สหธนาคารถูกปรับวันละแสนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่าร้อยละ 8


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัญหาคุกรุ่นของสหธนาคารเริ่มก่อตัวอีกครั้งเมื่อแบงก์ชตรวจพบว่าธนาคารฯมีอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่าระเบียบที่กำหนดไว้ เพราะไม่สามารถเรียกเพิ่มทุนได้เนื่องจากมีข้อขัดแย้งในกลุ่มผู้ถือหุ้น

ปัจจุบัน สหธนาคารมีอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงประมาณร้อยละ 6.5

อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหมายความว่าการที่ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อที่เป็นการเสี่ยงภัยมากขึ้นนั้น จำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างเงินกองทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 ของสินทรัพย์เสี่ยง

อีกนัยหนึ่งคือในการขยายสินทรัพย์เสี่ยงทุก 100 บาท ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีเงินกองทุนไม่ต่ำกว่า 8 บาท

มาตรการนี้เป็นการควบคุมการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์

หลังจากที่พยายามแก้ปัญหาให้สหธนาคารแต่ไม่สำเร็จ แบงก์ชาติจึงปรับสหธนาคารในอัตราสูงสุดวันละ 100,000 บาท เริ่มประมาณเดือนกันยายนที่ผ่านมา

แหล่งข่าวในสหธนาคารเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "สถานการณ์ของแบงก์ในเวลานี้คงจะอยู่ได้ไม่เกินสิ้นปีนี้ ไหนจะถูกปรับ เพิ่มทุนก็ไม่ได้ ที่มาของรายได้จากการปล่อยสินเชื่อก็ลดน้อยลงกว่าเดิมมาก และยังหนี้เสียและต่ำกว่ามาตรฐานอีกเป็นจำนวนนับพันล้านบาทได้"

หนทางแก้ไขปัญหาสหธนาคารในเวลานี้ดูช่างมืดมนเสียจริง ๆ

เป็นที่คาดหมายกันว่า สหธนาคารจะพยายามอย่างยิ่งในการเจรจากับ CORRESPONDENCE BANK ที่มาร่วมกาปรระชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก/กองทุนการเงินระหว่างประเทศในไทย เพื่อให้เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรใหม่กับตน ทำสงครามฟาดฟันกับพันธมิตรเดิมให้ได้

แต่จะสำเร็จมากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไป

ปัญหาเรื่องการเพิ่มทุนของสหธนาคารในเวลานี้ มีสาเหตุโยงใยลึกซึ้งมาตั้งแต่ปี 2531 เหตุการณ์ล่าสุดที่เป็นชนวนประทุของปัญหาตอนนี้คือการที่ฝ่ายชลวิจารณ์ฟ้องศาลเพือ่อายัดหุ้น ABC จำนวน 500,000 หุ้น ไม่ให้มีการซื้อขาย

ทั้งนี้ฝ่ายชลวิจารณ์อ้างว่ากลุ่มที่จะมาซื้อหุ้นจำนวนนี้เป็น NOMINEES ของฝ่ายธนาคารอาหรับฯหรือ ABC+อัศวินวิจิตร+เพ็ญชาติ

พันธมิตร ABC+อัศวินวิจิตร+เพ็ญชาติ ในตอนนี้ครอบครองหุ้นในสหธนาคารอยู่ประมาณ 41% ส่วนกลุ่มชลวิจารณ์คืออยู่ 51% กระทรวงการคลังประมาณ 6% และที่เหลืออีก 2% เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย

เมื่อเดือนมีนาคม 2531 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นฯ ได้มีมติพิเศษให้เพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 200 ล้านบาทเป็น 800 ล้านบาทโดยการออกหุ้นสามัญจำนวน 2 ล้านหุ้น ๆ ละ 100 บาท

แต่เมื่อมีการออกจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม 2532 สหธนาคารโดยกลุ่มชลวิจารณ์ ก็ฟ้องศาลขอให้ออกคำสั่งระงับการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้จำนวน 500,000 หุ้นเพราะตัวแทนของธนาคารอาหรับฯ มีการถือหุ้นต่อรายเกินข้อกำหนดตามกฎหมาย

ฝ่าย ABC จึงไม่สามารถซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวได้ และจนถึงตอนนี้สหธนาคารก็ยังไม่ยอมขอถอนคำสั่งศาลด้วย

เมื่อมีการประชุมเพื่อขอมติเพิ่มทุนในต้นปีที่ผ่านมาอีกครั้งหนึ่ง คือเพิ่มทุนอีกเท่าตัวเป็นทุจดทะเบียนทั้งสิ้น 1,600 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นฝ่าย ABC+อัศวินวิจิตร+เพ็ญชาติลงมติไม่สนับสนุนการเพิ่มทุน

ต่อมาพันธมิตรกลุ่มนี้ยื่นข้อเสนอต่อฝ่ายชลวิจารณ์ว่าจะขายหุ้นทั้งหมดของฝ่ายตนให้แก่ชลวิจารณ์ในราคาหุ้นละ 600 บาท คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 1,800 ล้านบาท หรือจะซื้อหุ้นของฝ่ายชลวิจารณ์ทั้งหมดในราคาหุ้นละ 650 บาท

ข้อเสนอที่สามคือเอาหุ้นจำนวน 500,000 หุ้นที่ถูกอายัดไว้นั้นออกมาคืนให้ฝ่าย ABC ฝ่ายพันธมิตรฯ จึงจะยอมให้เพิ่มทุน

เศรณี เพ็ญชาติ ผู้ถือหุ้นในฝ่ายพันธมิตร ABCฯ กล่าวว่า "ผมคิดว่าราคาที่เราตั้งไว้ 1,800 ล้านบาทนี่เป็นราคาที่ถูกมาก เพราะใบอนุญาตการประกอบการธนาคารพาณิชย์ไม่มีขายในประเทศไทยและจะไม่มีขายอีกต่อไป แบงก์สยามตอนนั้นจะขายในราคาถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นแค่เศษกระดาษแผ่นเดียว ตัวแบงก์ก็ยุบไปแล้ว สาขาก็ไม่มี ทรัพย์สินก็ไม่มี ไม่มีอะไรสักอย่าง แต่สหธนาคารเป็นแบงก์ที่มีกว่า 80 สาขา สินทรัพย์รวมตั้ง 20,000-30,000 ล้านบาท"

ฝ่ายชลวิจารณืไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ได้มีทางออกอื่น ๆ แต่อย่างใด

วิจิตร สุพินิจ ผู้ว่าการธนาคารชาติกล่าวกับสื่อมวลชนฉบับหนึ่งหลังจากที่ กรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งในสหธนาคารและร่วมเป็นกรรมการอยู่ในเวลานี้ได้นำประธานธนาคารอาหรับ แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่นเข้าพบเมื่อกลางเดือนที่แล้วว่า "เขาก็มาบอกว่ายินดีที่จะให้แบงก์ชาติเข้าไปแก้ปัญหาในสหธนาคาร และก็จะให้ความร่วมมือกับทางการอย่างเต็มที่"

แนวคิดเรื่องการหากลุ่มที่สามที่เป็นกลางเพื่อเข้ามารับซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 800 ล้านบาทเกิดขึ้นในช่วงนี้ เศรณีกล่าวว่า "ผมคิดว่านี่ไม่ใช่ข้อเสนอของแบงก์ชาติ ใครจะยอมเป็น THIRD PARTY ที่อยู่ดี ๆ ยอมให้เอาเงิน 800 ล้านบาทมาวางไว้เฉย ๆ โดยไม่ได้ผลตอบแทนอะไร หากมีข้อเสนอเช่นนี้ก็ควรทำไปนานแล้ว เพราะอย่างที่รู้กันว่าทางชลวิจารณ์ก็พยายามดึงคนเข้ามาร่วมกับเขา แต่ก็ไม่เห็นสำเร็จสักที"

อย่างไรก็ดี หากความเห็นนี้เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายผู้ที่จะเข้ามาเป็น THIRD PARTY คงจะหนีไม่พ้นกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินหรือกระทรวงการคลังซึ่งถือหุ้นธนาคารอยู่แล้ว

ผู้รู้เรื่องความขัดแย้งในกลุ่มผู้ถือหุ้นสหธนาคารรายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า "ผมไม่คิดว่าฝ่ายชลวิจารณ์จะหาพันธมิตรได้เขาทำถึงขนาดอายัดหุ้นของ ABC ไว้ แล้วพาร์ทเนอร์ที่ไหนจะมาร่วมกับเขาล่ะ"

ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของสหธนาคารสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2534 ปรากฏว่ามีส่วนของผู้ถือหุ้นหรือเงินกองทุน 1,447.36 ล้านบาท มีเงินให้สินเชื่อรวมดอกเบี้ยค้างรับสุทธิเท่ากับ 25,093.60 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีเงินกองทุน 1,426.14 ล้านบาท มีเงินให้สินเชื่อรวมดอกเบื้อค้างรับสุทธิเท่ากับ 25,994.29 ล้านบาท

เท่ากับว่าในรอบปีที่ผ่านมาไม่ได้มีความเคลื่อนไหวในสองรายการนี้แต่อย่างใด เพราะไม่สามารถเพิ่มทุนได้

เมื่อดูความสามารถในการทำกำไรก็ลดลงอย่างมาก ครึ่งแรกของปี 2534 มีกำไรสุทธิ 18.02 ล้านบาทเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2533 มีกำไรสุทธิ 50.02 ล้านบาท

ลดลงถึง 32 ล้านบาท แม้ว่าแบงก์ชาติจะมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ใช้กำกับดูแลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์อยู่ แต่ในกรณีความขัดแย้งของผู้ถือหุ้นอย่างที่เกิดกับสหธนาคารนี้แบงก์ชาติไม่อาจทำอะไรได้ และมีการประกาศตลอดมาว่าขอวางตัวเป็นกลาง ให้ผู้ถือหุ้นแก้ไขปัญหากันเอง

ผู้สันทัดกรณีที่เคยผ่านประสบการณ์เมื่อแบงก์พาณิชย์แห่งหนึ่งล้มละลายกล่าวว่า "แบงก์ชาติจะเข้ามาก็ต่อเมื่อสหธนาคารมีปัญหาสภาพคล่องจนหมิ่นเหม่ต่อเสถียรภาพของผู้ฝากเงิน ทำได้อย่างเดียว เพราะกฎหมายให้อำนาจแบงก์ชาติต่อเมื่อแบงก์พาณิชย์มีปัญหาผลการประกอบการจนฐานะเงินกองทุนติดลบ"

ครึ่งแรกของปี 2534 สหธนาคารมีสินทรัพย์รวม 31,556.95 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 30,109.58 ล้านบาท ส่วนงวดเดียวกันของปีก่อนมีสินทรัพย์รวม 25,994.29 ล้านบาท มีหนี้สินรวมเท่ากับ 24,568.14 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.