KEIRETSU ของมิตซูบิชิกรุ๊ประบบพึ่งพาโดยไม่เป็นเจ้าของ

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ในเมืองไทย เครื่องหมายการค้ารูป THREE DIAMOND ของมิตซูบิชิเป็น BRAND IMAGE ที่แข็งแกร่งมาก โฆษณาก็คุ้นหูคุ้นตามาแสนนาน แต่การบริหารผลิตภัณฑ์ต่างก็มีบริษัทแยกกันเป็นเอกเทศตามประเภทธุรกิจคือ

- บริษัท เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล ผู้ประกอบและขายรถยนต์ "มิตซูวิชิ" ถือหุ้นโดยบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น (เอ็ม เอ็ม ซี) แห่งญี่ปุ่น

- บริษัท ตรีเพชร อีซูซุ ผู้ผลิตและขายรถปิคอัพ "อีซูซุ" ส่วนหนึ่งถือหุ้นโดยบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทเทรดดิ้งคอมปานี

- บริษัทกันยงวัฒนา จำหน่ายและผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น แอร์ วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ฯลฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท มิตซูบิชิ อิเลคทริค

- บริษัท มหาจักรอุตสาหกรรม เป็นโรงงานผลิตนอตและสกรู

- บริษัท มหาจักรดีเวลลอปเมนท์ เป็นตัวแทนจำหน่ายของมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสทรี ที่ขายเฉพาะแอร์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ที่เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี แห่งญี่ปุ่น (เอ็ม เอช ไอ)

- บริษัท วรจักร อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ขายสินค้าออฟฟิศออโตเมชั่นและการสื่อสารคมนาคมเช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ เกี่ยวเนื่องกับบริษัท มิตซูบิชิ อิเลคทริค

- บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ ไทย-มิตซูบิชิ อินเวสต์เมนท์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน

"ถ้าจัดอันดับรายได้ผลิตภัณฑ์มิตซูบิชิในเมืองไทย รถยนต์ของเรามาเป็นอันดับหนึ่ง (ปี 2533 ประมาณ 16.617 ล้านบาท) ส่วนอันดับสองคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งบริษัท กันยงจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ และทางบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสทรี ก็เพิ่งเข้ามายังไม่มากเท่าไหร่" วัชระ พรรณเชษฐ์ กรรมการรองผู้จัดการบริษัท เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล เล่าให้ฟัง

จะสังเกตเห็นว่าภายใต้ชายคาของเครื่องหมายการค้ามิตซูบิชิ กิจการเหล่านี้ในไทยต่างมีการแข่งขันกันอย่างอิสระเสรีที่จะร่วมมือกันสนับสนุนหรือต่อสู้จนแพ้ชนะไปข้างหนึ่งได้ เช่นในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีการประมูลแข่งขันกัน ระหว่างรถมิตซูบิชกับรถอีซูซุ ขณะเดียวกันการร่วมมือระหว่างบริษัท มหาจักรที่ผลิตนอตและสกรูส่งให้รถยนต์มิตซูบิชิหรือพ่วงการขายแอร์มิตซูบิชิกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ก็มี

"การที่เรามีอะไรช่วยเหลือกันได้ ทำให้มีพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าแต่ละบริษัทต้องถือหุ้นใหญ่ของกันและกัน บางบริษัทเขาถือแค่ 1% หรือไม่ได้ถือด้วยซ้ำ บางครั้งแบงก์มิตซูบิชิอาจจะให้บริษัทรถยนต์อื่นกู้เงินได้ หรือมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ญี่ปุ่นไปขายรถยนต์ให้บริษัทอื่นที่ไม่ใช่มิตซูบิชิก็ได้ นั่นคือความเด่นของระบบ KEIRETSU" วัชระ พรรณเชษฐ์ เล่าให้ฟัง

KEIRETSU ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง เครือข่ายธุรกิจขนาดยักษ์ซึ่งแบ่งได้เป็นสองประเภทคือ หนึ่ง BANK CENTERED KEIRETSU หรือกลุ่มธุรกิจที่ประกอบด้วยธุรกิจหลัก 20-45 แห่ง ประสานกันขึ้นโดยมีธนาคารของกลุ่มเป็นแกนสำคัญเชื่อมโยงธุรกิจเหล่านี้เข้าด้วยกัน และ SUPPLY KEIRETSU ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจต่อเนื่องจนครบวงจรในแต่ละอุตสาหกรรม

ในญี่ปุ่น มิตซูบิชิกรุ๊ปเป็นกลุ่มอภิมหาทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นด้วย ยอดขายเกือบสองแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ประกอบด้วยเครือข่ายยักษ์ใหญ่ในกลุ่ม 45 บริษัท กระจายตามสาขาอุตสาหกรรมหนักด้านเครื่องจักรกล อู่ต่อเรือ บริษัทเคมี ผู้ผลิตแก้ว ผู้ผลิตรถยนต์ สถาบันการเงิน และเจ้าที่ดินรายใหญ่ที่สุดของโตเกียว

"ปีที่แล้วบริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ในญี่ปุ่นมีส่วนแบ่างตลาดรถยนต์ 10.1% ยอดขายประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 500,000 ล้านบาท ขายรถไป 130,000 คัน" วัชระเล่าให้ฟังอย่างชัดเจนถึงผลประกอบการ

ไม่มีบริษัทใดในกลุ่มของมิตซูบิชิกรุ๊ปจะถือหุ้นมากกว่า 10% ของอีกบริษัทหนึ่ง จึงไม่มีอำนาจบังคับใครได้หากไม่ยินยอมหรือให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า จึงไม่น่าแปลกใจหากพบว่าธุรกิจในเครือจะหันไปกู้เงินจากเชสแมนฮัตตันแบงก์ แทนที่จะกู้จากมิตซูบิชิแบงก์

นอกจากนั้นความผูกพันจากโครงสร้างแบบ KEIRETSU นี้ยังช่วยทำให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มธุรกิจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่ต้องใช้ระยะเวลานานนับสิบปีและเกิดผลพลอยได้ในเชิงการบริหารต้นทุนต่ำ (ECONOMIES OF SCALE)

ในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวของยักษ์ญี่ปุ่นรายนี้เปลี่ยนเป็นเกมรุกจากที่เคยอนุรักษ์นิยมตลอดมา เพราะแรงบีบบังคับจากการแข่งขันในตลาดโลกที่ทำให้มิตซูบิชิกรุ๊ปต้องเร่งพัฒนาธุรกิจต่างๆ เช่น ในอุตสาหกรรมรถยนต์ โตโยต้าซึ่งเป็นของกลุ่มธุรกิจมิตซุยหรือนิสสันที่อยู่ในกลุ่มฟูโย ล้วนนำหน้ารถยนต์มิตซูบิชิในตลาดโลก

ดังนั้น การกำหนดจุดยุทธศาสตร์การส่งออกรถยนต์ขนาดเล็กที่ประเทศไทยจึงเป็นเพียงความเคลื่อนไหวเล็กๆ จุดหนึ่งที่เชื่อมโยงต่อระบบทั้งโลกที่ระดมความร่วมมือสนับสนุนแบบ KEIRETSU ของมิตซูบิชิ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.