คจก. - โครงการจัดสรรที่ดินทำกิน "เพื่อ"ผู้ยากไร้หรือ "เพิ่ม" ผู้ยากไร้


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

โครงการจัดที่ทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมหรือเป็นที่รู้จักกันในนาม คจก. เป็นโครงการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลชุดพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2533

เป้าประสงค์ของโครงการนี้มุ่งที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศให้ได้ 40% พร้อมกับจัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชาชนผู้ยากไร้ ที่กำลังบุกรุกป่าสงวนอยู่อย่างผิดกฎหมายให้มีหลักแหล่งทำกินใหม่ที่ชัดเจนและกฎหมายรับรอง

พื้นที่เป้าหมายของคจก.ทั้งโครงการก็คือป่าสงวนทั้งหมดของประเทศได้แก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 352 ป่า ภาคเหนือ 253 ป่า ภาคใต้ 468 ป่า และภาคกลาง 180 ป่า แต่ในขั้นแรกการเริ่มต้นนั้นอยู่ที่แผ่นดินอีสานในเขต 17 จังหวัดเพราะถือว่าเป็นถิ่นที่มีอัตราการลดลงของพื้นที่ป่าสูงที่สุด

เนื่องจากหลักคิดของโครงการเห็นว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้ถูกทำลายไปมากก็คือการที่มีราษฎรจำนวนหลายล้านครอบครัวทำกินอยู่ในเขตป่า ทางแก้ปัญหาจึงจำต้องอพยพราษฎรเหล่านั้นออกมา

ราษฎรชาวอีสานที่อยู่ในข่ายจะต้องอพยพและได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินมีอยู่ประมาณ 250,000 ครอบครัว !

พื้นที่ทำการเกษตรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอยู่ 23.2 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ 8.93 ล้านไร่คือที่ดินที่รัฐได้เคยจัดสรรไปแล้ว ปัจจุบันจึงเหลืออยู่อีกเพียง 14.27 ล้านไร่ ซึ่ง คจก.จะใช้จัดสรรประมาณ 3,750,000 ไร่ (ครอบครัวละ 15 ไร่) ที่เหลือจัดเป็นที่สาธารณะต่างๆ รวมทั้งป่าชุมชน

ถ้าโครงการดำเนินการได้สำเร็จ พื้นที่ประมาณ 9.40 ล้านไร่อันได้จากการอพยพราษฎรออกไปก็จะเป็นผืนดินว่างเปล่าที่เพิ่มขึ้นมา และจะกลายเป็นพื้นที่ปลูกป่าฟื้นฟูโดยกรมป่าไม้จะเป็นผู้ดำเนินการ 625,000 ไร่ ส่วนที่เหลือนั้นให้เอกชนเช่าปลูกไม้โตเร็วป้อนภาคอุตสหกรรม

สำหรับที่ดินที่ราษฎรผู้ถูกอพยพจะได้รับการจัดสรรในแผนไม่ได้ระบุไว้ว่า แต่ละหมู่บ้าจะต้องโยกย้ายไปแห่งใดกันแน่ และที่ดินแห่งใหม่จะมีลักษณะเช่นไร เป็นพื้นที่ว่างเปล่าหรือไม่เราะแก่การทำการเกษตรเพียงใด เป็นประเด็นที่ในแผนการไม่ได้กล่าวไว้เช่นกัน ซึ่งในความเป็นจริงก็คือ พื้นที่ว่างเปล่าที่สามารถใช้จัดสรรได้นั้นไม่มี ทุกตารางนิ้วที่เหลือยอมมีผู้ใช้สอยอยู่ก่อนแล้ว

นี่เองคือประเด็นที่ทำให้ประชาชนชาวอีสานไม่อาจยอมรับ คจก. กรณีที่พระประจักษ์ถูกจับระลอกที่ 2 ก็เนื่องจากเข้าไปเกี่ยวข้องช่วยเหลือในการต่อต้านเรื่องนี้ของชาวหมู่บ้านหนองใหญ่และหมู่บ้านสระตะเคียนนั่นเอง

บ้านหนองใหญ่หรืออีกชื่อหนึ่งว่าบ้านห้วยเตยพัฒนาตั้งอยู่บริเวณแนวชายป่าเขตระหว่างอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมากับอำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ คือกลุ่มราษฎรผู้ยากไร้ที่ คจก.เข้าไปดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายนโดยระบุความผิดว่าเป็นชุมชนที่บุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน และได้ยื่นคำขาดว่าต้องอพยพออกสู่แผ่นดินผืนใหม่ภายในเดือนตุลาคม 2534

คจก. อ้างว่าได้เตรียมที่ดินจำนวน 300 ไร่ไว้สำหรับรองรับแล้วโดยหมู่บ้านแห่งใหม่มีชื่อว่าบ้านสันติสุข

จุดนี้เองที่บ้านสระตะเคียนได้เข้าร่วมทุกข์ยากกับชาวหนองใหญ่ด้วย เพราะพื้นที่ที่ถูกจัดเป็นบ้านสันติสุขนั้นแท้จริงก็คืออดีตไร่มันสำปะหลังของชาวสระตะเคียน !

คจก. เป็นโครงการขนาดใหญ่ใช้งบประมาณแผ่นดินก้อนมหึมา เฉพาะการดำเนินการที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งเดียวก็จะต้องใช้งบถึง 1,200 ล้านบาทแล้ว หรือถ้าคิดรวมทั้งหมดทุกภาคก็ต้องใช้ประมาณ 69,000 ล้านบาท

ด้วยเจตนาที่จะช่วยผู้ยากไร้พร้อมๆ ไปกับการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ชาติบ้านเมืองย่อมกล่าวได้ว่า งบประมาณที่ต้องทุ่มเทไปแม้มากมายก็ยังคุ้มค่า แต่ถ้าป่าที่เพิ่มขึ้นจะมีแต่ป่าโกงกางในขณะที่ราษฎรผู้ยากไร้กลับมีปริมาณมากขึ้นเนื่องจากต้องกระเบียดกระเสียนแก่งแย่งที่ดินกันทำกิน เงินนับหมื่นล้านนั้นจะใช้ไปเพื่อใคร ?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.