|

หยุดบินวันทูโก-วิบากกรรมนกแอร์ไทยแอร์เอเชียลูกค้าแห่ชม
ผู้จัดการรายสัปดาห์(18 สิงหาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้ช่วงเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมาการเปิดให้บริการของสายการบินต้นทุนต่ำจะมีการชิงไหวชิงพริบเพื่อเป็นผู้นำการตลาดมาโดยตลอด หลังจาก 2 ค่ายคู่แข่งอย่าง วันทูโกและนกแอร์เจอพิษราคาน้ำมันและเศรษฐกิจตกต่ำเล่นงานจนต้องปรับตัวหนีตาย ทว่าผลประกอบการของไทยแอร์เอเชียเจ้าของวลีติดหู “ใครๆก็บินได้” กลับมียอดรายได้เติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 25 อาณิสงส์ครั้งนี้ส่งผลให้ไทยแอร์เอเชียกำลังจะก้าวขึ้นแท่นเป็นจ้าวตลาดโลว์คอสแอร์ไลน์ในเมืองไทยอย่างชนิดที่คาดไม่ถึง
ปัจจุบันไทยแอร์เอเชียภายใต้การบริหารจัดการของซีอีโออย่าง ทัศพล แบเลเว็ลด์ มองว่า การที่เศรษฐกิจซบเซาน่าจะเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้คนประหยัดขึ้น ดังนั้นเมื่อมีตัวเลือกที่น้อยลงขณะเดียวกันการสร้างความมั่นใจด้านปลอดภัยด้วยเครื่องบินลำใหม่กลายเป็นกลยุทธ์ที่โดนใจส่งผลให้ลูกค้าจึงหันไปใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำอย่างไทยแอร์เอเชีย
“แม้ราคาน้ำมันจะสูงขึ้น แต่การเดินทางกับสายการบินโลว์คอสต์ก็ยังถูกอยู่ ทำให้ทุกๆบริษัททั้งภาคเอกชนและราชการเมื่อต้องเดินทางจึงหันมาเลือกสายการบินโลว์คอสต์มากขึ้น เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย”ทัศพลกล่าว
ขณะเดียวกันต้นแบบโลว์คอสต์แอร์ไลน์ที่ใช้กลยุทธ์ด้านราคาเป็นเครื่องมือการตลาดมาตลอดนั้น เมื่อต้องปรับตัวในยุคต้นทุนสูงก็ยังคงกลยุทธ์ด้านราคาเอาไว้ โดยดำเนินการแก้ปัญหาต้นทุนน้ำมันต่างจากคู่แข่งรายอื่นด้วยการไม่บวกค่าธรรมเนียมน้ำมันที่เพิ่มขึ้นลงในค่าตั๋ว แต่ใช้วิธีจัดเก็บผ่านค่าธรรมเนียมการฝากสัมภาระใต้ท้องเครื่อง (โหลด) ภายใต้แนวคิด “กระเป๋า ยิ่งน้อย ยิ่งประหยัด” ซึ่งคิดค่าบริการการโหลดกระเป๋าด้วยการจองทางอินเทอร์เน็ตในราคา 30 บาท และในราคา 50 บาท สำหรับการจองที่เคาน์เตอร์สนามบิน
กลยุทธ์ดังกล่าวไทยแอร์เอเชียเชื่อว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้คนไทยส่วนหนึ่งเดินทางด้วยการขนสัมภาระน้อยชิ้นแถมยังช่วยในการประหยัดพลังงาน ขณะที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมดูเหมือนจะสร้างความเป็นธรรมต่อผู้โดยสาร เพราะหากใครใช้บริการมากก็จ่ายมาก คนใช้บริการน้อยก็ไม่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเหมือนที่ผ่านมานั่นเอง
การปรับลดเส้นทางและลดเที่ยวบินเป็นมาตรการที่สายการบินนำมาใช้ในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ดเช่นนี้ และสายการบินลูกครึ่งอย่างไทยแอร์เอเชียก็เช่นเดียวกัน สอดคล้องกับที่ ทัศพล บอกว่า นอกจากเรื่องต้นทุนแล้ว ยังเป็นการปรับตามฤดูกาลและการดำเนินการตามปรกติของธุรกิจ ที่คำนึงถึงผลกำไรเป็นหลัก
แม้แต่นกแอร์สายการบินที่ถูกจับตามองว่าจะปิดฉากตามไปด้วยหรือเปล่านั้น กำลังประสบปัญหาไม่ต่างจากวันทูโกเท่าไรนัก จนต้องปรับลดฝูงบินลงจาก 9 ลำ เหลือเพียง 3 ลำ พร้อมออกมาตรการลดเส้นทางการบิน ปรับราคาค่าโดยสารเพิ่ม และหลีกเลี่ยงเส้นทางทับซ้อน หรือแข่งขันกับการบินไทย
เรื่องนี้ พาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ กล่าวว่า ต้นทุนน้ำมันเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด เพิ่มขึ้นจากต้นทุนทั้งหมด 40% เป็น 54% ประกอบกับหลายเที่ยวบินมีผู้โดยสารน้อย ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 ถึง 114 ล้านบาท
“เรื่องเส้นทางและเที่ยวบินเป็นปัญหาของนกแอร์มานาน หลายเส้นทางบินทับเส้นทางสายการบินไทย ทั้ง 2 บริษัทจึงดูเหมือนแข่งกันเอง ในเบื้องต้นต้องยุบเลิกหลายเส้นทางที่ทับซ้อนและเที่ยวบินที่มากเกินไป”พาที กล่าว
นอกจากการรัดเข็มขัดแล้ว กลยุทธ์เพิ่มรายได้ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนกแอร์ และนั่นหมายถึงการปรับราคาค่าโดยสารเพิ่ม 15% อันเป็นผลมาจากค่าธรรมเนียมภาษีน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามการขยับหาเส้นทางใหม่เพื่อสร้างรายได้ในแต่ละซีซั่น ของไทยแอร์เอเชียค่อนข้างจะได้เปรียบสายการบินอื่น เพราะด้วยเครือข่ายที่มีมากกว่า 10 เส้นทางบินในประเทศ และในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เตรียมเปิดเส้นทางกรุงเทพฯ-ฮ่องกง และกรุงเทพฯ-กว่างโจว ทำให้เส้นทางการบินระหว่างประเทศเพิ่มเป็น 12 เส้นทาง ไทยแอร์เอเชียจึงสามารถขยับตารางบินได้โดยไม่ยากเย็นนัก ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเช่นเดียวกับรายอื่นๆก็ตาม
ไม่เพียงแค่นั้น ในสถานการณ์ที่แทบไร้คู่แข่งหลังการยุติบทบาทการเป็นสายการบินต้นทุนต่ำของวันทูโก และการลดขนาดฝูงบิน-เที่ยวบินของนกแอร์ ทำให้ไทยแอร์เอเชียสามารถขยับราคาตั๋วโดยสารให้สูงขึ้นได้อีก 3-5% ดังจะเห็นได้จากปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เริ่มปรับราคาตั๋วไต่ระดับเพิ่ม 1,000 บาท จัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้โดยสารใหม่ ทั้งน้ำมัน ประกันการเดินทาง ภาษีอื่นๆ และเพิ่มความถี่เที่ยวบินในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก เช่น เชียงใหม่และภูเก็ตทันที เพื่อบริการผู้โดยสารมากกว่าเดิมจาก 5,000-6,000 คน/วัน เพิ่มเป็น 7,000-8,000 คน/วัน ในปัจจุบัน
การอ่อนแรงของคู่แข่งในประเทศ เชื่อได้ว่าตัวเลขผู้โดยสารกว่า 4.7 ล้านคนต่อปีที่ตั้งไว้ของไทยแอร์เอเชียจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยากเย็นนัก หลังจากครึ่งปีแรกมีผู้โดยสารเข้าไปใช้บริการแล้วกว่า 2.1 ล้านคน และอาจจะกวาดผู้โดยสารส่วนใหญ่ของสายการบินต้นทุนต่ำที่แต่ละปีมีถึง 12 ล้านคนเข้าไปด้วย ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมแล้วกว่า 6,000 ล้านบาททีเดียว และว่ากันว่าไทยแอร์เอเชียกำลังจะกลายเป็นสายการบินโลว์คอสต์เพียงแห่งเดียวที่เหลือรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจน้ำมันที่กำลังรุมเร้าอยู่ในขณะนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก สายการบินต้นทุนต่ำก็เช่นกันที่ต่างก็ต้องดิ้นรนปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ทั้งการขึ้นค่าตั๋ว การยุบเลิกเส้นทางและเที่ยวบินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้นเป็นเพียงการแก้ไขเฉพาะหน้า ซึ่งในอนาคตการพลิกกลยุทธ์ของสายการบินต้นทุนต่ำในประเทศไทยจะเปลี่ยนไปในทางรุนแรงหรือไม่...ต้องจับตา!
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|