แยกกลัน-ตลาดบางจาก กู้แบงก์-ตังกองทุน7พันล.


ผู้จัดการรายวัน(9 กรกฎาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ครม.ไฟเขียวบางจากฯ (BCP) ปรับโครงสร้าง การเงิน-ธุรกิจ แยกโรงกลั่นจากการตลาด ด้านการเงิน 2 แบบ แบบแรกกู้แบงก์ 1.2-1.4 หมื่นล้านบาท ใช้กำไรก่อนหักค่าเสื่อม (EBITDA) ที่ดีเป็นเครดิตการันตี รวมถึงตั้งกองทุนรวม 7 พันล้านบาท คลังค้ำลงทุนหุ้น 3 พันล้าน หุ้นกู้ 4 พันล้าน รมว. พลังงานคาดใช้เวลาไม่เกิน 20 สัปดาห์ มั่นใจหลังปรับโครงสร้าง เสร็จ EBITDA บริษัทเพิ่มจากปัจจุบัน 400 ล้านบาท เป็น 1.8 พันล้านบาท ขณะที่ผู้บริหารบางจากฯ เชื่อหลังจากนี้ บริษัทฐานะการเงินแข็งแกร่ง หนี้สินต่อทุนลดเท่าตัวเหลือ 2.2 เท่า

นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุรีย์เดช รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมครม. วานนี้ (8 ก.ต.) เห็นชอบแผนปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจและการเงินบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ตามที่คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) เสนอ

รวมทั้งการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลักการสำคัญ คือ จะปรับแผนโครงสร้าง ธุรกิจ การเงิน และการบริหาร การปรับแผนโครงสร้างธุรกิจ จะแยกธุรกิจให้ชัดเจนมากขึ้น แยกโรงกลั่นให้ชัดเจนจากการตลาด

"เชื่อว่า ตอนนี้ผลประกอบการของบางจากฯ ยังดีอยู่ คาดว่าใน 10 ปีข้างหน้าผลประกอบการจะเป็นไปในทางบวก โดยในปีที่ผ่าน มา มีผลกำไรจากน้ำมัน 700 ล้านบาท และในปีข้างหน้า จะมีรายได้ 900 ล้านบาท ระหว่างปี 2541-2545 มี EBITDA เฉลี่ยประมาณ 1,400 ล้านบาท และในระหว่างปี 2546-2550 EBITDA จะดีขึ้น เฉลี่ยประมาณ 1,800 ล้านบาท" รมว. กระทรวงพลังงานกล่าว

ตั้งกองทุนรวม 7 พันล้านบาท

ด้านการปรับโครงสร้างการเงินจะใช้วิธีเพิ่มทุนด้วยการตั้งกองทุน (Mutual Fund) หรือ Special Purpose Vehicle (SPV) เน้นขายสถาบันการเงิน เพื่อ ลงทุนหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) 4,000 ล้านบาท และลงทุนหุ้นสามัญบริษัท บางจาก 3,000 ล้านบาท

เงื่อนไขให้กระทรวงการคลัง รับประกันการลงทุนของต้นเงิน (Capital Proteced Fund) ของกองทุน หรือ SPV ดังกล่าว อีกส่วนจะรีไฟแนนซ์หนี้เดิม โดยกู้จากสถาบันการเงิน โดยคลังจะไม่ค้ำประกันเกินภาระเดิม 8,100 ล้านบาท

"หลักการคล้ายกับกองทุนวายุภักษ์ แต่กระทรวงการคลังจะค้ำประกันกองทุนนี้ทั้งก้อน" นายแพทย์พรหมินทร์กล่าว

ร่วม ปตท.-ไทยออยล์กลั่นน้ำมัน

ส่วนด้านธุรกิจ จะให้แยกธุรกิจชัดเจนในส่วนโรงกลั่น โดยจะนำผลผลิตที่ได้จากบางจากฯ กลั่นต่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มจาก บริษัท ไทยออยล์ รวมทั้งการสนับสนุนจากบริษัท ปตท. ซึ่งการปรับโครงสร้างดำเนินงาน ที่นายชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นประธานกรรมการชุดนี้ กำลังอยู่ระหว่างดำเนินงานควบคู่กับการปรับปรุงแผนโครงสร้างการเงิน แผนการดำเนินงานทั้งหมด คาดว่าใช้เวลาประมาณ 20 สัปดาห์

ทางด้านนายอดิพงษ์ ภู่ชะอุ่ม รองผู้อำนวยการสำนักงานรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยว่าผลการตรวจสอบข้อมูลบัญชีบริษัท บางจากฯ เป็นไปตามมาตรฐานและหลักการบัญชีที่รองรับทั่วไป ระหว่างปี 2541-2545 กำไรก่อนหักค่าเสื่อม (EBITDA) เฉลี่ยประมาณ 1,400 ล้านบาท และระหว่าง 2546-2550 จะมี EBITDA ดีขึ้นเฉลี่ยเป็นประมาณ 1,800 ล้านบาท ซึ่งบริษัท บางจากฯ จะสามารถดำเนินกิจการต่อได้ระยะยาว หากปรับโครงสร้างธุรกิจและการเงิน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ดีขึ้น

บริษัทมีหนี้ระยะสั้นและปานกลางทั้งสิ้นประมาณ 19,000 ล้านบาท จากหนี้ทั้งสิ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งการปรับโครงสร้างการเงิน ต้องเจรจากับเจ้าหนี้ ว่าจะยืดอายุหนี้ได้หรือไม่ หลังจากนั้น ให้กู้เงินจากสถาบันการเงิน 12,000-14,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังจะไม่ค้ำประกันเงินกู้จำนวนนี้ แต่จะใช้ EBITDA บริษัท ที่มีอยู่ค้ำประกัน

ส่วนการปรับโครงสร้างธุรกิจต้องสร้างรายได้จากทรัพย์สินที่มีอยู่ โดยจับมือเป็นพันธมิตรธุรกิจกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยทำสัญญาร่วมมือระยะยาว ลักษณะที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน กระบวนการทั้งหมด จะให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้

ด้านนายณรงค์ บุณยสงวน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม เปิดเผย ว่าการปรับโครงสร้างการเงิน เมื่อประมาณการรายได้บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และยืดอายุสัญญาเช่าที่ดินของกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงกลั่นน้ำมันบางจากเป็น 30 ปี จากที่เหลือเวลาเช่าอีก 12 ปี คาดว่าบริษัท บางจากฯ จะสามารถหาเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ได้ไม่ต่ำกว่า 12,500 ล้านบาท

ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยให้การปรับโครงสร้างชำระเงินกู้ สอดคล้องกับกระแสเงินสดบริษัท ทำให้การบริหารด้านการเงินคล่องตัวมากขึ้น

ส่วนการสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐบาล ยืดอายุสัญญาเช่าที่ดินบริเวณโรงกลั่นน้ำมันบางจาก จากกรมธนารักษ์ จาก 12 ปี เป็น 30 ปี เพื่อเป็นหลักประกันเจ้าหนี้ ขอผ่อนผันทำเทน เดอร์ออฟเฟอร์ ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั่วไป จากการเพิ่มทุนตามกฎหมาย ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมทั้งขอความร่วมมือบริษัทไทยออยล์ ทำข้อตกลง ธุรกิจกับบริษัท บางจากฯ เป็นทางการ เพิ่มเติมจากที่ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ เช่น ส่งน้ำมันดิบให้บริษัท บางจากฯ กลั่นเพิ่ม เป็นต้น

นายณรงค์กล่าวว่า หลังจากปรับโครงสร้าง การเงิน บริษัท บางจากฯ จะมีฐานะการเงินแข็งแกร่งขึ้น สัดส่วนหนี้ต่อทุนดีขึ้น ลดจาก 4.4 เท่า เหลือ 2.2 เท่า สัดส่วนรายได้ก่อนหักดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา ต่อ ดอกเบี้ยจ่าย หรือความสามารถชำระดอกเบี้ย ดีขึ้นจาก 1.2 เท่า เป็น 2.8 เท่า

คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาธุรกิจบริษัท บางจากฯ ที่นายชัยอนันต์เป็นประธาน บริษัท บางจากฯ จ้างบริษัท เทิร์น อะราวด์ เป็นบริษัทที่ปรึกษาปรับโครงสร้างธุรกิจ และการเงิน และตรวจสอบสถานะกิจการ (Due Diligence) ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาเสนอผลศึกษาต่อคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ เมื่อวันที่ 2 มิ. ย. ดังนี้

ผลตรวจสอบข้อมูลทางบัญชี (Accounting Due Diligence) บริษัท บางจากฯ เป็นไป ตามมาตรฐาน และหลักการทางบัญชีที่รองรับทั่วไป ระหว่างปี 2541-2545 EBITDA เฉลี่ยประมาณ 1,400 ล้านบาท ระหว่างปี 2546-2550 EBITDA ดีขึ้น เฉลี่ยเป็นประมาณ 1,800 ล้านบาท

บริษัท บางจากฯ มีความสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ระยะยาว หากปรับโครงสร้างธุรกิจและการเงิน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันมากยิ่งขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.