การวิจัยและพัฒนาจะเป็นแขนงธุรกิจหนึ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดในยุโรปยุคทศวรรษ
1990 ซึ่งเน้นความก้าวหน้าทางเทคนิคอย่างมากการจะดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในตลาดร่วมได้นั้น
บริษัทต่างๆ ต้องมีความริเริ่มสร้างสรรค์ ต้องปรับสินค้าที่มีอยู่แล้วให้มีมาตรฐานใหม่
พัฒนาสินค้าไฮเทคแบบใหม่ๆ เพื่อฉกฉวยโอกาสใหม่ๆ ที่มีขึ้น
ปัจจุบันต้นทุนของการวิจัยและพัฒนามักสูงคิดเป็น 5% ของทุนหมุนเวียน ทำให้บริษัทเล็กๆ
จำเป็นต้องพึ่งความช่วยเหลือทั้งในด้านของสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องแล็บและเงินทุน
บริษัทเหล่านี้สามารถรับความช่วยเหลือด้วยการร่วมมือกัน รวมทั้งรับเงินช่วยเหลือภาครัฐบาล
หรือไม่ก็จากสมาคมวิจัยของแต่ละแขนงอุตสาหกรรม หรือจากโครงการวิจัยและพัฒนาของอีซีก็ได้
สำหรับบริษัทขนาดใหญ่นั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นก็แตกต่างกันไป โดยห้องแล็ปเพื่อการวิจัยของบริษัทเหล่านี้มักมีขนาดใหญ่มีนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรประจำราว
100 คน แต่บริหารแบบรวมศูนย์เป็นขั้นตอนแบบราชการมากเกินไป ทำให้เกิดผลเสียตามมาคือ
ไม่มีแรงผลักดันจากความริเริ่มสร้างสรรค์ และมีการเลียนแบบโครงการที่ตั้งอยู่คนละแห่งกันซึ่งถือเป็นการสูญเปล่านั่นเอง
ผลคือปัจจุบันบริษัทส่วนใหญ่ต่างตระหนักแล้วว่า งานวิจัยและพัฒนาต้องได้รับการจัดการ
และต้องปรับให้เป็นไปตามหลักของเหตุและผลในแง่ของงานวิจัย เพื่อเตรียมรับมือกับการพัฒนาของตลาดร่วมยุโรป
เครือข่ายระหว่างประเทศของ "โอลิเวตติ"
โอลิเวตติได้ชื่อว่าเป็นซัพพลายเออร์อุปกรณ์ในสำนักงานรายใหญ่ที่สุดของอิตาลี
และทำยอดขายเมื่อปี 1988 ได้ 6.5 พันล้านดอลลาร์นั้น ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาเป็นอันดับแรกมานานแล้ว
ปี 1987 โอลิเวตติใช้งบวิจัยและพัฒนาคิดแล้วเท่ากับ 6% ของยอดขายรวม ต่อมาก็เพิ่มเป็น
7% ซึ่งแน่นอนว่าเงินทุนที่ต้องใช้ก็ย่อมทะยานสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะส่วนใหญ่จะใช้ไปในการธุรกิจคอมพิวเตอร์
ส่วนธุรกิจผลิตพิมพ์ดีดนั้นต้องการเงินทุนน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ในปี 1986
โอลิเวตติตัดสินใจปรับโครงสร้างส่วนวิจัยและพัฒนาซึ่งบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง
สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นการเตรียมรับมือกับตลาดร่วมยุโรปที่กำลังใกล้เข้ามาทุกที
แนวโน้มของการต้องเน้น "1992" มีบทบาทและความหมายในตัวของมันเอง
ถือเป็นโอกาสอันสำคัญยิ่งของอุตสาหกรรมในยุโรปด้วย "บรูโน ลัมโบร์กินี่"
ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์และวางแผนเชิงยุทธศาสตร์องค์กรให้ความเห็น "การรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศยุโรปนี้ถือว่ามีความสำคัญในเชิงพื้นฐานในแง่ที่ว่า
อย่างไรเสียก็ยังต้องเผชิญหน้ากับความล่าช้าในขั้นตอนและระบบรวมถึงการเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศตนเองเป็นหลัก
ดังนั้น อุตสาหกรรมและประเทศใดก็ตามที่ไม่สามารถเข้าร่วมกระบวนการปรับตัวนี้ได้อย่างรวดเร็วพอ
ก็จะพบว่าตัวเองถูกคู่แข่งเขี่ยให้ตกขอบไปอยู่ข้างเวทีแข่งขันสำหรับอิตาลีนั้น
เส้นตายปี 1992 ควรจะเป็นตัวกระตุ้นความพยายามให้มีการชุบชีวิตใหม่แก่โครงสร้างพื้นฐานล้าสมัย
โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับการขนส่งและการสื่อสาร"
โอลิเวตติจึงมีการเตรียมการณ์อย่างดีเพื่อฉกฉวยความได้เปรียบจากแนวโน้มนี้
ซึ่งลัมโบร์กินี่เพิ่มเติมว่า "เราได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่มีความเป็นสากลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
จากการที่ 60% ของทุนหมุนเวียนได้มาจากตลาดนอกอิตาลี และกว่าครึ่งของพนักงานในทั่วโลกก็ไม่ได้เป็นอิตาเลียนเสียด้วย"
กุญแจสำคัญของการที่โอลิเวตติเตรียมการณ์รับปี 1992 ก็คือ การสร้างเอกลักษณ์องค์กรใหม่ทั้งหมดเป็น
"บริษัทเครือข่าย" (NETWORK COMPANY) โดยโอลิเวตติเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายที่กว้างขวางและยืดหยุ่นในแง่ความสัมพันธ์กับบริษัทอื่นๆ
ซึ่งถือว่าแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวความคิดของบริษัทข้ามชาติแบบเก่าที่มีรูปแบบ
"สำนักงานใหญ่/สาขา" (HEAD OFFICE / FIELD OFFICE)
"เครือข่าย" เป็นกุญแจสำคัญของการปรับโครงสร้างหน่วยวิจัยและพัฒนาของโอลิเวตติเลยทีเดียว
ที ดร.เฮอร์มานน์ เฮาเซอร์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเป็นริเริ่มวิธีการใหม่ และนักฟิสิกส์ผู้ถือกำเนิดในออสเตรียคนนี้เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท
"เอคอร์ คอมพิวเตอร์" ซึ่งโอลิเวตติเข้าซื้อกิจการและควบคุมการบริหารเมื่อปี
1985 ปัจจุบันเข้าเป็นหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของโอลิเวตติ ทำหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับทิศทางการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ของบริษัท
แนวความคิดใหม่ของ "บริษัทเครือข่าย" ประกอบด้วย เครือข่ายระหว่างประเทศของห้องแล็ปเชิงยุทธศาสตร์ขนาดเล็ก
ควบคุมและประสานงานโดยบรรดาหัวหน้าสตาฟฟ์ผ่านทางคณะกรรมการวิจัยแล็ปเหล่านี้จะตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยซึ่งมีด้านศูนย์วิจัย
หรือไม่ก็ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์พัฒนาด้านเทคโนโลยี เพื่อไล่ตามให้ทันการพัฒนาล่าสุดทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับบริษัทที่มีการริเริ่มสร้างสรรค์อื่นๆ
และเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถรับสมัครนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรหนุ่มสาวผู้มีความสามารถจากรั้วมหาวิทยาลัยทันที
จนถึงขณะนี้มีการตั้งห้องแล็ปที่ว่ารวมแล้ว 8 แห่งด้วยกัน 5 แห่งอยู่ในอิตาลี
นอกนั้นอยู่ในอังกฤษ เยอรมัน และสหรัฐฯ อีกประเทศละแห่ง ห้องแล็ปที่ว่าประกอบด้วย
"บาริ" (วิจัยประมวลผลเอกสารระบบอัตโนมัติ) "อิฟรีอา"
(พัฒนาแผงวงจรรวม,วิจัยด้านอิมเมจโฟรเซสซิ่ง พรินเตอร์และสแกนเนอร์) , "มิลาน"
(ซอฟท์แวร์ระบบ) , "ปิซ่า" (อุปกรณ์ด้านซอฟท์แวร์ ระบบจัดเก็บและปัญญาประดิษฐ์)
และ"ตูริน" (ปฏิกิริยาต่อคอมพิวเตอร์ควบคุมเสียง)
สำหรับในอังกฤษมีห้องแล็ป "เคมบริดจ์" วิจัยความก้าวหน้าของเครือข่ายในท้องถิ่นและโครงสร้างของหน่วยประมวลผลส่วนกลาง
นอกจากนี้ ยังมีห้องแล็ปในเมืองนูแรมเบิร์ก,เยอรมนี และเมนโลพาร์คในสหรัฐฯ
รับผิดชอบงานวิจัยแม่แบบของการพัฒนาระบบการทำงาน ภาษและระบบฐานข้อมูล
ห้องแล็ปเหล่านี้จะถูกจัดให้มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยโอลิเวตติโน้มน้าวให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำงานได้ดีที่สุดในรูปของกลุ่มเล็กๆ
เห็นได้จากแล็ปขนาดใหญ่ที่สุดคือ อิฟรีอาก็มีนักวิจัยเพียง 50 คน เมนโลพาร์คมี
30 คน และเคมบริดจ์มีเพียง 15 คน บรรดานักวิจัยส่วนใหญ่มักอยู่ในวัย 20 กว่าๆ
เพราะโอลิเวตติเห็นว่าคนวัยนี้มีความริเริ่มสร้างสรรค์สูงสุดและไม่มีอคติต่องทฤษฎีว่าด้วยมรรควิธีในอดีต
ผู้อยู่ในตำแหน่งหัวหน้าสตาฟฟ์จะมีอายุมากกว่า และแต่ละคนต่างก็เลือกทีมงานฝ่ายสร้างสรรค์ของตนเอง
สำหรับแต่ละโครงการนั้นแต่ละกลุ่มวิจัยจะเลือก "ผู้นำ" ของตนเองขึ้นมาและผู้นำสามารถเปลี่ยนตัวได้เมื่องานแต่ละโครงการเสร็จลง
ในท้ายที่สุด ระบบขั้นตอนก็จะถูกกำจัดไปจนเกือบหมดสิ้น เพื่อกระตุ้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์โดยมีสตาฟฟ์ของสำนักงานอีกทีมหนึ่งเป็นผู้รับผิดชองงานเอกสารของฝ่ายบริหาร
ห้องแล็ปเหล้านี้ยังตั้งอยู่ในทำเลที่ดีด้วย โดยแล็ปในอิตาลีจะตั้งอยู่ใกล้กับคณะที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละแขนงของงานวิจัย
แล็ปเคมบริดจ์ซึ่งเป็นฐานของเอคอร์น คอมพิวเตอร์นั้นจะตั้งอยู่ใกล้กับคาเวนดิช
แล็บบอราทอรี่ส์ของมหาวิทยาลัย ส่วนแล็ปนูแรมเบิร์กก็จะตั้งอยู่ใกล้กับซิลิคอน
เวลลีย์ของเยอรมนี ขณะที่เมนโลพาร์คในสหรัฐก็ตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด
คณะกรรมการวิจัยซึ่งคอยควบคุมทีมวิจัยอีกทีหนึ่ง มี "ฟิลิปโป เดมอนเต้"
หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของโอลิเวตติเป็นประธาน คณะกรรมการวิจัยนี้ประกอบด้วยหัวหน้าสตาฟฟ์ของแต่ละแล็ปผู้อำนวยการของแผนกปฏิบัติการ
และที่ปรึกษาด้านวิจัยจากภายนอก กรรมการเหล่านี้จะประชุมกันทุก 3 เดือน เพื่อทบทวนความคืบหน้าและยุทธศาสตร์ของแผนในอนาคต
เดมอนเต้ายังมีกลุ่มสตาฟฟ์ส่วนกลางสำหรับการประสานงานนอกองค์การ โครงการและการวางแผนในอีซี
ดูเหมือนอุปสรรคของความพยายามในงานวิจัยและพัฒนาเหล่านี้จะอยู่ที่การทำให้เกิดมาตรฐานด้านเทคนิคภายในตลาดร่วมยุโรป
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกมากสำหรับโอลิเวตติ
บรูโน ลัมโบร์กินี่ อธิบายว่า "อีกตัวอย่างหนึ่งของการเตรียมการณ์ของโอลิเวตติ
เพื่อรับมือกับตลาดร่วมอยู่ที่การสร้างมาตรฐานคอมพิวเตอร์ เราได้ใช้ความพยายามอย่างมหาศาลที่จะสร้างมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปเหมือนระบบของยูนิกซ์
ซึ่งเป็นระบบเปิดที่ยอมให้มีการใช้อุปกรณ์จากผู้ผลิตหลายรายด้วยวิธีที่ง่ายๆ
และโปร่งใส อันนี้เป็นสิ่งสำคัญเพราะมาตรฐานย่อมก่อให้เกิดรูปแบบของอุปสรรคทางการค้า
ที่ทำให้ผู้ผลิตบางรายเท่านั้นที่เป็นผู้ได้เปรียบการขจัดอุปสรรคเหล่านี้
เป็นการแผ้วทางไปสู่ความร่วมมือระหว่างบริษัทยุโรปด้วยกันในระดับสูงขึ้นไปอีก
โดยเฉพาะกิจการที่อยู่ในแขนงธุรกิจเทคโนโลยีข้อมูล"
"ต้นทุนของผู้ผลิตที่ต้องเสียไปเพื่อให้คงอยู่ได้ในฐานะผู้ได้เปรียบทางเทคโนโลยีนั้นสูงมาก"
ลัมโบร์กินี่สรุปตบท้าย "หนทางเดียวที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพื่อให้ฟื้นตัวได้จากการลงทุนก็คือ
ต้องสามารถจัดจำหน่ายและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้กระจายไปตามตลาดต่างๆ ในวงกว้าง
สำหรับโอลิเวตติแล้วผมพูดได้ว่าโดยทั่วไปจะต้องมองไปข้างหน้าสำหรับอุสาหกรรมแขนงต่างๆ
ในยุโรป ส่วนการเลือกตลาดร่วมยุโรปนั้นก็ไม่ใช่การเลือกอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำอย่างยิ่งยวด