ปัจจุบันไทยวาได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหนึ่งในห้าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในเอเชีย
จุดเชื่อมต่อประวัติศาสตร์ที่พลิกโฉมหน้าของไทยวาจากผู้ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่สู่ธุรกิจโรงแรมและสำนักงาน
เกิดขึ้นจากจินตนาการอันบรรเจิดของนักบริหารหนุ่มหัวก้าวหน้า "โฮ กวง
ปิง" ผู้สร้างความเติบโตของกิจการด้วยยุทธวิธีก้าวกระโดดสู่ระดับ "อาเซียนรีสอร์ท"
ที่มีเครือข่ายถึงสี่คาบสมุทรให้บังเกิดขึ้นและนำบริษัทพร็อพเพอตี้ของกลุ่ม
TWRD เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยในปีหน้าเป็นปีแห่งการก้าวย่างที่ต้องระมัดระวังในทศวรรษที่ห้าแห่งความผันผวนทางเศรษฐกิจการเมือง
นายห้าง "โฮ ริท วา" (HO RIH HWA) ผู้ก่อตั้งบริษัทไทยวา ปัจจุบันอายุ
76 ปีอยู่ในสภาวะปลดเกษียณตัวเองออกจากการบริหารกิจการนับตั้งแต่เขาล้มป่วยลงด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบในปี
2524 และได้ถ่ายเทอำนาจความรับผิดชอบในงานด้านต่าง ๆ ให้แก่ลูกคนที่สอง "โฮ
กวง ปิง" (HO KWON PING) หรือที่พนักงานไทยวาเรียกเขาสั้น ๆ ว่า "เคพี"
ซึ่งได้สร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ที่แผ่ขยายไปไกลกว่าที่รุ่นพ่อแม่ได้สร้างกิจการขึ้นในประเทศไทยเมื่อ
45 ปีที่แล้ว
นี่คือสิ่งที่โฮ ริท วา ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต เพราะการมีลูกที่ดีเปรียบเสมือนสินทรัพย์อันมีประเมินค่ามิได้
นักบริหารหัวก้าวหน้าอย่างโฮ กวง ปิง ได้นำทิศทางใหม่สู่การขยายกิจการภายใต้การดำเนินของเขา
เริ่มต้นตั้งแต่การระดมทุนสมัยใหม่ โดยนำบริษัทหลักดั้งเดิมที่เป็นเรือธงของธุรกิจอื่น
ๆ เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกระจายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ซึ่งมีศักยภาพเติบโตในอนาคต
บริษัท ไทยวา ได้เข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ในปลายปี 2528 ขณะที่อาคารสำนักงานไทยวาที่เริ่มต้นเคยเป็นบ้านไม้สองชั้นบนเนื้อที่สองไร่กว่าราคา
3 แสนบาท ที่พ่อแม่ได้ซื้อไว้มากว่ายี่สิบปี ก็พลิกโฉมกลายเป็นตึก 24 ชั้นที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าพันล้านบาทในชื่อ
"ไทยวาทาวเวอร์" ในปี 2529 และในอนาคตปี 2537 โครงการ "ไทยวาเซนเตอร์"
ที่เกิดขึ้นจากการผนวกอาคารหลังเก่ากับอาคารใหม่ "ไทยวาพลาซ่า"
สูงระฟ้า 61 ชั้นมูลค่าสองพันล้านบาทก็จะเป็นปรากฏการณ์ใหม่บนถนนสาธร
ภาษิตจีนได้กล่าวไว้ว่า "ตึกสูงระฟ้าเริ่มต้นจากพื้นพสุธา" กว่าที่อาณาจักรไทยวาจะเป็นปึกแผ่นในวันนี้ได้
"โฮ ริท วา" ต้องใช้พลังชีวิตของคนหนึ่งชั่วอายุคนสั่งสมทุนและสินทรัพย์อื่น
ๆ ไว้ด้วยบทเรียนแห่งประสบการณ์ชีวิตของคนจีนโพ้นทะเลคนหนึ่งซึ่งร่วมสร้างประเทศสิงคโปร์ให้เกิดขึ้นบนแผนที่โลก
ดังนั้น หน้าที่แห่งการดูแลรักษาและเพิ่มพูนกิจการไทยวาในชั่วอายุคนรุ่นที่สอง
โดย โฮ กวง ปิง จึงได้มีการขยายการลงทุนอย่างก้าวกระโดด
ทั้งนี้ผู้บริหารระดับสูงที่มีบทบาทรองลงมาจาก โฮ กวง ปิง ก็คือ พิทักษ์
บุญพจนสุนทร รองประธานของไทยวา หรือที่ใคร ๆ เรียกเขาว่า "ปีเตอร์"
อดีตลูกหม้อเก่าที่ไต่เต้าจากพนักงานพิมพ์ดีดนุ่งกางเกงขาสั้นเป็นเลขาติดตามนายห้างโฮ
มาจนถึงตำแหน่งผู้จัดการแผนกปอ แป้งมัน และเป็นผู้บริหารที่มีพรสวรรค์ในการแสวงหาโอกาส
และช่องทางลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เก่งกาจคนหนึ่ง ก่อนจะมาถึงวันนี้เขาทุ่มเทพลังหนุ่มทั้งหมดให้ไทยวาเป็นเวลาถึง
43 ปีแล้ว
เมื่อพิจารณาจากสถิติอายุบริษัทไทยวา 45 ปี แต่ละช่วงทศวรรษได้แสดงถึงการพัฒนาการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์
ที่ทำให้ไทยวามีฐานอันแข็งแกร่งที่สามารถขยายอาณาจักรธุรกิจในเครือได้มากถึง
68 บริษัทในปัจจุบัน
ทศวรรษแรก-เริ่มจากปี 2490-2500 การก่อตั้งบริษัทมีเพียงสองแห่งคือ บริษัทไทยวาซึ่งตั้งในปี
2490 บริษัทนี้ทำธุรกิจค้าแป้งมันสำปะหลังกับโรงงานผลิตอัดเม็ด และบริษัทวาลัญ
(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทไทยวาฟูดโปรดักส์) ตั้งในปี 2495 เพื่อทำโรงงานวุ้นเส้นตรามังกรคู่
ตราหงษ์ ตรากิเลนคู่
ทั้งสองบริษัทได้เป็นผู้นำในวงการค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ของไทย
(ตำนานแห่งความมานะบากบั่นของโฮ ริท วา และภริยาคู่ทุกข์คู่ยาก เหลียงฟ่งนั้นได้เขียนไว้โดยละเอียดในหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ
"EATING SALT" หรือ "นักสู้ไทยวา" ของสำนักพิมพ์ผู้จัดการ)
ยุคเริ่มแรกวัตถุประสงค์การซื้อที่ดิน เพื่อทำโรงงานวุ้นเส้นโรงงานแป้งและมันอัดเม็ด
หลังจากที่โฮ ริท วา ผู้ก่อตั้งบริษัทวาลัญได้โยกย้ายโรงงานทำวุ้นเส้นจากพม่ามาที่กรุงเทพฯในปี
2495 ที่ดินผืนแรกที่โฮ ริท วาซื้อสำหรับสร้างบ้านพักและโรงงานวุ้นเส้นคือที่ดินขนาด
13.5 ไร่ที่บางนาในราคาทั้งหมดเพียง 375,000 บาท
ในปี 2500 โฮ ริท วาได้ซื้อที่ดินโรงงานแป้งมันสำปะหลังแห่งแรกที่ทันสมัยที่สุดที่ชลบุรี
โดยเริ่มต้นจากการเช่าด้วยระยะเวลายาว 25 ปีและต่อสัญญาอีก 25 ปี
ปัจจุบันไทยวามีเนื้อที่โรงงานแป้งมันและมันอัดเม็ดส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน
ได้แก่ที่อำเภอพิมาย จ. นครราชสีมา 218 ไร่ กาฬสินธุ์ 241 ไร่ อุดรธานี 500
ไร่ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานบริษัทไทยน้ำมันสำปะหลัง และกำแพงเพชร 158 ไร่ที่ตั้งของโรงงานบริษัทดี
ไอ
ถัดมาในปี 2501-2510 อันเป็นทศวรรษที่สอง เกิดการแตกตัวเป็นสี่บริษัท แต่ยังคงอยู่ในประเภทธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรที่ครบวงจรมากขึ้นคือบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล
คอมเมอร์เชียล ดิเวลลอปเมนท์ (ICD) บริษัทวาชัง อินเตอร์เนชั่นแนล (WCI)
นำเข้าฉนวนกันความร้อนจากสิงคโปร์ บริษัทโรงงานอัดปอ ประเทศไทย (TJB) ที่ทำกำไรให้กับไทยวามหาศาลในยุคนั้น
และบริษัทยูไนเต็ดไซโลเซอร์วิส (ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ (SILO SERVICE) ซึ่งเดิมทำออกแบบติดตั้งฉนวนความร้อนก็เปลี่ยนมาทำให้ไซโลคอนกรีตถึง
20 หลัง เก็บพืชผลเช่นข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพดได้ตั้งแต่ 1,500-2,000 ตัน
ในปี 2504 โฮ ริท วา ได้ซื้อที่ดินจากคู่แข่งผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดชื่อ
โง ฮุงคิมเจ้าของกิจการ "เลี่ยงเซ้ง" ซึ่งมีปัญหาทางด้านการเงิน
และเสนอขายกิจการมันสำปะหลังรวมทรัพย์สินโรงงานฝั่งแม่น้ำบางปะกงและที่จังหวัดระยองทั้งหมดในมูลค่า
20 ล้านบาท หลังการซื้อขายครั้งนี้ทำให้กิจการแป้งมันสำปะหลังของไทยวาก้าวกระโดด
ปี 2506 ไทยวากลายเป็นบริษัทผู้ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
ขณะนั้นไทยวามีโรงงานทั้งหมดเจ็ดโรงทางภาคตะวันออก และเมื่อแหล่งปลูกมันสำปะหลังเคลื่อนย้ายจากภาคตะวันออกไปยังภาคอีสาน
โรงงานมันสำปะหลังเส้น โรงงานมันอัดเม็ดและโรงงานแป้งเกิดขึ้นมากมาย โดยมีนครราชสีมาเป็นศูนย์กลาง
โฮ ริท วา ได้เข้าซื้อกิจการโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังเก่าแห่งผนึ่งที่อำเภอพิมายในราคา
7-8 ล้านบาท ต่อมาอำเภอพิมายได้กลายเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังใหญ่ที่สุดของไทยวา
โดยมีน้ำ จิตติชัย พ่อค้าผู้ร่ำรวยและเจ้าของที่ดินไร่มันสำปะหลังเป็นผู้ซัพพลายวัตถุดิบ
ในที่สุดไทยวาได้ตกลงร่วมลงทุนกับ น้ำ จิตติชัย ตั้งบริษัทไทยวาน้ำมันสำปะหลังในปี
2522
กลางปี 2506 โฮ ริท วา ได้รับการชักชวนถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ยูไนเต็ดฟลาวมิลล์
ซึ่งเป็นโรงงานผลิตแป้งสาลีรายใหญ่ สร้างบนเนื้อที่ 50 ไร่ซึ่งมีทำเลสวยงามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ต่อมาโฮ ริท วาได้ขายกิจการและทรัพย์สินที่ดิน 50 ไร่ผืนนี้ให้แก่สว่าง เลาหทัย
เจ้าของบริษัทศรีกรุงวัฒนา ผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีใหญ่ที่สุดของไทยขณะนั้น
ผลพวงจากการเดินทางไปดูงานแป้งสาลีที่แคนาดาในปี 2507 ทำให้โฮ ริท วาได้ตกลงใจซื้อที่นา
31 เอเคอร์ในราคา 45,000 เหรียญสหรัฐ ต่อมาอีกแปดปี เขาได้ขายที่ดินแปลงนั้นไปด้วยราคา
267,000 เหรียญ
"ภายในแปดปี ผมก็ได้เงินคืนเกือบเป็นหกเท่าของเงินที่ลงทุนไป ตอนที่ซื้อนั้น
ผมไม่เพียงแต่คิดว่าการซื้อที่ดินเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยเท่านั้น แต่ผมยังคิดถึงเรื่องการอพยพไปอยู่แคนาดาด้วย
ที่เป็นเช่นนี้เพราะในปี 2507 สิงคโปร์ยังเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซียและผมไม่รู้สึกว่าเป็นคนของประเทศนี้จึงมีความคิดไปอยู่ที่อื่น"
คัดจากบันทึกของโฮ ริท วา
ต่อมาในทศวรรษที่สาม ช่วงปี 2511-2520 ไทยวามีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นคือ
บริษัทไทยโมดิไฟด์สตาร์ช (TMS) ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เพื่อผลิตและจำหน่ายแป้งมันอัลฟาสตาร์ช
ซึ่งเป็นผลิตตผลจากมันสำปะหลัง เมื่อเอาไปคลุกกับข้าวโพดบดปลาหรือกุ้งบดแล้วเติมน้ำเย็น
จะเกิดปฏิกิริยาเกาะเป็นก้อน ในไต้หวันเอาก้อนแป้งนี้ไปเลี้ยงปลาไหล โดยทำให้บ่อเลี้ยงสะอาด
ไม่เสียง่าย
ธุรกรรมของไทยวาที่เกิดขึ้นน้อยมาก ๆ ในทศวรรษที่สามนี้สืบเนื่องจาก โฮ
ริท วา ได้รับเกียรติสูงสุดเป็นเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทยในปี
2510 เพราะเขาเป็นหนึ่งในผู้สร้างประเทศสิงคโปร์
"สำหรับผมแล้ว ความรู้สึกที่ว่าตัวเองเป็นคนสิงคโปร์มีค่าเท่ากับชีวิต
คนสิงคโปร์รุ่นใหม่อาจจะไม่มีอารมณ์ผูกพันอันรุนแรงเช่นนี้ เพราะพวกเขาได้สิทธิแห่งความเป็นคนสิงคโปร์มาตั้งแต่เกิด
แต่คนรุ่นผมกว่าจะได้สิ่งนี้มาแทบเลือดตากระเด็น" โฮ ริท วาได้บันทึกแห่งชีวิตตนเองเอาไว้ในหนังสือ
"EATING SALT"
ขณะที่ความสมหวังส่วนตัวบรรลุผล ความทุกข์ก็เกดขึ้นในช่วงต้นปี 2510 เมื่อความผันผวนของค่าเงินตราระหว่างประเทศสร้างความสูญเสียต่อไทยวาอย่างมาก
เพราะธุรกิจการค้าของไทยวาส่วนใหญ่ต้องอิงกับตลาดต่างประเทศเป็นหลัก
จากสาเหตุที่ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงตกฮวบทันที 14% ก่อผลกระทบรุนแรง เพราะไทยวาคิดราคากับบริษัทโครห์น
ยักษ์ใหญ่คอมอดิตี้ของโลก โดยอาศัยราคาอาหารสัตว์ในกรุงลอนดอนเป็นฐาน
ปี 2510 เงินบาทไทยผูกค่าเงินตายตัวไว้กับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เมื่อค่าเงินปอนด์ลดค่าลง
14% เมื่อเทียบกับค่าเงินสหรัฐ จึงพลอยทำให้เงินบาทแข็งตัวขึ้นตามเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้โฮ ริท วาได้รับฉายาว่า "นายพิพิธภัณฑ์"
จากการรักษาคำมั่นสัญญากับผู้ซื้อ ไทยวา ต้องประสบกับการขาดทุนถึง 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว
30 ล้านบาท เป็นเหตุให้ โฮ ริท วาต้องครุ่นคิดอย่างหนักถึงอนาคตของวงการธุรกิจมันสำปะหลังและตัดสินใจยุติการซื้อขายมันอัดเม็ดไปสองปี
นั่นหมายถึงการขาดความเข้าใจในภาวะการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลราคามันอัดเม็ด
ซึ่งเป็นตัวชี้นำการค้าแป้งมันและคอมโมดิตี้อื่น ๆ ทำให้ไทยวาต้องเริ่มซื้อขายมันอัดเม็ดใหม่แต่ในปริมาณที่น้อยลง
"ผมรู้สึกไม่สบายใจกับท่าทีที่ฉกฉวยโอกาสของพวกเขา ดังนั้นจึงตัดสินใจยุติการซื้อขายมันสำปะหลังอัดเม็ดจนเวลาผ่านไปสองปี
ปรากฏว่าตลาดมันอัดเม็ดได้ขยายตัวใหญ่ขึ้นมากราว 70% ของหัวมันที่ผลิตได้
ส่วนที่เป็นแป้งมันฯ มีเพียง 30% เท่านั้นเอง" โฮ ริท วาบันทึกถึงเหตุผลที่หวนกลับเข้ามาในวงการซื้อขายมันเม็ด
ในทศวรรษที่สี่ ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของไทยวามีบริษัทเกิดใหม่ระหว่างปี
2521-2530 นี้เกิดขึ้นถึง 12 บริษัทที่มีการกระจายการลงทุนหลากหลายมากขึ้น
โดยการร่วมลงทุนกับต่างประเทศ ซึ่งมีเทคโนโลยีแปรรูปผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง
เช่น ตั้งบริษัทไทนวิสคอลเคมีในปี 2525 โดยร่วมลงทุนกับชาวเยอรมันเพื่อผลิตแป้งแปรรูปที่นำไปเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมทอผ้า
กระดาษ อุตสาหกรรมกาว แผ่นยิปซั่ม และอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน
ในปี 2524 นี้เองที่โฮ ริท วา เริ่มประสบปัญหาสุขภาพรุนแรงจากโรคเส้นเลือดในสมองตีบจนเกือบอัมพาต
ก่อให้เกิดการผ่องถ่ายอำนาจไปสู่รุ่นลูกในเวลาต่อมา โดยโฮ กวง ปิง ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็นนักข่าวหัวก้าวหน้าของนิตยสารฟาร์อิคอนโนมิคที่ฮ่องกง
ต้องลาออกจากงานนักข่าวมาช่วยกิจการครอบครัว
การเปลี่ยนแปลงผู้นำใหม่เป็น "โฮ กวง ปิง" ได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวในธุรกรรมการลงทุนใหม่
ๆ ที่หลากหลายมากขึ้นจากธุรกิจดั้งเดิมด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเริ่มมีทีท่าอนาคตไม่สดใสมากนัก
เนื่องจากปัญหาด้านผลผลิตในประเทศและวิกฤตการณ์ราคามันสำปะหลังในตลาดอีซีตกต่ำลง
ตลอดจนการค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและพืชไร่เช่นปอซบเซา
โฮ กวง ปิง ต้องการที่จะ REFOCUS ธุรกิจของไทยวาให้กระจายออกจากธุรกิจการค้าคอมโมดิตี้ที่มีความเสี่ยงสูงและไม่แน่นอน
ไปสู่การแปรรูปอุตสาหกรรมการเกษตรและการลงทุนที่มีการเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์สูง
มีอัตราเสี่ยงน้อยจากความผันผวนทางการตลาด
จุดนี้เองที่ทำให้ผู้บริหารกลุ่มไทยวาต้องแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรไปในรูปของสินค้าอุปโภคบริโภค
โดยจะเป็นลักษณะของการร่วมลงทุนกับต่างประเทศ เช่น บริษัทคริสปี้สแนคซึ่งก่อตั้งในปี
2531 โดยร่วมลงทุนกับญี่ปุ่นผลิตของขบเคี้ยว กับบริษัทไทยวาฟุทแวร์ก่อตั้งในปี
2532
นอกจากนี้ธุรกรรมการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ในทศวรรษนี้ของบริษัทไทยวา ก็คือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งไทยวามีแลนด์แบงก์สั่งสมอยู่มาก
เช่น ที่ดินผืนใหญ่ที่สุดที่อ่าวบางเทาจังหวัดภูเก็ตไม่ต่ำกว่า 2,340 ไร่
ที่เชียงรายจำนวน 1,500 ไร่เป็นต้น
จากจุดเริ่มต้นของการสร้างตึกระฟ้าสูง 24 ชั้นของไทยวาทาวเวอร์ในปี 2528
ที่เกิดจากการผ่อนคลายกฎเทศบัญญัติของกรุงเทพมหานคร ให้สร้างตึกสูงบริเวณถนนสาธรได้
ประจวบเหมาะกับการบูมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ปี 2529 ทำให้ไทยวาเกิดนโยบายใหม่ด้านธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่กลายเป็นรายได้หลักสู่กิจการต่อมา
"ผมอยากให้กลุ่มบริษัทไทยวา เป็นบริษัทชั้นนำบริษัทหนึ่งในภาคธุรกิจที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย
และมีตลาดที่แข็งแกร่งสำหรับธุรกิจนั้น ๆ เช่น ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้หวังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดแต่บริษัทไทยวารีสอร์ทก็ควรเป็นผู้นำด้านการพัฒนาที่ดิน
เช่น โรงแรมและอาคารสำนักงาน เป็นต้น ปัจจุบันเราได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหนึ่งในห้าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในเอเชีย"
นี่คือเป้าหมายและภารกิจสำคัญของ โฮ กวง ปิง
ฉะนั้นในทศวรรษที่ห้าของไทยวาเริ่มตั้งแต่ปี 2531 ถึงปัจจุบัน จึงเป็นยุคของการถักทอฝัน
โครงการอาเซียนรีสอร์ท "รีสอร์ทสี่คาบสมุทร" ของโฮ กวง ปิง นอกเหนือจากการร่วมลงทุนขนานใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหาร
เช่น บริษัทคริสปี้สแนคที่ร่วมกับญี่ปุ่น บริษัทไทยวาฟุทแวร์ที่ผลิตรองเท้าเพื่อส่งออก
และล่าสุดปี 2533 โครงการผลิตสายละลายซอร์ปิตอลจากแป้งมันสำปะหลังเพื่อส่งออก
ที่ไทยวาร่วมกับบริษัทลักกี้แห่งเกาหลีใต้ ตั้งบริษัทไทยวาลักกี้เคมีคอลล์ในปี
2533 แล้ว
ยุทธวิธีการเติบโตด้วยการสร้างเครือข่ายรีสอร์ททั่วชายฝั่งทะเลเอเชียของไทยวาเป็นไปเพื่อที่จะรองรับตลาดนักท่องเที่ยวในอีก
1 ปีข้างหน้าหรือราวปี 2543 ที่การประชุมของ ECONOMIST INTELLIGENCE UNIT
(EIU) ในเครือของนิตยสาร ECONOMIST ที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดาเมื่อปี 2533
คาดว่านักท่องเที่ยวญี่ปุ่นและยุโรปจะมาภูมิภาคอาเซียนนี้จำนวนถึง 29.3 ล้านคนและจำนวนนี้คาดว่าจะมาไทยถึง
12 ล้านคนหรือมีคืนพักทั้งสิ้น 100 ล้านคืนเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย ตะวันออกไกลและแปซิฟิก
และแนวโน้มการพักผ่อนชายทะเลจะเป็นที่นิยมสูงสุด และได้มีการเสนอให้ไทยตัดที่พักรองรับตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปที่มีรายได้สูงด้วย
แน่นอนว่าภูเก็ตคือจุดหมายปลายทางหนึ่งในบรรดาเกาะแก่งทั้งหลายในประเทศอาเซียน
ดังนั้นเขาจึงทุ่มเทพลังและทรัพยากรส่วนใหญ่ให้กับโครงการ "ลากูน่าบีชรีสอร์ท"
ซึ่งต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 7 ปี เพื่อสร้างผลงานอันยิ่งใหญ่นี้ไว้บนพื้นที่
1,400 ไร่ ที่อ่าวบางเทา จังหวัดภูเก็ต ที่ซึ่งเดิมเป็นขุมเหมืองร้าง
การจัดซื้อที่ดินในบริเวณอ่าวบางเทานี้ แต่เริ่มแรกที่ดิน 500 ไร่จัดซื้อในนามบริษัทบางเทา
ดิเวลลอปเมนท์ โดยซื้อจากบริษัทวิเศษนุกูลโดยตรง ต่อมาเมื่อมีการซื้อเพิ่มทีละแปลง
ได้ตั้งบริษัทบางเทาออกเป็นหลายบริษัท โดยใช้ตัวเลขเรียงตามลำดับ เช่น บริษัทบางเทา
(1) จนถึงบริษัทบางเทา (7) แบ่งกันถือที่ดินคนละแปลงสองแปลง อันเป็นวิธีการที่จะโอนที่ดินได้เร็วเพื่อป้องกันคู่แข่งตัดหน้าซื้อที่ดินไป
เป้าหมายสร้างโครงการรีสอร์ทที่ไทยวาทำครบวงจรแห่งแรกของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยโรงแรมรีสอร์ทชั้นนำ
4 แห่งซึ่งแต่ละแห่งจะกั้นด้วยแอ่งน้ำธรรมชาติ
ส่วนแรกคือโรงแรมดุสิตลากูน่าซึ่งเปิดครั้งแรกในปี 2530 ต่อมาได้แก่โรงแรมแปซิฟิคไอส์แลนด์คลับ
(PIC) ซึ่งมีคอนเซปท์เจาะกลุ่มลูกค้าที่ชอบกิจกรรมกีฬาและบันเทิงโดยมีเจ้าหน้าที่คลับเมทคอยบริการ
ส่วนโรงแรมระดับห้าดาว "เชอราตันแกรนด์ลากูน่าบีช" ขนาด 344 ห้องซึ่งจะเปิดในปีนี้และโรงแรมบันยันทรี
ภูเก็ต ซึ่งเป็นแห่งสุดท้ายของโครงการที่จะเปิดในปี 2536 ประกอบด้วยวิลล่าหรู
156 หลังเพื่อขายแก่ลูกค้าระดับสูง พร้อมทั้งเนรมิตสนามกอล์ฟขนาดมาตรฐานโลก
18 หลุม คอนโดมิเนียมที่พักอาศัย และหมู่บ้านชายน้ำ
คอนเซปท์ของลากูน่าบีชรีสอร์ทนี้เป็นลักษณะ INTEGRATED RESORTS ที่รวมเอาสถานที่พักผ่อนตากอากาศชายทะเลภูเก็ตมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันและทำให้น่าตื่นตาตื่นใจในรูปแบบการเลือกที่หลากหลายและต่อเนื่องกัน
"ในอเมริกามีหลายแห่ง เช่น ที่ฟลอริด้าและไมอามี แต่ในยุโรปมีน้อย
เพราะ INTEGRATED RESORTS ต้องใช้ที่ดินมาก ในเอเชียมีแห่งเดียวที่อินโดนีเซียเป็นของรัฐบาล
แต่เป็นสิ่งที่ไม่สมบูรณ์นักเพราะโรงแรมต่าง ๆ บริหารงานแยกกัน คือที่บูซาดัวร์
เมืองบาหลี จึงอาจกล่าวได้ว่า เราสร้าง INTEGRATED RESORTS ที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกในเอเชีย
และเนื่องจากเรามีประสบการณ์ด้านนี้พอสมควร นักลงทุนต่างชาติที่มีที่ดินผืนใหญ่
เช่นนักลงทุนในสุมาตราและลังกาวีจึงสนใจให้เราทำงานร่วมกับเขา" แผนพัฒนาที่ดินยิ่งใหญ่ของโฮ
กวง ปิง จึงสร้างความแตกต่างเด่นชัดจากคำบอกเล่าของเขา
แต่ความเป็นมืออาชีพในการบริหารโรงแรมหรือรีสอร์ท ไทยวาต้องพึ่งพาภายนอก
ซึ่งได้แก่ผู้ร่วมลงทุนที่เป็นเชนโรงแรมชั้นนำในท้องถิ่นและต่างประเทศ เช่น
ดุสิตธานีกรุ๊ป เชอราตัน หรือแปซิฟิคไอส์แลนด์คลับ เป็นต้น
ผลประกอบการของดุสิตลากูน่าในปี 25289 จากเริ่มต้นจากสินทรัพย์ 325 ล้านบาทและกำไรสุทธิ
25 ล้านบาท แต่ในปี 2535 สินทรัพย์มีมากถึง 7,900 ล้านบาทกำไรจะประมาณ 475
ล้านบาท
"มีสิ่งที่ลึกซึ่งยิ่งกว่านั้นเกี่ยวกับหุ้นส่วนของคุณ ถ้าคุณลงทุนร่วมกับใคร
คุณควรจะมีที่ว่างให้คู่ค้าของคุณทำกำไร การทำธุรกิจโดยใช้เงินและผลประโยชน์ผู้อื่น
จะดำเนินอยู่ไม่นาน นักธุรกิจที่น่าดูเป็นตัวอย่างในกรณีนี้คือ ลี กา-ชิง
ชาวฮ่องกง ทุกคนที่ทำธุรกิจร่วมกับเขาจะกล่าวเหมือนกันว่าเขาไม่เอาเปรียบคน
เหลือที่ว่างให้หุ้นส่วนหรือคู่ค้าทำกำไรได้เสมอ" ประธานกลุ่มไทยวากล่าว
นอกจากนี้ได้มีไทยวาถือหุ้น 20% ตั้งบริษัททรอปิคอลรีสอร์ทที่ฮ่องกงด้วยทุนจดทะเบียน
50 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ที่สิงคโปร์ชื่อบริษัทนี้คือบริษัทอาเซียนรีสอร์ท
ต่อมาในปี 2534 บริษัททรอปิคอลรีสอร์ทได้ร่วมลงทุน 50% เพื่อทำรีสอร์ทจำนวน
150 ห้องที่เมืองเครนส์ ประเทศออสเตรเลีย และซื้อที่ดินเพื่อทำรีสอร์ทในบินตันมานาโดและบอมบอกในอินโดนีเซีย
และยังซื้อที่ดินในศรีลังกาอีกด้วย โดยแบรนด์ที่จะใช้ทำรีสอร์ทในภูมิภาคนี้คือ
"บันยันทรี" ซึ่งแปลว่า "ต้นไทร" แต่มีความหมายทางใจต่อโฮ
กวง ปิง มากเมื่อครั้งที่เขาทำงานเป็นนักข่าวและพำนักกับภรรยาบนเกาะเล็ก
ๆ ใกล้ฮ่องกง
"ผมรักกิจการโรงแรมและรีสอร์ท เพราะมันเหมือนโรงละครที่สร้างชีวิตชีวา
โรงแรมเหมือนเวทีละคร ฝ่ายบริหารและวิศวกรคือผู้อยู่หลังเวที ตัวแสดงก็คือเจ้าหน้าที่แผนกต้อนรับ
และแขกผู้มาพัก ธุรกิจดำเนินไปเรื่อย ๆ เหมือนบทละครที่ต้องเล่นไป ผมสนุกที่จะเฝ้าดูละครเหล่านั้น
และมีความสุขที่ได้มีส่วนแสดงแนวความคิดในการออกแบบถ่ายทอดมันบนแผ่นกระดาษ
เห็นการสร้างตามแบบที่ผมฝัน แล้วในที่สุดมันก็มีชีวิตชีวาตามที่ควรจะเป็น"
จินตนาการที่รังสรรค์ตามฝันของโฮ กวง ปิงได้บรรเจิดจ้าขณะที่เขาเล่า
เมื่อเขาสามารถแผ่ขยายจากกิจการดั้งเดิมเพียง 9 แห่งที่รุ่นพ่อทำไว้ในธุรกิจการค้าและผลิตเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
สู่การขยายกิจการบริษัททั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 68 แห่งในปัจจุบัน จำนวนนี้อยู่ในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ถึง
44 บริษัท ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มใหญ่มาก
กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นเป็นโรงแรมและสำนักงานให้เช่าในช่วงตั้งแต่ปี
2529-2533 ปรากฏในรูปของการก่อตั้งบริษัทด้านนี้สูงถึง 44 แห่ง โดยเฉพาะภายในปี
2531 ปีเดียว บริษัทเกิดใหม่ด้านที่ดินและโรงแรมถูกตั้งขึ้นไม่ต่ำกว่า 17
แห่ง สนองตอบต่อการเติบโตภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่บูม
ในช่วงเวลานั้น
ดังนั้นในปี 2534 กลุ่มไทยวาได้เริ่มปรับโครงสร้างของกลุ่มใหม่ โดยรวมบริษัทต่าง
ๆ ในธุรกิจรีสอร์ทให้มาอยู่ภายใต้แกนนำของบริษัท "ไทยวารีสอร์ทดิเวลลอปเมนท์"
หรือเรียกย่อ ๆ ว่า TWRD
เดิม TWRD ชื่อบริษัทดุสิตลากูน่า ซึ่งเกิดจากการถือหุ้นร่วมกันระหว่าง
ไทยวากับกลุ่มดุสิตธานี บริษัทกรีนสยาม ห้างบีกริม แอนโก บริษัทงานทวี ทำให้มีกรรมการบริษัท
11 คน ได้แก่ โฮ ริท วา พิทักษ์ บุญพจนสุนทร ชนัตถ์ ปิยะอุย ชนินทร์ โทณวนิก
ฮาราลด์ ลิงค์ นิวัฒน์ แจ้งอริยวงศ์ โฮ กวง ปิง โฮ กวง เจิ้ง ธนิต ศรีรัตนาลัย
ฉันทนา จูฑะกาญจน์ และวัลลภ อธิคมประภา
ปัจจุบันบริษัท TWRD นี้มียอดสินทรัพย์ทั้งสิ้นประมาณ 4,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น
57% ของสินทรัพย์รวมบริษัทไทยวาและบริษัทไทยวาฟูดโปรดักส์ TWRD มีทุนจดทะเบียน
100 ล้านบาท โดยมีบริษัทไทยวาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 40% และขณะนี้อยู่ระหว่างการขอยื่นเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย
ดังนั้นในอนาคตบริษัท "ไทยวารีสอร์ทดิเวลลอปเมนท์" TWRD จะกลายเป็นบริษัทจดทะเบียนอันดับที่สาม
สืบต่อจากบริษัทไทยวาและบริษัทไทยวาฟู้ดโปรดักส์
ขณะเดียวกันกับโครงการสำคัญในอนาคตที่จะเปิดดำเนินการในปี 2537 คือโครงการ
"ไทยวาเซนเตอร์" บนเนื้อที่ 5 ไร่ซึ่งเฉพาะราคาที่ดินมีมูลค่าสูงถึง
951 ล้าน ประกอบด้วย "อาคารไทยวาพลาซ่า" สูงระฟ้า 61 ชั้นที่เป็นสำนักงานให้เช่าประมาณ
25 ชั้นและที่เหลือเป็นโรงแรมแบบห้องชุด 200 ห้อง ส่วนชั้นที่ 51 จะเป็นสกายวินโดสูงเท่ากับตึก
4 ชั้นมีศูนย์สุขภาพลอยฟ้า คลับและห้องประชุมที่จะอยู่ชั้นสูงสุดของอาคาร
ในการปรับโครงสร้างใหม่ (CONSOLIDATE) ของทั้งกลุ่มอสังหาริมทรัพย์นี้
ปรากฏว่าผู้บริหารระดับสูงที่มีบทบาทดูแลกลุ่มนี้คือ ฉันทนา จูฑะกาญจน์ ซึ่งโดยตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการสตรีของบริษัท
ที ดับบลิว อาร์ โฮลดิ้ง (เดิมชื่อบริษัทไทยวารีสอร์ท) ซึ่งมีทุนจดทะเบียน
1,250 ล้านบาท
ฉันทนาเริ่มเข้ามาทำงานกับไทยวาได้ตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งเป็นจังหวะที่บริษัทไทยวาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
จากจุดเริ่มต้นตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและการเงิน ซึ่งเป็นหัวใจส่วนหนึ่งของธุรกิจ
ทำให้เธอเรียนรู้การจัดการทรัพย์สินของกลุ่ม ตลอดจนเป้าหมายและโครงสร้างขององค์กรชัดเจน
ฉันทนาได้กลายเป็นกำลังหลักคนหนึ่งของบริษัทที่มีความสามารถไต่เต้าสู่ระดับสูงอย่างรวดเร็ว
ฉันทนาเป็นตัวอย่างผู้บริหารคนหนุ่มสาวของไทยวา ซึ่งให้บรรยากาศของการทำงานที่สร้างสรรค์และฉับไวในการตัดสินใจ
โดยเฉพาะในการตลาดของธุรกิจโรงแรมและสำนักงานนี้ เธอเป็นผู้หญิงที่ไม่หยุดนิ่งในการใฝ่รู้และหมั่นศึกษา
ปัจจุบันเธอศึกษาปริญญาโทการตลาดในหลักสูตร MIM แห่งมหาวิทยาลัยโกเธนเบอร์ก
ขณะที่ภารกิจในฐานะแม่ของลูกสาวสองคนก็ยังคงมีอยู่
"ผมไม่คิดว่า 'ความเป็นผู้หญิง' จะสามารถปิดกั้นโอกาสความก้าวหน้าในองค์กร
แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีความยุ่งยากบางอย่าง เช่น ต้องเสียสละ 'ความเป็นส่วนตัว'
ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเองกับครอบครัว มีบางอย่างที่ผู้หญิงทำได้ดีกว่าผู้ชาย
เช่น นุ่มนวลกว่า และประนีประนอมได้ดีกว่า สังเกตจากการประชุมหลายครั้ง ผู้หญิงจะควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่าผู้ชาย
ไม่โต้เถียงรุนแรง" โฮ กวง ปิง ประธานกลุ่มไทยวาให้ทัศนะ
ประสบการณ์การทำงานกับบริษัทชั้นนำของต่างประเทศมาตลอดนับตั้งแต่เริ่มแรกคือบริษัทยูไนเต็ดแท็กซ์ไทล์กับบริษัทสยามโพลิเท็กซ์ที่ทำอยู่สองปี
และบริษัทซาฟโคลของออสเตรเลียไม่ต่ำกว่า 10 ปี ทำให้ฉันทนามีโลกทัศน์ที่กว้างไกลในการวางระบบบัญชีและการเงินตลอดจนเรื่องของการเทคโอเวอร์
"เมื่อเข้ามาทำงานที่นี่ในปี 2528 ซึ่งเป็นปีที่เราเข้าตลาดหลักทรัพย์
ดิฉันก็เข้ามาทำวางระบบบัญชีและ MIS ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและการเงิน
ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอยู่ในบอร์ดของไทยวาด้วย เพิ่งจะมาดูแลโครงการโรงแรม
โดยก่อนหน้านี้ได้ช่วยเขาทำมาตั้งแต่ดุสิตลากูน่า แต่บทที่เล่นส่วนใหญ่เป็นบทของการเอื้ออำนวยจัดหาเงินทองของกลุ่ม"
เอ็มดีหญิงคนแรกของที ดับบลิว อาร์ โฮลดิ้งเล่าให้ฟัง
งานบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ของไทยวาเป็นสิ่งท้าทายความสามารถของฉันทนา
โดยเฉพาะในสภาวะของความวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นมากมาย
"ดิฉันถือว่าเป็นโอกาสดีบางอย่างในจุดที่มีวิกฤตอย่างนี้ ข้อดีมีหลายตัว
เช่น การติดต่อกับผู้รับเหมาหรือซัพพลายเออร์ เรามีอำนาจการต่อรองมากขึ้น
ด้านการเงินไม่มีปัญหาเราก็ได้รับการสนับสนุนจากแบงก์เพราะในยามวิกฤตแบงก์ต้องเลือกมาก
และคู่แข่งรายใหม่ที่จะเข้ามาก็ซบเซาลง" ฉันทนากล่าว
อย่างไรก็ตาม ฉันทนาพร้อมคณะทำงานได้วางแผนศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่จะเพิ่มมูลค่าที่ดินที่ยังไม่ได้พัฒนาในบริษัทอีกจำนวนไม่ต่ำกว่า
8,000 ไร่ เพื่อหาลู่ทางการลงทุนซึ่งแบ่งเป็นสองประเภทตลาดหลัก ๆ ได้ดังนี้
หนึ่ง-ประเภท CITY HOTEL และสำนักงานให้เช่า ในอนาคตได้มีการศึกษาที่จะสร้าง
RESIDENTIAL CONDOMINIUM บนที่ดิน ริมถนนสรรพาวุธ บางนา ซึ่งเดิมเป็นโรงงานวุ้นเส้นจำนวน
18 ไร่
นอกจากนี้โครงการสำนักงานให้เช่าที่สำคัญอีกแห่งของไทยวา คาดว่าจะเกิดบนถนนรัชดาภิเษก
เป็นที่ดินที่แพงมากจำนวน 6-7 ไร่ อยู่ตรงข้ามศูนย์วัฒนธรรม เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
ผู้บริหารไทยวาคิดจะสร้างออฟฟิศคอนโดมิเนียมขึ้น แต่เมื่อโครงการเมืองรุ้งได้เกิดขึ้น
จึงต้องชะลอตัวลงเพื่อจับตาคู่แข่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป โครงการเมืองรุ้งมีทีท่าจะไปไม่ได้ไกล
ผู้บริหารไทยวาจึงเดินหน้าที่จะทำต่อไปในนามของบริษัทรัชดาทรัพย์พัฒนา
ส่วนที่ดินดั้งเดิมของโรงงานอัดปอที่ปากเกร็ด ถนนแจ้งวัฒนะอยู่ตรงข้ามกับโครงการบางกอกแลนด์
ปัจจุบันเป็นโกดังเก็บสินค้า ได้มีการทบทวนที่จะพัฒนาเป็นโครงการ RESIDENTIAL
CONDOMINIUM ระดับสูงขึ้นมาเช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยสำรวจตลาด
ขณะที่ตามหัวเมืองสำคัญ ๆ เช่น เชียงใหม่ บริเวณถนนไฮเวย์ ตรงข้ามกับปาล์มสปริง
ไทยวาจะเนรมิตมิติใหม่ของโครงการออฟฟิศคอนโดมิเนียมบนเนื้อที่ 88 ไร่ ที่มีคอนเซปท์เป็น
BUSINESS CENTER ของสถาบันการเงิน ประกอบด้วย LOW RISE CONDOMINIUM ที่ข้างบนพักอาศัยและข้างล่างเป็นที่ทำงาน
สปอร์ตคลับ และโครงการโรงแรมซึ่งจะสร้างหลังสุด
"โดยส่วนตัวเองมีความเชื่อในศักยภาพเมืองเชียงใหม่ แต่สำคัญที่จังหวะเกิดของโครงการเป็นสิ่งสำคัญ
โชคดีที่เราไม่ได้สั่งเดินเครื่อง ตอนที่เกิดวิกฤตเดือนพฤษภา ไม่งั้นเราต้องปรับแผนกันยุ่ง
จึงมีการวิจัยทางการตลาดกันใหม่ ถ้าไปได้ดีเราจะเริ่มสร้างได้ในปี 2536 นี้"
ฉันทนา กรรมการผู้จัดการสาวเล่าให้ฟัง
สอง-ประเภทรีสอร์ท ที่ดินที่เชียงรายจำนวน 897 ไร่ ซึ่งมีที่ตั้งใกล้สนามบินเชียงราย
ได้มีการเสนอคอนเซปท์ที่ต้องการจับกลุ่มเป้าหมายระดับสูงที่ต้องการมีบ้านหลังที่สอง
พร้อมทั้งการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟ
นอกจากนี้ โครงการสร้างรีสอร์ทท่ามกลางความสงบสวยงามของเมืองในหมอก จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ได้ทำให้ผู้บริหารไทยวาเกิดจินตนาการที่จะสร้างสถานที่พักตากอากาศขึ้นบนเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า
59 ไร่ที่อำเภอปายสะมาด
ความที่บริษัทแม่ไทยวาเป็นทั้งบริษัทการค้าและผู้ส่งออก ทำให้เงินทุนหมุนเวียนมีสภาพคล่องสูง
เนื่องจากไทยวาได้รับสิทธิประโยชน์จากแพคกิ้งเครดิตที่ผ่านมาจากแบงก์ชาติในอัตราดอกเบี้ยเงินบาทต่ำมาก
ในระยะเวลา 180 วัน
เมื่อกิจการค้าพืชผลมีกำไร เงินสดได้ถูกนำไปลงทุนสะสมในรูปของที่ดินและนำที่ดินนั้น
ไปเป็นหลักค้ำประกันในการกู้เงินแบงก์มาพัฒนาเป็นโครงการโรงแรมรีสอร์ทและสำนักงานให้เช่า
ซึ่งแต่ละโครงการต้องการเงินลงทุนมหาศาล
แหล่งเงินลงทุนที่สำคัญของไทยวา จึงมีสองทางได้แก่ ทางหนึ่งมาจากการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
ซึ่งขณะนี้ยังเหลืออยู่ครึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียน 1,348.8 ล้านบาท ซึ่งไทยวายังไม่ได้ใช้
อีกทางหนึ่งจากการกู้แบงก์พาณิชย์ทั้งในประเทศซึ่งมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นหลักและต่างประเทศจะใช้แบงก์ในฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นหลัก
ในลักษณะเงินกู้ระยะ MEDIUM TERM เพื่อใช้เป็น WORKING CAPITAL ภายในระยะเวลา
4-5 ปี เช่นจากหมายเหตุประกอบงบการเงินปี 2533 ในโครงการไทยวาทาวเวอร์ ได้มีการกู้เงินบาทจำนวน
47.6 ล้านบาทและกู้เงินดอลลาร์สหรัฐ 2.5 ล้านเหรียญ ประมาณ 63.3 ล้านบาท
รวมเป็นเงิน 111.0 ล้านบาทในระยะเวลาตั้งแต่ปี 2532-39
"ไทยวามิใช่ทำหน้าที่เป็นแบงเกอร์ที่เป็นตัวกลางกู้เงินผ่าน แต่จะรับผิดชอบตรงตามที่
EQUITY หมายความว่า ในแต่ละโปรเจกต์เมื่อทำงบประมาณ สมมตุหนึ่งพันล้านบาท
ตามนโยบายหลักในการกู้ 2 ต่อ 1 หรือ 60:40 ใน 40 ส่วนนี้ ก็จะมาดูว่า ไทยวา
วาชังหรือ PARTNER จะลงกับเราเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเราจะจำกัดส่วนของอินเวสเมนท์ไว้ตรงนี้
ส่วนการกู้เงินโครงการนั้นต้องไปติดต่อกับแหล่งเงินทุนเองหรือไม่ก็ไม่ให้เราไปช่วยดูหาให้ก็ได้"
ฉันทนาอธิบายถึงนโยบายการเงินของไทยวาให้ฟัง
นี่คือความจำเป็นที่ทำให้กิจการในเครือไทยวาต้องใช้แบงก์มาก โดยเฉพาะที่สิงคโปร์
ไทยวาใช้แบงก์นับสิบ ๆ เช่น ธนาคารซานเปาโล ธนาคารราโบช ธนาคารพารีบาส ธนาคารอัมสเตอร์ดัมรอตเตอร์ดัม
เป็นต้น และในประเทศไทย ไทยวามีแบงก์ไทยพาณิชย์เป็นหลัก ควบคู่กับแบงก์กรุงเทพและกสิกรไทย
บงล. ทิสโก้และ บงล. พัฒนสิน นอกจากนี้ต้องจำเป็นต้องใช้สาขาของแบงก์ต่างประเทศในไทย
โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินคือ มอร์แกนที่กรุงเทพและสิงคโปร์ และใช้ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศด้วย
"ในต่างประเทศ หลักการอันหนึ่ง ถ้าเป็น PROJECT FINANCING จริง ๆ
ระยะเงินกู้ 5-10 ปีจะยาวเกินไป และถ้าเราเป็น OVERSEA PROJECT เราจะต้องหา
LOCAL BANKER เป็น LEAD ร่วมด้วยเพราะว่าเมื่อเกิดวิกฤตเช่น พฤษภาคมในบ้านเรา
โปรเจ็คที่กู้แบงก์ต่างชาติทั้งหมดจะเจ็บปวดมาก ดังนั้นโครงการใหญ่ ๆ และกินเวลานาน
เราต้องพึ่ง LOCAL ซึ่งอาจจะไม่ใช่แบงก์ไทยก็ได้ แต่เป็นสาขาของแบงก์ต่างประเทศที่นี่
เราพิสูจน์ได้ว่านโยบายนี้ใช้ได้ค่อนข้างดีมาก" ฉันทนาเล่าให้ฟัง
ผลประกอบการ ในปีที่แล้วปรากฏมียอดงบกำไรขาดทุนของบริษัทไทยวาว่า รายได้รวมของบริษัทประมาณ
2,271 ล้านบาท ซึ่งเติบโตมากกว่าปี 2533 ที่ทำรายได้รวมได้เพียง 1,785 ล้านบาทเท่านั้น
"เรามีธุรกิจหลักอยู่สามประเภท ที่จะสร้างสมดุลได้เป็นอย่างดี เพราะว่าในธุรกิจโรงแรมถึงแม้จะมีความเสี่ยงที่ขึ้น
ๆ ลง ๆ แต่เรายังมีหลักทรัพย์และทรัพย์สินอยู่ในมือ เป็นการลงทุนที่ปลอดภัย
ขณะที่ธุรกิจอาหารจะเป็นธุรกิจที่ทำกำไรดี เงินคล่องมือ แต่จะเหลือเงินที่ทำอะไรไม่ได้
เราจับคอนเซปท์แต่ละอันมารวมกัน โดยมีความเชื่อว่า เราทำดีที่สุดเพื่อ SURVIVE
ต่อไปในรุ่นลูกหลาน" ฉันทนากล่าวถึงหลักการดำเนินธุรกิจ การที่กิจการไทยวาพึ่งพาปัจจัยผู้ซื้อและผู้บริโภคนอกประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นสายงานอสังหาริมทรัพย์หรือธุรกิจส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตร และมีรายรับกว่า
90% เป็นเงินเหรียญ ทำให้การกู้เงินจำเป็นต้องใช้เงินเหรียญและลักษณะ MEDIUM
TERM
"ถ้าเรามีรายรับเป็นเงินเหรียญสูงอย่างนี้ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมันก็มี
แต่มันก็น้อยมากจนเราไม่ต้องไปซื้อ FORWARD เพราะว่าทุกเดือนเงินเหรียญเราเข้าอยู่แล้ว
8-10 ล้าน ซึ่งมากพอที่จะ MATCH กันเอง" นี่คือสาเหตุที่ทำให้การบริหารการเงินของไทยวาอยู่ในสภาพที่มั่นคงพอควรตามที่ฉันทนาเล่าให้ฟัง
ถึงแม้ว่าความมั่นคงทางการเงินจะมีมากพอสมควรในการค้าระหว่างประเทศ แต่ในยุคกึ่งทศวรรษที่ห้าต่อไป
โฮ กวง ปิง ได้ให้ความสำคัญต่อตลาดภายในประเทศไทยอย่างมากด้วย โดยได้มีการศึกษาที่จะออกผลิตภัณฑ์ป้อนตลาดไทย
"มีธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจคือธุรกิจที่พึ่งพาความเจริญเติบโตในประเทศ
(DOMESTIC GROWTH) เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีพลเมืองประมาณ 60 ล้านคน ภายในอีก
10 ปีข้างหน้า จะเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะสำหรับสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ
ถ้าทำได้ ไทยจะเป็นบริษัทที่มี 3 ธุรกิจหลัก คือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่งออกพืชผลเกษตร
และธุรกิจที่อาศัยความเจริญเติบโตในประเทศ (ผลิตเพื่อตลาดในประเทศ)"
ประธานกลุ่มไทยวาเล่าให้ฟังถึงแนวทางดำเนินธุรกิจใหม่
อย่างไรก็ตามความผันผวนทางการเมืองในปี 2534 และปี 2535 ได้เกิดวิกฤตการณ์การเมืองโลก
กรณีสงครามอ่าวเปอร์เซียและการก่อรัฐประหารภายในประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม
ที่ทำให้แผนการซื้อบ้านอยู่ที่เลคไซค์วิลล่าของโฮ กวง ปิงต้องเปลี่ยนแปลงไปสร้างบ้านที่สิงคโปร์
ผลกระทบอันรุนแรงจากการเมืองเช่นนี้มีต่อผลดำเนินงานของกลุ่ม เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสแรกของปี
2534 กับปี 2535 พบว่า รายได้จากการขายของบริษัทไทยวาทรุดลง จาก 520.4 ล้านบาทตกลงไปเป็น
396.54 ล้านบาทเท่านั้น
ยิ่งกว่านั้นในกลางปี 2535 สถานการณ์สงครามกลางเมือง "พฤษภาทมิฬ"
ได้ซ้ำเติมผลการดำเนินงานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้ทรุดหนักลงไปอีก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม
ที่เชื่อมโยงกับตลาดท่องเที่ยวโลก ความอ่อนไหวของตลาดส่วนนี้ได้ทดสอบความยืดหยุ่นของการบริหารจัดการปัญหาของกลุ่มไทยวาอย่างดี
"ผมไม่อยากเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น
แต่เป็นวิวัฒนาการของการเปลี่ยนยุคการเมืองให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่
ซึ่งผมเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปในประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ด้วย ซึ่งเรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในประเทศต่าง
ๆ เหล่านี้ เช่นเดียวกับกรณีของเกาหลีและไต้หวัน ที่เกิดจลาจลขึ้นหลังจากที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมา
10 ปี เพราะสังคมเริ่มเข้าสู่วุฒิภาวะมากขึ้น" โฮ กวง ปิงกล่าว
สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตามภาวะการเติบโตที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ
ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นต้นทุนใหญ่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่นกรณีฟ้องร้องเรื่องที่ทุ่งคาฮาเบอร์ทำสัมปทานเหมืองแร่ทะเล
นำเรือมาขุดแร่ใกล้ชายหาดของไทยวา ปัญหาโรคเอดส์ที่ทำให้ภาพพจน์ไม่ดีต่อการท่องเที่ยวในไทย
ตลอดจนปัญหาขาดแคลนสาธารณูปโภคขาดแคลนของประเทศ
ฉะนั้น ทศวรรษที่ห้าของไทยวาจึงเต็มไปด้วยอัตราเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังในการลงทุนยิ่งกว่ายุคใด
ๆ ที่ผ่านมา อันเป็นงานท้าทายความสามารถของนักบริหารหนุ่มวัย 40 ปีอย่าง
"โฮ กวง ปิง" ยิ่งนัก!!