|

“ไฮซีซัน”ไทยคึกคัก แอร์ไลน์ไทย-เทศ งัดข้อสุดฤทธิ์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(1 กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ตั้งแต่ต้นปี2551 เป็นต้นมาตัวเลขการปรับลดเที่ยวบินลงของสายการบินในประเทศเพิ่มขึ้นทุกเดือนโดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ(โลว์คอสต์แอร์ไลน์)กำลังบ่งบอกถึงทิศทางธุรกิจในอนาคตอาจจะเดินต่อไปค่อนข้างจะลำบาก แม้ว่าจะมีการปรับราคาตั๋วโดยสารเพิ่มขึ้นก็ตาม เชื่อกันว่าขนาดของธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ ไม่น่าจะมีการขยายตัว หรือเกิดสายการบินโลว์คอสต์ใหม่ขึ้นมาอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกันปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบจนทำให้สายการบินต้นทุนต่ำต้องลดเที่ยวบินลงอย่างน่าใจหายครั้งนี้กลายเป็นช่องว่างทางการตลาดที่ถูกคู่แข่งขันระหว่างประเทศภายในตลาดอาเซียนด้วยกันหยิบนำใช้เป็นจุดขายของตัวเองโดยการเพิ่มเที่ยวบินเข้ามาหวังเป็นทางเลือกใหม่ให้คนเดินทางซึ่งสังเกตจะเห็นได้ว่าสายการบินในแถบเพื่อนบ้านเรามีการขอเพิ่มเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้การปรับตัวของสายการบินระหว่างประเทศที่เหลืออยู่อย่าง ไทยแอร์เอเชีย จึงต้องเหนื่อยเป็นพิเศษ เพราะการเข้ามาของคู่แข่งขันต่างประเทศมีการใช้กลยุทธ์เรื่องของราคาเป็นตัวกำหนดแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสายการบินเจ็ตสตาร์ หรือ มาเลเซียแอร์ไลน์
การใช้จุดยืนทางการตลาดที่คล้ายกันด้วยการสร้างสงครามราคาอาจจะส่งผลในระยะสั้นๆแต่สายการบนิไทยแอร์เอเชียก็ยังคงยึดจุดขายเดิมเป็นกลยุทธ์แต่มีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีของการแข่งขัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาสายการบินไทยแอร์เอเชียมีการปรับใช้กลยุทธ์ด้านราคาเป็นเครื่องมือการตลาด โดยดำเนินการแก้ปัญหาต้นทุนน้ำมันต่างจากคู่แข่งรายอื่นด้วยการไม่บวกค่าธรรมเนียมน้ำมันที่เพิ่มขึ้นลงในค่าตั๋ว แต่ใช้วิธีจัดเก็บผ่านค่าธรรมเนียมการฝากสัมภาระใต้ท้องเครื่อง ภายใต้แนวคิด “กระเป๋ายิ่งน้อย ยิ่งประหยัด” ซึ่งคิดค่าบริการการโหลดกระเป๋าด้วยการจองทางอินเตอร์เน็ตในราคา 30 บาท และในราคา 50 บาท สำหรับการจองที่เคาน์เตอร์สนามบิน
ถึงแม้จะมีการปรับลดเส้นทางและลดเที่ยวบินภายในประเทศบ้างก็ตามแต่ ทัศพล แบแลเว็ลด์ ซีอีโอไทยแอร์เอเชียกลับบอกเป็นเพียงมาตรการที่สายการบินนำมาใช้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเท่านั้น หากมองถึงคู่แข่งขันอย่างนกแอร์ที่นับวันจะมีเส้นทางบินที่เหลือน้อยลงและไม่มีการเปิดให้การบินระหว่างประเทศด้วยแล้วทำให้ไทยแอร์เอเชียค่อนข้างจะได้เปรียบสายการบินอื่น เพราะมีเครือข่ายกว่า 10 เส้นทางบินในประเทศ และในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า มีการเตรียมเปิดเส้นทางกรุงเทพฯ-ฮ่องกง และกรุงเทพฯ-กว่างโจว ทำให้เส้นทางการบินระหว่างประเทศเพิ่มเป็น 12 เส้นทาง
เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงนี้การอัดโปรโมชั่นด้านราคาเพื่อกระตุ้นให้คนเดินทางของสายการบินต้นทุนต่ำแทบจะไม่มีให้เห็นตามสื่อโฆษณาเท่าไรนักทั้งนี้อาจเป็นเพราะคู่แข่งขันในตลาดเดียวกันเริ่มเหลือตัวเลือกไม่มากนักนั่นเอง ขณะเดียวกันสายการบินบูทิคแอร์ไลน์อย่าง บางกอกแอร์เวย์ กลับโหมทำโปรโมชั่นด้วยราคาตั๋วเดินทางในเส้นทางภายในประเทศแค่ 1,000 บาทเท่านั้น
“การออกมาทำโปรโมชั่นสวนกระแสของสายการบินบางกอกแอร์ครั้งนี้ น่าจะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆนอกฤดูกาลท่องเที่ยวเท่านั้น เพียงเพื่อหวังกระตุ้นให้คนเดินทาง อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะมาถึงในอีกไม่กีเดือนข้างหน้าคาดว่าราคาตั๋วก็จะถีบตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน”แหล่งข่าวในธุรกิจสายการบินกล่าว
อย่างไรก็ตามช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวไทยที่กำลังจะเริ่มขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมศกนี้ น่าจะเป็นช่วงที่สายการบินระหว่างประเทศกำลังมองหาตลาดใหม่ๆที่จะเข้าไปขยายฐานโดยเฉพาะประเทศไทยที่มีศักยภาพทั้งในด้านของแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พัก ส่งผลให้มีสายการบินระหว่างประเทศเริ่มขอเพิ่มเที่ยวบินเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีสายการบินระหว่างประเทศที่เข้ามาทำตลาดในบ้านเราแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็มีการถอนตัวออกไปบ้างโดยยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศอาทิ สายการบินแอร์บากันของพม่าที่ของดเที่ยวบินมากที่สุดประมาณกว่า 10 เที่ยวบิน
นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของสายการบินในเรื่องของคุณภาพความปลอดภัยกลายเป็นปัจจัยต้นๆที่ผู้บริโภคจะเลือกใช้บริการ ขณะที่ราคากลายเป็นเรื่องรองลงไปส่งผลให้สายการบินต้นทุนต่ำจำเป็นต้องมีการพัฒนาในบางจุดเพื่อต่อสู้แข่งขันกับสายการบินในระดับเดียวกันมากขึ้น จะเห็นได้ว่าช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียพยายามที่ใช้ยุทธศาสตร์ประกาศตัวเองว่าเป็นสายการบินที่มีเครื่องบินใหม่ที่สุดโดยใช้เครื่อง แอร์บัสA 320 เป็นจุดขายและนับว่าได้ผลไม่น้อย ดูได้จากตัวเลขยอดจองตั๋วเครื่องบินครึ่งปีแรก 2551 ที่มีไม่ต่ำกว่า 2.1ล้านคนและคาดว่าจะตลอดทั้งปีจะมีไม่ต่ำกว่า 4.6 ล้านคนที่เข้าใช้บริการ
ไม่เว้นแม้แต่สายการบินยักษ์ใหญ่ช่วงตารางบินฤดูหนาวตั้งแต่ปลายกันยายน 2551 เป็นต้นไป สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส เอมิเรตส์ แควนตัส เตรียมใช้แอร์บัส A 380 เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ตลาดและเครือข่ายบริการแข่งขันกันรุนแรง 3 ทวีป คือ เอเชีย ยุโรป อเมริกา ต่างจากการบินไทยยังต้องรอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปลี่ยนมติแผนลงทุนเกือบ 1 แสนล้านบาท จัดหาฝูงบินเฉพาะกิจ 22 ลำ คือ แอร์บัส A 330-300 จำนวน 8 ลำ และโบอิ้ง 787 อีก 14 ลำ และรอเป็นแอร์ไลน์เกือบสุดท้ายที่จะนำเข้า A 380 อาจเลื่อนจากเดิมรับปี 2552/53 เป็น 2556/57 ก็เป็นได้ อาจทำตลาดตามคู่แข่งไม่ทัน
ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าการบินไทยเตรียมแก้เกมกาตลาดด้วยการออกหุ้นกู้ให้กับผู้ที่สนใจซึ่งเชื่อว่าการปล่อยข่าวออกมาแบบนี้อาจจะไม่สร้างผลดีเท่าไรนักให้กับการบินไทยเพราะนั่นหมายถึงวิกฤติของการบินไทยที่พยายามจะหาทางสร้างรายได้เข้าสู่บริษัทในทุกรูปแบบเพื่อเตรียมความพร้อมต่อสู้ในตลาดธุรกิจการบิน
ในขณะที่สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส จัดตารางบินฤดูหนาวชัดเจนแล้วพร้อมจะใช้ A 380 ลำที่ 2 ไปบินประจำสิงคโปร์-ลอนดอน พร้อมเพิ่มความถี่จาก 1 เป็น 2 เที่ยว/วัน และตั้งแต่ตุลาคม 2551 สายการบินชั้นนำของโลกพร้อมใช้ฝูงบิน A 380ชิงตลาดทุกน่านฟ้า
การใช้บริการฝูงบินใหม่ของแต่ละสายการบินทั้งสายการบินต้นทุนต่ำและสายการบินชั้นนำระดับอินเตอร์ออกมาผงาดน่านฟ้า...น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่สร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัยได้ดีที่สุด เพราะจากผลวิจัยพบว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลักนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม พาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ กลับมองธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ ว่าปัญหาของธุรกิจสายการบินในขณะนี้อยู่ที่ราคาน้ำมันที่ยังมีราคาแพง แม้ว่าจะมีการปรับตัวลงแต่ยังถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ยังไม่นิ่ง ทั้งนี้ จะต้องรอสถานการณ์ต่อไปซึ่งมีผลกระทบถึงรายรับ-รายจ่าย ปัญหาน้ำมันดังกล่าวมีผลกระทบต่อสายการบินถึง 50%
ส่วนแนวโน้มในอนาคตอาจจะต้องมีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาด ตัวอย่างอาจจะมีการปรับราคาตั๋วโดยสารเป็นลักษณะครึ่งต่อครึ่งกับสายการบินปกติ และการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านอื่น เพื่อจูงใจลูกค้าที่จะใช้บริการสายการบินให้มากขึ้นเพื่อลดการขาดทุน และต้องเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันดึงดูดปริมาณผู้โดยสารให้มีจำนวนมากขึ้นจะเห็นได้ว่าปัจจุบันนกแอร์มีการอัดแคมเปญใหม่ภายใต้ชื่อ “นกเปลี่ยนได้”โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดภายในระยะเวลาที่กำหนด
แต่ทุกอย่างอาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะจุดยืนเดิมของนกแอร์ได้ถูกเปลี่ยนไปหลังจากที่มีนโยบายผู้ถือหุ้นใหญ่ให้มีการปรับเส้นทางการบินระหว่างการบินไทยและนกแอร์ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกันเอง รวมถึงการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อประหยัดต้นทุนการดำเนินงาน นอกจากนี้หลังจากเกิดวิกฤติราคาน้ำมันที่ผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นกแอร์ต้องยกเลิกเที่ยวบินชั่วคราวใน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย กรุงเทพฯ-กระบี่, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และกรุงเทพฯ-เชียงราย อย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากต้องรอดูสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกระยะหนึ่งก่อน ส่วนเส้นทางบินในต่างประเทศนั้นได้มีการยกเลิกบินทั้งหมด เช่น กรุงเทพฯ ฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ให้บริการ 2 เที่ยวต่อวันด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 และเส้นทางกรุงเทพฯ บังกาลอร์ ประเทศอินเดีย เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 วันละ 1 เที่ยวบิน ด้วยเครื่องบิน 737-400
แม้ว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาของสายการบินนกแอร์ จะไม่มีการควบรวมกิจการกับสายการบินไทย แต่จะมีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ และการบริหารงานภายในองค์กรก็ส่งผลให้สายการบินนกแอร์กำลังเป็นสายการบินที่ถูกจับตามองรองจากสายการบิน วัน ทู โก ที่ถูกระงับให้หยุดบินไปแล้ว
ขณะที่ฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยกำลังจะเริ่มขึ้น แต่เพราะด้วยเงื่อนไขต่างๆที่นกแอร์ถูกจำกัดไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินที่ลดจำนวนลงกว่าครึ่ง รวมถึงเส้นทางบินที่ถูกระงับไม่ให้ทับซ้อนกับบริษัทการบินไทยด้วยแล้วเชื่อได้ว่าวิกฤติของนกแอร์ครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก การกลับมาโลดแล่นบนน่านฟ้าไทยจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและยากยิ่งนัก
สถิติสายการบินปรับเที่ยวบินจากทั้งหมด 4,586 เที่ยวบิน
เที่ยวบินภายในประเทศ
เดือน ยกเลิกเที่ยวบิน
มีนาคม 141 เที่ยวบิน
เมษายน 126 เที่ยวบิน
พฤษภาคม 222 เที่ยวบิน
มิถุนายน 413 เที่ยวบิน
กรกฎาคม 462 เที่ยวบิน
เที่ยวบินระหว่างประเทศ
สายการบิน ยกเลิกเที่ยวบิน
แอร์บากันของพม่า 10 เที่ยวบิน
มหันต์แอร์ ของอิหร่าน 1 เที่ยวบิน
ดุกแอร์ ของภูฏาน 2 เที่ยวบิน
บังกลาเทศแอร์ไลน์ 1 เที่ยวบิน
สายการบินที่ขอเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ
สายการบิน จำนวนที่ขอเพิ่มเที่ยวบิน
กัลฟ์แอร์ เพิ่ม 3 เที่ยวบิน
ฮ่องกงแอร์ไลน์ เพิ่ม 2 เที่ยวบิน
เจ็ตสตาร์แอร์ไลน์ เพิ่ม 3 เที่ยวบิน
สิงคโปร์แอร์ไลน์ เพิ่ม 7 เที่ยวบิน
ศรีลังกาแอร์ไลน์ เพิ่ม 3 เที่ยวบิน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|