|
5 บิ๊กการเงินแนะสูตร ปั้นCFO มืออาชีพ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(18 สิงหาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
• เรียนรู้เบ้าหลอมสู่นักบริหารการเงินชั้นนำ
• ไม่ใช่แค่หา-จัดสรรเงิน แต่ต้องเป็นคู่คิดซีอีโอ
• เจาะกึ๋น-คุณสมบัติพื้นฐาน ซีเอฟโอ ชั้นโปร เป็นอย่างไร
ในฐานะผู้ดูแลการเงินและบัญชีขององค์กร ทำให้ Chief Financial Officer: CFO จึงเป็นผู้บริหารอีกคนหนึ่งที่จัดว่า มีบทบาทสำคัญ และรับผิดชอบอย่างกว้างขวาง ในการขับเคลื่อนความสำเร็จขององค์กรมากขึ้น เพราะมักจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของบริษัทอยู่เสมอ โดยเป็นผู้ทำหน้าที่รายงานข้อมูลทางการบัญชีและการเงินที่สำคัญที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาต่อผู้บริหารระดับสูง เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ ดังนั้น จึงปฎิเสธไม่ได้ว่า เส้นทางความจะอยู่รอด...หรือ รุ่งโรจน์ขององค์กร จึงขึ้นอยู่กับเหล่าบรรดา “ ซีเอฟโอ” นั่นเอง
ร่วมค้นหาคำตอบ....ในการเป็นซีอีโอมืออาชีพ จาก 5 บิ๊กมือโปร นักบริหารการเงินจากองค์กรชั้นนำที่คร่ำหวอดในแวดวงมานาน... ทีเป็นมากกว่า คนหาเงิน-จัดสรรเงิน.... แต่มีแนวคิดสร้างมูลค่าสูงสุดให้กับองค์กร ....ทั้งยังต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานสำคัญๆ ... ความสัตย์ซื่อ ตรงไปตรงมา รับผิดชอบและมีวินัย
นริศ เชยกลิ่น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา CPN สรุปว่า บทบาทของซีเอฟโอ ไม่เพียงแต่ ทำหน้าที่หาเงินและจัดสรรเงินแล้ว ยังต้องต้องดูด้วยว่า ทำอย่างไรให้เกิดมูลค่าสูงสุดให้กับองค์กรมากที่สุด และทำอย่างไรใช้มูลค่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะเป็นสิ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กร หรือทำอย่างที่ให้เกิด return on asset (ผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน) รวมถึงการใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการให้เงินเกิดการดหมุนเวียนตลอดเวลา อันหมายถึงผลตอบแทนผู้ถือหุ้นได้สูงที่สุด
กล่าวคือ ซีเอฟโอ คือ ผู้บริหารคุณค่าให้เกิดขึ้นกับองค์กรมากที่สุด หรือทำอย่างไรที่จะสร้างValueให้เกิดขึ้นกับองค์กรให้มากที่สุด ทำอย่างไรที่จะใช้ประสิทธิภาพ และต้องทำให้เงินทุนหมุนเวียนยิ่งมากก็ส่งผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น
ทั้งนี้ปัจจุบันบทบาทของซีเอฟโอต่อองค์กร มี 2 ด้าน ด้านแรก คือ เป็นบุคคลที่หารายได้ให้องค์กร และด้านสอง คือ จัดสรรทรัพยากรองค์กรต่างๆให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเผ้าดูและปรับกระบวนการอยู่ตลอดเวลา
“ ในยุคปัจจุบันนี้ เรามักไม่ค่อยได้ดูแลเงินตัวเองนัก ส่วนใหญ่มักเป็นเงินคนอื่น อาทิ ผู้ลงทุน ผู้กู้ ถ้าหากเป็นซีเอฟโอพูดจากพลิกไปพลิกมา คงจะนอนไม่หลับ เพราะคนที่เป็นซีอีโอ หรือมาเก็ตติ้ง สามารถมีได้ 2 ด้าน แต่คนที่เป็นซีเอฟโอของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ความน่าเชื่อถือยังเป็นสิ่งสำคัญ” ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่บริหารอาวุโส บจก. เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวสรุป
Sale Man ขายเครดิต
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานด้านบัญชีและการเงิน บมจ.บางจากปิโตรเลียม " ปฎิภาณ สุคนธมาน" กล่าวด้วยว่า การจัดลำดับความสำคัญ ก็เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ซีเอฟโอต้องทำ เนื่องจากทรัพยากรทางการเงิน ไม่ได้หมายความถึง การหาเงินทุนอย่างไม่จำกัด แต่จะต้องจัดสรรใช้เงินและดูจาก cash flowลงทุนที่เหมาะสมในแต่ละระยะเวลาได้อีกด้วย
ในความเป็นจริง ซีเอฟโอ คือ เซลล์แมนหรือพนักงานขาย ซึ่งหมายถึงการจัดหาเงิน ซึ่งสิ่งที่เราขาย คือ เครดิตและความเชื่อมั่นของบริษัท ให้กับผู้ซื้อ ซึ่งได้แก่ นักลงทุนทั่วไป นักวิเคราะห์ และนักการเงิน
“เราจะขายได้อย่างไร ถ้าหากไม่รู้ข้อดี-ข้อเสียของโปรดักส์ ซึ่งหมายถึง ความมั่นคงทางการเงิน ผลประกอบการที่มาจากการผลิตที่มีประสิทธิภาพ จากการขาย โดยซีเอฟโอจะต้องรู้ในรายละเอียดการผลิต การตลาด และการบริหาร มิฉะนั้นเราขายสินค้าไม่ได้”
ทางด้าน มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ บมจ. กิมเอ็ง ประเทศไทย บอกด้วยว่า บทบาทในการสร้างคุณค่าให้กับองค์กรและคำนึงถึงมูลค่าให้กับองค์กร ทำให้ซีเอฟโอมีหน้าที่ช่วยดูว่ากิจกรรมของบริษัทได้เพิ่มมูลค่าองค์กรขนาดไหน ดังนั้น ในการเข้าใจมูลค่าองค์กรต้องมีหลายด้านๆ อาทิ อนาคตสดใสหรือไม่ ทิศทางความเสี่ยงที่ต้องประมาณการณ์อย่างแม่นยำ
“ในการมองมูลค่าองค์กร เป็นเรื่องเข้าใจโจทย์ภาพใหญ่ ไม่ว่า โจทย์การวิเคราะห์เศรษฐกิจ ทิศทางอุตสาหกรรม การแข่งขันและตัวโครงการ และวิธีทำงานอย่างไรที่จะสามารถทำกำไรได้ กระแสเงินสดและสามารถที่จะทำให้องค์กรมีมูลค่าดีที่สุด”
“ส่วนงานฟังก์ชั่นเดิมของซีเอฟโอ ในเรื่องบัญชี คงไม่ต้องมาคุมบัญชีด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามคงต้องมีความแม่นยำ สามารถให้ลูกน้องดูแลได้ ด้านบัญชีในโลกยุคใหม่ มุ่งสู่ MIS: Management Information System ซึ่งซีเอฟโอที่ดีต้องพร้อมที่จะหาข้อมูลด้านต่างๆมาให้ผู้บริหารสูงสุด คณะกรรมการเห็นว่าสถานการณ์แต่ละเรื่องในขณะนี้ว่าเป็นอย่างไร” ผู้บริหารที่ปรึกษาวิเคราะห์ธุรกิจแนะนำ
CFO กล้าคิด-กล้าค้าน
นอกจากนี้ ซีเอฟโอควรมีคุณสมบัติสำคัญ คือ “ไม่ต้องรอคำสั่ง”เพราะถ้าซีเอฟโอมัวแต่รอทำงานตามสั่งจะขาดความก้าวหน้า “ผู้บริหารระดับสูงที่ประสบความสำเร็จ มักพูดเสมอว่า หลักสำคัญคือ หัวใจซึ่งหมายถึง การใส่ใจอย่างลึกซึ้งในการทำหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินเงินทององค์กรให้ดีที่สุด”
นริศ กล่าวเสริมว่า " ซีเอฟโอ จะต้องมีคุณสมบัติที่จะกล้าบอกว่า "ตรงนี้มันไม่ใช่ทางที่ไป" โดยมีข้อมูลทางการเงินที่ชัดเจนและหนักแน่นว่า หากทำไปแล้วจะลงทุน จ่ายผลตอบแทนในอัตราเท่าไหร่ มันเป็นเหมือนวินัยและความแข็งแกร่งขององค์กร ถ้าหากรักษางบดุลไว้ได้ก็ทำให้องค์กรสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
เขาอธิบายว่า การมีวินัยไม่ได้หมายความว่า ไม่สามารถทดลองลงทุนในโครงการต่างๆได้ง่ายๆ แต่สามารถทำได้ โดยมีข้อมูลบริหารจัดการทางการเงินรองรับ
“การเงินไม่สามารถทดลองได้บ่อยๆ เหมือนกันการตลาดที่สามารถทดลองโปรดักส์ เพื่อค้นหาความต้องการลูกค้าได้เสมอๆแต่การเงินเป็นเรื่องที่มีขอบเบตและความเสี่ยงของมันอยู่”
เขากล่าวอีกว่า ทิศทางในพิจารณาผู้บริหาร องค์กรในระยะหลัง เน้นผู้บริหารที่มีความรู้-ความสามารถในด้านการเงินได้ถูกให้ความสำคัญค่อนข้างมาก “สมัยเรียนจบใหม่ๆทำงานที่ปูนซีเมนต์อยู่ 2 ปี ทำให้แลกเปลี่ยน ยุคคุณพารณ เป็นผู้บริหารใหญ่ โดยมีมือรอง 3 ท่าน ได้แก่ คุณ จุมพล ณ ลำเลียงเป็นผู้บริหารดูแลการเงิน คุณทวี บุตรสุนทร ดูแลด้านโรงงานผลิต และคุณอมเรศ ศิลาอ่อน ดูแลการตลาดและปฎิบัติการ
ซึ่งแต่ละท่านมีความรู้และความสามารถมาก ตอนนิ้คิดว่าคุณทวีน่าจะมีโอกาสเป็นเบอร์หนึ่ง เพราะท่านดูแลด้านโรงงาน ขณะที่คุณอมเรศ ก็ประสบความสำเร็จมาก ในที่สุดผู้ที่ขึ้นตำแหน่งเบอร์หนึ่ง คือ คุณจุมพล ณ ลำเลียง และคนต่อมา คือ คุณกานต์ ตระกูลฮุน ผู้บริหารเบอร์หนึ่งในปัจจุบัน ซึ่งเรียนจบวิศวะและเคยทำงานเป็นซีเอฟโอ ดูแลด้านการเงินมาก่อน
“สิ่งที่เห็นชัดที่สุด ในองค์กร และเป็นตำแหน่งที่มีคุณค่าและสำคัญมาก คือ ด้านการเงิน และน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายคน” เขากล่าวและย้ำว่า “บทบาทซีเอฟโอ ยังเป็นคู่หูหรือพาร์ทเนอร์ของซีอีโอ”
ซีเอฟโอคู่หูซีอีโอ
บอสใหญ่ของกิมเอ็ง อธิบายว่า โดยธรรมชาติของคน มักมีความคิดสร้างสรรค์ทั้งแนวฝันและใหม่ๆในตัวเนื้อธุรกิจ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ คนที่เป็นคู่หู ซึ่งตรงนี้ในองค์กรที่ต้องการประสบความสำเร็จ จะต้องมี เพราะถ้าหากมีแต่คนช่างคิด ช่างผัน ไม่มีการทำงานหรือคนดูแลการเงินให้หมุนได้ดี ได้ผลตอบแทนจากโครงการหนึ่งไปต่ออีกโครงการสองก็จะทำได้ยาก
ไม่เพียงเท่านี้ ความละเอียดรอบคอบ ของซีเอฟโอ ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนดูแลด้านการเงิน เนื่องจาก องค์กรที่ดีจะต้องมีคู่หูบริหาร โดยมีซีอีโอเป็นหลัก และซีเอฟโอเป็นรอง หรือ เปรียบเสมือน “สามีและภรรยา ที่อีกคนมีหน้าที่หาเงิน ส่วนอีกคนดูแลจัดการเก็บเงิน”
ดังเห็นได้จาก “ หลายบริษัทมีผู้บริหารเป็นคู่ๆ อาทิ เซ็นทรัลพัฒนา มีคุณกอบชัย กับคุณนริศ ค่ายแลนด์ แอนด์เฮ้าส์ ก็มีคุณอนันต์และคุณอดิศร ฯ ส่วนปตท.ก็มีคุณประเสริฐกับคุณวิชัย ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบที่มีความสมบูรณ์ โดยมีอีกคนหนึ่งรุกไปข้างหน้า โดยซีอีโอที่ดี ถ้าหากโชคดีก็จะมีซีเอฟโอที่เข้มแข็งและทำให้ความคิดและความฝันของซีอีโอ อีกทั้งช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เป็นจริง และซีเอฟโอที่ดีก็ต้องสนุกกับหน้าที่ และสามารถเป็นคู่นำองค์กรให้ก้าวหน้าไปด้วยดี”
สาธิต เหมมณฑารพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปัญจวัฒนา พลาสติก จำกัด มองบทบาทของซีเอฟโอว่า “นอกจากซีเอฟโอ เป็นเสมือนคู่หูและคู่คิด ยังมีความสำคัญมากกว่านั้น“น่าจะเป็นบอดี้การ์ด เพราะเป็นคนเดินเคียงข้างและประคองไปด้วยกัน สามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น และคอยเตือนและบางครั้งคอยรับกระสุนแทน ส่วนตัวผมคิดว่า 10 ปีทีแล้ว ถ้าหากมีซีเอฟโอที่ดีก็อาจไม่ประสบปัญหาธุรกิจ เพราะเขาจะคอยเตือนเราเรื่องการใช้เงิน การลงทุน การจัดโครงสร้างทางการเงิน ดังนั้น Roleของซีเอฟโอ หรือซีเอฟโอ จึงสำคัญ”
ในฐานะซีอีโอ ยังได้ให้คำตอบการเลือกซีเอฟโอในปัจจุบันว่า “สำหรับคุณสมบัติหลัก ก่อนอื่นต้องข้ามเรื่องเดิมๆความเก่ง เพราะเป็นเรื่องพื้นฐาน และเดิมมอง 2มิติการเงินเป็นเรื่อง transaction ซึ่งเป็นเรื่องระบบบัญชี แต่มิติใหม่ คือ ซีเอฟโอ เป็นเสมือน change agent หรือเป็นผู้ช่วยซีอีโอ ที่คอยช่วยผลักดัน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กร
และประเด็นสำคัญ คือ ต้องคาดการณ์อนาคตได้ โดยพยายามมองว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต โดยเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ และ formulate กลยุทธ์ขึ้นมา อีกทั้งทำตัวเป็นเงื่อนไข ผู้ช่วยซีอีโอที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กร เพื่อรับกับอนาคตข้างหน้า“เมื่อเราคาดการณ์อนาคตได้เราจะรู้ว่า เงินที่มีอยู่ก็ควรจะไปไหนและหาอนาคตที่ดี”
สำหรับ คุณสมบัติพื้นฐานของซีเอฟโอ บรรดาผู้บริหารทั้ง ให้ข้อสรุปว่า ควรมี สำหรับวิชาการได้แก่ บัญชี แต่ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาทางด้านบัญชี แต่ควรมีมุมมองในการหาเงินทั้งในระยะสั้นและระยะยาวว่าเมื่อไหร่ ต้องหาเงินจากทีไหน รวมถึงต้องมีความเข้าใจในมูลค่าองค์กร
“ผมคิดว่าหลักการวิเคราะห์คุณค่าและทิศทางธุรกิจขององค์กรเป็นเรื่องสำคัญ โดยหลักที่วงการเงินนิยมใช้กันมาก คือ หลักของ Michael E. Porterที่พูดถึงการวิเคราะห์การแข่งขัน ซึ่งอุตสาหกรรมแข่งขันมาก มักไม่ค่อยดี แต่ต้องสามารถหาจุดแตกต่างให้ได้ สิ่งเหล่านี้จึงเนื้อหาที่สำคัญในการบริหารธุรกิจ ซึ่งมีผลต่อการประเมินเครดิตและมูลค่าธุรกิจและองค์กร เพราะถ้าหากเราซีเอฟโอไม่เข้าใจก็จะทำให้ไม่สามารถเสนอมุมมองที่ตรงกับความต้องการที่บรรดาบุคคลในแวดวงการเงินและธนาคารอยากจะได้”
เขาอธิบายว่า “ดังนั้น การวิเคราะห์ธุรกิจในด้านความสามารถแข่งขัน คู่แข่งใหม่ที่จะเข้ามา รวมถึงเรื่องแวลูเชน ซึ่งมันเชื่อมโยงกันเป็นเสมือนอวัยวะ สิ่งเหล่านี้ถ้าหากซีเอฟโอสามารถมองเห็นได้ทะลุก็จะทำให้องค์กรสามารถอยู่ในตำแหน่าทางธุรกิจได้ดีหรือ positioning สำหรับความรู้เชิงการตลาด สำหรับซีเอฟโอความรู้ด้านนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นนักคิด นักสู้ แต่ควรเข้าใจระดับความสามารถในการแข่งขัน โอกาสแข่งขัน”
คุณสมบัติซีเอฟโอทีจะทำงาน แล้วให้ผู้ถือหุ้นไว้วางใจ “อยากเห็นซีเอฟโอที่เห็นทรัพย์สินบริษัทสำคัญและปกป้องดูแลมากกว่าทรัพย์สินตัวเอง โดยมันต้องอินน์เข้าไปในว่า เพราะอย่าลืมว่าเรากำลังบริหารเงินของผู้ถือหุ้น ซัพพลายเออร์และธนาคาร แต่ถ้าเขามีความรู้สึกว่าไม่เป็นไร ถ้าหากการลงทุนนั้นจะเป็นอย่างไร ดังนั้นซีเอฟโอ จึงควรทุ่มเทและคำนึงผลประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก ”
สำหรับคุณสมบัติ อื่นๆนั้น ปฎิภาณ บอกว่า ที่สำคัญคือ ต้องเอาใจใส่ในสิ่งตัวเองทำ โดยต้องรู้ในรายละเอียด ไม่ใช่ต้องลงในรายละเอียด เพราะธุรกิจขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่สามารถลงลึกรายละเอียด แต่ให้รู้เพียงว่า ที่มาที่ไปแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร อาทิ หลักเกณฑ์ของบริษัทต่างๆ รวมถึง กฎระเบียบต่างๆ
“เวลาซีเอฟโอคุยกับแบงก์ก็ต้องรู้ว่าแบงก์นั้นมีข้อจำกัด ปัญหาอย่างไร สุดท้ายมีเจอกันที่ข้อตกลงอะไรบ้าง ดังนั้นหลักเกณฑ์ทั่วไปของซีเอฟโอ จึงได้แก่ 1.รับผิดชอบ 2.ใฝ่รู้ 3.ประยุกต์ความรู้ต่างๆในรอบตัวในหลักแนวคิดนั้นๆ “ใครๆก็เป็นได้สำหรับซีเอฟโอ”เขาย้ำ
ขณะที่ บอสใหญ่ค่ายเซ็นทรัลพัฒนา กล่าวเสริมว่า “ควรต้องมีวินัย (หมายถึง การมีกฎเกณฑ์และต้องรักษาไว้) โดยทั่วไปซีอีโอพยายามสร้างผลงานขยายธุรกิจ ทำโปรดักส์ใหม่ แต่ซีเอฟโอควรมีคุณสมบัติที่จะบอกซีอีโอว่า ในเรื่องควรหรือไม่ควร และเตือนชี้แนะแนวทางความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็จะต้องยืนยันในจุดยืนทางการด้านการเงินให้ได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม เพราะถ้าขยายธุรกิจ มันหมายถึง การต้องไปหาเงินกู้และเพิ่มความเสี่ยง ดังนั้นการรักษาวินัยทางการเงินบริษัทไว้ได้ และรักษางบดุลทางการเงินไว้ได้ มันจะทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม มันก็ระดับที่สามารถเปิดให้ทดลองทางธุรกิจได้ เพราะถ้าหากไม่มีความเสี่ยงเลยก็จะไม่ทำให้คุณค่าองค์กรเกิดขึ้นเลย “ถ้าหากเปรียบเทียบกับส่วนการตลาด ซึ่งก็จะทดลองเสี่ยงได้มากกว่า”
สำหรับ บทบาทการรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป บอสใหญ่จากค่ายบางจากปิโตรเลียมฯ บอกว่า มันขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมที่รับมือตลอดเวลาหรือไม่ โครงสร้างทางการเงินได้ออกแบบรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม ซึ่งการเตรียมทั่วไปจำเป็นต้องการทำ scenario analysis คือ การวิเคราะห์คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้น โดยสมมติสถานการณ์เกิดขึ้นกับ มีแผนรับมือที่1 2 และ 3 อย่างไร “ผมเชื่อว่า ถ้าหากเราบริหารจัดการให้มีโครงสร้างที่เหมาะสมตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ว่าสถานการณ์จะผันผวนอย่างไรจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ระดับหนึ่งและยังทำให้มีเวลาที่จะเข้าไปปรับปรุงให้เข้ารูป”
นอกจากนี้ เครื่องมือต่างๆก็สามารถนำมาใช้ได้ โดยเฉพาะเครื่องมือด้านการเงิน
“เครื่องมือต่างๆในการบริหารจัดการก็สามารถนำมาใช้ได้ โดยเฉพาะเครื่องมือทางการเงิน ในส่วนที่เป็น ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งเราได้มองความเสี่ยงไว้ 2 กรณี ประการแรก ความเสี่ยงทีเกิดจากราคาน้ำมัน ซึ่งจริงๆแล้วมันมีตลาดซื้อขายล่วงหน้า(future market)เพื่อทำเฮดจิ้ง ที่จะซื้อขายล่วงหน้าขึ้นอยู่กับระดับราคาที่เหมาะสม
ประการต่อมา ได้แก่ ด้านตลาดการเงิน มีเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ไม่ว่าเป็นความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตามธุรกิจโรงกลั่นก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน หลายระดับ ดังนั้นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจึงสำคัญมาก สำหรับธุรกิจที่มีการเคลื่อนไหวรุนแรง”
ดังนั้นหน้าที่ของซีเอฟโอ คือ การทำอย่างไรก็ได้ที่ทำให้โครงสร้างทางการเงินอยู่ในจุดสมดุล หรือโครงสร้างที่สามารถรองรับสถานการณ์ต่างๆที่ผันผวนเปลี่ยนแปลงไปได้
นริศ กล่าวเสริมว่า ภารกิจหน้าที่ในฐานะซีเอฟโอของกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาปัจจุบันนี้หลายด้าน เพราะปัจจัยต่างๆมาจากภายนอกและภายใน โดยปัจจัยภายนอกมาจากต่างประเทศ โดยสิ่งที่ซีเอฟโอจะต้องทำ คือ การมีเน็ตเวิร์คกิ้งพอสมควร คือ การเข้าไปอยู่ในแวดวงนักวิเคราะห์ โปรกเกอร์ บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลความเคลื่อนไหวตลาดต่างประเทศ
“อย่างน้อยที่ให้ได้ข้อมูลแวดวงภายนอกในต่างประเทศเป็นอย่างไร ตลาดเป็นอย่างไร และต่างชาติมองไทยอย่างไร สำหรับข้อมูลภายในประเทศ อย่างที่สุดก็ต้องรู้ว่า ตลาดในประเทศเป็นอย่างไร เศรษฐกิจในประเทศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร ทำให้อย่างน้อยมีข้อมูลไปคุยกับผู้บริหารว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี ซึ่งสำคัญมาก เพื่อการบริหารจัดการลงทุน ทั้งออกหุ้น ก็จะได้ประเมินว่า ควรเลือกแบบใดและบริหารการงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด”
อีกทั้ง จะต้องมั่นใจว่า “นโยบาย กลยุทธ์ที่บริษัทได้กำหนดถูกนำไปใช้ หรือถูกนำไปดำเนินการให้เป็นไปตามจริงขนาดไหน ตามระยะเวลาได้อย่างไร ดังนั้น ข้อมูลต่างๆจึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม เพราะ หน้าที่ของซีเอฟโอ ไม่ใช่แค่ดูแลบัญชี แต่มีหน้าที่เก็บข้อมูลและนำข้อมูลออกมาสร้างให้เป็น scenario เพื่อเลือก scenarioให้ถูกกับสถานการณ์ มันเป็น worth case,west case and base case”
สำหรับบุคคลที่อยากเป็นซีเอฟโอ มนตรีแนะนำว่า ควรมีคุณสมบัติพื้นฐาน นอกเหนือจากคณิตศาสตร์แล้วจะต้องมีความรู้ด้านบัญชี ซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียนจบทางด้านนี้ รวมทั้งเรื่องการบริหารเงินว่าต้องการเงินเมื่อไหร่ ต้องหาเงินจากแหล่งเงิน และหากมีเงินจะนำไปทำอะไรดี รวมถึงการประเมินค่าองค์กร และความเข้าใจมูลค่าองค์กร
“ผมคิดว่า หลักการวิเคราะห์มูลค่าองค์กรหรือทิศทางธุรกิจองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหลักการที่วงการเงินใช้กันมาก คือ หลักการของไมเคิล อี. พอตเตอร์ (เจ้าของผลงาน 3 เล่ม เล่ม 1 competitive analysis เล่ม 2 competitive advantage 3. competitive advantage of the Nation) โดยเนื้อหาเล่มแรก พูดถึงการวิเคราะห์การแข่งขัน ซึ่งบอกว่า อุตสาหกรรมที่แข่งขันมาก มักไม่ค่อยดี และถ้าหากสามารถหาจุดแตกต่างได้ก็จะดี”
รวมถึงอำนาจต่อรองผู้ซื้อผู้ขาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นเนื้อหาสำคัญในการบริหารธุรกิจ โดยมันมีผลต่อการประเมินเครดิต ประเมินมูลค่า ดังนั้นถ้าหากซีเอฟโอไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ เวลาที่จะไปคุยกับนายธนาคาร หรือนักลงทุน ก็อาจไม่สามารถเสนอมุมมองตรงกับสิ่งที่พวกเขาต้องการจะรู้ เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขัน สภาพขององค์กร อำนาจต่อรองเป็นอย่างไร สินค้าทดลองเป็นอย่างไร อีกทั้งต่อเนื่องไปถึงเรื่อง Value Chain คือ ความเข้าใจว่าอุตสาหกรรมต่างๆมันเชื่อมโยงกัน ซึ่งหากซีเอฟโอสามารถมองได้ด้วย มันจะทำให้ตัวองค์กรอยู่ในpositionที่ดีและยังสามารถทำกำไรได้มากที่สุดอีกด้วย ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงถือเป็นองค์ประกอบความรู้ของซีเอฟโอ
สำหรับความรู้ในเชิงการตลาด ไม่จำเป็นต้องเป็นนักฝัน นักสู้ของการตลาด แต่ให้เข้าใจถึงระดับความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดและโอกาสทางการตลาด ”
สำหรับคุณลักษณะสำคัญที่ขาดไม่ได้ เขาย้ำว่า จะต้องแสดงออกถึงความสัตย์ซื่อ ตรงไปตรงมา รับผิดชอบและมีวินัย ซึ่งมันจะออกมาเอง “ นอกจาก พูดในแง่มุมบวกแล้ว แต่ก็จริงใจที่จะพูดถึงปัจจัยเสี่ยงด้วยว่ามีประเด็นอยู่ตรงไหน แลกเปลี่ยนความเห็นว่า มีความเสี่ยงในมุมนี้ แต่ก็ได้แก้ไขอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อให้ผู้บริหารรับทราบด้วยความสบายใจ เพราะไม่ได้ปกปิดเรื่องสำคัญไว้”
ไม่เพียงเท่านี้ ซีเอฟโอ ควรจะได้รู้จัก “การเรียนรู้”สิ่งต่างๆรอบตัวอย่างไม่หยุดนิ่ง “ เพราะเวลาทำงานต้องติดตามปัจจัยทุกด้าน เพราะสิ่งหนึ่งที่เป็นสัจธรรม คือ ธุรกิจมีวงจรของมันที่จะต้องหาเงิน ใช้เงิน ขณะที่ตลาดทางการเงินมันก็ไม่นิ่ง เปลี่ยนแปลงตลอดวเลา ดังนั้นซีเอฟโอมีใจรักและความสามารถที่จะเรียนรู้ สถานการณ์ใหม่ๆตลอดเวลา”
ปฎิภาณ กล่าวในตอนท้ายว่า ซีเอฟโอควรมีคุณสมบัติ “นักวิเคราะห์”หรือ Analysis sense ช่วยทำให้เรามองตัวเลขเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วว่า จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น และที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ “ช่างสงสัย” “อย่าไปอาย ถ้าหากมีใครมาเสนอโปรดักส์ที่เราไม่รู้จัก ก็ควรสงสัย สอบถาม เพราะไม่มีใครที่รู้ทุกเรื่อง”
เรียบเรียงจากงานเสวนา เรื่อง CFOมืออาชีพเส้นทางความอยู่รอดหรือรุ่งโรจน์ขององค์กร จัดโดย Nida Business School , สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และตลาดMAI เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2551 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|