|
แคท ซีดีเอ็มเอ แบรนด์ใหม่ตลาดมือถือไทย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(1 กันยายน 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
กสท โทรคมนาคม หวนคืนธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เปิดกิจกรรมการตลาดเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการ ดัน "แคท ซีดีเอ็มเอ" เปิดให้บริการคลุม 51 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมเปิดศูนย์บริการภายใต้แบรนด์ใหม่ 5 แห่งทั่วประเทศ ระดมตั้งตัวแทนจำหน่าย 3 ราย ตั้งเป้ารายได้ 600 ล้านบาท
ภารกิจแรกภายหลังจากที่คณะกรรมการบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่มี "สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์" เป็นประธาน ได้อนุมัติถึงการปรับภาพลักษณ์ใหม่ภายหลังจากที่ครบรอบ 5 ปีที่เปลี่ยนชื่อจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย มาเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด ด้วยงบกว่า 6 ล้านบาทในการรีแบรนดิ้ง รวมถึงการออกแบบโลโก้หมดใหม่ ก็คือ การโหมทำกิจกรรมการตลาดธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบซีดีเอ็มเอภูมิภาค 51 จังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้แบรนด์ใหม่ "แคท ซีดีเอ็มเอ"
"จิรายุทธ รุ่งศรีทอง" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทาง กสท ได้กลับมาบุกกิจกรรมการตลาดอย่างจริงจังกับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบซีดีเอ็มเอ 1เอ็กซ์ อีวีดิโอ ภูมิภาค ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 51 จังหวัดอย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากที่เคยทำการออกแคมเปญโฆษณาทางโทรทัศน์ไปก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังไม่มีกิจกรรมที่ต่อเนื่องออกมา
กสท ได้จัดกิจกรรมทางการตลาดตามจังหวัดหลักๆ 15 จังหวัดทั่วประเทศอย่างจริงจังต่อจากนี้ไป โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมไปบ้างแล้วที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลกและเชียงใหม่ รวมทั้งยังได้ทำการเปิดศูนย์บริการที่เรียกว่า "แคท ซีดีเอ็มเอ" เพิ่ม 5 แห่ง ประกอบไปด้วยที่จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี ภูเก็ตและนครราชสีมา
"ชอป แคท ซีดีเอ็มเอ นอกจากจะขายอุปกรณ์และบริการซีดีเอ็มเอแล้ว ยังเปิดให้บริการอื่นๆ ของ กสท อีกด้วย ซึ่งการเปิดชอปขึ้นมาก็เพื่อเป็นการโปรโมตและสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์แคท ซีดีเอ็มเอให้เป็นที่ยอมรับและเกิดความเชื่อมั่นในแบรนด์"
จิรายุทธ กล่าวอีกว่า จากนี้ไปในช่วง 6 เดือน ถึง 9 เดือนนี้ ทาง กสท จะมีการวางจำหน่ายเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบซีดีเอ็มเอมากขึ้น โดยจะเน้นการวางตลาดเครื่องที่เป็นแบรนด์เนมเป็นหลัก อาทิ ซัมซุง อัลคาเทล โมโตโรล่า หัวเหว่ย ทั้งนี้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในตัวผู้ใช้บริการที่มีต่อแบรนด์ก่อน หลังจากนั้นก็จะมีการนำเข้าเครื่องลูกข่ายที่สามารถใช้ 2 ซิมได้ทั้ง 2 ระบบ คือใช้ซิมซีดีเอ็มเอกับซิมจีเอสเอ็มเข้ามาจำหน่าย
"เครื่องลูกข่ายที่จะนำเข้ามาจำหน่ายจะมีทุกระดับราคา ตั้งแต่ 1,500-10,000 บาท แต่จะเน้นที่ราคาต่ำกว่า 2,500 บาทเป็นหลัก"
หลังจากนั้นก็มีการนำเข้าเครื่องที่เป็นโออีเอ็มแบรนด์อื่นๆ เข้ามาขาย โดยจะต้องทำการทดสอบระบบเครื่องให้เชื่อมต่อกับระบบการให้บริการซีดีเอ็มเอของ กสท ก่อน ตามแผนที่วางไว้คาดว่าน่าจะเริ่มวางตลาดเครื่องโออีเอ็มได้ช่วงต้นปีหน้า
ถึงแม้ แคท ซีดีเอ็มเอ จะเป็นแบรนด์ใหม่ในตลาดโอเปอเรเตอร์มือถือ แต่สิ่งที่ทาง กสท โทรคมนาคมจะนำมาใช้ทำตลาดแข่งขันกับแบรนด์อื่นๆ ในตลาด ก็คือ เรื่อง "แอปพลิเคชั่น" ที่ทางแคท ซีดีเอ็มเอ มั่นใจมากว่า เป็นบริการที่ดีกว่าคู่แข่งในตลาด ประกอบไปด้วย บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การศึกษาไร้สาย บริการจีพีเอส และบริการเอนเตอร์เทนเมนต์อื่นๆ
"ทุกบริการด้านข้อมูลจะรวดเร็วกว่าผู้ให้บริการระบบจีเอสเอ็ม ด้วยความเร็วสูงสุด 3.1 เมกะบิตต่อวินาที และความเร็วเฉลี่ยประมาณ 1.4 เมกะบิตต่อวินาที"
ทั้งนี้ จิรายุทธ ยอมรับว่า คุณภาพการให้บริการยังมีปัญหาอยู่บ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องปรับแต่งให้เข้ากับการใช้งานในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการขยายความครอบคลุมของสัญญาณ โดยเวลานี้ พื้นที่ให้บริการของแคท ซีดีเอ็มเอปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ประชากรประมาณ 80% โดยในปีนี้จะทำการติดตั้งสถานีฐานเพิ่มอีกประมาณ 70 แห่ง ซึ่งจะเป็นทั้งการติดตั้งในโครงการเดิม และทำการติดตั้งอุปกรณ์ขยายสัญญาณที่จัดซื้อใหม่อีก 400 ตัว
"รวมงบประมาณที่ใช้ไปประมาณ 817 ล้านบาท โดยเน้นให้บริการใน 20 จังหวัดใหญ่ ให้มีโครงข่ายเทียบเท่าหรือดีกว่าคู่แข่ง"สำหรับแพกเกจโปรโมชั่นนั้น จิรายุทธ กล่าวว่า จะเน้นด้านราคาเป็นหลัก ถือเป็นทางเลือกเดียวของผู้ให้บริการรายใหม่ อย่างโปรโมชั่น "ชัดเจน" 149 บาท โทร.ฟรี 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นทุกเครือข่าย นอกเวลานาทีละ 1.50 บาท โปรโมชั่น "เข้าใจ" 125 บาท โทร.ทุกเครือข่ายฟรี 250 นาที เอสเอ็มเอสฟรี 10 ครั้ง และโปรโมชั่นอินเทอร์เน็ต 99 บาท เล่นได้ 20 ชั่วโมง หรืออินเทอร์เน็ต 590 บาท เล่นได้ไม่จำกัด
และเพื่อเป็นการขยายตลาดให้ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการ ทางแคท ซีดีเอ็มเอยังได้ตั้งแต่ตัวแทนจำหน่ายหลักจำนวน 3 ราย ประกอบไปด้วย บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด บริษัท เอ็มลิงค์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บลิสเทล จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดการลงทุนซ้ำซ้อน
" ปีนี้ กสท เตรียมงบการตลาดไว้ประมาณ 100 ล้านบาท โดยเชื่อว่าจะมีจำนวนผู้ใช้บริการประมาณ 180,000 ราย จากปัจจุบันที่มีผู้ใช้บริการแล้ว 80,000 ราย ทั้งหมดเป็นลูกค้าในระบบโพสต์เพดอย่างเดียว ปีหน้าจะเปิดบริการระบบพรีเพด ซึ่งกำลังเตรียมความพร้อมระบบ การกระจายบัตรเติมเงิน ฯลฯ ตั้งเป้าหมายรายได้ปีแรกไว้ที่ 600 ล้านบาท"
เตรียมซื้อคืน "ฮัทช์"
จิรายุทธ ยังกล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาการให้บริการใน 25 จังหวัดที่ทางบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอทีไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด ที่รับสิทธิทำตลาด และลงทุนในเครือข่ายว่า ทางคณะกรรมการบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือบอร์ดได้อนุมัติให้ซื้อคืนธุรกิจให้บริการซีดีเอ็มเอของฮัทช์ ใน 25 จังหวัดภาคกลางกลับคืนมาบริหารจัดการและให้บริการเอง เพราะจากที่เริ่มทำธุรกิจมาได้พบปัญหามากจากการแยกกันให้บริการ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำตลาด สร้างความสับสนแก่ลูกค้า ซึ่งแท้จริงแล้ว ฮัทช์ แค่มาทำตลาดให้ กสท เพราะลูกค้า 1,100,000 ล้านรายของฮัทช์ ลงนามใช้บริการของ กสท อยู่แล้ว
"ปีที่แล้วได้มีการลงนาม เอ็มโอยูรวมโครงข่ายกัน ในช่วงนั้นยังไม่มีความชัดเจนเรื่อง 3จี แต่เมื่อ 3จี บนคลื่น 850 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ได้เกิดขึ้น ถ้าหากต้องรอการดำเนินการรวมระหว่าง กสท กับฮัทช์ในอีก 1 ปีข้างหน้า อาจทำให้เสียโอกาสธุรกิจ ส่วนการที่จะดำเนินการไปพร้อมกับการลงทุนใหม่ ฮัทช์ก็ไม่พร้อมเพราะทางฮัทช์ก็ต้องการความชัดเจนในการลงทุน ดังนั้นวิธีที่เร็วที่สุดน่าจะเป็นวิธีการซื้อธุรกิจจากฮัทช์มา ซึ่งถ้าทางฮัทช์ต้องการซื้อไปทำเองทั้งหมด ทาง กสท ไม่ขายแน่นอน เพราะมีคลื่นความถี่อยู่แล้ว และเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามหาศาลที่สุด"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|