"สามารถ" รีแบรนดิ้ง ดันยอดทะลุหมื่นล้าน


ผู้จัดการรายวัน(16 กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

สามารถรีแบรนดิ้งใหม่ มุ่งเน้นธุรกิจ Infocom ครบวงจรหลังเข็ดขยาดกับโครงการโทรคมนาคมขนาดใหญ่ ยันปีนี้รายได้ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท เตรียมดันกลุ่มธุรกิจไอ-โมบาย มัลติมีเดียเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมคืนสัมปทานโพสต์เทลให้กรมไปรษณีย์โทรเลข

นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงการรีแบรนดิ้งองค์กรของกลุ่มสามารถว่าเป้าหมายของกลุ่มสามารถมุ่งไปสู่ธุรกิจ Infocom หรือสื่อสารสารสนเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าและความคุ้มค่าให้กับลูกค้า การรีแบรนดิ้งครั้งนี้ ประกอบด้วย 5 ลักษณะคือ 1.Customer Focus การใส่ใจและเข้าใจถึงความ ต้องการลูกค้า 2.Fast ประสิทธิภาพในการเสนอบริการที่ดี บริการหลังการขายมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาลูกค้าได้ฉับไว 3.Synergy รวบรวมบริการที่หลากหลายภายในกลุ่มสามารถและพาร์ตเนอร์เพื่อเสนอบริการลูกค้าแบบครบวงจร

4.Innovative ความคิดสร้างสรรค์ ที่ไม่หยุดนิ่งพยายามแสวงหาผลิตภัณฑ์ บริการใหม่ๆ ไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร และ 5.Can Do&Well Done เป็นทัศนคติคนในองค์กรต้องมีความเชื่อว่าสามารถทำได้และต้องทำได้ดี

"ปีนี้สามารถจะมีรายได้ 1 หมื่นล้านบาทเป็นปีแรก"

การรีแบรนด์ดิ้งเกิดขึ้นภายหลังจากที่กลุ่มสามารถทำธุรกิจมากว่า 50ปี เข้าสู่ยุคที่ 3 ที่เน้น Infocom หลังจากยุคแรกที่เริ่มจากเสาอากาศทีวีจาน ดาวเทียมเติบโตจากฐานการผลิต มาสู่ยุคที่ 2 ธุรกิจ บริการโทรคมนาคมเฟื่องฟู การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอินฟราสตรักเจอร์ขนาดใหญ่อย่างดีพีซีหรือฮัลโหล 1800 ที่ทำให้กลุ่มสามารถเจอภาวะวิกฤตจากพิษ เศรษฐกิจและตลาดโทรคมนาคมซบเซา รวมทั้งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่

"วิกฤตเศรษฐกิจเหมือนการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้สามารถแข็งแรง เราปรับตัวอย่างรวดเร็วภายหลังเกิดวิกฤต"

นายธวัชชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่นกล่าวว่าสามารถใช้เงินใน การรีแบรนด์ดิ้งประมาณ 30-40 ล้านบาท และใช้เงินด้านกิจกรรมการตลาดในบริษัทลูกประมาณ 150-200 ล้านบาทซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่จากเดิมที่บริษัทลูกจะใช้เงินในการโฆษณาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสินค้า บริการ ก็ให้เพิ่มด้านภาพลักษณ์ของแบรนด์ใหม่สามารถเข้าไปด้วย

"เราศึกษาแบรนด์มา 7-8 เดือนรวมทั้งโครงสร้างธุรกิจ การเปลี่ยนแบรนด์ไม่ใช่แค่เปลี่ยนสีเปลี่ยนแบบตัวอักษรใหม่ ไม่ง่ายอย่างนั้น" นายธวัชชัยกล่าวและว่าเดิมบริษัทลูกของสามารถต่างมีโลโกของตัวเอง ทำให้ดูวุ่นวายขาดความเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน ภายใต้การรีแบรนดิ้งใหม่นี้ จะมีเพียงมาสเตอร์โลโกคือสามารถเท่านั้น และถ้าหากบริการอย่าง BUG LIVE(บริการ BUG 1113เดิม) BUG MODE (บริการนอนวอยซ์)และ BUG FUN (บริการออดิโอเท็กซ์) จะมีโลโกเป็นแมลงเหมือนตัว BUG1113 เดิมแต่จะต้องมีชื่อสามารถอยู่ด้านล่าง ซึ่ง BUG จะเป็นตัวแทนธุรกิจด้านคอนเทนต์

การรีแบรนดิ้งเกิดขึ้นพร้อมการปรับโครงสร้าง ธุรกิจใหม่ เป็น 4 กลุ่มคือ 1.กลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมภาครัฐ 2.กลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมภาคเอกชน 3.กลุ่มธุรกิจไอ-โมบาย มัลติมีเดีย และ 4.กลุ่มธุรกิจอื่นๆ

กลุ่มไอ-โมบาย มัลติมีเดีย เป็นกลุ่มที่มีการปรับมากที่สุด ด้วยเป้าหมายต้องการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยขยายเครือข่ายบริการให้ครอบคลุม ธุรกิจ Mobile Business กับ Infotainment Multi-media

ภายใต้กลุ่มธุรกิจ ไอ-โมบาย มัลติมีเดีย ประกอบด้วยบริษัทแม่ สามารถ ไอ-โมบาย ที่ดำเนิน ธุรกิจนำเข้าเป็นผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารต่างๆรวมถึง I-Mobile Package และการให้บริการหลังการขาย ซึ่งมีการเพิ่มทุนจาก 150 ล้านบาทเป็น 320 ล้านบาทและมีบริษัทในกลุ่มอีก 3 บริษัทคือบริษัท สามารถอินโฟมีเดีย ให้บริการข้อมูลผ่านสื่ออินเตอร์แอ็กทีฟ ภายใต้ชื่อ BUG บริษัท สามารถ โมบาย เซอร์วิสเซส เป็นช่องทางจัดจำหน่ายและให้บริการภายใต้ชื่อร้าน ไอ-โมบาย ช้อป และบริษัท สามารถ อินเตอร์แอ็คทีฟ มีเดีย ให้บริการสื่อในรูปแบบใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการในเชิงธุรกิจ พร้อมทั้งมีบริการด้าน Event Organizer เพื่อจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆตามความต้องการของลูกค้า

ทิศทางธุรกิจของกลุ่มสามารถ จะไม่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรืออินฟราสตรักเจอร์อีกแล้ว อย่าง บริการวิทยุติดตามตัวโพสต์เทล ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 3 หมื่นราย ซึ่งลูกค้าในส่วนราชการกำลังจะเลิกใช้เหลือเพียงคอนซูเมอร์ไม่มากนัก โพสต์เทล ก็จะลดบทบาทลงและหาแนวทางเจรจากับกรมไปรษณีย์โทรเลข เพื่อคืนสัมปทาน

รายได้ของกลุ่มสามารถในปีนี้ 1 หมื่นล้านบาท เติบโตกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 30% โดยกลุ่มธุรกิจหลักที่ทำรายได้มากคือกลุ่มไอ-โมบาย มัลติมีเดียประมาณ 60% ธุรกิจต่างประเทศกับตลาดเอกชนรวม กันประมาณ 30% ที่เหลืออีก 10% เป็นตลาดราชการ ในช่วงไตรมาส 3 กลุ่มสามารถจะดำเนินการปรับโครง สร้างหนี้ที่มีอยู่ประมาณ 4 พันล้านบาทเสร็จเรียบร้อย ซึ่งในขณะนี้ดำเนินการแล้วกว่า 80% หลังจากนั้นจะทำให้ฐานะการเงินแข็งแกร่งขึ้น

"การวัดผลสำเร็จของการปรับโครงสร้างธุรกิจหรือการรีแบรนดิ้ง อยากให้วัดที่ฐานะการเงินผลประกอบการ จบปีนี้ภาพเราน่าจะดีขึ้น แข็งแรงพอที่จะไปแข่งขันกับคนอื่นได้"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.