นักวิเคราะห์หั่นเป้าดัชนี99จุด


ผู้จัดการรายวัน(8 สิงหาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

สมาคมนักวิเคราะห์ เผยผลสำรวจนักวิเคราะห์ แห่ลดเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้เหลือ 828 จุด ลดลง 99 จุด จากการสำรวจเดือนมิ.ย.ที่ 927 จุด ปัจจัยจากการเมืองไม่แน่นอนมีความเสี่ยงสูง เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น ชี้หากมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ส่วนใหญ่มองเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้น จากการเมืองชัดเจนลดความขัดแย้ง-รุนแรง พร้อมค้านทำรัฐประหาร พร้อมแนะนำรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหากผลงานดี ส่งผลช่วยลดปัญหาการเมือง

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เปิดเผยถึง ผลการสำรวจนักวิเคราะห์ครั้งที่ 4/2551 เกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2551 ว่า มีบริษัทหลักทรัพย์ร่วมแสดงความคิดเห็นรวม 22 แห่ง ซึ่งได้ปรับลดดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 828 จุด ลดลง 99 จุด จากการสำรวจวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมาที่ 927 จุด และดัชนีต่ำสุดปีนี้อยู่ที่ 628 จุด

โดยปัจจัยที่สนับสนุนการปรับลดดัชนีตลาดหุ้นไทยครั้งนี้ ประกอบด้วย ปัจจัยทางการเมืองที่มีความขัดแย้ง ทำให้เกิดความแน่นอนและมีความเสี่ยงที่สูง เรื่องการที่รัฐบาลจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และด้านกลุ่มพันธมิตรมีการต่อต้าน อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) และราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูง

สำหรับปัจจัยบวกที่จะส่งผลเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยในช่วง 5 เดือนนี้ นักวิเคราะห์ให้น้ำหนักสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1. ราคาน้ำมันเริ่มมีแนวโน้มลดลง จากในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 147 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เหลือ 118 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 2. อัตราเงินเฟ้อที่น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มที่ปรับตัวลดลง 3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 4. ปัจจัยทางการเมืองหากมีการคลี่คลายปัญหาต่างๆ ได้ และ 5. อัตราดอกเบี้ยใกล้ถึงสุดสูงสุด ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนครึ่งปีหลังมีแนวโน้มดีและเติบโตได้ และแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าและอาจทรงตัวในระดับที่อ่อนตัว

พร้อมกันนี้ แบบสำรวจได้สอบถามถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปี 51 พบว่า ประเด็นแรก เรื่องการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ นักวิเคราะห์ 55% ให้ความเห็นว่าจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้น เนื่องจากจะทำให้การเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น และน่าจะช่วยลดความขัดแย้งและความรุนแรงได้ ส่วนอีก 27% มองว่าจะส่งผลลบ เพราะเกิดความไม่ต่อเนื่องทางนโยบายภาครัฐ สิ้นเปลืองงบประมาณ และสัดส่วน 4% มองว่าจะส่งผลบวกระยะสั้น เพราะลดความรุนแรง แต่ระยะยาวจะส่งผลลบเพราะนักลงทุนขาดความมั่นใจ ขณะที่อีก 14% มองว่าไม่มีผลใดๆ เนื่องจาก ตลาดคาดการณ์อยู่แล้ว

ประเด็นที่สอง เรื่องการยุบพรรคแกนนำรัฐบาล นักวิเคราะห์ สัดส่วน 37% คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้น เพราะนักการเมืองที่เหลือสามารถย้ายพรรคหรือตั้งพรรคใหม่ได้ สัดส่วน 32% คาดว่าจะส่งผลบวกจากเชื่อว่าว่าจะลดความรุนแนงและความขัดแย้งได้ในระยะสั้น ทำให้การเมืองมีความชัดเจน สัดส่วน 27% มองว่าจะเป็นปัจจัยล จากเกิดความไม่ชัดเจนและอาจส่งผลต่อการบริหารงานของภาครัฐได้ ส่วนอีก 4% ไม่มีความเห็น

ประเด็นที่สาม การรัฐประหาร นักวิเคราะห์ทั้งหมด มองตรงกันว่าจะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นไทย เนื่องจาก นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และต่างชาติไม่ให้การยอมรับ และเกรงว่าสถานการณ์จะไม่ราบรื่นเหมือนกับครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งนักวิเคราะห์ไม่เห็นด้วยที่จะมีการทำรัฐประหาร

นายสมบัติ กล่าวว่า ประเมินดอกเบี้ย RP1 วันสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 3.82% ส่วนค่าเงินบาทสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 33.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นักวิเคราะห์คาดอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปีนี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 21.3% จากการสำรวจครั้งก่อนที่ 19.7% เนื่องจาก ผลประกอบการไตรมาส1และไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนออกมาดี และเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังงบจะออกมาดีจากน้ำมันลดลง และการเติบโตของจีดีพียังดีอยู่ที่ระดับ 5% ซึ่งเหมือนกับการสำรวจครั้งก่อน

ทั้งนี้ หุ้นที่มี EPS เติบโตสูงสุดคือ กลุ่มธนาคารจะมี EPS ที่เฉลี่ย 557.9% เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่ 466.6% อันดับ 2 กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มีEPSเฉลี่ยโต 25.7% ลดลงจากครั้งก่อนที่ 28.1% อันดับ 3 กลุ่มเดินเรือเฉลี่ยที่ 19.9% เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนที่ 12.2% โดยหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำในการลงทุนที่ตรงกันหลายแห่ง เช่น ADVANC, BBL, KBANK, PTT, PTTEP และ SCB

สำหรับนักลงทุนระยะยาวนักวิเคราะห์แนะนำให้เตรียมหาจังหวะทยอยซื้อสะสมหุ้นหลักที่มีปัจจัยฐานดี มีปันผลสูง และราคาต่ำ ส่วนนักลงทุนระยะสั้น เมื่อดัชนีลดลงให้ซื้อและปรับตัวขึ้นได้ขาย และควรวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานก่อนการลงทุน และติดตามข้อมูลสถานการณ์การลงทุนอย่างใกล้ชิด

ส่วนคำแนะนำรัฐบาล ควรเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นอับดับแรก มากกว่าการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ซึ่งหากมีการทุ่มเททำเรื่องดังกล่าวก็จะส่งผลดีช่วยแก้ปัญทางการเมืองได้เช่นกันหากผลงานออกมาดี มีการบริหารงานที่โปร่งใน สร้างความสมานฉันท์ในชาติลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.