"คลอสเตอร์:ในเยอรมนีไม่มีใครรู้จัก เมืองไทยดังเป็นบ้า"

โดย ไชยยันต์ ปรัตถพงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ในเยอรมนีมีเบียร์อยู่ 5,000 ยี่ห้อ เยอรมนีจึงได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเบียร์ ทุก ๆ เมืองมีการผลิตเบียร์ไว้เสมือนเป็นสัญลักษณ์ของตน ตำบลหนึ่งเมืองหนึ่งก็มีคนทำเบียร์อยู่หลายตระกูลหลากหลายยี่ห้อ แต่เบียร์ที่ได้รับความนิยมจริง ๆ ในเยอรมนีมีอยู่ไม่เกิน 3,000 ยี่ห้อ

เยอรมันมีเบียร์ดี ๆ ที่ได้รับความนิยมอยู่หลายตัว อย่างเบียร์ที่ดัง ๆ ในทางเหนือ ก็มีเบียร์ "แบ็ค" เรื่อยลงมาถึงภาพกลางตอนเหนือก็มี "โฮเซนน์" แล้วลงมาทางใต้ก็มีเบียร์ "โคแนนเบิร์ก" และอีกมากมาย ซึ่งเบียร์บางตัวของเยอรมนีมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

ฉะนั้นการจะนับยี่ห้อเบียร์ในเยอรมนีแล้วแบ่งตามสัดส่วนตลาดทำได้ยากยิ่ง เพราะเบียร์แต่ละยี่ห้อมีส่วนแบ่งอยู่ในตลาดน้อยมาก อย่างยี่ห้อที่ดัง ๆ มีส่วนแบ่งตลาดไม่เกิน 1% ในตลาดเบียร์เยอรมันเลย ส่วนใหญ่เขาจะจัดแบ่งกันตามลบริวเวอรี่ (โรงเบียร์)

จึงทำให้ในเยอรมนีมีโรงเบียร์อยู่เกือบ 1,000 โรง แต่ละโรงเบียร์ที่ผลิตอยู่หลายยี่ห้อตามแต่ของขนาดของบริวเวอรี่นั้น ๆ ซึ่งแต่ละบริวเวอรี่จะมีส่วนแบ่งตลาดอย่างมากที่สุด 3-5% ของจำนวนเบียร์ทั้งหมด

อาจจะเป็นเพราะว่าเบียร์มีราคาไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับน้ำอัดลมและมีปริมาณการผลิตที่สูงเพราะชาวเยอรมนีดื่มเบียร์กันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ตลาดเบียร์ในเยอรมนีเป็นตลาดที่ใหญ่และเบียร์กลายเป็นสินค้าส่งออกชนิดหนึ่งไป

ในตลาดโลกมีเบียร์ที่มีชื่อเสียงอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเบียร์ที่ผลิตมาจากทวีปยุโรป ไม่ว่าจะเป็นไฮเนเก้นของฮอลแลนด์, เบ็คของเยอรมนี, คาส์ลเบิร์กของเดนมาร์ก กินเนสส์ของอังกฤษ และพรินซ์จากสาธารณรัฐเชคฯ

เบียร์จากประเทศอื่น ๆ ก็มีชื่อเสียงไม่น้อยเหมือนกัน อย่างบัตไวเซอร์เบียร์ของอเมริกา ซานมีเกลเบียร์ดังของฟิลิปปินส์ ไทเกอร์ของสิงคโปร์ กิลินของญี่ปุ่น อีกหลาย ๆ ตัวที่ไม่ได้กล่าวในที่นี้ ก็ถือว่ามีชื่อเช่นกัน

บริษัท บราว์เวอร์ลายว์เบ็ค (BRAUEREI BACKS AND COMPANE) บริวเวอรี่ใหญ่มากแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในเยอรมนีทางเหนือ เป็นเจ้าของเบียร์อยู่ 5 ถึง 6 ยี่ห้อ เบียร์ที่ดังที่สุดของบริวเวอรี่นี้ คือ เบียร์เบ็ค (BACKS) อยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าเป็นรูปกุญแจสีดำ เบ็คเป็นทั้งเบียร์อันดับหนึ่งของเยอรมนีและเป็นเบียร์ที่มีผู้นิยมดื่มทั่วโลก

เบ็คมีชื่อเสียงมากในตลาดโลก มียอดขายมากเป็นอันดับ 2 รองจากไฮเนเก้นของฮอลแลนด์ เบ็คจึงเป็นสินค้าที่บราว์เวอร์ลายว์มีนโยบายผลิตส่งออกเป็นสินค้าสำเร็นรูป ไม่ยอมให้ลิขสิทธิ์การผลิตแก่ผู้ใดเลย เพราะต้องการรักษาคุณภาพไว้ให้เหมือนต้นตำรับ

อีกประการหนึ่งเพราะเบ็คคือสินค้าส่งออก จึงไม่ต้องการให้ผู้ใดมาผลิตแข่ง อันจะเป็นผลทางด้านการตลาด

แต่จะมีใครรู้บ้างว่าเบียร์ "คลอสเตอร์" ที่มีชื่อเสียงอยู่ในตลาดเบียร์เมืองไทยภายใต้การผลิตของบริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่ เป็นสูตรเดียวกันกับเบ็คเบียร์ชั้นนำของเยอรมนี เพียงแต่คลอสเตอร์ถูกนำมาปรุงแต่งให้เข้ากับนักดื่มเบียร์ชาวไทยเท่านั้น

"คลอสเตอร์ในเยอรมนีแทบไม่มีคนรู้จัก แต่ที่เมืองไทยดังเป็นบ้า" ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ นักเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมนีทางตอนเหนือถึง 12 ปีกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ในอดีตครั้งหนึ่ง คลอสเตอร์เคยเข้าสู่ตลาดเมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการนำเข้าโดยตัวแทนจำหน่ายรายหนึ่งที่อยู่ในตลาดเยาวราช แต่อยู่ได้ไม่นานนักคลอสเตอร์ก็หายไปจากตลาดโดยไม่ทราบสาเหตุ จนกระทั่ง "สมพงษ์ อมรวิวัฒน์" กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่เป็นผู้นำกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี 2518

ในสมัยนั้นไทยอมฤตขณะที่เริ่มเข้าสู่ตลาดเบียร์ใหม่ต้องประสบกับศึกหนัก กับยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดเบียร์ไทยคือเบียร์สิงห์ของบุญรอดฯ แข็งมากในตลาดเบียร์หลายตัวของไทยอมฤตที่เข้าสู่ตลาดไม่ประสบความสำเร็จเลยเป็นปัญหาหนักของไทยอมฤตในขณะนั้น

ไทยอมฤตจำต้องออกจากตลากระดับเดียวกับเบียร์สิงห์จึงได้นำสูตรการผลิตเบียร์คลอสเตอร์จากต่างประเทศเข้ามา เพื่อแบ่งเซ็กเมนท์ในตลาดเบียร์ไทย ให้แตกต่างจากสิงห์

"สมพงษ์" เป็นผู้หนึ่งที่มีความรอบรู้เชี่ยวชาญเรื่องเบียร์มาก เพราะเคยไปอยู่เยอรมนีมาหลายปี ด้วยความสนใจใฝ่หาความรู้เรื่องเบียร์ สมพงษ์จึงมีเพื่อนเป็นเจ้าของบริวเวอรี่ใหญ่ชื่อนาย HATTING ซึ่งเป็นประธานบริษัทบาวเวอร์ลายว์เบ็คเจ้าของเบียร์เบ็คที่ดังที่สุดในเยอรมนีนั้นเอง

คลอสเตอร์อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท คลอสเตอร์บาวเวอร์ลาย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบราว์เวอร์ลายว์เบ็ค ทำการตลาดในเยอรมนี

สมพงษ์เลยได้ติดต่อขอเช่าลิขสิทธิ์คลอสเตอร์จาก HATTING มา ซึ่งคลอสเตอร์เป็นหนึ่งในเบียร์ 6 ยี่ห้อของบาวเวอร์ลายว์เบ็ค แต่คลอสเตอร์ไม่ค่อยมีชื่อเสียงเหมือนกับเบ็ค HATTING จึงให้เช่าลิขสิทธิ์คลอสเตอร์แก่สมพงษ์ ที่ขณะนั้นคิดเพียงว่าหากนำเข้ามาผลิตแล้วขายดีก็โชคดีไป

คลอสเตอร์เติบโตมาในตลาดเมืองไทยถึงทุกวันนี้เป็นเวลา 17 ปีแล้ว มียอดขายเป็นอันดับ 2 รองจากเบียร์สิงห์โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 8% ของตลาดรวมกว่า 10,000 ล้านบาทของตลาดเบียร์ไทย

ความต้องการในตลาดของเบียร์สูงขึ้นทุกขณะจนเมื่อ 2 ปีที่ป่านมา คลอสเตอร์ผลิตเต็มกำลังถึง 180,000 เฮกโตลิตร/ปี ก็ยังไม่พอกับความต้องการของตลาด

จนทำให้ไทยอมฤตต้องปรับปรุงโรงงานเก่าอยู่ในขณะนี้ โดยขยายกำลังการผลิตด้วยการเพิ่มสายการผลิตอีก 1 สาย ลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นปี 2535 นี้ และจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 70,000 เฮกโตลิตร รวมกับกำลังการผลิตเดิมเป็น 250,000 เฮกโตลิตร/ปี

บทบาทของคลอสเตอร์ ว่ากันจริงในเอเชียหลาย ๆ ประเทศก็เคยมีการนำคลอสเตอร์เข้ามาจำหน่าย แต่ไม่มีประเทศใดประสบความสำเร็จเหมือนประเทศไทยเลย

คงเป็นเพราะความแปลกประหลาดของตลาดเมืองไทย สินค้าบางอย่างขายดีในต่างประเทศ แต่มาเมืองไทยกลับตรงกันข้าม เหมือนเป๊ปซี่มีที่ไหนที่ดังกว่าโค้กและขายดีกว่าโค้กอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ทุกวันนี้เบียร์คลอสเตอร์ของบาวเวอร์ลายร์เบ็คยังไม่ประสบความสำเร็จในตลาดเยอรมนีและในตลาดส่วนอื่นของโลกเลย ยกเว้นเมืองไทย

เช่นนี้แล้ว ไทยอมฤตจึงทั้งเก่งและเฮง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.