สัญญาณความตื่นตัวของนักลงทุนธุรกิจต่างชาติที่เห็นเมืองไทยเป็นตลาดใหม่ด้านเทคโนโลยีรักษาสภาพแวดล้อมเริ่มก่อรูปจริงจังขึ้นเมื่อ
22-23 กรกฎาคม 2534 ในงานสัมมนาระหว่างประเทศระดับภูมิภาคอาเซียนเรื่อง ธุรกิจกับสิ่งแวดล้อม
(ASEAN Regional Forum on Business and Environment) ซึ่งมีสภาอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมโลกเป็นตัวจักรสำคัญร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็น
และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
แม้หัวใจของการสัมมนาครั้งนี้ จะต้องการผลักดันให้ภาคธุรกิจในภูมิภาคนี้กำหนดนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างสอดคล้องสมดุลกับสภาพแวดล้อมโลก
เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดขององค์การสหประชาชาติ "EARTH SUMMIT"
ที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2535 แต่งานวิจัยในหัวข้อเรื่องตลาดธุรกิจสิ่งแวดล้อมในอาเซียนที่มีการเสนอในงานนั้น
ถือได้ว่ามีความสำคัญเชิงแนวโน้มในอนาคตกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก
หลักจากนั้นในวันที่ 16 สิงหาคม 2534 EIICHI NAKAO รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศและอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น
(MITI) ก็ได้เดินทางมาเมืองไทย เพื่อกล่าวสุนทรพจน์อย่างเป็นทางการเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของเอชียในศตวรรษที่
21 พร้อมกับให้ข้อเสนอเกี่ยวกันโยบายใหม่ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมเอาไว้
รวมทั้งเสนอโครงการช่วยเหลือต่อภูมิภาคเอเชียอย่างเป็นรูปธรรมด้วยในนามของโครงการ
GREEN AID PLAN
16-21 กันยายน 25354 ภาคปฏิบัติครั้งแรกของ GREEN AID PLAN ก้าวรุกอย่างรวดเร็วด้วยการจัดสัมมนาเรื่องเทคโนโลยีการควบคุมน้ำเสียอุตสาหกรรม
โดยที่บรรดาวิทยากรผู้บรรยายล้วนเป็นอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น
ประมาณ 1 เดือนให้หลังในวันที่ 29 ตุลาคม 2534 ศูนย์ส่งเสริมการค้าการลงทุนไทย-สหรัฐอเมริกาหรือ
THAI-PITO ก็ได้จัดสัมมนาลักษณะเดียวกันขึ้นว่าด้วยเรื่องเทคโนโลยีพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา
วิทยากรงานหนี้คือบรรดาผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมชาวอเมริกันจากบริษัทเอกชน
12 บริษัท
กล่าวได้ว่างานสัมมนาด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เมืองไทยได้กลายเป็นเสมือนเวทีแห่งการเปิดแนวรบใหม่ระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจากคนละซีกโลก
ในเดือนธันวาคมปีนี้ องค์การศูนย์การค้าญี่ปุ่น หรือ JETRO ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
GREEN AID PLAN ยังได้วางแผนที่จะจัดสัมมนาระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นขึ้น
เพื่อให้ได้ถกปัญหาวางนโยบายเรื่องการค้าและสิ่งแวดล้อมกันโดยตรงอีกด้วย
ส่วนเดือนมกราคมปีหน้านั้นคือเวลาที่ JETRO ตั้งเป้าไว้ว่าจะเปิดศูนย์เทคโนโลยีการพลังงานและสิ่งแวดล้อมในที่ทำการ
JETRO กรุงเทพฯ เป็นการย้ำว่าจะลงหลักปักฐานที่นี่อย่างแน่นอน
องค์การศูนย์การค้าญี่ปุ่น หรือ JANPAN EXTERNAL TRADE ORGANIZATION มีชื่อย่อว่า
JETRO เป็นองค์การที่ดำเนินนโยบายและได้รับการสนับสนุนจาก MITI เข้าสู่เมืองไทยมานานถึง
32 ปีแล้ว งานที่ทำส่วนใหญ่คือการประสานงานร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ของญี่ปุ่น
เช่น สมาคมทุนฝึกอบรมเทคนิคโพ้นทะเล (AOTS) และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางสิ่งแวดล้อมนานาชาติ
(ICETT) ฯลฯ
ส่วนศูนย์ส่งเสริมการค้าการลงทุนไทย-สหรัฐอเมริกา หรือ เรียกสั้นๆ ว่า THAI-PITO
นั้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ASEAN-U.S. PRIVATE INVESTMENT AND TRADE OPPORTUNITIES
(PITO) ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของภาคเอกชนในสหรัฐอเมริกากับประเทศในอาเซียน
6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนิเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย โดยมี
ASEAN U.S.BUSINESS COUNCIL (AUSBC) ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารและ UNTIED STATES
AGENCY FOR INTERNATIONAL DEVELOPMENT (USAID) เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงิน
แม้ THAI-PITO จะได้รับการสนับสนุนจาก USAID แต่การบริหารงานมีลักษณะคล้ายๆ
กับบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนคือ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่เชื่อมให้ธุรกิจเอกชนมาพบปะและทำธุรกิจร่วมกันหรือให้บริให้บริการด้านข้อมูลข่าวสาร
ซึ่งผลประโยชน์ที่ THAI-PITO จะได้รับก็คือค่าบริการอำนวยความสะดวกต่างๆ
ส่วน JETRO เปรียบเสมือนพี่เลี้ยงที่คอยอุ้มชูเด็กที่อยู่ในความดูแลให้เติบโตแข็งแรงในรูปแบบของการช่วยเหลือ
ที่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการจัดสัมมนาถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือให้ทุนฝึกอบรมศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น
โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ 75% แต่มีข้อแม้ว่าบริษัทที่อยู่ในความดูแลต้องเป็นบริษัทญี่ปุ่นหรือหน่วยงานรัฐบาลของประเทศที่
JETRO มีสาขาเท่านั้น
ก่อนหน้าที่จะเกิด GREEN AID PLAN รัฐบาลญี่ปุ่นเคยมีโครงการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่มาก่อนแล้วชื่อว่า
โครงการ NEW AID PLAN โครงการนี้ดำเนินงานย่างเข้าปีที่ 5 แล้ว และยังคงนโยบายเดิมอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลง
ส่วน GREEN AID PLAN เป็นโครงการที่เข้ามาช่วยเสริมการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมให้สมดุลยกับสภาพแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ซึ่งรัฐมนตรีไออิชิ นากาโอะ มั่นใจว่าญี่ปุ่นมีความเข้าใจและช่วยแก้ปัญหามลภาวะได้อย่างแน่นอน
เพราะเคยผ่านบทเรียนความสูญเสียในครั้งอดีต 30 ปีก่อนที่มุ่งเน้นการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจมากจนเกินไปจนส่งผลให้กระทบต่อสภาพแวดล้อมมากมายมหาศาลมาแล้ว
"เมืองไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ไม่มีใครซีเรียสเรื่องสภาพแวดล้อมมากเท่านี้
และอีกอย่างก็เป็นเรื่องยากที่จะเริ่มพัฒนาด้านเศรษฐกิจควบคุ่กับการคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม
ทุกคนมุ่งแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ GDP เพิ่มสูงขึ้น ให้คนไทยมีรายรับเฉลี่ยสูงขึ้น
ฉะนั้นช่วงเวลานี้มีความตื่นตัวมากขึ้นเราก็ควรเริ่มจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมทันที"
ชิโร มิซูทานิ ประธานของเจโทรกรุงเทพฯ บอกถึงเหตุผลที่ไม่ได้เริ่งโครงการ
GREEN AID PLAN พร้อมๆ กับ NEW AID PLAN ในตอนนั้น
ถึงแม้ THAI-PITO จะมีอายุห่างจาก JETRO ถึง 30 ปี แต่ก็เริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางพอควรด้วยการเสนองานวิจัยต่อที่ประชุมสัมมนาธุรกิจกับสิ่งแวดล้อมซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่า
ในภูมิภาคอาเซียนนี้ไทยมีศักยภาพทางตลาดธุรกิจสิ่งแวดล้อมสูงเป็นที่ 2 รองจากสิงคโปร์
ควรอย่างยิ่งที่จะเปิดตลาดในด้านระบบกำจัดกากสารพิษ ตลอดจนการบริการให้คำปรึกษาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย
ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวเป็นข้อมูลจากการสำรวจเมื่อปลายปี 2533
ทั้ง THAI-PITO และ JETRO ต่างก็มีจุดมุ่งหมายคล้ายคลึงกันคือต้องการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในทุกๆ
ด้านให้กว้างขวางขึ้น และในปีนี้นโยบายข้อหนึ่งที่สอดคล้องกันคือ ส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน
แก้ไข และบำบัดมาลภาวะต่างๆ
สิ่งที่ JETRO รับสนองเดินตามนโยบายของ MITI เรื่อง GREEM AID PLAN นั้นประกอบไปด้วยหัวข้อสำคัญ
3 ประการ คือ
1. การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพลังงานและสิ่งแวดล้อมเช่นการสัมมนาและการจัดฝึกอบรม
2. ความร่วมมือทางด้านการเงิน เช่น การให้เงินกู้ในอัตราที่ต่ำสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งใจติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันมลภาวะ
3. จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีการพลังงานและสิ่งแวดล้อม
"ผมคิดว่าสิ่งที่ไทยได้นั้นญี่ปุ่นก็ได้ด้วย เป็นการให้ความช่วยเหลือในลักษณะของการเมืองนั่นเอง
คำว่าการเมืองในที่นี่หมายความว่า คนไทยหรือหลายๆ ประเทศมักจะบอกว่าญี่ปุ่นมากอบโกยประโยชน์ในแต่ละภูมิภาค
รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามหาทางให้ประเทศต่างๆ เกิดความรู้สึกว่าไม่ใช่ญี่ปุ่นเป็นผู้รับฝ่ายเดียว
แต่เป็นผู้ให้ด้วย ฉะนั้นประเด็นเรื่องความไม่จริงใจ ผมคงตอบไม่ได้มากนัก
ฝ่ายไทยเราต้องคิดต้องพิจารณาเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดสิ่งใดที่รู้สึกว่าเสียเปรียบก็หลีกเลี่ยงเสีย"
วิชัย พยัคฆโส นายกสมาคมศิษย์เก่าศูนย์วัฒนธรรมเอเชียและทุนฝึกอบรมเทคนิคโพ้นทะเล
กล่าวทิ้งท้ายไว้ให้คิด
ในสายตาของต่างชาติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของไทยกำลังเป็นตลาดที่น่าสนใจ
แต่สำหรับคนไทยการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมย่อมไม่ได้มีความหมายเพียงแค่นั้น