|
เซ็นทรัล สนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่โดดร่วมสมรภูมิ คอมมูนิตี้มอลล์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 สิงหาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ทุ่มงบ 150 ล้านบาท ประเดิมรูปแบบธุรกิจใหม่สาขาแรกภายใต้ชื่อ Tops Market @ Udomsuk พร้อมดึงพันธมิตรร้านค้ากว่า 20 ร้าน ร่วมสร้างอาณาจักรคอมมูนิตี้มอลล์ ตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง
การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกที่รุนแรงโดยเฉพาะในกลุ่มดิสเคานต์สโตร์ที่ถูกแรงต้านจากธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กในชุมชน จนส่งผลให้ภาครัฐต้องเข้ามาควบคุมการขยายสาขาของห้างขนาดใหญ่ ซึ่งกระทบไปถึงห้างสรรพสินค้าด้วย ประกอบกับภาวะวิกฤติน้ำมันแพง ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยลดความถี่ในการชอปปิ้ง ทำให้ต้องซื้อสินค้าคราวละมากๆมาเก็บไว้ ส่งผลให้อาหารประเภทเนื้อและผักขาดความสด ดังนั้นจึงเกิดธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์เพื่อตอบโจทย์ให้กับผู้บริโภคโดยมีซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดลูกค้า
ก่อนหน้านี้บรรดาดิสเคานต์สโตร์ต่างก็มีการปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อเข้าถึงชุมชนมากขึ้น เช่น โลตัสเอ็กซ์เพรส ท็อปส์เดลี่ ซึ่งเป็นมินิซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะที่ค่ายสยามฟิวเจอร์ที่เติบโตมาจากการบริหารตลาดสดมีนบุรีก็มีการพัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์หลายสาขาจนประสบความสำเร็จเป็นแบบอย่างให้คู่แข่งเดินตาม ซึ่งแม้แต่ เทสโก้ โลตัส ก็มีการขยายธุรกิจให้เช่าพื้นที่ โดยมี 2 ลักษณะคือ ไลฟ์สไตล์ ชอปปิ้ง มอลล์ เป็นพื้นที่เช่าในสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งครอบคลุมประชากร 2 แสนครัวเรือน และมีพื้นที่ระหว่าง 6 พัน-2 หมื่นตารางเมตร
ส่วนอีกรูปแบบเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ใช้พื้นที่ 2 พันตารางเมตร ครอบคลุมประชากร 3-5 หมื่นครัวเรือน ซึ่งจะใช้ตลาดโลตัสหรือโลตัสเอ็กซ์เพรสเป็นแม่เหล็กในการดึงคน ส่วนจะใช้รูปแบบใดขึ้นอยู่กับกฎหมายในพื้นที่นั้นๆว่าอนุญาตให้สร้างได้กี่ตารางเมตร ถ้าถึง 1,000 ตารางเมตรก็จะใช้ตลาดโลตัส แต่ถ้าได้ 300 ตารางเมตรก็จะใช้โลตัส เอ็กซ์เพรส ซึ่งก่อนหน้านี้เทสโก้ มีการสร้างสีสันให้กับพื้นที่เช่าต่างๆ เช่นสาขาบางกะปิที่มีโรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง คาราโอเกะ ขณะที่สาขาพระราม 4 เป็นอีกสาขาที่มีพื้นที่เช่าขนาดใหญ่ และอีกหลายสาขาที่จะมีการปรับปรุงพื้นที่เช่าให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคมากขึ้น ก่อนจะมาเป็นไลฟ์สไตล์ชอปปิ้งมอลล์ที่สมบูรณ์แบบที่สาขาปิ่นเกล้า นวนคร และศาลายา
ในการรุกธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ ทางเทสโก้ โลตัส ใช้งบในการลงทุนต่อสาขา 60-80 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 3 เซกเมนต์เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย Oasis, The Park, The Garden โดย Oasis สาขาแรกเพิ่งเปิดตัวที่หมู่บ้านนิชดา ธานี ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าระดับ A ส่วน The Park จับตลาดระดับ B จะเปิดสาขาแรกที่โครงการ ดีพี เพลส สุขุมวิท 101 ในเดือนกันยายนนี้ และ The Garden จับตลาดระดับ C
“ในภาวะที่น้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง คนจะไม่ค่อยไปไหนไกลๆ เขาจะเน้นความสะดวก ทำอะไรใกล้บ้านมากขึ้น ซื้อของก็ใกล้บ้าน แต่เราจะทำอย่างไรให้เขามาใช้จ่ายกับเรา” วีณา อรัญญเกษม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารพื้นที่เช่าและสื่อโฆษณา เทสโก้ โลตัส กล่าว
ขณะที่บิ๊กซีและคาร์ฟูร์ต่างก็พัฒนาชอปปิ้งมอลล์ โดยบิ๊กซี สร้างธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กอย่างลีดเดอร์ไพรซ์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น มินิบิ๊กซี ส่วนคาร์ฟูร์ได้ขยายสาขาในโครงการ “เวลท์ พร็อพเพอร์ตี้” ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ อยู่หน้าโครงการบ้านจัดสรร กรีนเวลท์ ทาวน์ เซ็นเตอร์ ซึ่งหากประสบความสำเร็จเกินคาด ก็อาจจะเป็นแนวทางให้คาร์ฟูร์พัฒนาสาขารูปแบบใหม่ๆขึ้นมาเอง นอกเหนือจากการไปเช่าพื้นที่ตามคอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ ซึ่งมีซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นตัวดึงดูดลูกค้า
การหันมาเล่นกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค พร้อมกับความพยายามในการตอบสนองทุกความต้องการก็เพื่อให้เกิดการใช้ชีวิตในห้างในนานขึ้น เกิดการบริโภคภายในห้างมากขึ้น โดยหวังว่าสิ่งต่างๆที่ทำไปจะก่อให้เกิดแบรนด์ลอยัลตี้ และสร้างความถี่ในการมาใช้บริการได้มากขึ้นเนื่องจากอยู่ใกล้ชุมชน
การแพร่กระจายของคอมมูนิตี้มอลล์เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าใกล้บ้านมากขึ้น ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์และโชวห่วยที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลไปถึงห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ด้วย ทำให้เซ็นทรัลเข้าสู่สมรภูมิคอมมูนิตี้ มอลล์ เพื่อให้ผู้บริโภคมาใช้บริการธุรกิจในเครือเซ็นทรัล โดย เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ได้ทุ่มงบกว่า 150 ล้านบาท ผุดคอมมูนิตี้ มอลล์ สาขาแรกภายใต้ชื่อ Tops Market @ Udomsuk บนพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร โดยมี ท็อปส์ ซูเปอร์ เป็นแม่เหล็กในการดึงดูดลูกค้า ซึ่งมีพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร พร้อมด้วยร้านค้าต่างๆกว่า 20 ร้าน โดยเชื่อว่าจะสามารถให้บริการครอบคลุมรัศมี 3-5 กิโลเมตร ส่วนในปีหน้าบริษัทมีแผนที่จะขยายธุรกิจคอมมูนิตี้ มอลล์ อีก 2-3 สาขา โดยจะเน้นในกรุงเทพฯและปริมณฑล ก่อนขยายไปสู่หัวเมืองใหญในต่างจังหวัด
“เดิมไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคจะเข้าห้างใหญ่ เป็นอาคารปิด ติดแอร์ มีที่จอดรถหลายชั้น แต่ปัจจุบันการเดินทางค่อนข้างลำบากเพราะนอกจากรถจะติดแล้ว ค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันก็สูงขึ้น ส่งผลให้ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนที่เป็นพ่อบ้าน แม่บ้าน ก็ไม่นิยมไปชอปปิ้งไกลๆ เพราะรถติด คนเยอะ ต้องแย่งกันซื้อ เราจึงพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้า จอดรถง่าย อยู่ใกล้บ้าน เดินหรือปั่นจักรยานมาก็สะดวก ทำให้คนมาซื้อได้บ่อยขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่สดทุกวัน ไม่ต้องซื้อครั้งละมากๆมาแช่แข็งในตู้เย็น คล้ายๆสมัยก่อนที่แม่บ้านไปจ่ายตลาดทุกวัน ก็จะได้ของสด” ธนภณ ตังคณานันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น กล่าว
นอกจากนี้การผุดคอมมูนินี้ มอลล์ ของเครือเซ็นทรัล ยังทำให้กลุ่มธุรกิจอื่นๆในเครือสามารถขยายสาขาได้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น เพาเวอร์บาย บีทูเอส โฮมเวิร์ค ออฟฟิศดีโป้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับทำเลในพื้นที่และขนาดของคอมมูนิตี้ มอลล์ ด้วยว่ารองรับได้เพียงใด อีกทั้งยังทำให้บริษัทมีรายได้จากการเช่าพื้นที่ ซึ่งค่าเช่าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 บาทต่อตารางเมตร โดยบริษัทคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการคืนทุน 7-8 ปี เนื่องจากต้องใส่งบกิจกรรมเพื่อสร้างสีสันดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาใช้บริการในคอมมูนิตี้ มอลล์ อย่างต่อเนื่อง โดยการเปิดตัวสาขาแรกนี้ทางบริษัทใช้งบจัดกิจกรรม 1 ล้านบาท และจะต้องเทงบอีก 3-4 ล้านบาทเพื่อทำกิจกรรมไปจนถึงสิ้นปี พร้อมกับตั้งเป้าว่าจะสามารถดึงดูดลูกค้าได้ 4,000 คนในวันธรรมดา และจะเพิ่มเป็น 2 เท่าในวันหยุด
“คนทำงานมากขึ้น มีเวลาเดินห้างน้อยลง รูปแบบ Open Mall ที่อยู่ใกล้บ้าน จะทำให้ผู้บริโภคใช้เวลาเดินทางน้อยลง และสามารถชอปปิ้งได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาวนหาที่จอดรถ” ธนภณ กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|