ไนเน็กซ์ถอนยวงจากTA ซีพีส่ง2บริษัทอุ้มแทน


ผู้จัดการรายวัน(18 กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

TA ป่วนตลาดหุ้นไทยวานนี้ เหตุ "ไนเน็กซ์" ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทเครือยักษ์สื่อสารมะกันถอนยวง ที่โดนพิษเศรษฐกิจมะกันปวกเปียกล้มทับ ส่งผลการปรับลดการลงทุนในต่างประเทศของเวอร์ไรซอน ซึ่งเป็นบริษัทแม่ทั่วโลก หันเน้นลงทุนทำธุรกิจเฉพาะในสหรัฐเท่านั้น เพื่อคุมต้นทุน ขณะที่ซีพีกรุ๊ปรับหน้าเสื่อโดดอุ้ม ส่งตัวแทน 2 บริษัท มิชชั่น เกน และโกลเด้น ทาวเวอร์ ซื้อหุ้นแทน "ศุภชัย เจียรวนนท์" ยันไม่ส่งผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้นกับทีเอ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เทเลคอม เอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TA) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัท ไนเน็กซ์ เน็ทเวอร์ค ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) ในฐานะ ผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งของบริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยบริษัท เวอร์ไรซอน คอมมิวนิเคชั่น จากสหรัฐฯ ขายหุ้นทั้งหมดที่ถือ ในบริษัทฯ 369,500,126 หุ้น หรือ 10.001% ของ หุ้นบริษัททั้งหมด ให้ 2 นักลงทุนรายใหม่วานนี้ (17 ก.ค.)

โดยโอนขายหุ้นให้ จำกัด 234,500,126 หุ้น และบริษัท มิชชั่น เกน อินเวสต์เมนท์ส จำกัด 135 ล้านหุ้น การทำรายการโอนขายหุ้นดังกล่าว ทำรายการซื้อขายบนกระดานใหญ่ (Big Lot) ราคาซื้อขาย 4.35 บาทต่อหุ้น

ใช้ 2 บริษัทเครือซีพีรับหุ้น

ผู้ซื้อหุ้นจากเวอร์ไรซอนรายหนึ่ง คือโกลเด้น ทาวเวอร์ เทรดดิ้ง เป็นตัวแทนกลุ่มซีพี ซึ่ง เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ส่วนอีกราย มีเจตนาจะเป็นผู้ลงทุนด้านการเงิน จากฮ่องกง

ก่อนหน้านี้ สัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่เทเลคอม เอเชีย ประกอบด้วย บริษัท ไนเน็กซ์ เน็ทเวอร์ค ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) (Nynex Network Systems (Thailand) Co) 404,347,826 หุ้น คิดเป็น13.50% ของทุนจดทะเบียน TA บริษัท ยูนีค เน็ตเวิร์ค จำกัด 280 ล้านหุ้น 9.35% บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด จำนวน 278.84 ล้านหุ้น 9.31% .บริษัท ซี.พี.อินเตอร์ฟู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด 275,568,462 หุ้น 9.20% บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ 223,336,141 หุ้น 7.46%

บริษัท เกษตรภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด 206,324,978 หุ้น 6.89% 7 .บริษัท ไวด์ บรอด คาสท์ จำกัด 196 ล้านหุ้น 6.54% บริษัท สตาร์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด 103.16 ล้านหุ้น 3.44% 9 .บริษัท แอดวานซ์ฟาร์มา จำกัด 103.16 ล้านหุ้น 3.44% บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) 93,333,333 หุ้น 3.12%

สาเหตุที่เวอร์ไรซอนตัดสินใจโอนขายหุ้นดังกล่าวของไนเน็กซ์ เป็นไปตามนโยบายการปรับลดการลงทุนในต่างประเทศของเวอร์ไรซอน เพื่อที่จะเน้นการลงทุนทำธุรกิจเฉพาะภายในอเมริกา หลังจากเศรษฐกิจมะกันตกสะเก็ด แถมแนวโน้มเกิดเงินฝืดในเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้ จนส่งผลบริษัทมะกันขาดทุนเป็นแถว ต้องหลบเลียแผล ถอนยวงการลงทุนจากทั่วโลก เพื่อเน้นรักษาธุรกิจหลักในดินแดนแม่

ถอนยวงทั่วโลก

นายแดเนียล ซี เพอทริ ประธานกลุ่มธุรกิจ ระหว่างประเทศ เวอร์ไรซอน กล่าวว่าการที่เวอร์ไรซอนโอนขายหุ้นดังกล่าว เป็นไปตามนโยบาย และยุทธศาสตร์การลงทุนที่จะมุ่งเน้นเฉพาะภายในทวีปอเมริกา เวอร์ไรซอนจึงโอนขาย หุ้นที่ลงทุนในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะในฟิลิปปินส์ อินเดีย ไต้หวัน เมกซิโก และประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทย

ในช่วงระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ที่เวอร์ไรซอนเป็นพันธมิตรธุรกิจกับเทเลคอมเอเซีย เราชื่นชมและยินดี ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จที่ผ่านมา ซึ่งจะยังคงเป็นความทรวงจำที่ดียิ่งตลอดไป โดยเฉพาะยิ่ง ความชื่นชมต่อเครือ เจริญโภคภัณฑ์และเทเลคอมเอเซีย ในการเป็นผู้นำการเสริมสร้างความเป็นบริษัทธรรมาภิบาล และความโปร่งใสในการบริหารกิจการ

"เวอร์ไรซอนจะยังคงรักษาและตระหนักคุณค่า ตลอดจนมิตรภาพความสัมพันธ์กับเครือ เจริญโภคภัณฑ์และเทเลคอมเอเซีย ซึ่งเราถือว่าทุกๆ คนคือมิตรของเรา" เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนของเวอร์ไรซอนจะยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทฯ ต่อไปจน กว่าจะเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นสิงหาคม

นายศุภชัยกล่าวว่า เขารับทราบนโยบายด้านการลงทุนต่างประเทศของเวอร์ไรซอนระยะหนึ่งแล้ว จึงไม่แปลกใจเรื่องดังกล่าว ซึ่งตลอด 10 ปี ต้องขอขอบคุณเวอร์ไรซอน ที่ร่วมบุกเบิกดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมกับกลุ่มเทเลคอมเอเซีย อย่างเข้มแข็งมาตลอด แม้ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจไทย เวอร์ไรซอนยังยืนหยัดอยู่กับบริษัท นับเป็นพันธมิตรที่ดี

ยันไม่กระทบทีเอ

"เราขอยืนยันว่า การถอนตัวของเวอร์ไรซอนครั้งนี้ ไม่มีผลกับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ใน ทีเอทั้งนั้น เชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบอะไรมาก นักกับบริษัท ซึ่งในอนาคต ทีเออาจหาพาร์ตเนอร์ (หุ้นส่วน) รายใหม่เข้ามาถือหุ้นในบริษัทเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ทีเอสามารถขยายตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ เพิ่มเติมได้" เขากล่าว

การเทขายหุ้น TA ครั้งนี้ของกลุ่มสื่อสารยักษ์ใหญ่มะกัน คนในวงการตั้งข้อสงสัยเกิดอะไรขึ้นกับทีเอ แม้ว่าปกติ ไนเน็กซ์ไม่ได้มีบท บาทบริหารในบริษัทไทย เป็นเพียงผู้ถือหุ้นอย่าง เดียว นอกจากการที่บริษัทยักษ์ใหญ่มะกันแห่งนี้ ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจมะกันตกสะเก็ดต่อเนื่องขณะนี้ ที่ยังมีแนวโน้มไม่ดีขึ้นระยะกลาง

ส่วนผู้ถือหุ้นใหม่ที่เป็นกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเดียวกับทีเอ แหล่งข่าว วงการธุรกิจสื่อสารกล่าวว่า อาจจะมีบทบาทบริหารจัดการทีเอมากขึ้น แต่เบื้องต้นนี้ ยังไม่มี แผนดำเนินการที่ชัดเจน ว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่นี้ จะเอื้อประโยชน์ทีเอ ที่เป็นผู้ทำธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมใหญ่รายหนึ่งของไทยอย่างไรบ้าง หรืออาจจะเป็นเพียงการลงทุนลักษณะเช่นเดียวกับกองทุนทั่ว ๆ ไป

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ผู้ถือหุ้นเทเลคอมเอเชียครั้งนี้ จะกระทบผู้ถือหุ้น เดิมหรือต้องดูว่า ราคาที่ซื้อขายระหว่างนักลงทุน เดิมกับนักลงทุนรายใหม่เป็นอย่างไร

ที่สำคัญ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทีเอครั้งนี้ ส่งผลกระทบแน่ต่อการสรุปแผนออกหุ้นกู้สกุลเงินบาทของทีเอเดือนนี้ วงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท อายุ 3-5 ปี เพื่อใช้รีไฟแนนซ์เงินกู้สถาบันการเงิน ซึ่งผู้บริหารทีเอ ต้องตอบคำถาม ต่างๆ เช่น อนาคตทีเอหลังผู้ถือหุ้นใหญ่ต่างชาติ ขายหุ้นทิ้ง

ทีเอแบกหนี้กว่า 8 หมื่นล้าน

ผลดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ ทีเอรายได้รวม 6,794.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้ 5,592.23 ล้านบาท โดยพลิกมีกำไรจากการดำเนินงาน 90.79 ล้านบาท เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ขาดทุนกว่า 1 พันล้านบาท แต่เมื่อรวมภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่ม สูงขึ้น ทำให้บริษัทฯ ขาดทุนสุทธิ 1,027.69 ล้าน บาท ซึ่งเป็นผลขาดทุนลดลงจากงวดเดียวกันปีก่อนถึงประมาณ 5,225 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาสแรกปีก่อน บริษัทฯ บันทึกค่าเผื่อการลดมูลค่าเงินลงทุนใน FLAG Telecom Holding Limited ประมาณ 5,722 ล้านบาท ปัจจุบัน ทีเอภาระหนี้สินรวม 85,779 ล้านบาท เป็นหนี้ระยะยาวถึง 51,082 ล้านบาท ขาดทุนสะสม ณ 31 มี.ค. 39,359 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.