|
บัลลังก์แชมป์อสังหาฯ สะเทือน เมื่อ“คีรี กาญจนพาสน์”ประกาศทวงคืน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 สิงหาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
*เปิดยุทธศาสตร์ มังกรฮ่องกง “คีรี กาญจนพาสน์” เล็ก ๆ ไม่ ใหญ่ ๆ ทำ
*จริงหรือ ? อีก 8 ปีข้างหน้า คีรี จะทวงบัลลังก์ผู้นำคืนสำเร็จ
*จับตา “กวิน กาญจนพาสน์” ลูกไม้หล่นใต้ต้น
จับตาการกลับมาของมังกรฮ่องกงอย่าง “คีรี กาญจนพาสน์”ผู้โดดดังจากการลงทุนโครงการธนาซิตี้ชุมชนขนาดใหญ่ ย่านบานา-ตราด และผู้ปลุกปั้นรถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าสายแรกในเมืองไทย เพราะการกลับมาครั้งนี้ไม่ธรรมดาจะกลับมาพร้อมกับความยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับเมื่อครั้งตัดสินใจตอกเข็มต้นแรกในโครงการธนาซิตี้ และโครงการรถไฟฟ้า เรียกได้ว่า คีรี มาพร้อมกับความตั้งใจเกินร้อย ว่าจะบุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างจริงจังอีกครั้ง
เพราะสไตล์การทำงานของ คีรี คือหากคิดจะลงทุนจะต้องยิ่งใหญ่ ให้ประวัติศาสตร์จารึก ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ จะบุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งเพื่อขายและให้เช่า มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้เข้าองค์กรอย่างรวดเร็วจากการลงทุนโครงการเพื่อขาย และจะมีรายได้หล่อเลี้ยงองค์กรแบบมั่นคงและยั่งยืนจากโครงการประเภทเช่า
ความแข็งแกร่งของการลงทุนครั้งนี้จะไปพร้อม ๆ กัน 2 ขา คือการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และในกิจการเดินรถไฟฟ้า BTS โดย คีรี จะคุมนโยบายหลักทั้ง 2 ธุรกิจ พร้อม ๆ กับการค่อยๆวางมือให้ลูกชาย“กวิน กาญจนพาสน์”กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) ดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัว หลังจากซุ่มฝึกปรือมานานหลายปี ในช่วงที่ผู้เป็นพ่อต้องรับภาระหนักดูแลกิจการรถไฟฟ้า BTS ไม่ให้รัฐบาลฮุบไป
ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กวิน จะเป็นหัวเรือใหญ่ โดยมี คีรี ผู้เป็นพ่อ คอยให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ เพราะแม้ว่าจะมีความมั่นใจในตัว กวิน แต่ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างโชกโชน มีทั้งช่วงล้มลุกคลุกคลาน และรุ่งโรจน์อย่างมาก ทำให้ คีรี ไม่กล้าที่จะปล่อยให้กวิน เดินตามลำพัง เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรอย่างงดงาม แต่หากพลาดก็เจ็บหนัก
เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ลงทุนในโครงการธนาซิตี้ เมืองขนาดใหญ่ที่แวดล้อมไปด้วยอาคารสูง บนพื้นที่กว่า 1,600 ไร่ บริเวณถนนบางนา-ตราด กม.14 ที่สร้างปัญหาให้กับ คีรี อย่างมาก เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ค่าเงินบาทลอยตัว หนี้สินเพิ่มขึ้น ยอดขายไม่มี เพราะกำลังซื้อหด ทำให้บริษัทฯแทบจะล้มทั้งยืน ปัญหาการเงินรุมเร้าจนขาดสภาพคล่องทันที
ฉะนั้น การหวนกลับมาครั้งนี้ คีรี จะไม่ยอมพลาดซ้ำสอง เพราะบทเรียนครั้งแรกจากการลุยลงทุน ทั้งจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และรถไฟฟ้า BTS เป็นบทเรียนราคาแพง ทำให้ คีรี ต้องเก็บตัวเงียบมานานถึง 11 ปี เพื่อใช้เวลาแก้ปัญหาให้หมดไป และพร้อมที่จะกลับมาอีกครั้งในปีนี้ พร้อมกับความยิ่งใหญ่สไตล์เดิม
สำหรับ กวิน มีแนวคิดอะไรไม่ต่างจาก คีรี มากนัก เพราะมีแนวคิดที่จะลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และรูปแบบการลงทุนจะแตกต่างจากโครงการในเมืองไทยโดยสิ้นเชิง โดยยึดหลักจากฮ่องกงเช่นเดียวกับ คีรีผู้พ่อ อีกทั้งยังใช้วิธีจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ โดยเลือกพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่จะลงทุน เพื่อสร้างจุดแข็งให้กับตัวเอง และลดความเสี่ยงจากการลงทุน
ด้านแผนลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีแผนจะนำที่ดินในแนวรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่ดินส่วนตัวจำนวน 6 แปลง 6 ทำเล เนื้อที่รวมกว่า 20 ไร่ มาพัฒนาเป็นโรงแรม คอนโดมิเนียม และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ โดย 70% จะพัฒนาเป็นโรงแรม และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ มีแผนลงทุนโรงแรมรวม 16 แห่ง ทั้งในประเทศและอินโดจีน ด้วยมูลค่ากว่า 23,000 ล้านบาท ล่าสุด ได้เปิดตัวโรงแรม ยู ที่เชียงใหม่ เป็นโรงแรมระดับ 3-4 ดาว ส่วนอีก 30% เป็นคอนโดมิเนียม มูลค่ารวมกันหลายพันล้านบาท
กวิน บอกว่า “นโยบายการดำเนินงาน จะร่วมมือกับบีทีเอส เพื่อลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยปีนี้มีแผนลงทุนอย่างน้อย 4 โครงการ งบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำที่ดินบริเวณสาทร พื้นที่ 17 ไร่ พัฒนาเป็นโรงแรม และวิลล่าให้เช่าระยะเวลาเช่า 30 ปี ราคาหลังละ 50 ล้านบาท นอกจากนี้ จะลงทุนโครงการคอนโดมิเนียม พื้นที่ 2-3 ไร่ บริเวณสุขุมวิท ซอย 60 จำนวนกว่า 100 ห้อง โดยจะนำรูปแบบการให้บริการเหมือนในฮ่องกงมาใช้ เช่น บริการล้างรถ หรือบริการอื่นๆ เหมือนโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์”
สำหรับธุรกิจของธนายงแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย และรับเป็นที่ปรึกษาและบริหารโครงการ โดยจับมือกับพันธมิตรที่บริษัทได้เข้าไปถือหุ้นด้วย ได้แก่ บริษัท แอ๊บโซลูท โฮเต็ล เซอร์วิส บริษัทที่รับบริหารและเป็นที่ปรึกษาการลงทุนโรงแรม และบริษัท ฮิบเฮง คอนสตรัคชั่น บริษัทในเครือของกลุ่มนิวเวิลด์ ที่ธนายงเข้าไปร่วมทุนตั้งบริษัท ฮิบเฮง คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) เพื่อเป็นผู้ก่อสร้างโครงการของธนายง
เป้าหมายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครั้งนี้ คีรี ประกาศว่า จากแผนการดำเนินงานที่วางไว้ จะทำให้ ธนายง กลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง ภายใน 8 ปี นับจากนี้ และไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร ธนายงจะไม่ยอมล้มเป็นครั้งที่ 2 อย่างเด็ดขาด ภายใต้การบริหารงานของ กวิน ที่มี คีรี เป็นแบล็คอัพ
“คีรี” พร้อมคืนหนี้ 2.4 หมื่นล้าน ปิดทางรัฐบาลฮุบรถไฟฟ้า BTS
“คีรี กาญจนพาสน์” รอศาลฏีกาเพิกถอนคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้ คาด ก.ย.รู้ผล เตรียมออกจากแผนฟื้นฟู พร้อมเปิดทางพันธมิตรร่วมทุนรถไฟฟ้า ประกาศเดินหน้าลุยรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย และเสนอวิธีลงทุนต่อรัฐบาล
การแย่งชิงรถไฟฟ้า BTS ระหว่างรัฐบาลกับคีรี กาญจนพาสน์ ประธานประธานกรรมการบริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) เจ้าของกิจการรถไฟฟ้า BTS ใกล้จะได้ข้อสรุป แม้ว่าวันนี้คีรีจะยังไม่มีเงินสดไปชำระคืนหนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า ภายใน 2 สัปดาห์จะมีเงินไหลเข้ามาและนำไปชำระคืนหนี้จำนวน 24,000 ล้านบาท โดยจะชำระทันที 14,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 10,000 ล้านบาท จะทยอยชำระคืนเป็นงวดๆ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
แม้ว่าจะมีหนี้กว่า 24,000 ล้านบาท จากเจ้าหนี้กว่า 100 ราย โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ คือ ธนาคารกรุงเทพ แต่การชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ยังคงดำเนินการต่อ เพราะที่ผ่านมามีเจ้าหนี้หลายรายที่ยื่นคัดค้านต่อศาลฏีกาในการที่ BTS จะออกจากแผนฟื้นฟู ซึ่งคีรี กล่าวว่า หากศาลฏีกามีคำสั่งเพิกถอนคำอุทธรณ์ของเจ้าหน้าหนี้ BTS แล้ว บริษัทฯจะสามารถดำเนินการต่างๆตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ โดยเบื้องต้นจะลดและเพิ่มทุนจดทะเบียน เพื่อขายหุ้นให้พันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งเป็นทั้งผู้ถือหุ้นรายเดิมและนักลงทุนรายใหม่ประมาณ 3-4 ราย โดยเป็นนักลงทุนทั้งไทยและเทศ เพื่อนำเงินทุนดังกล่าวจำนวน 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปชำระคืนเจ้าหนี้ตามแผนฯ และต่อจากนั้นจะยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อขอออกจากการฟื้นฟูกิจการ คาดว่าในเดือน ก.ย.จะมีข้อสรุป
“หลังจากออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ BTS จะมีหนี้สินประมาณ 10,000 ล้านบาทโดยบริษัทฯ มีแผนที่จะนำบริษัทเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ต้องดูสถานการณ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นการเมือง และภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้คาดว่าจะเข้าระดมทุนได้ในไตรมาส 1 ปีหน้า โดยจะขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) ประมาณ 20 % สำหรับทุนจดทะเบียนของบริษัทปัจจุบันอยู่ที่ 16,000 ล้านบาท แต่หากหลังฟื้นฟูกิจการจะทำให้มีทุนเหลือ 13,000-14,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนั้นจะทำการเพิ่มทุนโดยการขายหุ้น IPO ก็จะส่งผลให้ BTS มีทุนจดทะเบียนเป็น 16,000 ล้านบาทเช่นเดิม” คีรีกล่าว
ปัจจุบันผู้ถือหุ้น BTS มีกลุ่มนิวเวิลด์จากฮ่องกง และซัมซุงประกันชีวิตเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หลังจากดำเนินการตามแผนฟื้นฟูแล้ว สัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มพันธมิตรใหม่จะอยู่ประมาณ 80% ส่วนผู้ถือหุ้นเดิมและเจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุนจะถือรวมกันประมาณกว่า 10% ซึ่งในจำนวนดังกล่าวจะมี บมจ.ธนายง (TYONG) ถือหุ้น 1-2%
หากบริษัทออกจากแผนฟื้นฟูแล้วจะเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวทันที โดยจะเข้าหารือกับรัฐบาลเพื่อยื่นขอเสนอที่จะขอเป็นผู้ลงทุนในโครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียวทั้งเส้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูเงื่อนไขว่าจะให้เอกชนดำเนินกิจการไปได้อย่างไม่ขาดทุนหรือลำบาก เพราะเห็นว่าในเมื่อรัฐบาลเดินหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงและต้องกู้จากสถาบันการเงิน แต่หากให้เอกชนเข้ามาแบ่งเบาภาระได้ ถือเป็นทางออกที่ดี ทั้งนี้หากรัฐให้เอกชนลงทุนในตัวรถ และรัฐบาลรับภาระงานโยธา ก็เป็นเรื่องที่ดีและรับได้
“สำหรับอนาคตของ BTS อาจจะมองเป็นส่วนต่อขยายที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่ารัฐบาลจะดึงกลับไปทำเองหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน ผมคิดว่าถ้าบริษัทออกจากแผนฟื้นฟูเมื่อไหร่ จะเสนอรัฐบาลถึงวิธีการลงทุนของเอกชน แต่ก็อาจมีเงื่อนไข เพราะเอกชนลงทุนเอง 100% มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง อาจเป็นว่าช่วยกันทำ เช่น รัฐบาลลงทุนระบบโยธา เอกชนลงทุนระบบรถ ”คีรีกล่าว
สำหรับจำนวนผู้โดยสารของ BTS ในปีนี้จำนวนผู้โดยสารเติบโตขึ้นประมาณ 10% และในปี2552 จะเติบโตอีก 8-10% โดยมีผู้โดยสาร 460,000 เที่ยวต่อวันและจะมีมากถึง 500,000 เที่ยวต่อวันในวันศุกร์ช่วงต้นเดือน เนื่องจากประชาชนนิยมออกมาใช้จ่ายในช่วงดังกล่าวรวมถึงปัญหาจราจรทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|