"รอยเตอร์ปะทะเทเลอเรท เสือพบสิงห์ในธุรกิจข้อมูล"


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

เทคโนโลยีได้กลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่มิอาจไม่มีไปแล้วในโลกของการสื่อสารอุปกรณ์เครื่องมือที่ไฮเทครุ่นแล้วรุ่นเล่าถูกทยอยตัวเข้ามาเพื่อสร้างความรวดเร็วฉับไวของข่าวสารข้อมูล

ยิ่งในแขนงแห่งบริการข่าวสารข้อมูลในระดับอินเตอร์เนชั่นแนลด้วยแล้ว ความถูกต้องแม่นยำและความรวดเร็วในการรับส่งข่าวสารเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุด

เทเลอเรทและรอยเตอร์เป็น 2 สำนักข่าวที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในเรื่องของการบริการข้อมูลข่าวสาร โดยสถานภาพแล้วทั้ง 2 มีฐานะเป็นคู่แข่งทางการค้ากันมาตลอด

ข้อมูลของเทเลอเรท (ประเทศไทย) จะถูกส่งจากนิวยอร์กมาที่โตเกียว ฮ่องกง และสิงคโปร์ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ในเอเชียโดยดาวเทียม แต่จากสิงคโปร์มากรุงเทพนั้นจะส่งได้ 2 ทางคือโดยดาวเทียมและเคเบิลใต้น้ำ

และจากสำนักงานเทเลอเรทที่ตึกชาญอิสสระ ข้อมูลจะถูกส่งไปยังลูกค้าโดย 2 วิธีคือ ผ่านคู่สายโทรศัพท์ที่เช่าจากองค์การโทรศัพท์ (Leased line) และดาต้าเนท (DATANET) และมีส่วนที่ยังเป็นโครงการในอนาคตอยู่ก็คือการส่งผ่านทางดาวเทียม

ส่วนทางบริการของรอยเตอร์ ข้อมูลจะถูกส่งผ่านจากนิวยอร์ก โตเกียว มาสิงคโปร์และกรุงเทพฯ โดยใช้ดาวเทียมเช่นเดียวกัน เพียงแต่การส่งผ่านข้อมูลจากสำนักงานที่อาคารมณียา ถนนเพลินจิตไปยังลูกค้าจะผ่านทางสายโทรศัพท์เพียงวิธีเดียวเท่านั้น

จุดที่น่าสนใจของการแข่งขันในเรื่องเทคนิคระบบการรับส่งข้อมูลของทั้ง 2 บริษัทก็คือระบบการรับข้อมูลของลูกค้า

เพราะลูกค้าของทั้งสองบริษัทล้วนเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ 28 แห่ง บริษัทการค้า โดยมีบริษัทค้าพืชผลทางการเกษตร กับบริษัทน้ำมันอย่างไทยออยล์ กับคาลเท็กซ์รวมอยู่ด้วย

ดังนั้นข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่นอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย สภาพตลาดหุ้น ตลาดทอง พลังงาน ฯลฯ จะต้องถูกนำเสนอในลักษณะวินาทีต่อวินาที (Real-time) และที่มากไปกว่านั้นก็คือเครื่องรับ (terminal) หรือฮาร์ดแวร์ที่ใช้ก็จะต้องสามารถทำงานได้ทั้งวันทั้งคืนหยุดไม่ได้

ทรงธรรม เพียรพัฒนาวิทย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ เทเลอเรท พูดถึงเกณฑ์การตัดสินใจของลูกค้าในปัจจุบันว่าลูกค้าจะพิจารณาถึงตัวข้อมูลเป็นอันดับแรก แล้วก็จะมาดูในเรื่องของระบบว่าสามารถรองรับงานได้มีประสิทธิภาพเพียงใด มีความยุ่งยากในการใช้งานหรือไม่ และท้ายสุดก็คือมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดหากจะมีการพัฒนาระบบในอนาคต

นี่เป็นเหตุผลที่ว่านับแต่นี้ไปบริษัทบริการข้อมูล มิอาจให้ความสำคัญแก่ตัวข้อมูลเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีได้กลายเป็นปัจจัยอีกตัวหนึ่งในการตัดสินใจของลูกค้า แนวรุกด้านเทคโนโลยีชั้นสูงในการให้บริการจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้น้ำหนักความสำคัญ

ทั้งเทเลอเรทและรอยเตอร์ต่างยอมรับในข้อนี้

เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างกล่าวอ้างถึงความมีประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ว่าได้มีการพัฒนา (up-grade) อยู่ตลอดเวลา

ทั้งสองค่ายเรียกเครื่องรับหรือฮาร์ดแวร์ที่ลูกค้าใช้ดูข้อมูลเป็นโปรดักส์ชื่อต่าง ๆ โดยแต่ละโปรดักส์จะมีคุณสมบัติที่โดดเด่นเฉพาะตัว (Features)

อย่างที่ค่ายเทเลอเรทโปรดักส์หลัก ๆ จะได้แก่ หนึ่ง เบสิก เทเลอเรท (Basic Telerate) ซึ่งจะเสนอข้อมูลในรูปของตัวอักษรล้วน ๆ สองเทเลอแทรก (Teletrac) จะเสนอข้อมูลในรูปของกราฟ สาม แมทริกซ์ (Matrix) สามารถแสดงข้อมูลได้ทั้งรูปของตัวอักษรล้วน ๆ และเป็นกราฟ สี่ แทกทิเชียน (Tactician) เป็นการวิเคราะห์ข่าวแต่เพียงอย่างเดียว และล่าสุดก็คือเอดับบลิวเอส (AWS:Advance Workstation System) ซึ่งรวมเอาคุณสมบัติที่เด่น ๆ ของโปรดักส์ทุกตัวไว้เข้าด้วยกัน

นอกจากนั้นหากลูกค้าเป็นลูกค้าของทั้งรอยเตอร์และเทเลอเรทในเวลาเดียวกันก็สามารถใช้เอดับบลิวเอสดึง (feed) เอาข้อมูลของรอยเตอร์ให้มาปรากฏบนจอเดียวกันได้

ส่วนโปรดักส์ทางค่ายรอยเตอร์ ก็มีคุณสมบัติที่ไม่ต่างกันมากนัก เริ่มจากเออาร์ที (Advance Reuter) ซึ่งแสดงข้อมูลในรูปของตัวอักษรล้วน ๆ ที่ต่อมาได้มีการพัฒนาให้สามารถแสดงข้อมูลได้เพิ่มเติมในรูปของกราฟ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยลูกค้าสามารถเลือกรูปแบบได้ตามความต้องการ

อาร์ที (Reuters) เป็นระบบที่ใช้ดึงข้อมูลของรอยเตอร์ให้ไปปรากฏบนเครื่องรับที่ลูกค้าต้องการ, ดีลลิง (Dealing)เป็นโปรดักส์ที่ใช้สำหรับแบงก์ในต่างประเทศโดยตรง และล่าสุดบีอาร์ที (Boardcast Reuters) จะเป็นโปรดักส์ที่ใช้รับข้อมูลจากดาวเทียมเท่านั้น

โปรดักส์ดังกล่าวนี้ ทั้ง 2 ค่ายต่างก็ให้ความมั่นใจในประสิทธิภาพที่เหนือกว่าอีกฝ่าย แต่หากมองด้วยสายตาที่เป็นคนนอกแล้ว จะเห็นได้ว่าโปรดักส์ล่าสุดของเทเลอเรทจะมีประสิทธิภาพที่สูงมาก ซึ่งจุดนี้ฝ่ายเทคนิคของรอยเตอร์เองก็ยอมรับแต่ทั้งนิ้มิได้หมายความว่ารอยเตอร์จะไม่มีในสิ่งที่เทเลอเรทมี เพียงแต่ควอนตัม (Quantum) ที่รอยเตอร์มีเป็นระบบที่มีคุณสมบัติมากมายจนกลายเป็นระบบที่ใหญ่เกินไป จึงไม่ถูกสั่งเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามี 2 สัญญาการซื้อขายที่ไม่ควรมองข้ามในการนำมาประกอบการพิจารณาถึงขีดระดับความสำคัญแห่งเทคโนโลยีการสื่อสารในวันนี้ก็คือ หนึ่ง เมื่อกลางปี 34 แบงก์ชาติซื้อระบบเอดับบลิวเอสจากเทเลอเรท เพื่อนำมาใช้ในห้องค้าเงินตราต่างประเทศ (Trading Room) และ สอง ได้มีการซื้อขายระบบเดียวกันนี้อีกครั้งเมื่อประมาณต้นปี 35 โดย แบงก์กสิกรไทย เพื่อนำไปใช้ในงานลักษณะเดียวกัน

ถึงแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการตัดสินใจซื้อด้วยเหตุผลตัวเลขของราคาที่ถูก และแบงก์ชาติไม่ต้องการให้รอยเตอร์เป็นเจ้าที่ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว!

ก็ยังมีภาพของการทดลองใช้งานระบบเอดับบลิวเอสของเทเลอเรทตามแบงก์ และกลุ่มบริษัทการค้าหลายแห่งจนมีข่าวคราวว่าจะมีการติดต่อซื้อขายโปรดักส์ตัวเดียวกันนี้ตามมาอีกโดยแบงก์ใหญ่ ๆ อีกหลายแบงก์

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าประสิทธิภาพของเอดับบลิวเอสจะเป็นจริงตามคำบอกเล่าของเทเลอเรทหรือไม่ ไม่ว่าแบงก์ชาติหรือกสิกรไทยจะซื้อระบบดังกล่าวด้วยเห็นถึงประสิทธิภาพดังกล่าวจริง หรือด้วยเหตุผลของตัวเลขราคาก็ตาม

การซื้อเทคโนโลยีที่เป็นการลงทุนในระดับ 10 ล้านขึ้นไปเพื่อใช้งานในหน่วยงานหน่วยหนึ่งที่ฝ่ายผู้ลงทุนเห็นว่าคุ้มแล้วสำหรับการปูทาง เพื่อไปสู่แนวนโยบายระดับชาติที่ว่าด้วยการเป็นศูนย์กลางทางการเงินสำหรับตลาดอินโดจีน

ขณะเดียวกันการลงทุนของสถาบันทางการเงินแห่งชาติอย่างแบงก์ชาติ หรือแบงก์พาณิชย์ชั้นนำอย่างแบงก์กสิกร ได้เป็นการสร้างฐานเครดิตที่มั่นคงทางการตลาดให้แก่เอดับบลิวเอส และเทเลอเรทแล้ว

ในประเด็นเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของรอยเตอร์ได้ให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีนั้นเป็นสิ่งที่ตามกันทันอยู่แล้ว ใช้เวลาไม่กี่ปีก็ไล่กันทัน โดยที่ผ่านมาเทเลอเรทจะไล่ตามรอยเตอร์มาตลอดประมาณปีสองปี จะมีระบบบเอดับบลิวเอสนี้เท่านั้นที่เทเลอเรทมาแรงและไปไกลกว่ารอยเตอร์ แต่มองเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของการสื่อสารยังคงเป็นเรื่องของคุณภาพในตัวข้อมูลมากกว่า

เกรแฮม สเป็นเซอร์ผู้จัดการประจำประเทศไทย พม่า และอินโดจีนได้ให้ความเห็นว่าจุดเด่นที่ลูกค้าตัดสินใจเลือกบริการของรอยเตอร์ก็ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็วอันเนื่องมาจากเครื่อข่ายที่มีอยู่ทั่วโลก และถึงแม้ว่าแบงก์ชาติ หรือกสิกรจะซื้อโปรดักส์ทางเทเลอเรทก็ตาม ข้อมูลของรอยเตอร์ก็ยังเป็นบริการที่ทั้งแบงก์ชาติ กสิกรหรือแบงก์ใด ๆ ต้องมี

บริษัทเทเลอเรท (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือของดาวโจนส์ โกบอล อินฟอร์เมชั่น (Dow Jones Global Information) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่พยายามพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องในธุรกิจทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการเงิน มีสาขาใน 150 ประเทศทั่วโลก โดยเทเลอเรทมีชื่อเสียงในข้อมูลด้านอัตราเงินตราระหว่างประเทศและตลาดทุน (Currency & Capital)

ส่วนรอยเตอร์มีบริษัทแม่ชื่อเดียวกันอยู่ที่ลอนดอน มีสาขา 74 แห่งทั่วโลก รอยเตอร์ทำข่าวทุกประเภท แต่เน้นหนักไปที่ข่าวเศรษฐกิจและรอยเตอร์ได้รับการยอมรับมากในสายข่าวธุรกิจการเงินทุกประเภท (Business & Financial)

มีข้อมูลเสริมมาเล็ก ๆ ก็คือ ทั้งเทเลอเรทและรอยเตอร์ต่างมีบริษัทสำนักข่าวในเครือซึ่งอยู่วงการเดียวกันคือ เทเลอเรทจะมีสำนักข่าวเอพี และรอยเตอร์จะมีสำนักข่าววิสนิวส์

โดยรอยเตอร์จะมีนักข่าวประจำอยู่ในแต่ละสาขา และรับข้อมูลจากวิสนิวส์ ในขณะที่เทเลอเรทจะไม่มีนักข่าวประจำในทุกสาขา (เช่นประเทศไทย) แต่อาศัยการรับข้อมูลและข่าวสารจากสำนักงานใหญ่ในแต่ละแห่งและจากสำนักข่าวเอพีด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.