เลิกอีโคคาร์ สังเวยนโยบายอี 85 !?


ผู้จัดการรายสัปดาห์(18 สิงหาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

โฆษณาของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ชุดใหม่ที่มีเนื้อหาว่า “29 ส.ค.นี้ เตรียมพบกับ พีทีที อี 85 พลัส พลังแห่งอนาคต...ที่คุณมั่นใจ” ได้ส่งแรงสะเทือนไปยังค่ายรถยนต์ในไทยไม่น้อยทีเดียว

แม้จะไม่ใช่เรื่องประหลาดใจนัก เพราะจริงแล้วทั้ง ปตท. และบางจาก ต่างเป็นแนวร่วมสำคัญของภาครัฐในการที่จะผลักดันแก๊สโซฮอล์ อี 85 ให้เกิด เนื่องจาก พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พยายามอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้อี 85 ให้เป็นวาระแห่งชาติ แถมเคยกล่าวไว้เมื่อหลายเดือนมาแล้วว่าจะรีบเปิดตู้จ่ายน้ำมันให้ได้เร็วๆนี้ เพื่อให้สาธารณชนเห็นว่าโครงการอี 85 เกิดแน่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ค่ายรถยนต์ผลิตรถออกมารองรับให้ขับเคลื่อนตลาด และพลังงานทางเลือกใหม่นี้ไปพร้อมๆกัน

เวลาผ่านไปไม่ทันไร ปตท.ก็กระเด้งสนองนโยบายได้อย่างทันใจ พร้อมกับมีแผนว่าภายใน 3 เดือนข้างหน้า ปตท. จะสามารถขยายสถานีบริการน้ำมันที่มีหัวจ่าย อี 85 ได้จำนวน 15 แห่งทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีแผนจะเปิดสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่ายแก๊สโซฮอล์ อี 85 ประมาณ 2-3 แห่งในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นการเกิดของโครงการอี 85 เร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ทั้งที่ ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท. และกลุ่มผู้บริหารจากบริษัทในเครือ ร่วมเดินทางไปดูงานการใช้เอธานอล 100% ในรถยนต์ ณ ประเทศบราซิล พร้อมกับคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ทว่า ทางฟากผู้ผลิตรถยนต์กลับไม่ได้มั่นใจในทิศทางการขับเคลื่อนครั้งนี้ ในทางตรงกันข้ามมีคำถามตามมาว่า เหตุใดปตท.จึงเร่งร้อนเปิดตัวอี 85 อย่างรวดเร็ว ทั้งที่ค่ายรถยนต์บ้านเรายังไม่พร้อม จะมีเพียงวอลโว่เท่านั้นที่สามารถใช้น้ำมันประเภทนี้ได้ ที่สำคัญอย่างว่าแต่น้ำมันอี 85 เลย เอาแค่อี 20 ก็ยังมีรถยนต์ใช้น้ำมันประเภทนี้ได้ไม่ครบทุกยี่ห้อ อีกทั้งรัฐยังตระหนักดีว่ากว่าผู้ประกอบการรถยนต์ส่วนใหญ่จะมีความพร้อมผลิตรถยนต์รองรับอี 85 ก็อีก 2 ปีข้างหน้า

ที่สำคัญก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนโครงการอีโคคาร์ ถึงขนาดวางแผนให้เป็นโปรดักส์ แชมเปี้ยนตัวที่สองรองจากรถปิกอัพ ด้วยการให้แรงจูงใจลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งทั่วไปที่กำหนดไว้ 25% เหลือเพียง 17% สำหรับอีโคคาร์ ซึ่งผู้ประกอบการรถยนต์หลายค่ายได้เดินหน้าโครงการนี้กันไปบ้างแล้ว และหากรัฐจะผลักดันรถยนต์ที่ใช้ อี 85 จริงๆก็คงจะต้องปรับแผนการลงทุนใหม่หมด เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการให้การส่งเสริมการใช้ อี 85 โดยกระทรวงการคลัง ออกมาตรการด้านภาษีดังนี้

1.ยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ อี 85 ที่มีลักษณะเฉพาะและเป็นอุปกรณ์หลักเพื่อปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำมัน อี 85 และไม่มีการผลิตในประเทศเป็นการชั่วคราว 3 ปี 2.ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ อี 85 ลงเหลือร้อยละ 25,30, และ 35 ตามขนาดเครื่องยนต์คือไม่เกิน 2000 ซีซี มากกว่า 2000-25000 ซีซี และมากกว่า 25000-3000 ซีซี ตามลำดับ ซึ่งเท่ากับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ อี 20 และ 3.ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน อี 85 เหลือ 2.5795 บาทต่อลิตร จาก 3.6820บาทต่อลิตรในปัจจุบัน

หากพิจาณาจากอัตราภาษีของรถยนต์ทั้ง 2 ประเภทแม้จะต่างกันพอสมควร แต่อย่าลืมว่าการลงทุนในโครงการอีโคคาร์นั้น ผู้ประกอบการต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด เนื่องจากภาครัฐได้กำหนดสเป็กของรถไว้ค่อนข้างละเอียด ไม่ว่าจะเป็น ต้องผลิตรถยนต์ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันไม่ต่ำกว่า 5 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร หรืออัตราสิ้นเปลืองต้องสูงกว่า 20 กิโลเมตรต่อลิตร, เครื่องยนต์ที่กำหนดไว้มี 2 ประเภทคือ เครื่องยนต์เบนซินไม่เกิน 1300 ซีซี และเครื่องยนต์ดีเซล ไม่เกินกว่า 1400 ซีซี. และต้องเป็นเครื่องยนต์ที่ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับยูโร 4 ขึ้นไป นอกจากนี้ผู้ผลิตจะต้องมีกำลังการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ภายใน 5 ปีหลังเริ่มผลิตรถยนต์ออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 100,000 คัน เป็นต้น

เรื่องนี้ทำให้บรรดาผู้ประกอบการรถยนต์ร้อนใจเป็นยิ่งนัก ถึงกับบอกว่าการออกนโยบายเช่นนี้อาจส่งผลต่อโครงการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ที่รัฐบาลได้ประกาศส่งเสริมไปก่อนหน้านี้

“ไม่ใช่ว่าเราจะไม่สนับสนุนนโยบายเรื่อง อี 85 แต่เราอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนว่า จะเอาแบบใด เพราะถ้ายังเดินหน้ากับ อี 85 ต่อไป เราก็สามารถผลิตรถออกมาป้อนตลาดได้ ซึ่งทำได้ง่ายกว่าอีโคคาร์เสียอีก เพราะแค่ปรับปรุงชิ้นส่วนบางอย่างเท่านั้น ขณะที่อีโคคาร์ต้องลงทุนทั้งโปรเจ็กต์ และเป็นการทำรถยนต์รุ่นใหม่ในเมืองไทย ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องนี้” เทียรี่ เวียดิว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด ให้สัมภาษณ์ไว้กับ ประชาชาติธุรกิจ ฉบับจันทร์ที่ 11 – พุธที่ 13 สิงหาคม 2551

อย่างไรก็ตาม หากติดตามนโยบายเรื่องพลังงานของปตท. ในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าเพียงแค่เวลาปีกว่า ปตท.ได้ประชาสัมพันธ์เปิดตัวพลังงานใหม่ๆ ของตนออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น แก๊สโซฮอล์ 91 , อี 10, บี 5, NGV แต่ทั้งหลายทั้งปวงปรากฏว่าเป็นการใช้เงินที่ค่อนข้างสูญเปล่า และเหมือนกับไม่มีเป้าหมาย เพราะขณะที่ ปตท. ทุ่มเงินจำนวนมากในการโฆษณาผ่านสื่อชักชวนให้คนมาใช้พลังงานใหม่ๆ แต่กลับไม่มีการขยายช่องทางให้บริการพลังงานเหล่านั้นเพิ่มขึ้นเลย ขณะที่คนในปตท. ยังออกอาการ “งง” ด้วยเช่นกัน ถึงกับบอกว่า “ตอนนี้ตกอยู่ในสภาพจัดหัวจ่ายแทบไม่ถูก”

การเร่งรีบของทั้ง ปตท. และรัฐบาลในการปลุกปั้น อี 85 ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว คงจะมองเป็นอื่นไปไม่ได้เลยว่า งานนี้เป็นการทำเพื่อเอื้อต่อกลุ่มทุนการเมือง ดังที่ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว กล่าวคือ แม้ว่าภาพของอี 85 ดูเหมือนจะเป็นการช่วยชาวไร่มันสำปะหลังและอ้อยที่เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเอทานอลให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ เนื่องจาก แก๊สโซฮอล์ เป็นการนำเอทานอลมาผสมกับน้ำมันเบนซิน ยิ่งตัวเลขตามหลัง “E” มากขึ้นเท่าไร สัดส่วนการใช้เอทานอลก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

แต่จริงๆแล้วผู้ที่กำเม็ดเงินอันมหาศาลของการใช้เอทานอลที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตหาใช่ชาวไร่ ชาวนา แต่เป็นนายทุนเจ้าของโรงงานผลิตเอทานอลที่เป็นกลุ่มทุนการเมือง และนักธุรกิจรายใหญ่เท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.