ยุคนี้เป็นยุคสีเขียว ความตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ตั้งดจทย์ใหญ่ให้กับภาคอุตสาหกรรมโดยไม่ตั้งใจ
ทว่าเป็นโจทย์ที่ไม่อาจละเลยเพราะตลอด 3 ทศวรรษแห่งการเดิบโตที่ผ่านมาของอุตสาหกรรมได้บั่นทอนความสมบูรณ์และงดงามของสภาพดิน
น้ำ อากาศลงอย่างขนานใหญ่ ทุกฝ่ายดูจะเห็นพ้องต้องกันว่า เวลาแห่งการแก้ไขมาถึงแล้ว
มาตรการและยุทธวิธีสารพัดถูกคัดสรรขึ้นมามากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนั้นนับเป็นความหวังที่ดี
แต่จะสำเร็จลุล่วงถึงขนาดที่ทำให้อุตสาหกรรมกับการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ก้าวเดินไปอย่างควบคู่และแนบแน่นได้หรือไม่
ภาพความพยยามจากอดีตถึงปัจจุบันคงจะชี้ถึงแนวโน้มของทิศทางได้บ้างส่วนผลจริงนั้นก็ยังต้องรอดูกันต่อไป
ไม่มีทางสำเร็จหรอกเพราะทำงานไม่ครบวงจร อย่างเรื่องที่จะย้ายโรงงานย้ายได้อย่างไร
ค่าใช้จ่ายเท่าไร แล้วลูกค้าที่จะหายไปหมดใครรับผิดชอบ ซ้ำไม่ใช่ว่าย้ายแล้วไม่ต้องดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม
ก็ต้องดูแลอยู่ดี อาจจะแพงขึ้นอีก…"
คำทำนายของแหล่งข่าวคนหนึ่งในวงการอุตสาหกรรมนี้ดูคล้ายจะเป็นการมองโลกในแง่ร้ายไปหน่อย
แต่ก็คาดการณ์เอาจากสภาพปัญหาจริงที่รู้เห็นกันอยู่ในวงการ
นโยบายการโยกย้ายโรงงานขนาดกลางและเล็กแบ่งตามประเภทเข้าไปรวมกลุ่มกันอยู่ในที่เดียวกัน
เพื่อง่ายต่อการควบคุมด้านมลพิษให้ถูกต้องนับได้ว่าเป็นความพยายามทางหนึ่งของรัฐบาล
ที่เริ่มต้นคำนึงถึงการพิทักษ์สภาวะแวดล้อมอย่างจริงจัง
ความพยายามนี้ไม่ได้เพิ่งปรากฏออกมาในรูปแบบนี้เพียงอย่างเดียว ยังมีอีกหลายหลากรูปแบบที่ทำมาก่อนหรือพร้อมๆ
กันในระยะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอแก้กฎหมายโรงงานเพิ่มอำนาจให้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรมและกรมโรงงานอุตสาหกรรม
เพื่อการดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การเสนอแก้กฎหมายสิ่งแวดล้อมให้สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจจัดการกับโรงงานที่ก่อมลพิษได้
หรือการสถาปนากองตรวจสอบสิ่งแวดล้อมโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นมาในกรมโรงงานฯ หรือการดำริตั้งกองทุนพัฒนาสิ่งแวดล้อม
ฯลฯ
เหล่านี้เป็นนโยบายที่มีเป้าประสงค์อันเดียวกันคือ เพื่อก้ไขหรือบรรเทาปัญหามลภาวะที่เกิดจากอุตสาหกรรม
แต่ที่นโยบายอื่นๆ ไม่ค่อยจะมีเสียงสะท้อนกลับมามากเท่ากับนโยบายย้ายโรงงานอาจเป็นเพราะว่ารูปแบบอื่นๆ
นั่นมีลักษณะเป็นนโยบายเชิงนามธรรมมากกว่า ตลอดจนไม่ค่อยจะกระทบกับนักอุตสาหกรรมโดยตรงเท่าไรนัก
โดยเฉพาะการกระทบโดยตรงทางด้านการเงิน
จุดอ่อนใหญ่ของนโยบายการย้ายโรงงานนั้นอยู่ที่ว่า เอกชนเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมต้อง
"จ่าย" ในอัตราค่อนข้างสูงจนเกินไป ทำให้แนงคัดค้านและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามาพลอยจะสูงและดังไปด้วย
ปัญหาที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ เรื่องของที่ดินแห่งใหม่ที่หาไม่ได้ง่ายๆ และยังต้องมีข้อพิจารณาด้านราคา
ปัญหาสาธารณูปโภค สาธารณูปการว่ามีความพร้อมเพียงใด ปัญหาการต้องหาแรงงานใหม่ที่อาจจะขาดความชำนาญในงาน
มีคุณภาพไม่เหมาะสมหรืออาจเลยเถิดไปถึงการต้องหาตลาดขายสินค้าใหม่ ฯลฯ เหล่านี้คือปัญหาอันไม่น่าพิสมัยอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุน
อย่างไรก็ตามแม้จะมีจุดอ่อนอยู่มากจนหลายคนกล่าวว่า นโยบายนี้ไม่มีความสมเหตุสมผลในทางปฏิบัติแต่การคิดย้ายโรงงานนั้นก็มีสาเหตุที่มา
ที่มีน้ำหนักไม่น้อยทีเดียว อีกทั้งได้มีส่วนสร้างให้เกิดการแสวงหาวิธีแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจังมากขึ้น
การพัฒนาอุตสาหกรรมเมื่อยุคเริ่มแรกพร้อมๆ กับการถือกำเนิดขึ้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ
(ยังไม่มีคำว่าสังคม) เป็นเรื่องจองการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า ตอบสนองความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก
ซึ่งหมายถึงว่าโครงสร้างของอุตสาหกรรมสมันนั้นก็เป็นเรื่องของการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายนั่นเอง
กระบวนการผลิตระดับนี้ทิ้งกากเสียออกมาทั้งในรูปของการปนเปื้อนกับน้ำ ปนเปื้อนในอากาศ
และในรูปของเสียที่ไม่มีอันตรายมากนัก เพราะเป็นของเสียประเภทสารอินทรีย์อันย่อยสลายได้
ประกอบกับการที่จำนวนสถานประกอบการยังมีน้อยและตั้งกระจัดกระจายกัน ถึงแม้มีมลพิษออกสู่ภายนอกกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติก็ยังพอที่จะรับมืออยู่
จึงไม่เคยมีการนึกถึงปัญหาทางสิ่งแวดล้อมกันเลยในสมัยนั้น นอกจากเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมไปให้เต็มที่เท่านั้น
"ทุกคนคิดว่าสิ่งแวดล้อมมีความสามารถในการย่อยสลายหรือดูดกลืนของเสียต่างๆ
ได้ก็ปล่อยทิ้งให้เป็นภาระของสิ่งแวดล้อมไป ในการวางแผนอุตสาหกรรมไม่ได้คิดถึงผลกระทบด้านนี้
คิดแต่ว่าทำอย่างไรจึงจะผลิตได้ถูกที่สุด ตรงนี้เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจด้วย
การแข่งขันสูงมาก ถ้าคนหนึ่งทำอีกคนไม่ทำก็ไม่เท่าเทียม ไม่มีใครยอมทุกคนผลักภาระออกสู่ส่วนรวม"
ศุภวิทย์ เปี่ยมพงษ์ศานต์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษแห่งสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกล่าว
จากการเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมที่ดำเนินไปอย่างสัมฤทธิผลทั้งในเชิงปริมาณและโครงสร้างการผลิต
เป้าหมายที่พัฒนาไปจากการทดแทนการนำเข้าสู่การส่งเสริมการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันนั้นได้ทำให้การอุตสาหกรรมขยายตัวโดยรอบด้าน
จากข้อมูลของกรมโรงงาน จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบการจากกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อปี
2512 มีทั้งสิ้น 631 โรง ได้เพิ่มขึ้นเป็น 19,691 โรง ในปี 2522 และเมื่อถึงปี
2532 ก็ได้เพิ่มขึ้นอีกเป็น 51,500 โรง คิดเป็นอัตราเพิ่มสูงประมาณ 80 เท่าในระยะเวลาเพียง
20 ปี
ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแง่ประเภทอุตสาหกรรมก็คือ แต่เดิมกิจการส่วนใหญ่จะเป็นประเภทที่ทำการผลิตเกี่ยวกับอาหาร
เสื้อผ้า สินค้าอุปโภคบริโภค แต่ภายหลังกิจการที่เกี่ยวกับการผลิตโลหะ สารเคมี
เครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์การขนส่ง ฯลฯ ประเภทของการผลิตสินค้าขั้นกลางและขั้นพื้นฐานเหล่านี้ได้เพิ่มจำนวนขึ้นรวมกันมีถึงประมาณ
8,000 โรง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก
อุตสาหกรรมที่เป็นการผลิตในขั้นกลางเหล่านี้นี่เองที่เป็นตัวสร้างสภาพมลภาวะให้เข้มข้นขึ้นเพราะของเสียที่ทิ้งออกมาในรูปต่างๆ
นั้นปนเปื้อนด้วยสารโลหะหนักที่เป็นอันตรายมากกว่าสารอินทรีย์หลายเท่าตัว
พร้อมๆ กับที่อุตสาหกรรมเติบโตขึ้นนับเท่าทวีคูณ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากอุตสาหกรรมในเมืองไทยก็ได้เริ่มต้นปรากฏออกและยิ่งทวีความรุนแรงเรื่อยมาเสมือนหนึ่งเป็นทางที่ขนานกันไป
ยิ่งการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น อุตสาหกรรมหนักก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่องความวิกฤตของปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งเด่นชัดไม่ว่าจะมองด้วยแง่มุมทางสถิติหรือด้วยการสัมผัสรับรู้
สภาพน้ำที่เน่าเสียมากขึ้นไม่เฉพาะมีสารอินทรีย์ใรปริมาณมากเท่านั้นแต่ยังมีสารพิษด้วย
จากการประมาณการของสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ชี้ว่าในปีนี้มลภาวะของน้ำที่ปล่อยจากอุตสาหกรรมนั้นจะมี
(BOD) BIOLOGICAL OXIGEN DEMAND สูงถึง 500,000 ตัน ส่วนใหญ่มาจากโรงงานน้ำตาล
สุรา เบียร์ เครื่องดื่ม และกระดาษ
ส่วนสารพิษที่เจือปนกับน้ำเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมประเภทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุประเภทเหล็ก โลหะ แบตเตอรี่ โรงงานโซดาไฟ และโรงฟอกย้อม
มีทั้งสารตะกั่ว ปรอท สังกะสี นิเกิล โครเมียม ทองแดง
เฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่านที่มีการกระจุกตัวของโรงงานอยู่ถึง 50% ก็ต้องรับน้ำเสียในรูปของ
BOD จากภาคอุตสาหกรรมถึงประมาณ 30,000 ตัน ในแต่ละปี
ส่วนมลพิษทางอากาศตจากอุตสาหกรรมมีทั้งสารโลหะหนักที่ระเหนออกมา ก๊าซอันตรายต่างๆ
ตลอดจนถึงฝุ่นละออง
ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุของฝนกรดนั่นเกิดมาจากโรงไฟฟ้าเป็นสำคัญ
ในขณะที่คาร์บอนไดออกไซด์นั่นเกิดจากอุตสาหกรรมหลายประเภทรวมกัน ซึ่งทาง
TDRI ก็ได้ประมาณไว้ว่าในปีนี้จะมีการปล่อยออกมารวมกันแล้วมากถึง 34 ล้านตัน
สามารถทำร้ายร่างกายมนุษย์พร้อมกับทำลายชั้นบรรยากาศและสภาพอากาศโดยทั่วไป
เป็นสภาวะที่หนักหน่วงขึ้นทุกทีและมีปริมาณที่เกิดขีดมาตรฐานหลายๆ ชนิด สำหรับปัญหากากของเสียอันตรายยังค่อยข้างเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย
แต่ก็เป็นปัญหาที่เปิดตัวเองอย่างรวดเร็วและรุนแรง
จากอุบัติเหตุครั้งใหญ่ๆ ในระยะหลัง มักจะมีสาเหตุมาจากสารอันตรายทั้งสิ้น
ตามตัวเลขประมาณการปัจจุบันกากสารอันตรายถูกทิ้งออกมาปีละประมาณ 2 ล้านตันอยู่แล้วจากทุกๆ
ส่วน โดยกากประเภทโลหะหนักและเคมีอันตรายที่มีผลกระทบกับสภาพแวดล้อมมากกว่าชนิดอื่นส่วนใหญ่ล้วนมาจากภาคอุตสาหกรรม
"ปัญหาสมดุลธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่เสียไปของเมืองไทยก็เหมือนกับทั่วไป
ต่างประเทศที่เขาพัฒนาอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ร้อยสองร้อยปีที่แล้วเกิดปัญหาน้ำเน่า
ดินมีสารพิษ การผลิตอาหารเสียสมดุล พวกนี้ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรปสัมผัสมาก่อนทั้งนั้น
และเขาก็ตระหนักไปก่อนแล้วซึ่งปัญหาแก้ได้ถ้าย้อนไป 30 ปีก่อนบ้านเราก็ยังไม่มีพิษ
พออุตสาหกรรมเกิดธุรกิจบริการก็เพิ่มเข้ามาสอดรับเมืองโตขึ้น คนมาก เกิดน้ำเสีย
เกิดอะไรต่างๆ เรื่องสิ่งแวดล้อมถ้าพูดขึ้นมาเมื่อ 20 ปีที่แล้วกับเดี๋ยวนี้ต่างกัน
เมื่อก่อนคงไม่มีใครฟังเพราะไม่เห็นปัญหา ขณะที่ตอนนั้นอเมริกาหรืออังกฤษเขาอยู่ขั้นที่แก้ปัญหาจนลดลงแล้ว"
สราวุธ ชโยวรรณ ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(สอท.) กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
รูปธรรมแห่งการคำนึงถึงการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในวงการอุตสาหกรรมเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี
2512 ด้วยการถือกำเนิดขึ้นของพระราชบัญญัติโรงงานโดยในมาตรา 39 หมวด 6 ได้กำหนดหน้าที่สำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานไว้ว่าจะต้องจัดใหม่มีการกำจัดสิ่งปฏิกูล
การระบายน้ำทิ้ง และการระบายอากาศ ซึ่งตามกฏกระทรวงฉบับที่ 1 ที่ได้ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ระบุประเภทโรงงานที่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ถึง
98 ประเภทด้วยกัน
ข้อบังคับนี้เป็นการควบคุมมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรก เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
ในบทเฉพาะกาลของกฎหมายเองจึงได้กำหนดผ่อนปรนเอาไว้ให้โรงงานมีเวลาถึง 1 ปี
ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดใหม่นี้ ซึ่งผลของกฎหมายถือได้เป็นคลื่นการปฏิวัติลูกย่อมๆ
ของวงการอุตสาหกรรมเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติแล้วก็มีแต่เพียงโรงงานขนาดใหญ่เท่านั้นเองที่ปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงได้
ส่วนโรงงานขนาดกลางและเล็กนั้นยังคงมีปัญหามาจนถึงปัจจุบันโดยที่ระบบการบังคับให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ก็ค่อนข้างจะไร้ประสิทธิภาพ
ความไม่พร้อมของทางราชการในการควบคุมดูแลโรงงานนั้นมีอยู่ทั้งในระดับของอำนาจและเครื่องมือ
หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องสิ่งแวดล้อมโรงงานก็คือ กรมโรงงาน
แต่เดิมในการขอใบอนุญาตตั้งโรงงานนั้นเอกชนจะต้องส่งแบบระบบการจัดการมลภาวะไปให้ตรวจสอบพร้อมกัน
แต่ต่อมาเนื่องจากมีปัญหาความล่าช้ามากจึงมีการปรับระเบียบให้รวบรัดขึ้น
การขออนุญาตจึงเพียงแต่ใช้ลายเซ็นของวิศวกรโรงงานเป็นเครื่องรับรองไว้ก่อน
จากนั่นอีก 3 เดือนวิศวกรค่อยส่งแบบให้ตรวจสอบและต่อเมื่อมีการก่อสร้างระบบไปประมาณ
6 เดือน - 1 ปี เปิดดำเนินกิจการแล้วเจ้าหน้าที่จากกรมก็จะติดตามไปตรวจสอบ
ด้วยการลดขั้นตอนเช่นนี้ น้ำหนักของงานจึงเทมาขึ้นอยู่กับขั้นของการดูแลติดตามตรวจสอบค่อนข้างมาก
และนี่เองเป็นจุดที่ทำให้มีปัญหาอย่างยิ่งเนื่องจากกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานนั้นมีอยู่น้อย
(ปัจจุบันมีเพียง 30 คนเท่านั้น) การติดตามทำได้ไม่ทั่วถึงช่องทางการเลี่ยงกฎหมายของโรงงานจึงเกิดขึ้นในรูปแบบอันหลากหลาย
ไม่ว่าจะเป็นการละเลยไม่ก่อสร้างระบบบำบัดเลย หรือบางรายอาจจะก่อสร้างแต่เลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่ตรงกับแบบที่เสนอไปหรือมิเช่นนั้นแม้จะมีระบบก็อาจจะไม่มีการเดินระบบหรือเดินแต่ไม่สม่ำเสมอ
ฯลฯ
จากนั่นระบบการให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับข้าราชการที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจก็คืออีกขั้นตอนหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาเพื่อเป็นหลักประกันการปลอดโทษ
"รัฐมักจะบอกไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่ไปตรวจ ก็มีส่วนถูก แต่ที่เป็นปัญหาจริงๆ
ที่ไม่มีใครกล้าพูดให้ชัดเจนก็คือ เมื่อเกิดหลักเกณฑ์ใหม่อันนี้ขึ้นมารัฐบาลออกกฎหมายทันทีก็ไม่มีคนตามทัน
ไม่มีใครรู้ไม่มีใครทำเป็น คนที่จะมาทำระบบก็เลยเป็นข้าราชการนั่นเองพวกวิศวกรที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆ
ความจริงคือตรงนี้ ราชการออกแบบเอง ตรวจเอง รับรองเองทุกอย่างเองหมดไม่ต้องผ่านใคร
แล้วใครจะรู้ว่าได้ผลแค่ไหน" แหล่งข่าวอดีตข้าราชการรายหนึ่งเล่าให้ฟัง
ทางด้านหน่วยงานอื่นๆ ที่พอจะเกี่ยวข้องบ้าง เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็คือ
ในส่วนของการตรวจสอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมีหน้าที่ประกาศเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ
หรืออาจจะให้ความเห็นเป็นข้อแนะนำได้บ้างในบางเรื่อง ทว่าไม่มีอำนาจบังคับแต่อย่างใดทั้งสิ้นจึงไม่อาจร่วมมีบทบาทในการควบคุมได้
เป็นที่ยอมรับกันอยู่ว่าอุตสาหกรรมรายใหญ่ๆ คือผู้ที่มีความตื่นตัวและให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์ค่อนข้างมาก
ส่วนใหญ่โรงงานเหล่านี้จะมีระบบบำบัดน้ำเสียเป็นของตนเอง ก่อสร้างขึ้นเพื่อจัดการกับน้ำทิ้งที่มาจากการผลิตก่อนปล่อยออกสู่ธรรมชาติ
แม้ว่าอาจจะมีปัญหาในทางคุณภาพที่ไม่ถึงมาตรฐานบ้างแต่ก็ยังดีกว่าโรงงานขนาดเล็กลงมาซึ่งทิ้งกากเหลือของตนโดยไม่มีการดูแลแต่อย่างไร
แม้ว่าตามหลักความถูกต้องทางกฎหมายโรงงานทุกขนาดจะมีหน้าที่เช่นเดียวกันแต่ดูเหมือนว่าในความเป็นจริงแล้ว
การละเมิดของโรงงานระดับเล็กนี้ก็เป็นที่ "รู้ๆ กัน" อยู่โดยทั่วไปในวงของผู้ที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งภาครัฐเอง แต่ก็นับเป็นเรื่องที่ "ทำอะไรไม่ได้" มากนัก
ข้ออ้างหลักสำหรับโรงงานที่ไม่ทำตามกฎหมายก็คือความไม่พร้อมทางด้านเงินทุน
เนื่องจากในการจัดสร้างระบบบำบัดจะต้องใช้ทั้งที่ดิน เทคโนโลยีรวมถึงการจัดการเดินระบบและทั้งหมดก็ต้องใช้เงินซึ่งเท่ากับเพิ่มต้นทุนการผลิต
"ถ้าต้องสร้างโรงกำจัด สำหรับโรงงานขนาดกลางหรือเล็กแล้ว เขาเท่ากันมีโรงงานซ้อนโรงงานค่าใช้จ่ายจะสูงมาก
ต้องใช้เทคโนโลยีซึ่งบางทีในการกำจัดใช้เทคโนโลยีสูงมาก สูงกว่าในกระบวนการผลิตที่ทำอยู่เสียอีก
เช่น โรงงานชุบโลหะเหล็ก น้ำเสียของเขาจะประกอบไปด้วยโลหะจำนวนมาก ซึ่งถ้าจะบำบัดน้ำก็ต้องมีการเติมเคมี
ไม่ใช่แบบธรรมดาที่เติมออกซิเจนหรือใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายก็เพียงพอแล้ว แบบนี้เขาก็ปฏิบัติไม่ได้
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องของความเลวร้ายอะไร แต่เป็นการพยุงธุรกิจของตนเองเอาไว้"
ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมชี้แจงถึงความซับซ้อนของปัญหา
ความเป็นไปไม่ได้ดังกล่าวนี้คือภาวะที่เรียกได้ว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างแท้จริง
โดยที่รัฐเองก็จำยอมต้องผ่อนผันให้มากกว่าที่จะเด็ดขาดลงไปทั้งนี้เพราะการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมก็ถือว่าเป็นนโยบายของรัฐในอีกด้านหนึ่งด้วย
และนี่ก็คืออุปสรรคอีกประการหนึ่งในการที่จะจริงจังต่อการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม
"พวกโรงงานขนาดกลางขนาดเล็กถึงกฎหมายบังคับให้ทำ มีบทลงโทษปิดโรงาน
พวกนี้ก็บอกว่ายอมให้ปิด เขาเลือกที่จะเลิกกิจการถ้าจะต้องทำระบบบำบัดเองเพราะค่าลงทุนจะมากกว่ากำไรเขาพูดกันอย่างนี้"
แหล่งข่าวนักอุตสาหกรรมกล่าว
ตามหลักการสากลเป็นไปได้ยากอยู่แล้วสำหรับการที่จะให้โรงงานระดับย่อมมีระบบบำบัดมลพิษของตนเอง
ทางปฏิบัติที่ยึดถือกันอยู่ก็คือจะต้องใช้ระบบรวมแล้วโรงงานเป็นผู้จ่ายค่าบำบัดนั้นตามหลักการที่ว่า
POLUTERS PAY PRINCIPLE
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามที่จะใช้แนวทางนี้เข้ามาบรรเทาปัญหาเช่นเดียวกัน
แต่ก็ยังก้าวไปไม่ได้ไกลเท่าที่ควรเพราะสภาพของการตั้งโรงงานที่กระจัดกระจาย
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการไม่ได้วางระบบผังเมืองให้ดีตั้งแต่แรก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการวางท่อน้ำเสียหรือการขนส่งกากของเสียต้องสูงมากกว่าปกติ
การจะตั้งโรงบำบัดรวมขึ้นสักแห่งหนึ่งจะหมายถึงเงินงบประมาณก้อนโต ซึ่งรัฐไม่มีความพร้อมในแง่นี้
ส่วนอีกวิถีทางหนึ่งที่พอจะทดแทนได้คือการให้เอกชนเข้ามาลงทุน ที่ผ่านมาก็มีการริเริ่มที่จะทำหลายครั้งแต่การเจรจาตกลงด้านผลตอบแทนก็หาจุดลงตัวไม่ได้
มาตรการที่จะเป็นหลักประกันด้านจำนวนลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการยังคงไม่มี
ขณะเดียวกันผู้ลงทุนก็ไม่อาจตั้งอัตราการบริการให้สูงได้เพราะจะยิ่งกระทบถึงจำนวนลูกค้า
รวมทั้งรัฐบาลเองก็ไม่ยินยอมด้วย
"ความคิดที่ว่าใครเป็นผู้ก่อมลภาวะผู้นั่นต้องรับภาระ ไม่ใช่ของง่ายที่จะทำให้เป็นจริง
จุดยากที่สุดคือ ต้นทุน คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องจะมองได้หลายแง่มุมมาก ยากที่จะชี้ชัดลงไป
ในการผลิตสินค้าอย่างหนึ่งตั้งแต่ชั้นคิดค้น กระบวนการผลิต ผู้ใช้ทุกคนเกี่ยวข้องหมด
ใครละจะเป็นผู้รับภาระ ผู้บริโภคก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน" ศุภวิทย์
เปี่ยมพงศ์ศานต์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษของสวล. ให้ความเห็น
ปัจจุบันระบบบำบัดน้ำเสียรวมที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมของไทยนั้นมีอยู่เพียงแห่งเดียวคือ
ที่โรงงานปรับคุณภาพน้ำส่วนกลางของกรมโรงงาน ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2518
โดยรัฐบาลได้ใช้เงินจากกองทุนพยุงราคาน้ำตาลจำนวน 21 ล้านบาทเป็นงบประมาณ
ทั้งนี้เนื่องจากในระหว่างปี 2515-2516 นั้นมีการระบายน้ำทิ้งเป็นจำนวนมากจากโรงงานน้ำตาลลงสู่แม่น้ำแม่กลองถึงขนาดที่ทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำบริเวณนั้นเป็น
0 และเกิดภาวะเน่าเสียตลอดลำน้ำตอนล่าง
การถือกำเนิดขึ้นของโรงงานปรับปรุงคุณภาพน้ำแห่งนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญประการหนึ่งทั้งในแง่ของการก้ไขลำน้ำแม่กลองให้ดีขึ้นได้
และในแง่การจัดการที่รัฐสามารถเรียกเก็บเงินที่ใช้จ่ายไปคืนจากโรงงานต่างๆ
ที่ระบายน้ำลงสู่โรงปรับคุณภาพน้ำได้ และในปัจจุบันกลุ่มโรงงานน้ำตาลก็เป็นผู้ดูแลโรงบำบัดนี้เองด้วยหลังจากที่กรมโรงงานต้องเป็นผู้บริหารงานอยู่นานถึง
10 ปี
ส่วนระบบการจัดการกากของเสียรวมก็มีอยู่เพียงแห่งเดียวเช่นกันคือ ศูนย์บริการกำจัดกากอุตสาหกรรมแสมดำ
ตั้งอยู่ในเขตบางขุนเทียนเกิดขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ลงทุน เริ่มเปิดบริการตั้งแต่กลางปี
2531 ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท เอสจีเอส เอ็นไวรอนเมนทอลเซอร์วิสเซส จำกัด
ซึ่งเป็นเอกชนผู้เช่าช่วง
"การที่ทางโรงงานขนาดกลางกับขนาดเล็กทำไม่ได้ เป็นสิ่งที่ทางกรมโรงงานต้องผ่อนผันให้ด้วย
เจตนาดีว่าเขาไม่มีทางทำจริงๆ แต่ทีนี้พวกโรงใหญ่ ทำไปนานๆ ก็ชักท้อเหมือนกันไม่อยากเดินเครื่อง
เพราะรู้สึกว่าถูกปล่อยให้ทำอยู่ฝ่ายเดียว เสียค่าก่อสร้างไปแล้วยังเสียค่าไฟอีกทุกๆ
เดือน โดยบางครั้งโรงงานเล็นั่นก็อาจจะผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน เป็นคู่แข่งกัน
แต่ต้นทุนกลับต่ำกว่ามาก ความไม่เป็นธรรมตรงนี้เป็นปัญหามาก รัฐบาลควรจะต้องประกาศให้ชัดเจน"
สุจินต์ พนาปวุฒิกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท วอเตอร์ แอนด์ เอนไวรอนเมนท์
คอนซัลเต้นท์ จำกัดบอกเล่าถึงปัญหาที่โยงตามมาอีกอย่างเป็นลูกโซ่
นอกจากอุตสาหกรรมใหญ่จะมีข้อเกี่ยงงอนโดยอ้างอุตสาหกรรมเล็กแล้ว อุตสาหกรรมเล็กเองก็มีข้อเกี่ยงงอนโดยอ้างชุมชนอีกทอดหนึ่งเช่นกัน
ปัญหาที่ซับซ้อนทบกันในลักษณะนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ประเทศไทยจะต้องหาทางออก
เพราะถ้ามีเป้าหมายที่จะรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีก็ต้องควบคุมมลภาวะที่มาจากทุกแหล่ง
ซึ่งแท้จริงแล้วทุกคนและทุกส่วนสร้างมลภาวะขึ้นมาด้วยกันทั้งสิ้น การจัดระบบบำบัดรองรับจึงถือว่าเป็นสาธารณปโภคตัวหนึ่ง
เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องริเริ่มจัดให้มีขึ้น
แต่กรอบการบังคับของกฎหมายไทยก็ยังคงครอบคลุมไม่ถึงส่วนของชุมชนทั่วไป
"ถ้าผมเป็นจะประกาศเลยว่า หนึ่งโรงงานขนาดใญ่ต้องทำทุกแห่งถ้าตั้งอยู่นอกนิคม
คือถ้าอยู่ในนิคมก็ไปเสียให้นิคมจำกัด แต่ถ้าเดี่ยวๆ จะต้องทำให้เรียบร้อย
และสองพวกขนาดกลางขนาดเล็กที่อยู่กับชุมชนจะต้องผลักดันพร้อมกันเลย ทำทั้ง
2 ส่วน แบบนี้จะได้ไม่มีทางซัดกันอีก เสียทุกคนเหมือนกันหมด แต่ข้อที่จะต้องระวังก็คือ
รัฐบาลต้องประกาศราคาออกมาให้ชัด บ้านอาศัยราคาหนึ่งแต่อาบอบนวดจะต้องอีกราคาหนึ่ง
ให้เกิดความเป็นธรรมและชัดเจน" สุจินต์ พนาปวุฒิกุลเสนอแนวทาง
ตัวอย่างกรณีจังหวัดนนทบุรีบังคับให้ครัวเรือนต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสีย จนกระทั่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างขนานใหญ่ก็เป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุดซ้ำยังเป็นไปไม่ได้อีกด้วย
ทั้งในแง่ของการที่ประชาชนจะยอมลงทุน และในแง่ของการสรรหาเทคโนโลยีมาใช้
และหากทางจังหวัดจะเข้มงวดจริงจังก็คงจะต้องคอยสอดส่องจับกุมผู้กระทำผิดกันมากมายทีเดียว
ปัญหาเรื่องเงินดูจะเป็นข้อติดขัดในทุกกระบวนการ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้เมื่อคิดเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิตทั้งหมดจะมีสัดส่วนเป็นเพียงประมาณ
1-3% เท่านั้น
ปัญหาเรื่องเงินจึงไม่ได้ขึ้นกับปริมาณการจ่ายแต่อยู่ที่ความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น
ประกอบกับคนไทยยังไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมใหม่ที่ว่า สิ่งแวดล้อมที่ดีในยุคสมัยของการเป็นนิกส์นั้นต้องได้มาด้วยการจ่าย
ลักษณะของการได้เปล่าหมดไปพร้อมๆ กับที่อุตสาหกรรมก้าวเข้าแทนที่เกษตรกรรมนั่นเอง
วัฒนธรรมใหม่นี้อาจจะต้องการเวลาในการหยั่งรากสักพักหนึ่งจนกว่าจะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา
มิเช่นนั้นทางออกอีกทางหนึ่งก็คือการหันเข้าหาแนวความคิดใหม่ไปเลย นั่นคือเลิกแก้ปัญหาในแบบที่เรียกว่า
END OF THE PIPE หรือการแก้ปัญหาที่ปลายท่อ แต่พยายามป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นเสียตั้งแต่แรกโดยไม่สร้างมลพิษขึ้นในกระบวนการผลิต
"ที่ภาคเอกชนจะสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมได้มีอยู่ 2 ทาง คือ หนึ่ง แนวทางที่เรียกว่า
WASTEMINMIZATION และสอง WASTE PREVENTION คือ ถ้ามีมลภาวะเกิดขึ้นก็ต้องทำให้สะอาดก่อนที่จะปล่อยออกมาสู่ที่สาธารณะ
หรือมิเช่นนั้นก็ใช้วิทยาการการผลิตที่ไม่ก่อมลภาวะเลยหรือก่อเพียงเล็กน้อยอย่างที่เรียกกันว่า
CLEAN TECHNOLOGY" สราวุธ ชโยวรรณกล่าว
การตามแก้ปัญหาที่หมักหมมย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะทำเสร็จเพียงชั่วข้ามคืน
โดยเฉพาะปัญหานี้ไม่อาจจะแก้ที่ต้นตอด้วยการหันกลับคืนสู่สภาพสังคมลักษณะเดิมได้
ปรากฏการณ์และกระแสแห่งความตื่นตัวจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ในขณะนี้นับได้ว่าเป็นเพียงขั้นจองการลองผิดลองถูกกับวิธีการต่างๆ เท่านั้นเอง
ซึ่งหลายวิธีการอาจทำให้ยิ่งหลงทิศผิดทางมากขึ้นก็เป็นได้ (อ่านล้อมกรอบต่างชาติกับการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมไทย)
ทิศทางที่สวนกันระว่าเสถียรภาพของอุตสาหกรรมกับความคงอยู่ของภาวะแวดล้อมที่ดีนั้นเป็นเรื่องอันยากจะหาจุดประสานอยู่แล้ว
การที่จะหวังเห็นสภาพแวดล้อมอันสวยงามให้กลับมาดังเดิมคงเป็นเรื่องที่ต้องวดหวังไปก่อน
อย่างไรก็ตามในภาวะที่ระดับความวิกฤตของปัญหาสิ่งแวดล้อมเองก็รุนแรงมาก
อีกกระแสความตื่นตัวและตื่นกลัวของสังคมโดยรวมก็พุ่งสูงขึ้นแรงกดดันโดยธรรมชาติเช่นนี้
ย่อมไม่มีใครปฏิเสธและทัดทานได้ อย่างน้อย ณ วันนี้น้ำหนักของตาชั่งแห่งการให้ความสำคัญที่เอียงไปทางภาคอุตสาหกรรมโดยตลอดก็เริ่มถ่ายเทเปลี่ยนข้างแล้ว
…และนี่นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี !