ก่อนที่คณะกรรมการควบคุมการจัดสรรฯ จะตีความว่าบ้านทางอิสระของบางกอกแลนด์ไม่สามารถที่จะจดทะเบียนเป็นคอนโดมิเนียมได้นั้น
บริษัท บางกอกแลนด์ ได้มีเอกสารแนบท้ายสัญญาซื้อขายกับลูกค้าเป็นเงื่อนไขการขายที่สรุปได้ว่า
หากมีความจำเป็นในเรื่องการจดทะเบียนเป็นคอนโดมิเนียมแล้ว อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงการ
อย่างไรก็ตาม ในเอกสารแนบท้ายสัญญาซื้อขายนั้น ได้มีการระบุในข้อ 2.5 ว่า
ในกรณีที่การจดทะเบียนเป็นอาคารชุด ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ เนื่องจากเหตุที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทก็จะมีการจดทะเบียนเพื่อโอนกรรมสิทธิ์อาคารพร้อมที่ดิน
ให้แก่ผู้ซื้อในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ขายจะเป็นผู้พิจารณา
แต่ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิ์ของผู้ซื้อที่จะได้อาคารตามที่ซื้อ
ข้อเสนอดังกล่าวนี่เอง ที่ทำให้หลายคน รวมทั้ง "ผู้จัดการ" กล้าที่จะระบุว่า
อนันต์ กาญจนพาสน์ ไม่มีความมั่นใจมากนัก ในการจดทะเบียนเป็น "คอนโดมิเนียมแนวราบ"
ว่าจะผ่านการอนุมัติจากกรมที่ดินหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่อนันต์เอง เคยทำโครงการดังกล่าวแล้วในประเทศฮ่องกง
อีกข้อที่ยังเป็นที่สงสัยกันในหมู่ผู้ซื้อว่าหมายถึงอะไรก็คือ ข้อ 2.3
ซึ่งระบุให้สิทธิ์ผู้ขาย (บางกอกแลนด์) ว่าสามารถที่จะเป็นผู้กำหนดหนึ่งอาคารชุดเป็นแบบไหน
ระหว่างกลุ่มอาคารจำนวนหนึ่ง หรืออาคารหลังใดหลังหนึ่ง ซึ่งทั้ง 2 กรณี มีความแตกต่างกันในเรื่องการซื้อขายกล่าวคือ
หากเป็นการจดทะเบียนกลุ่มอาคารเป็นหนึ่งอาคารชุดสัญญาซื้อขายอาคารชุดนี้
ก็จะเป็นการซื้อขายทั้งอาคารเป็นหนึ่งห้องชุด แต่หากเป็นกรณีที่สอง การซื้อขายอาคารชุดก็หมายความว่า
สัญญาซื้อขายนี้จะเป็นการขาย 3 ห้องชุดนั่นเอง
ดีที่มติของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ ระบุว่า โครงการ "บ้านทรงอิสระ"
ไม่สามารถที่จะจดทะเบียนเป็นอาคารชุดได้ เพราะไม่เช่นนั้น อาจจะมีปัญหาอื่น
ๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง เช่น หากบ้านหนึ่งหลังเป็นหนึ่งอาคารชุด คำว่า 40%
ของอาคารชุดที่ต่างชาติมีสิทธิ์ซื้อขายจะคิดยังไง เพราะอาคารหนึ่งหลังมีแค่
3 ห้อง
เลยอดดูการแก้ปัญหาจากมันสมองอันสุดยอดของอนันต์อีกเรื่อง