ไออีซีปรับบอร์ดบริหารใหม่ดึง "วีระวัฒน์ ชลวณิช" ลูกหม้อเก่าคุมบังเหียนแทน
"จเรรัฐ ปิงคลาศัย" หวังเข้ามาเป็นพลังขับเคลื่อนใหม่ ดันธุรกิจกลับมาผงาดทำรายได้ล้างขาดทุน
"วีระวัฒน์" เผยต้องปรับเปลี่ยนการ บริหารงานใหม่ เพื่อรับมือการแข่งขันที่เข้มข้น
เพราะธุรกิจโทรคมนาคมเปลี่ยนจากเดิม ลือสนั่น "คอม-ลิ้งค์" จ่อคิวถือหุ้นใหญ่
ช่วยต่อยอดธุรกิจไปโลด
วานนี้ (15 ก.ค.) นางสาวทิพวรรณ อุทัยสาง รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง
จำกัด (มหาชน) (IEC) เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 11 ก.ค. มีมติรับทราบการลาออกของ
นายจเรรัฐ ปิงคลาศัย จากตำแหน่งประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้อำนวยการและกรรมการบริษัท
โดยให้มีผลตั้งแต่วานนี้ (15 ก.ค.) เป็นต้นไป
บริษัทยังอนุมัติการแต่งตั้งนายวีระวัฒน์ ชลวณิช ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัท
ให้มีผลตั้งแต่วานนี้เช่นกัน พร้อมอนุมัติแต่งตั้งนายบุญรัตน์ วิญญุกานนท์ ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท
โดยให้มีผลตั้งแต่วานนี้เช่นกัน
ปรับตัวรับแข่งดุ
นายวีระวัฒน์เปิดเผยว่า การกลับเข้ามาทำงานใน IEC อีกครั้ง เป็นการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม
เพราะธุรกิจโทรคมนาคมปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก ต้องมองทิศทางธุรกิจอนาคต
ว่าจะไปทิศทางใด IEC ก็เช่นกัน ต้องปรับตัวเองใหม่เพื่อรับมือการแข่งขันที่รุนแรง
และให้ทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบัน และอนาคต
"ตอนนี้ ผมขอเข้าไปดูงานอย่างละเอียดและชัดเจนก่อน ว่าจะต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยน
แปลงอะไรบ้าง ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งก่อน จะให้ตอบวันนี้เลยคงยาก หลังจากนั้น ก็ต้องศึกษาด้านการดำเนินงาน
และทิศทางที่แท้จริงของ IEC จะเป็นแบบใด" นายวีระวัฒน์กล่าว
วีระวัฒน์ลูกหม้อเก่าฝีมือดี
นายวีระวัฒน์เป็นลูกหม้อเก่าร่วมบุกเบิก IEC หลังจากถูกบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย
จำกัด (มหาชน) (ปูนใหญ่) ขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ของกลุ่มปี 2530 นายวีระวัฒน์จึงบริหาร
IEC ช่วงปี 2530-2533 หลังจากนั้น ก็ออกมาทำงานกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส
จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) ถือว่าเขาคลุกคลีในวงการโทรคมนาคม มานาน ดังนั้น การกลับมาคุมบังเหียน
IEC ครั้งนี้ คนในวงการเชื่อว่าจะทำให้การบริหารงานเข้มข้นเชิงรุกมากขึ้น
นอกจากเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ยังมีกระแสข่าวว่า IEC จะเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่
โดยนายศิริทัศน์ โรจนพฤกษ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ใน IEC ซึ่งอาจไม่ถือหุ้น IEC โดยตรง
แต่ถือผ่านบุคคลอื่น (นอร์มินี)
หากข่าวดังกล่าวจริง จะทำให้การถือหุ้นเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบัน ที่นายชยุตม์ ลี้อิสสระนุกูล
ถือหุ้นใหญ่ 7 ล้านหุ้น คิดเป็น 9.61% ของทุนจดทะเบียนไออีซี ตามด้วย ธนาคารกสิกรไทย
ถือหุ้น 5.7 ล้านหุ้น คิดเป็น 7.85% นายคงพัฒน์ เกียรติยุทธชาติ ถือหุ้น 4.1 ล้านหุ้น
คิดเป็น 5.63% บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย 2.6 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.58% และบริษัท
โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (TAC) 2.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.49%
ลือคอม-ลิ้งค์เตรียมเทก
นายศิริทัศน์เป็นผู้บริหารบริษัท คอม-ลิ้งค์ จำกัด ดำเนินธุรกิจโทรคมนาคม และเคยได้สัมปทานจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
วางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วตามรางรถไฟ โดยมีสายป่านการเงินที่ดี จากธนาคารกสิกรไทย
นอกจากนี้ ยังมีบริษัท ปรีดา ปราโมทย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือคอม-ลิ้งค์ ที่ร่วมประมูลวางระบบสื่อสารโทรคมนาคมสนามบินหนองงูเห่า
ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คนใหม่ที่จะเข้ามานั้น เชี่ยวชาญ ด้านธุรกิจโทรคมนาคมมานาน
จากการที่ IEC ได้ทีมบริหารใหม่ที่ชำนาญงานด้านโทรคมนาคม และหากนายศิริทัศน์ถือหุ้นจะทางตรงหรือทางอ้อม
ย่อมเอื้อประโยชน์การ ทำธุรกิจให้ IEC และเป็นผลดีต่อการดำเนินงาน มากกว่าจะเป็นผลลบ
เพราะอย่างน้อยที่สุด ความชำนาญในธุรกิจ และการคลุกคลีกับวงการ นี้มาตลอดเวลาการทำงาน
ประกอบกับการมีสายป่านการเงินที่ดี คือกสิกรไทย ย่อมจะทำให้ IEC กลับมาผงาดได้เหมือนอดีต
ปัจจุบัน IEC ยังขาดทุนสะสม 143 ล้านบาท ผลดำเนินงาน IEC ไตรมาสแรก บริษัทขาดทุนสุทธิ
21.90 ล้านบาท จากงวดเดียวกันปีก่อน กำไรสุทธิ 6.46 ล้านบาท ส่งผลให้จากกำไรต่อหุ้น
9 สตางค์ เป็นขาดทุนต่อหุ้น 30 สตางค์
ทำให้บริษัทฯ กำไรขั้นต้นลดลง ไตรมาสแรกปีนี้ กำไรขั้นต้น 13.38% เทียบงวดเดียวกันปี
2545 บริษัทกำไรขั้นต้น 20.94% ทำให้จำนวนเงินลดลง 25.9 ล้านบาท เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโทรศัพท์มือถือ
นอกจากนี้ IEC ยังมีส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย ลดลงจากงวดเดียวกันปี
2545 เป็น 13.5 ล้านบาท
ขณะที่รายได้อื่นลดลงจากงวดเดียวกัน ปี 2545 เป็น 11.5 ล้านบาท เนื่องจากปี 2545
มีรายได้จากการขายเงินลงทุนกองทุนรวม 5.2 ล้านบาท และรายได้จากการสนับสนุนการ ขาย
4.8 ล้านบาท