|

คลังจี้แบงก์ชาติการันตีCIMB ผวาBTซ้ำรอยนครธน-เอเชีย
ผู้จัดการรายวัน(20 สิงหาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
คลังเปิดประเด็นใหม่ซักฟอกแบงก์ชาติกรณีขายหุ้นไทยธนาคาร (BT) รับผิดชอบกลุ่มซีไอเอ็มบีกรณีไม่ทำตามเงื่อนไขฟื้นฟูแบงก์หรือไม่ แฉที่ผ่านมาขาย "นครธน-เอเชีย" ให้ต่างชาติถือหุ้นเกิน 49% พร้อมสิทธิพิเศษซื้อเพื่อฟื้นฟู แต่ครบกำหนด 10 ปียังไม่มีการเพิ่มทุนเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นให้ต่ำกว่า 49%
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างทำหนังสือสอบถามไปยังกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการขายหุ้นเพิ่มทุนธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) (BT) ให้กับกลุ่มซีไอเอ็มบี ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากต้องการให้ ธปท.ชี้แจงว่าข้อตกลงในการขายหุ้นดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย ธปท.หรือไม่
"เรื่องนี้ไม่ได้ใช้เป็นข้อต่อรองในการอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.ของนางธาริษา วัฒนเกส แต่เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายก็รู้กันอยู่ว่าการขายหุ้นของธนาคารพาณิชย์ให้กับต่างชาติถือเป็นเรื่องใหญ่ที่แบงก์ชาติจะพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะเสนอมายังกระทรวงการคลัง หากผิดพลาดขึ้นมาก็ต้องถึงขั้นรับโทษทางอาญาได้"แหล่งข่าวกล่าวและยืนยันว่า การกระทำของกระทรวงการคลังเช่นนี้ไม่ถือว่าต้องการถ่วงเวลาการขายหุ้นออกไป และไม่เกี่ยวกับการรอผลการสอบสวนความเสียหายการเพิ่มทุนธนาคารไทยธนาคารของคณะกรรมการที่ รมว.คลังแต่งตั้ง แต่เพื่อให้สิ่งที่แบงก์ชาติเสนอมานั้นถูกต้องตามกฎหมาย
"สิ่งที่กระทรวงการคลังต้องการให้ธปท.ชี้แจงให้ชัดเจนก็คือเงื่อนไขในการซื้อหุ้นไทยธนาคารของกลุ่มซีไอเอ็มบี ซึ่งเราพบว่า ธปท.ยอมให้ซีไอเอ็มบีสามารถถือหุ้นไทยธนาคารได้เกิน 49% เมื่อถือหุ้นครบ 10 ปีแล้วจะต้องทำการเพิ่มทุนโดยไม่ให้สิทธิซีไอเอ็มบีซื้อเพื่อให้สัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติในธนาคารไทยลดลง ตามกฎกการเข้ามาซื้อหุ้นเพื่อเข้ามาเพื่อฟื้นฟูฐานะธนาคาร"
กระทรวงการคลังมีข้อสังเกตว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เหตการณ์จะซ้ำรอยกับการขายหุ้นธนาคารพาณิชย์ของกองทุนฟื้นฟูที่ผ่านมา เพราะเหตุใดธนาคารไทยหลายแห่งที่ประสบปัญหาทางการเงินตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ ในปี 2540 และมีธนาคารต่างชาติเข้ามาถือหุ้น ทั้งธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธน จำกัด(มหาชน) SCNB เดิม ปัจจุบันคือ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) จำกัด(มหาชน) SCBT และธนาคารเอเชีย จำกัด(มหาชน) BOA เดิมที่ปัจจุบันถูกธนาคารยูโอบี จำกัด(มหาชน) UOB ทำไมจึงไม่มีการเพิ่มทุนเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติลงต่ำกว่า 49%
“การขายหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์ให้กับต่างชาตินั้นตั้งแต่หลังวิกฤตปี 40 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันก็ครบครบ 10 ปีแล้ว แต่เงื่อนไขที่แบงก์ชาติบอกว่าจะต้องเพิ่มทุนเพื่อไดลูทสัดส่วนหุ้นของต่างชาติลงก็ยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ออกมาจากแบงก์ชาติเลย แต่เรื่องนี้ก็ต้องรอให้ทางแบงก์ชาติตอบมาก่อนว่ามีเหตุผลใดๆ” แหล่งข่าวระบุ
ทั้งนี้ กลุ่มซีไอเอ็มบีได้เสนอซื้อหุ้นไทยธนาคาร 2,811 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 42.12% จากกองทุนฟื้นฟูฯ ในราคาหุ้นละ 2.10 บาท คิดเป็นมูลค่าราว 5.9 พันล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะเข้าร่วมในการเพิ่มทุนไทยธนาคารภายหลังจากที่ได้ดำเนินการซื้อหุ้นจากกองทุนฟื้นฟูฯ และซีไอเอ็มบี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไทยธนาคาร รวมถึงการทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นรายย่อยแล้ว
นอกจากนี้ ธนาคารไทยธนาคาร ได้ดำเนินการขายตราสารหนี้ที่ใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกัน(ซีดีโอ) ที่ธนาคารถือครองไว้ออกหมดแล้ว โดยเป็นการขายผ่านการประมูลผ่านนักลงทุนรวมทั้งหมด 6 ราย โดยธนาคารได้เงินจากการขายซีดีโอครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 77.04 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,579 ล้านบาท ขาดทุนไป 6,195 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวจะถูกบันทึกลงในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
เลี้ยบยังไม่ปลดผู้ว่าฯ ธปท.
วานนี้ (19 ส.ค.) นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ไม่มีแนวคิดที่จะปลดผู้ว่าฯ ธปท.จากเหตุผลนโยบายดอกเบี้ยหรือบางมุมมองในการบริหารเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เพราะการที่มีมุมมองทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากมุมมองในทุกเรื่องเหมือนกันหมดถือว่าอันตราย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|