ทำไมเถลิงศักดิ์เลือกลงทุน ฮานอย มากกว่า ไซง่อน ?


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีเอ็น. เป็นกลุ่มธุรกิจที่เริ่มต้นมาจากการให้บริการด้านซักรีดในโรงแรมและภัตตาคารมานานกว่า 10 ปี การสบช่องโอกาสในการขยายธุรกิจเข้าไปในเวียดนามเมื่อ 5 ปีก่อนทำให้ปัจจุบันทีเอ็น. กลายเป็นบริษัทของคนไทยรายเดียวที่ลงทุนทำธุรกิจในเวียดนามมากถึง 5 บริษัท มีขอบข่ายของธุรกิจครอบคลุมถึง 8 ประเภท และกลายเป็นผู้เชียวชาญให้คำปรึกษาแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการจะลงทุนทำธุรกิจในเวียดนาม

การเข้าไปในฐานะนักท่องเที่ยวคนหนึ่งเมื่อ 5 ปีที่แล้วเป็นรูปแบบเริ่มแรกของการเข้าไปศึกษาเวียดนามอย่างจริงจังของผู้บริหารกลุ่มทีเอ็น. ภาพของคนทั่วไปที่สูบบุหรี่ต่างประเทศและดื่มน้ำอัดลมกระป๋องแสดงให้เห็นถึงตลาดใหญ่ที่น่าจะมีกำลังซื้อในระดับหนึ่งและอนาคตก็น่าจะดีด้วย

ความตั้งใจที่จะขยายธุรกิจในเวียดนามจากภาพที่ได้พบเห็นทำให้ผู้บริหารของกลุ่มฯ กลับมาศึกษาเพิ่มเติมและพยายามติดต่อสถานฑูตและหน่วยงานของเวียดนามที่ไปทำความรู้จักสมัยที่เข้าไปท่องเที่ยว

หลังจากนั้น 2 ปีบริษัททีเอ็น. อินเตอร์จึงเกิดขึ้นพร้อมกับความเอาจริงจังในการเปิดตลาดธุรกิจในเวียดนาม

เถลิงศักดิ์ มณีเนตร กรรมการผู้จัดการของทีเอ็น. อินเตอร์เทรดเล่าให้ฟังว่า "ในปลายปี 2531 เราเอาจริงเอาจังด้วยการขอวีซ่าเดินทางเข้าไปในเวียดนามใหม่อีกครั้ง และในครั้งนั้นเราได้ไปเจรจากับองค์การเภสัชกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขของเวียดนาม ซึ่งพิจารณาแล้วว่าน่าจะเป็นหน่วยงานที่น่าเชื่อถือและมีศักยภาพในการเซ็นสัญญาหรือมีสิทธิทำอะไรได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงเริ่มทำการค้าแบบซื้อมาขายไปด้วยการสั่งวัตถุดิบจากสิงคโปร์ รวมถึงยาสำเร็จรูปจากเมืองไทยขายให้กับองค์การเภสัชกรรม"

จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ทีเอ็น.ฯ เริ่มมองเห็นช่องทางที่จะขยายธุรกิจต่อเนื่องออกไปด้วยการเข้าไปในตลาดผ้าอนามัย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่ยังไม่มีบริษัทใดเข้าไปอย่างจริงจังโดยเฉพาะสินค้าที่เวียดนามผลิตขึ้นเองก็เป็นสินค้าที่ยังไม่ได้มีการพัฒนาเท่าที่ควร

ทีเอ็น.ฯ เริ่มทดลองนำผ้าอนามัยสำเร็จรูปจากประเทศไทยเข้าไปล็อตแรกจำนวน 200 กล่อง ปรากฏว่าขายหมดภายใน 1 วัน การที่ตลาดเปิดรับอย่างรวดเร็วทำให้ผู้บริหารของทีเอ็น. มีความคิดที่จะลงทุนผลิตผ้าอนามัยในเวียดนาม

แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากฎหมายการลงทุนของเวียดนามไม่เป็นที่ยอมรับ รวมถึงนโยบายของประเทศไทยขณะนั้นก็ไม่ชัดเจนจึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในเวียดนาม

ทีเอ็น.ฯ แก้ปัญญาจากความเสี่ยงที่อาจจะมีขึ้นในอนาคตด้วยการเจรจาร่วมทุนกับองค์การเภสัชกรรมของเวียดนาม โดยพยายามต่อรองให้องค์การเภสัชฯ เป็นฝ่ายลงทุนในสัดส่วนที่มากกว่าจนกระทั่งสำเร็จและได้จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นใช้ชื่อว่า "บริษัท ที.เอ็น.วีนาไทย จำกัด" ด้วยสัดส่วนการลงทุนขณะนั้นคือ 65:35 จากทุนจดทะเบียนทั้งหมด 16.5 ล้านบาท

ต้นปี 2533 ทีเอ็น.ฯ ได้สั่งซื้อเครื่องจักรเก่าสำหรับผลิตผ้าอนามัยเข้าไปติดตั้งในโรงงานโดยทำการผลิตผ้าอนามัยภายใต้ชื่อยี่ห้อ "SOFTINA" ออกขายในเวียดนามด้วยกำลังการผลิตประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อเดือนและขายในราคาห่อละ 9.50 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาผ้าอนามัยที่ผลิตขายในประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องมาจากการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากหน่วยงานของรัฐบาลเวียดนาม รวมทั้งค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า

ต่อจากนั้นอีกไม่นานทางทีเอ็น.ฯ จึงได้สั่งซื้อเครื่องจักรรุ่นใหม่เสริมอีกหนึ่งตัวเมื่อสินค้าที่ผลิตออกมาได้รับความนิยมในตลาดเวียดนาม และช่วงนี้เองที่ทีเอ็น.วีนาไทยได้รับการแต่งตั้งการบริษัทอนามัยภัณฑ์ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรผลิตผ้าอนามัย ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักดังกล่าวในประเทศเวียดนามในปลายปีที่แล้ว และผลจากการนำเครื่องจักรใหม่ ไปติดตั้งในโรงงานทำให้สัดส่วนของการร่วมทุนเปลี่ยนไปคือ ทางทีเอ็น.ฯ ถือหุ้น 70% และองค์การเภสัชกรรมเวียดนามถือหุ้นที่เหลือ 30%

หลังจากเดินเครื่องจักรผลิตผ้าอนามัยเครื่องไปได้ระยะหนึ่ง ทางผู้บริหารของทีเอ็น.ฯ จึงได้ส่งเอกสารต่างๆ เพื่อขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายของเวียดนามเกี่ยวกับการลงทุน

จนกระทั่งต้นปี 2534 ทีเอ็น.วีนาไทยจึงได้รับใบอนุญาตจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจากรัฐบาลเวียดนามพร้อมกันกับใบอนุญาตนำเข้ายารักษาโรคจากกระทรวงสาธารณสุขของเวียดนามอีกด้วย

นับเป็นบริษัทไทยบริษัทแรกและบริษัทเดียวทางเหนือที่ได้รับเอกสิทธิ์ในการจัดตั้งบริษัทอย่างถูกต้องตามกฎหมายของเวียดนาม

ซึ่งยุทธศาสตร์นี้เองได้กลายเป็นความได้เปรียบสำหรับทีเอ็น. ต่อการขยายโครงการลงทุนอื่นๆ ในเวียดนามในเวลาต่อมา

"คนส่วนใหญ่มักจะเลือกไปลงทุนทางใต้ของเวียดนามคือไซ่งอนเนื่องจากที่นั่นเป็นเมืองเศรษฐกิจ กำลังซื้อส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่นี่ การค้าขายอยู่ในลักษณะของโลกเสรีมากกว่าทางเหนือแต่ทีเอ็น. เลือกที่จะไปเปิดตลาดทางเหนือของเวียดนามคือ ฮานอย ก่อนด้วยเหตุผลในเรื่องของการแข่งขันทางธุรกิจซึ่งมีน้อยกว่า ดังนั้นความเสี่ยงที่บริษัทใหม่จะได้รับจากการเข้าตลาดจึงมีน้อย และการที่ทางเหนือเป็นศูนย์รวมแก่งอำนาจทั้งหมดของเวียดนามเป็นเหตุผลสำคัญของการเลือกที่จะลงทุนในฮานอยแทนที่จะเป็นไซ่งอน ถึงแม้ว่าการเข้าไปทีแรกจะยากก็ตามแต่เมื่อเข้าไปได้แล้วการจะขยายธุรกิจออกไปจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป" เถลิงศักดิ์อธิบายถึงเหตุผลของการเข้าไปลงทุนที่ฮานอย

ทีเอ็น.วีนาไทย มีโครงการขยายการลงทุนออกไปหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งบริษัทเรียบร้อยแล้วนั่นคือการสร้างโรงงานผลิตผ้าอนามัย SOFTINA ที่ไซ่ง่อน นอกจากนี้ยังขยายธุรกิจไปด้านเรียลเอทเตทด้วยการปรับปรุงสถานที่แห่งหนึ่งในฮานอย เพื่อสร้างเป็นโรงแรมสำหรับเป็นศูนย์ให้ข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจและติดต่อธุรกิจในเวียดนาม ทั้งนี้เป็นเพราะโรงแรมที่มีอยู่ทางเหนือ 7 แห่งหรือประมาณ 1,000 ห้องไม่เพียงพอต่อการให้บริการ และค่าบริการก็ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสภาพของห้องพักคือเฉลี่ยราคาประมาณ 35-70 เหรียญสหรัฐ

โรงแรมที่ทีเอ็น. วีนาไทยจะจักสร้างมีทั้งหมด 60 ห้อง โดยใช้งบในการปรับปรุงประมาณ 25 ล้านบาท ส่วนสถานที่ได้ติดต่อขอเช่าจากหน่วยงานรัฐบาลเวียดนามในสัญญาเช่าระยะเวลา 30 ปีในวงเงิน 10 ล้านบาทและจ่ายค่าเช่าเป็นรายปีอีกโดยเฉลี่ยตารางเมตรละ 5-10 บาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้จะเริ่มได้ในราวต้นปีหน้า

และโครงการที่อยู่ในระหว่างการศึกษาก็คือการตั้งโรงงานผลิตตัวยาบางตัวที่ตลาดไปได้ดีแทนการนำเจ้าจากประเทศอื่นโดยขยายผ่านทางองค์การเภสัช และในอนาคตจะมีการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายยาออกไปอีกด้วย

ช่วงระยะเวลา 3 ปีของการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในเวียดนามประสบการณ์ในการติดต่อรวมถึงเรื่องราวในเวียดนามทำให้ผู้บริหารของทีเอ็น.ได้เรียนรู้ถึงขั้นตอน ระเบียบและวิธีการของเวียดนามเป็นอย่างดี ดังนั้นทีเอ็น. วีนาไทยจึงเปิดบริการให้คำปรึกษาการลงทุนในเวียดนาม รวมถึงการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอันเป็นธุรกิจอีกแขนงหนึ่งของบริษัทด้วย

เถลิงศักดิ์ได้ให้ข้อเสนอแนะบางประการสำหรับการเข้าไปลงทุนในเวียดนามว่า "ควรศึกษาเวียดนามในแง่ของกฎระเบียบให้ถ่องแท้ ตัวเองจะต้องมีความเข้าใจและความพร้อม เวียดนามเป็นตลาดที่มีอนาคตดี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเข้าไปทำแล้วจะได้กำไรทันที มันอาจจะมีปัญหาบ้างในช่วงแรก นั่นเป็นแล้วเรื่องแน่นอนเพราะระบบการเงินของเวียดนามยังไม่พรั่งพรูเหมือนบ้านเรา ถ้าจะทำธุรกิจอะไรในเวียดนามควรจะมองการลงทุนระยะยาว อย่ามองสั้นๆ อย่างเช่นการทำอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้วยการนำวัตถุดิบที่มีในเวียดนามส่งออกขายต่างประเทศและข้อสำคัญควรหาพาร์ตเนอร์ให้ถูกต้อง"

ธุรกิจในเครือข่ายของกลุ่มทีเอ็น.
ชื่อบริษัท ประเภทธุรกิจ
ทีเอ็น.ลอนดรี แอนด์ ดรายคลีนนิ่ง รับซักรีดจากกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม
ทีเอ็น.ลอนดรี แอนด์ แอสโซซิเอท รับซักรีดจากกลุ่มลูกค้าอพาร์ทเม้นท์
ทีเอ็น.อินเตอร์ซัพพลาย (สิงคโปร์) ตัวแทนจัดหาสินค้าทั่วทุกมุมโลก
ทีเอ็น.แอมเท็ค ผลิตแอร์ยี่ห้อเอ็มเท็ค
ทีเอ็น.อินเตอร์เทรด ผลิตผ้าอนามัย
  ขายเครื่องจักรผลิตผ้าอนามัย
  นำเข้ายา
  รับเป็นที่ปรึกษาโครงการลงทุนในเวียดนาม
  ทำธุรกิจเรียลเอสเตท

ปัญหาหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องเผชิญคือค่าเงินด่องของเวียดนามที่ตกอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นราคาสินค้าจึงต้องมีการปรับกันตลอดเวลาเช่นกัน (ในระยะเวลา 3 ปี ค่าเงินด่องลดค่าลงจาก 3,700 ด่องต่อ 1 ดอลลาร์เป็น 11,000 ด่องต่อ 1 ดอลลาร์ในปัจจุบัน)

เถลิงศักดิ์ได้แนะนำวิธีง่ายที่สุดที่จะปลอดภัยจากความเสี่ยงที่จะเก็บเงินด่องไว้คือ การนำเงินด่องที่ได้มาซื้อสินค้าในเวียดนามเก็บไว้และเอาสินค้านั้นขายในอนาคตอย่างเช่นการซื้อวัตถุดิบแล้วส่งกลับมาขายในประเทศทไทย "ทุกคนต้องเร็วเสมือนความหวังของเวียดนามแข็งขึ้นก็คือ การที่อเมริกาจะยกเลิกกฎหมายห้ามค้ากับเวียดนาม และเวียดนามเองสามารถสร้างความเชื่อให้กับโลกภายนอก จะทำให้เวียดนามมีเงินตราต่างประเทศเข้าไปเกื้อหนุนมากขึ้น"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.