ปี 2521 จนถึงปี 2524
ซึ่งพ่อได้ล้มป่วยลงจนเกือบอัมพาตด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ โฮ กวง ปิงในฐานะลูกชายอันเป็นที่คาดหวังของครอบครัว
ได้กลับมาอยู่ช่วยงานพ่อที่สิงคโปร์
"การที่ผมมีประสบการณ์การเป็นนักข่าวมีส่วนช่วยได้มาก เพราะธุรกิจของกลุ่มแตกสาขาต่างกันมาก
ตั้งแต่อุปกรณ์อีเลคทรอนิคส์ถึงเคมีภัณฑ์ มีเรื่องเทคนิคเฉพาะมากมาย จึงเป็นการยากที่คุณจะคิดว่าคุณรู้ดีกว่าคนอื่นในสาขาใดสาขาหนึ่ง
แต่สิ่งที่ผมทำคือพยายามทำความเข้าใจในเรื่องหลัก ๆ ให้มากที่สุดและโดยเร็วที่สุด
โดยการศึกษาผมมีพื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์ โดยอาชีพผมมีประสบการณ์นักข่าว ทำให้ทราบว่าจะต้องค้นหาข้อมูลหลักอะไรบ้าง
สามารถอ่านรายงานการเงินและงบประมาณเข้าใจ และถ้าเจอผู้เชี่ยวชาญต้องให้โอกาสตัวเองเรียนรู้จากเขา"
โฮ กวง ปิงเล่าให้ฟัง
เพียงก้าวแรกที่เข้ามาทำธุรกิจ โฮ กวง ปิงก็ได้รับบทเรียนแห่งการตัดสินใจที่แย่ที่สุด
นั่นคือ การสร้างฐานเจาะน้ำมันในประเทศจีน ซึ่งบริษัทขาดทุนมากกว่าทุกโครงการที่ทำมา
"ธุรกิจชิ้นแรกที่ผมทำกับวาชัง คือสร้างฐานขุดเจาะน้ำมันในทะเล (JACK-UP
RIG) ที่ประเทศจีน ผลปรากฏว่าบริษัทขาดทุนมากกว่าทุกโครงการที่ทำมา ผมถามพ่อว่าต้องการให้เลิกทำมั๊ย
พ่อบอกว่าลูกทำขาดทุนแล้วจะเลิกได้อย่างไร ลูกต้องอยู่เพื่อเอาเงินคืนมา"
โฮ กวง ปิง ประธานกลุ่มไทยวาเล่าให้ฟัง
"มันเป็นการตัดสินใจที่แย่ที่สุดคือสร้างฐานเจาะน้ำมันในประเทศจีน
แล้วให้ผลประโยชน์มหาศาลแก่ลูกค้าแต่บริษัทขาดทุน ขณะที่การตัดสินใจที่ดีที่สุดคือ
การเดินสำรวจชายหาดภูเก็ต หลังจากซื้อที่ดินผืนหนึ่ง เพื่อสร้างบังกะโลแล้วตัดสินใจซื้อที่ดินอีกผืนใหญ่ที่ปัจจุบันเราสร้างโรงแรมระดับห้าดาวและสนามกอล์ฟ"
โฮ กวง ปิงเอ่ยถึงการตัดสินใจต่างกรรมต่างวาระที่ส่งผลต่อกิจการ
จากปี 2524 จวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน สิบปีแห่งการทำงานของคนหนุ่มไฟแรงที่สนุกกับงานท้าทาย
ต้องเดินทางและประชุมระหว่างประเทศบ่อย ๆ ทุกวันสุดสัปดาห์โดยมากโฮ กวง ปิงจะอยู่ภูเก็ตเพื่อประชุมกลุ่มทำงานต่าง
ๆ ของโครงการสำคัญ เมื่อมีงานบุกเบิกใหม่เช่นที่ออสเตรเลีย เขาก็ต้องบินไปหาข้อมูลต่าง
ๆ เกี่ยวกับโรงงานที่เขาหมดเวลาตระเวณดูโรงแรมต่าง ๆ
"เมื่อตอนที่ครอบครัวเราไปเที่ยวออสเตรเลียครั้งที่แล้ว แคลร์และลูกสาวอยู่ที่เมลเบอร์น
ขณะที่ผมต้องไปดูโรงแรมที่ซิดนีย์โดยพาลูกชายไปด้วย เราไปเยี่ยมโรงแรม 10
แห่ง และผมขอให้ลูกชายทำรายงานการชมด้วยว่า เขาชอบโรงแรมไหน โรงแรมไหนที่เขาอยากกล่าวคำอำลาแล้วไม่มาอีกเลย
เขาก็ทำและยังแนะนำให้เราซื้อโรงแรมหนึ่งโดยให้เหตุผลประทับใจว่า 'คนเปิดประตูนิสัยดีเป็นกันเองมาก
เขากล่าวสวัสดีกับผม' แต่เราก็ไม่ได้ซื้อโรงแรมนั้น" การพักผ่อนอย่างแท้จริงกับครอบครัวยังไม่เกิดขึ้นเมื่อฟังโฮ
กวง ปิงเล่าให้ฟังถึงตอนนี้
ครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อ แม่และลูกชายหญิงสองคนที่ชื่อ "เสี่ยวหัว"
และ "หยงหยง" น่าจะเป็นครอบครัวที่มีความสุขพอสมควร สำหรับพ่ออย่างโฮ
กวง ปิงที่พยายามแบ่งเวลางานเพื่อลูก และแม่ซึ่งมีกิจกรรมงานของสมาคมสตรีและเขียนหนังสือ
แต่พร้อมที่จะยืนเคียงข้างสามีและลูก ๆ เสมอ เมื่อถูกถามถึงความคาดหวังในอนาคตของลูก
ๆ โฮ กวง ปิงตอบว่า
"ผมยังไม่ทราบเพราะเขายังเด็กมาก ลูกชายผมเพิ่งจะ 10 ขวบแต่ผมเชื่อมั่นในเรื่อง
'ความปรารถนาของบุคคล' ถึงผมจะชอบให้ลูกชายทำงานกับไทยวา แต่ถ้าเขาต้องการเป็นหมอ
เป็นนักกฎหมายผมคงไม่คัดค้าน ในอีก 15 หรือ 16 ปีข้างหน้า ผมหวังว่าไทยวาและวาชังจะเติบโตกว่านี้มาก
ถ้าเขาไม่เหมาะสม ก็ต้องหาผู้อื่นมาสืบต่อ ผมสนุกกับการทำงานให้บริษัท แต่ไม่เคยถูกพ่อแม่บังคับให้ทำ"
พื้นฐานครอบครัวระดับมหาเศรษฐีสิงคโปร์ มิได้ทำให้ลักษณะปัญญาชนที่รักอิสระและสนุกกับงานท้าทายอย่างโฮ
กวง ปิงเปลี่ยนแปลงไปจากวัยหนุ่มสาว เพียงแต่โฮ กวง ปิงในวันนี้มีพัฒนาการทางความคิดที่สุขุมก้าวไปไม่ผิดพลาดเฉกเช่นอดีต
"ถ้าคุณปีนขึ้นภูเขาหิมาลัยตั้งแต่อายุ 20 เมื่อคุณอายุ 40 คุณก็ยังอยากปีนภูเขาลูกอื่นอีก
แต่ถ้าคุณไม่พยายามแม้แต่ต้องการจะปีน เมื่อคุณอายุ 40 คุณกำลังเดินลงจากเขา"
คำกล่าวของโฮ กวง ปิง
ในอนาคตเมื่อโฮ กวง ปิงมีอายุ 70 หรือ 80 ปี เขาอาจจะเขียนหนังสือชีวิตและงานของตัวเองที่เป็นกรณีประวัติศาสตร์ทางธุรกิจสืบต่อจากโฮ
ริท วา ผู้เป็นบิดาก็ได้!