ในปี 2499 กนก ลี้อิสรระนุกูล ได้ชื่อว่าเป็น บุคคลที่เสียภาษีเงินได้บุคคลมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจนกระทั้งได้รับหนังสือสำคัญชมเชยจากจอมพล
ป.พิบูลสงคราม
กนกเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ผู้ก่อร่างสร้างตัวจากอาชีพช่างปะยางและซ่อมรถจักรยาน
โดยแต่ละวันต้องอาศัยร่มเงาใต้ต้นโพธิ์ย่านตลาดน้อยเป็นที่ทำมาหากิน จนกระทั่งเก็บหอมรอมริบเงินทองที่หามาได้
เป็นเงินทุนเซ้งห้องแถวใช้ชื่อว่า "ห้างเซ่งง่วนฮง" ดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจัรยาน
"ราเล่ห์" ที่มีชื่อเสียงของอังกฤษตั้งแต่ปี 2462 ต่อมาได้รับพระราชทานนามบริษัทใหม่ชื่อ
"บริษัท สิทธิผล 1919"
ครอบครัวของกนกมีโสภาเป็นคู่ชีวิต และมีลูกชายลูกสาวสี่คนคือ ปริญญา (ยี่เสี่ย)
วิทยา (ซาเสี่ย) กัลยาณี (ซาโกวเนี้ย) และศรีวัฒนา แต่กว่าที่กนกจะมีลูกชายคนแรกก็เมื่ออายุ
31 ปี เขาได้รับเลี้ยงเด็กชายคนหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรมด้วย (เรียกกันว่าตั้วเสี่ยซึ่งไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวในกิจการ)
ความมั่นคงของกิจการได้ขยายบทบาทจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถสองล้อกลายเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิในประเทศไทย
โดยในปี 2504 ก่อตั้งบริษัทสิทธิผล มอเตอร์ขายรถมิตซูบิชิสามล้อ "ลีโอ"
และรถยนต์มิตซูบิชิ "โคลท์" รุ่นแรก
ในปี 2507 กนกได้ร่วมลงทุนกับญี่ปุ่น "มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี"
ซึ่งขณะนั้นฝ่ายรถยนต์ยังเป็นแค่หน่วยงานหนึ่ง ภายหลังได้แยกตัวออกมาเป็นบริษัท
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น"
กนกได้ตั้งบริษัทสหพัฒนายานยนต์ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เพียงสองปีต่อมา
รถกระบะคันแรกของมิตซูบิชิก็ปรากฏโฉมขึ้น และกลายเป็นต้นธารของการประกอบรถยนต์นั่งรุ่นต่างๆ
ตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมา
ขณะที่กนกทำงานอย่างหนักบุตรชายทั้งสองคือปริญญาและวิทยาก็ได้เข้ามาช่วยดูแลกิจการในยุคต้นๆ
ส่วนกัลยาณีและศรีวัฒนาซึ่งเป็นบุตรสาวยังไม่ค่อยมีบทบาทด้านการบริหารมากนัก
กัลยาณีได้สมรสกับอนันต์ พรรณเชษฐ์และมีบุตรชายคนแรกเมื่อเธออายุได้เพียง
24 ปี
หลังจากกนกได้ถึงแก่กรรมขณะที่อายุได้ 74 ปี เพราะไตไม่ทำงานและเป็นโรคเบาหวานในปลายปี
2516 ภารกิจทั้งหมดก็ตกทอดแก่ลูกหลานดูแล (ดูตาราง "ใครเป็นใครในตระกูลลี้อิสสระนุกูล"
ประกอบ)
ปัจจุบันปริญญา วิทยา ลี้อิสสระนุกูลและกัลยาณี พรรณเชษฐ์ต่างก็แบ่างอำนาจความรับผิดชอบดูแลอาณาจักรธุรกิจของตนเองกันอย่างชัดเจน
แต่การถือหุ้นระหว่างกันและกันยังคงมีอยู่ตามปกติ โดยสายทางกัลยาณี พรรณเชษฐ์และบุตรดูแลกิจการรถยนต์มิตซูบิชิ
ซึ่งมีบริษัทหลักคือ บริษัท เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลและกิจการในเครือในกลุ่มอีก
13 แห่ง
ส่วนสายทางด้านวิทยา ลี้อิสสระนุกูลและบุตรธิดาสี่คนคือ ทนง อภิชาติ พิมพ์ใจ
และพรทิพย์ จะดูแลกิจการดั้งเดิมของครอบครัว คือ บริษัทสิทธิผล 1919 บริษัท
อีโนเว รับเบอร์ (ตั้งปี 2512) โรงเรียนกนกเทคโนโลยี (ตั้งในปี 2508 แต่ปัจจุบันให้คนอื่นเข้าไปทำ)
บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า บริษัท ไทยเซต้าสตรีลอินดัชเทรียล บริษัท โทเทลและบริษัทเดอะสตูดิโอ
คอร์ปอเรชั่น
"สไตล์การบริหารของเราะพยายามไม่เอาพี่ๆ น้องๆ เข้ามาคลั่กในบริษัทเยอะๆ
การบริหารแยกกันเพราะว่าจะได้ไม่มีปัญหา แต่เราก็ยังถือหุ้นข้ามไปข้ามมาในลักษณะบริษัทในเครือ"
วัชระ พรรณเชษฐ์ บุตรชายของกัลยาณีที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ในบริษัท
เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลเล่าให้ฟังถึงการบริหาร
ในบริษัท เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล บทบาทเด่นในเชิงการบริหารงานภายในและติดต่อภาครัฐบาล
กัลยาณี พรรณเชษฐ์ จะมีมากกว่าปริญญา ลี้อิสสระนุกูล
อำนาจการลงนามซึ่งเป็นกรรมการผู้ลงชื่อผูกพันตกเป็นของสามแม่ลูกตระกูลพรรณเชษฐ์คือ
กัลยาณี วัชระและวัชรี พรรณเชษฐ์ ซึ่งจบบัญชีจุฬาและบริหารธุรกิจ ทั้งสามอยู่ในตำแหน่งประธานบริษัทและกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ที่รับผิดชอบสายงานสำคัญๆ
เช่นการตลาดและการเงินต้นทุน ขณะที่ปริญญาดำรงตำแหน่งในฐานะประธานกรรมการบริษัทที่ดูแลนโยบายและมีลูกชายสองคนคือ
พิพัฒน์และชยุตม์ (เดิมชื่อพิชัย) บริหารฝ่ายผลิตและฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์
กัลยาณีเป็นสตรีนักบริหารที่มีระเบียบวินัยเหล็ก ทุกเช้า "ซาโกวเนี้ย"
จะเดินตรวจตราความเรียบร้อยทั่วบริเวณ ก่อนจะเดินขึ้นไปทำงานบนชั้น 3 ของตึกสำนักงานใหญ่
ทุกวันนี้แม้กัลยาณีจะละวางตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทขึ้นไปสู่ตำแหน่งประธานบริษัท
เพราะ มร.อูเอดะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้แทนแต่นโยบายใหม่ของบริษัทที่กัลยาณี
สตรีวัยเหล็ก 54 ปีผู้นี้พยายามผลักดันในโครงการสถานีขนส่งสี่มุมเมืองให้บังเกิดขึ้นบนที่ดินที่กัลยาณีกว้านซื้อไว้ได้ถึง
2 พันไร่ เป็นภารกิจการลงทุนที่จะขยายเข้าไปในกิจการคมนาคมภายใต้ชื่อบริษัทใหม่ว่า
"บริษัทรังสิต สิทธิผล"
ในบรรดาทายาทรุ่นที่สามของตระกูลลี้อิสสระนุกูล เป็นที่น่าจับตาถึงบทบาทของวัชระ
พรรณเชษฐ์ หรือ "คุณโด่ง" ทายาทธุรกิจหมื่นล้านที่ขณะนี้ดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่
บริษัท เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล วัชระเป็นผู้บริหารหนุ่มโสดวัย 30 ปี ที่มีอายุตนเท่ากับอายุบริษัท
ชีวิตที่ถูกกำหนดแล้วว่า เขาคือผู้สานต่อภารกิจยิ่งใหญ่นี้จากมารดา วัชระรู้จักตนเองดีว่าเขาควรจะเลือกเรียนอะไรที่จะสอดคล้องกับพื้นฐานกิจการครอบครัว
ไม่ใช่การเรียนหมอ..ซึ่งวัชระบอกว่า เขาเลือกเพราะเฮตามเพื่อนแต่ก่อนสอบสองอาทิตย์เขากลับขีดฆ่าทิ้งเพราะทนไม่ได้กับการเห็นเลือดมากๆ
จึงเปลี่ยนจาก จฬ.1 คณะแพทย์เป็น จฬ.16 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แทน
ภูมิหลังการศึกษาของวัชระจบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ (สาขาเครื่องกล) จุฬาฯ
ปริญญาโทบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยไมอามี่ สหรัฐอเมริกาและปริญญาเอกบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยแปซิฟิค เวสเทอร์น สหรัฐฯ
ไม่ใช่เรียนวิศวะมาแล้วต้องอยู่ที่นี่ ถ้าเรามีความสามารถพอทำงานที่ไหนก็ได้"
วัชระเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ต้องพิสูจน์ด้วยการเข้าไปทำงานกับบริษัทไครสเลอร์
มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น สหรัฐอเมริการในตำแหน่ง IMPORT MARKETING ANALYST แผนก
IMPORT OPERATION ในอดีตระหว่างเรียนจุฬาฯ วัชระได้ใช้ประสบการ์ฝึกงานภาคฤดูร้อนบริษัท
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ญี่ปุ่นด้วย
"ทำได้สองปี แต่พอมาถึงจุดหนึ่งแล้วมีโครงการส่งออกรถยนต์เกิดขึ้นที่นี่
ผมจำเป็นต้องกลับมารับผิดชอบ ไม่งั้นอยู่อเมริการจนถึงตอนนี้" วัชระเล่าให้ฟัง
เมื่อกลับเมืองไทยในปี 2529 ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจต่างประเทศและฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์
บริษัท เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผล
อาณาจักรธุรกิจของตระกูลลี้อิสสระนุกูล และพรรณเชษฐ์ในชั่วอายุคนที่สามจึงมีความเป็นปึกแผ่นที่ครอบคลุมสู่อุตสาหกรรมครบวงจรยิ่งกว่าที่ผ่านมา
และหน้าที่ของการรักษาและแผ่ขยายอาณาจักรให้กว่างไกลชิงความเป็นหนึ่งก็ตกเป็นหน้าที่ของคนรุ่นที่สามของตระกูลลี้อิสสระนุกูลนี้เอง
!