"ใครเป็นใครในแบงก์ที่กัมพูชา"


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ธนาคารกสิกรในกัมพูชา

"ผมไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าจะเปิดกิจการธนาคารของตนเอง ที่จริงแล้วผมบอกลูกสาวเสมอ ๆ ว่า "อย่าเรียนวิชาด้านการธนาคารเลย ถ้าหากไม่ได้เป็นเจ้าของธนาคารเอง" พจน์ บุณยรัตพันธ์ แห่งธนาคารกสิกรกัมพูชา (CAMBODIA FARMERS BANK) หรือซีเอฟบีกล่าว

ก่อนหน้านี้ พจน์ใช้ชีวิตการทำงานถึง 18 ปีที่ธนาคารกรุงเทพ โดยประจำที่ลอนดอนและจาการ์ตาก่อนที่จะเปลี่ยนไปจับธุรกิจการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในนิวยอร์ก จนเมื่ออายุได้ 46 ปีแล้ว

จึงมาปักหลักที่ซีเอฟบี โดยเพิ่งเปิดสำนักงานในพนมเปญไล่หลัง ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ (CAMBODIA COMMERCIAL BANK) เพียงไม่กี่เดือน

การที่พจน์เลือกอาชีพด้านการธนาคารก็เพราะความเข้าใจผิดตั้งแต่ครั้งยังเด็กที่คิดว่างานธนาคารนั้นเลิกตอนบ่ายสามโมง แต่เมื่อเขาเข้าไปทำจริง ๆ ปรากฏว่าต้องทุ่มเทเวลาให้จนถึงราวตีสองทีเดียว

พจน์จบการศึกษาระดับมัธยมจากวิทยาลัยอัสสัมชัญศรีราชา จากนั้นสอบเข้าเรียนต่อในคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ความที่บิดาของเขาอยู่ในวงราชการมานาน และเกษียณอายุในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท กระทรวงมหาดไทย จึงเล็งเห็นความยากลำบากในสายอาชีพ และตัดสินใจส่งเขาไปศึกษาต่อทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่อังกฤษแทน

เมื่อครั้งที่พจน์ศึกษาวิชาสถาบันธนาคาร เขาได้ตอบคำถามอาจารย์ในการสอบสัมภาษณ์ขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับบทบาทของนักการธนาคารว่า "นักการธนาคารเป็นนักวิชาชีพแขนงหนึ่งเช่นเดียวกับแพทย์ แต่คนไข้ของผมคือนักธุรกิจ ถ้าหากผมช่วยรักษาพวกเขาให้มีสุขภาพแข็งแรง ถือว่าผมประสบความสำเร็จในอาชีพแล้ว"

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว พจน์เข้าฝึกงานกับดอยช์แบงก์ในฮัมบูร์ก ก่อนเข้าประจำธนาคารกรุงเทพ สาขาลอนดอน จนปี 1972 จึงย้ายไปประจำสาขาในจาการ์ตา และอยู่ที่นั่นนานถึง 14 ปี จนก้าวขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของสาขาทั้งสองแห่ง

หลังจากนั้น พจน์ลาออกไปทำงานกับ "บอร์ดริช ไฟแนนซ์" ซึ่งเป็นธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ในวอลล์สตรีทนานถึงห้าปี ก่อนจะหวนคืนสู่ธุรกิจธนาคารอีกครั้ง ด้วยเหตุผลที่อ้างว่าเป็นความบังเอิญ

พจน์เล่าว่าเขาได้รับคำแนะนำจากสมาชิกฝ่ายต่อต้านเขมรผู้หนึ่ง และได้รู้จักกับเจ้าหญิงนโรดม อรุณรัศมี ซึ่งเป็นพระธิดาองค์หนึ่งของสมเด็จนโรดมสีหนุ และเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของธนาคารพาณิชย์สาขานิวยอร์ก

ปัจจุบันเจ้าหญิงนโรดม อรุณรัศมีเป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของซีเอฟบี อีกทั้งเป็นผู้จัดการ และรองประธานคณะกรรมการบริหารด้วย

"เรามีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องการพัฒนากัมพูชา "พจน์กล่าว "ผมเห็นว่าจะมีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพกัมพูชาที่ปารีส และผมคิดว่าระบบธนาคารนั้นมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ พอผมคิดว่าเราเป็นนักการธนาคารมาก่อน เราก็น่าจะตั้งธนาคารขึ้นสักแห่งได้"

เดือนกันยายนปีที่แล้ว พจน์จึงดำเนินการติดต่อกับธนาคารกลางของกัมพูชาและคณะกรรมาธิการการลงทุนต่างประเทศ พร้อมกับเสนอแผนการสำหรับพัฒนาที่ดินทางด้านการเกษตรขนาดเล็ก ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะผู้ว่าการธนาคารกลางกัมพูชาเองก็ถือกำเนิดในไทยและสามารถพูดภาษาไทยได้ ส่วนตัว กง สาม ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการนั้นก็คุ้นเคยกับพจน์มาก่อน

การดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่มีปัญหาติดขัดอยู่บ้างในเรื่องการตั้งชื่อกิจการ เพราะรัฐบาลกัมพูชาเห็นว่า ธนาคารกสิกรไทยนั้นได้เข้าไปขออนุญาตเปิดสำนักงานสาขาในชื่อ "ธนาคารกสิกรไทยกัมพูชา" (THAI FARMERS BANK CAMBODIA) จะต้องเปลี่ยนชื่อเป็น "ธนาคารกสิกรไทยพนมเปญ" (THAI FARMERS BANK PHNOM PENH) เพื่อเลี่ยงความสับสน

5 เมษายนที่ผ่านมา ซีเอฟบีก็ได้ฤกษ์เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มจากการใช้พื้นที่ 2 ชั้นของอาคารขนาด 4 ชั้นในย่านธุรกิจทางตะวันออกของพนมเปญ ซึ่งซื้อจากกระทรวงการคลังมาในราคา 500,000 ดอลลาร์ และอยู่ในระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซมอยู่

พจน์มีผู้ช่วยสำคัญสองคนซึ่งเขาดึงตัวมาจากธนาคารกรุงเทพคือ อดิศร ตันติเมธ และ ม.ล. อุ่นใจ มาลากุล ส่วนพัฒน์ บุณยรัตพันธ์ บิดาของพจน์นั้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของธนาคาร

ทีมงานของพจน์มีอยู่ด้วยกันราว 30 คน ส่วนใหญ่เป็นคนไทยและอดีตผู้ช่วยของเขาสี่ห้าคนมาจากจาการ์ตา นอกนั้นเป็นชาวกัมพูชาสองสามคน

ทีมงานดังกล่าวได้รับการฝึกอบรมการใช้ระบบคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงเครือข่าย โดยใช้ซอฟต์แวร์ "แบงก์ การ์ด" ที่เป็นซอฟต์แวร์รุ่นล่าสุด และเพิ่งวางตลาดในสหรัฐฯ ได้ราวสี่เดือน

พจน์เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับธุรกิจธนาคารในกัมพูชาที่อยู่ในภาวะล้าหลังจากระบบธนาคารของโลกไปนับสิบปี

กับเงินทุนจดทะเบียนของซีเอฟบีจำนวน 5 ล้านดอลลาร์ พจน์ชี้แจงว่า เป็นเงินทุนที่ได้จากบรรดาผู้ถือหุ้น โดยรายสำคัญก็คือบุญชัย ลอพัฒนพงศ์ เพื่อนสนิทของบิดาของเขาและประกอบธุรกิจค้าไม้อยู่ในอุบลราชธานี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการธนาคารด้วย

นอกจากนั้น เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว พจน์ยังก่อตั้งบริษัทธุรกิจระหว่างประเทศชื่อ "กัมโบเดีย-ไทย โค" ในกรุงเทพขึ้น เพื่อรองรับในกรณีที่กฎหมายการลงทุนต่างประเทศของกัมพูชาไม่อาจคุ้มครองการลงทุนของเขา ในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายธนาคาร

กิจการแห่งนี้เป็นธุรกิจร่วมทุน มีฐานะเป็นโฮลดิ้งคอมปะนีของซีเอฟบี และเจ้าหญิงนโรดม อรุณรัศมีถือหุ้นอยู่ 10%

ส่วนซีเอฟบีนั้นจดทะเบียนเป็นธนาคารท้องถิ่นในกัมพูชามีธนาคารกลางของกัมพูชาถือครองสัดส่วนทุนจดทะเบียนราว 10% รวมทั้งมีคณะกรรมการบริหารกิจการโดยตำแหน่ง 1 คนด้วย

ซีเอฟบีดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกับกิจการธนาคารทั่วไป รวมทั้งบริการเงินฝากประจำ การโอนสิทธิตราสารและบริการเงินฝากสกุลต่าง ๆ การระดมทุนให้บริษัท กับการให้คำแนะนำในด้านการลงทุนเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

พจน์เชื่อว่าความสามารถในการประกอบธุรกิจจะเป็นอาวุธทางการตลาดที่สำคัญ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจในต่างประเทศอยู่แล้ว

และสิ่งที่ลูกค้าต้องการไม่ใช่ระบบของธนาคาร หากเป็นการอำนวยความสะดวกและประสิทธิภาพของบริการที่ทำให้พวกเขามีความเชื่อมั่นมากขึ้น

ส่วนด้านของซีเอฟบีเองก็มีเครือข่ายอยู่ในต่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอยู่อีกทั้งยังร่วมมือทางธุรกิจอยู่กับซิตี้แบงก์ เครดิต ลีอองแนส์ และอินเตอร์เนชันแนล เนเดอร์แดน แบงก์ด้วย

พจน์ชี้ว่า ธนาคารวางเป้าหมายว่าจะดำเนินธุรกิจไปจนถึงจุดคุ้มทุนได้ภายในห้าปี โดยชี้ว่าพนักงานแต่ละคนมีประสบการณ์ในธุรกิจธนาคารระหว่างประเทศกันอย่างต่ำ 10 ปี และทางธนาคารก็ลงทุนเป็นเงินจำนวนมหาศาล จึงมีแนวโน้มที่จะเปิดสาขาเพิ่มอีก โดยเริ่มจากที่เสียมเรียบซึ่งซีเอฟบีได้ไปเช่าที่ไว้แล้ว

"สภาพของกัมพูชาตอนนี้เหมือนกับเมืองไทยเมื่อสี่สิบห้าปีก่อน" พจน์ให้ความเห็นโดยชี้ว่าเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายแต่เปิดโอกาสให้กับธุรกิจทุกแขนง เพียงแต่ต้องสร้างและฟื้นฟูบูรณะครั้งใหญ่

แม้ว่าทุกวันนี้พจน์จะเหน็ดเหนื่อยกับภารกิจอันมากมายแต่สิ่งที่ชัดเจนอยู่ภายในจิตใจของเขาก็คือ เขาแทบไม่เชื่อในโชคของตัวเองที่ได้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารแห่งหนึ่ง

ซึ่งถ้าจะเทียบไปแล้วน่าจะเท่ากับตระกูลโสภณพนิช, เตชะไพบูลย์ และล่ำซำที่ผลักดันกิจการธนาคารให้เติบโตขึ้นได้ โดยอาศัยจังหวะโอกาสในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.