|

ตลาดหุ้น 5 เดือนหลัง ยังมีให้ลุ้นต่อ 2 ดาวหาง การเมือง-ศก.มะกัน ทำเสียว ไม่รู้แค่เฉี่ยวหรือพุ่งชน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(18 สิงหาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
อาการหุ้นไทยถึงสิ้นปีอาจดีกว่านี้ได้ไม่มาก มองผ่าน 3 ซีอีโอโบรกเกอร์เตือน การเมืองในประเทศ-เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว 2 ปัจจัยกดดันตลาด แม้ปัจจัยลบด้านราคาน้ำมัน-เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย ผ่านจุดตึงเครียดไปแล้ว สมาคมนักวิเคราะห์ชี้เป้าสิ้นปีที่ 828 จุด ชี้เหตุหลักนักลงทุนหวั่นไหวปัญหาการเมือง เชื่อ"ยุบสภา"เป็นผลบวกต่อหุ้น เพราะการเมืองชัดขึ้น ลดความขัดแย้ง แต่"ยุบพรรค"ไร้ผล เพราะนักการเมืองหนีเข้าพรรคใหม่ได้
ศิริพงษ์ สุทธาโรจน์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ซิกโก้ กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงสอดคล้องกับตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งเกิดจากการขายของนักลงทุนต่างชาติ โดยในช่วงครึ่งปีแรกนักลงทุนส่วนใหญ่ของโลกให้ความสนใจในการลงทุนทางเลือก (Alternative Investment) เช่น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ชนิดต่างๆ แต่ในช่วงครึ่งปีหลังเชื่อว่าตลาดดังกล่าวอาจไม่น่าดึงดูดใจเท่ากับช่วงแรก ซึ่งสังเกตง่ายๆจากการที่ราคาน้ำมันปรับลดลงต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ว่านักลงทุนอาจย้ายกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นและพันธบัตรอีกหน
"ที่ผ่านมาต้นทุนเงินทุนของกองทุนบริหารความเสี่ยง(Hedge Fund)ถูกมาก จากการลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) แต่ปัจจุบัน FED เริ่มเข้ามาดูแลธนาคารเพื่อการลงทุน(Investment Banker)อย่างเข้มงวด ทำให้สภาพคล่องHedge Fund ลดลง และช่องทางการลงทุนใหม่ๆที่ให้ผลตอบแทนสูงก็หายากขึ้นเช่นเดียวกัน"
ด้าน สุชีล นารูลา กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย มองว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปฟื้นตัวในช่วง 4-5 เดือนนับจากนี้ หากไม่มีปัจจัยลบเข้ามากระทบและการที่ปัญหาในสหรัฐฯยังไม่มีข่าวร้ายออกมา อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลง และอัตราดอกเบี้ยไม่เร่งปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติเริ่มชะลอตัวจากที่มีการขายออกไปประมาณ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐแล้ว
"ในตลาดหุ้นไทย นักลงทุนต่างชาติสามารถยืมหุ้นมาขายล่วงหน้า(Short) ได้ง่ายมาก ดังนั้นเวลาหุ้นขึ้นจะมีบางส่วนจะรีบซื้อหุ้นไปคืนที่ยืมมา(Cover Short)ทำให้ตลาดจะตีกลับแรงซักระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดดัชนีคงจะไปไหนไม่ได้ไกลมาก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวเป็นความเสี่ยงที่จะกดดันถึงครึ่งปีหน้า"
สำหรับปัจจัยในประเทศ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศในช่วงดังกล่าว ยังไม่มีความขัดแย้งและความรุนแรง และคาดว่าเงินเฟ้อได้รับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดไปแล้ว และจะเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ขณะที่อัตราดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว รวมทั้งนักลงทุนยังคาดหวังรัฐบาลจะใช้มาตรการลดภาษีนิติบุคคลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย
ดังนั้นนักลงทุนจึงควรเลือกหุ้นที่มีความสามารถในการขึ้นราคาสินค้าได้มากที่สุดแต่ต้นทุนได้รับผลกระทบน้อย และสามารถถือยาวเพื่อรับเงินผันผลได้ ซึ่งจะมีทั้งกลุ่มธนาคาร, สื่อสาร, บันเทิง, โรงแรม และ โรงพยาบาล
ขณะที่ สาธิต วรรณาศิลปิน กรรมการผู้จัดการ บล. นครหลวงไทย ประเมินว่า ในช่วงนี้ภาวะตลาดอยู่ในช่วงหุ้นขาลงหรือภาวะหมี การที่เห็นหุ้นขึ้นวันสองวันก็ไม่ได้หมายความว่าความเชื่อมั่นกลับมาแล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยที่จะมีแรงซื้อเข้ามามากว่านักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนต่างชาติ แต่ในช่วงไตรมาส 4 นี้ ตลาดหุ้นไทยอาจฟื้นตัวได้จากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลายและมีความชัดเจน รวมถึงเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น สำหรับผู้ต้องการความปลอดภัยในการลงทุนควรลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นแต่ถ้าเป็นระยะยาวอาจมีความผันผวนได้
สำหรับ สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เปิดเผยผลการสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นช่วง 5 เดือนสุดท้ายปี 2551 (สิงหาคม-ธันวาคม) ที่ได้จากการสำรวจความเห็นของบริษัทหลักทรัพย์ทั้งในไทยและต่างประเทศรวม 22 แห่ง ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปลายปี 2551 จะอยู่ที่ระดับ 828 จุด ลดลง 99 จุด จากเป้าเดิม 927 จุด โดยจุดต่ำสุดอยู่ที่ 628 จุด สำหรับแนวโน้มดัชนีในปี 2552 ก็ปรับลดลงเช่นเดียวกัน โดยประเมินว่าดัชนีจะอยู่ที่ระดับ 896 จุด จากการสำรวจครั้งก่อนที่อยู่ระดับ 1,081 จุด ส่วนจุดต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 689 จุด
สาเหตุที่ทำให้ดัชนี 5 เดือนสุดท้ายปรับลดลง เนื่องจากความมั่นใจของนักลงทุนลดลงมาก ส่วนใหญ่มองว่าเป็นผลมาจากปัจจัยทางการเมือง ที่มีความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงสูงถึง 91% โดยได้ตั้งสมมติฐานทางการเมืองไว้ 3 เหตุการณ์คือ
กรณีที่ 1.คือมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่หรือ 55% เห็นว่าเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้น เนื่องจากทำให้การเมืองมีความชัดเจนขึ้น น่าจะช่วยลดความขัดแย้งและความรุนแรงได้ 4% เห็นว่าจะส่งผลบวกระยะสั้น เพราะลดความรุนแรง แต่ระยะยาวส่งผลลบทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจ อีก 27% เห็นว่าเป็นผลลบ เกิดความไม่ต่อเนื่องของนโยบายรัฐ สิ้นเปลืองงบฯการเลือกตั้ง และอาจทำให้เกิดการชะลอลงทุน อีก 14% เห็นว่าไม่มีผลกระทบ
กรณีที่ 2 คือ การยุบพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำรัฐบาล ส่วนใหญ่ 37% เห็นว่าไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้น นักการเมืองที่เหลือสามารถย้ายพรรคหรือตั้งพรรคใหม่ได้ 32% เห็นว่าจะส่งผลบวก เพราะเชื่อว่าจะยับยั้งความรุนแรงและขัดแย้งในระยะสั้นได้ 27% เห็นว่าส่งผลลบเพราะจะเกิดความไม่ชัดเจน และอาจะส่งผลต่อการบริหารงานภาครัฐได้ อีก 4% เห็นว่าไม่มีผล
และกรณีที่ 3 คือ เกิดรัฐประหาร นักวิเคราะห์ทั้งหมดที่ตอบแบบสอบถามมาเห็นตรงกันว่า จะส่งผลลบต่อตลาดหุ้น เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และต่างชาติจะไม่ให้การยอมรับและเกรงว่าสถานการณ์จะไม่ราบรื่นเหมือนครั้งที่ผ่านมา
"คิดว่าคงจะไม่เกิดรัฐประหารอีกแล้ว หากมีอีกหุ้นคงจะลงถล่มทลาย รัฐบาลควรเร่งสร้างความเชื่อมั่น เน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากกว่ามุ่งแต่เรื่องการเมือง เพราะถ้าทำให้เศรษฐกิจดีได้การเมืองก็จะดีตามไปเอง"
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|