ทักษิณปิ๊งไอเดียใหม่ เตรียมตั้งกองทุนร่วมทุน (venture capital fund) วงเงิน
5 พันล้านบาท ให้สมคิด-บุญคลี ซีอีโอเครือชินฯ ร่วมดูแล อุ้มธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีภาครัฐร่วม
หวังพัฒนาศักยภาพ การบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งสัดส่วนหนี้สินต่อทุนเหมาะสม และดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้
ขณะที่การตั้งสถาบันยุทธศาสตร์แห่งชาติเป็นหมัน นายกฯ สั่งทบทวนใหม่ เหตุซ้ำซ้อนสภาพัฒน์
น.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความ
สามารถการแข่งขันของประเทศวานนี้ (10 ก.ค.) ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
เป็นประธานว่า เป็นการประชุมหารือด้านยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวรวมทั้งสานฝัน 3 กลุ่มยุทธศาสตร์
เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ
กองทุน 5 พันล้านพัฒนาเอสเอ็มอี
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตั้งกองทุนร่วมลงทุน เพื่อ ยกระดับความสามารถการแข่งขันธุรกิจไทย
โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) วงเงินร่วมลงทุนเบื้องต้น 5 พันล้านบาท
"การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน (venture capital fund) เป็นการให้ความสำคัญกับการสร้างฐานราก
ในระดับธุรกิจ ให้มีความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการเท่ากับ หรือดีกว่าคู่แข่ง
ซึ่งประเทศไทย กว่า 95% ของธุรกิจเอกชนเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
"ซึ่งต้องการปัจจัยหลัก 3 ประการคือ การมีทุนดำเนินงานที่เพียงพอ การมีวิธีการบริหารจัดการที่ดี
และการมีตลาดรองรับกับสินค้าและบริการที่ผลิตได้ ที่สำคัญคือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน
เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจ" โฆษกรัฐบาลกล่าว
รัฐร่วมทุน
การตั้งกองทุนฯ จะเป็นทางเลือกใช้เป็นเครื่องมือสามารถแข่งขันภาคธุรกิจโดยเฉพาะ
SMEs ที่มีศักยภาพส่งเสริมธุรกิจ สัดส่วนหนี้สินต่อทุนเหมาะสม และสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ระยะปานกลาง
และระยะยาว โดยภาครัฐร่วมลงทุน เพื่อต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ
จึงตั้งคณะกรรมการร่วมลงทุน เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันธุรกิจไทย ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
(กพข.) โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ดันเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น
กองทุนฯ นี้หวังยกระดับความสามารถการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอีไทย เนื่องจากปัจจุบัน
ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนในระบบตลาดเงินไทย ได้ยากกว่ากิจการขนาดใหญ่ ที่ถือเป็นธรรมชาติของธุรกิจเอสเอ็มอีอยู่แล้ว
ที่น่าเชื่อถือน้อยกว่าธุรกิจ ขนาดใหญ่ ความมั่นคงของกิจการน้อย และหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ
เอกสารด้านการเงิน งบดุล และงบกำไร-ขาดทุน ก็ไม่มีการทำเป็นระบบเท่าที่ควร
ที่ประชุมวานนี้ จึงเห็นควรว่า ธุรกิจเอ็สเอ็มอี ต้องมีศักยภาพ พร้อมปรับตัวภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์
จึงต้องอาศัยปัจจัยหลักทั้ง 3 ประการ คือ ทุนในการดำเนินงานทีเพียงพอ วิธีการบริหารจัดการ
ที่ดี และมีตลาดรองรับกับจำนวนสินค้า ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
ทำให้ธุรกิจไทยมัดส่วนหนี้สิน-ทุนที่เหมาะสม สร้างรากฐานธุรกิจให้เข้มแข็ง
เพื่อรองรับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ และทำให้เกิดความคิดริเริ่มของภาคเอกชน
โดยภาครัฐร่วมลงทุน และเพื่อให้การจัดสรร งบประมาณประเทศมีประสิทธิภาพ เมื่อสรุปในหลักการแล้ว
จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ดังกล่าว นาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธาน นายพันศักดิ์
วิญญรัตน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายนโยบาย เป็นกรรมการ และนายบุญคลี ปลั่งศิริ
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชินคอร์เปอเรชั่น เป็นกรรมการด้วย
เบรก "สถาบันยุทธศาสตร์ชาติ" ซ้ำซ้อนสภาพัฒน์
ด้านนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)
กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันว่า สภาพัฒน์เสนอที่ประชุมตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการลงทุนกิจการขนาดย่อม
หรือเอสเอ็มอี วงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท คาดว่ากองทุนนี้ มีเงินทุนประมาณ
5 พันล้านบาท ซึ่งเงินส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาล อีกส่วน อาจมาจากภาคเอกชน หรือธนาคารต่างๆ
สภาพัฒน์ยังเสนอตั้งสถาบันยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ซึ่งนายกรัฐมนตรี
พ.ต.ท.ทักษิณอยากให้สภาพัฒน์ ดูรูปแบบใหม่ และรับผิดชอบเรื่องนี้ แต่ยังไม่อยากให้ตั้งเป็นสถาบัน
ใหม่ต่างหาก เพราะหากตั้งสถาบันอิสระ จะทำให้เฟ้อไปหมด "ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ยุบสภาพัฒน์เลย
ไม่ต้องไปตั้ง เพราะความจริงแล้วเรามีสำนักเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เรามีกรรมการ
ซึ่งเป็นเรื่องที่สภาพัฒน์ คงต้องทำอยู่แล้ว แต่เดิมอาจจะทำแค่แผน" นายจักรมณฑ์อ้างคำพูด
พ.ต.ท.ทักษิณ ที่กล่าวระหว่างประชุม
"ถามว่าทำใมต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ที่แรงมาก
รวมทั้งเรื่องระบบไอที ที่เร็วมาก ซึ่งเราต้องปรับตัว และระบบ เศรษฐกิจใหม่ๆ ของโลกเปลี่ยนโฉมไปมาก
ถ้าไม่มีคนมาดุแลยุทธศาสตร์ด้านการแข่งขัน ประเทศก็จะแย่ เพราะนี่ถือเป็นปัจจัยสำคัญ
ดังนั้น บทบาทของสภาพัฒน์ จึงไม่ใช่แค่การทำแผนอย่างเดียว แต่ต้อง โฟกัสในเรื่องนี้ให้มาก"
นายจักรมณฑ์กล่าว