ยุคที่ 3 ของ ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ใครจะมาแทน "สนั่น อังอุบล"

โดย วิลาวัณย์ วิวัฒนากันตัง
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

"ศรีไทยซุปเปอร์แวร์" เริ่มต้นยุคแรกในตลาดพลาสติกโดยเถ้าแก่ "สุมิตร เลิศสุมิตรกุล" ตามมาด้วยสนั่น อังอุบลกุล คู่ค้าเก่าที่ร่วมปลุกปั้นตลาดเมลามีนจนสำเร็จอย่างงดงามในยุคที่สอง กระทั่งนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สนั่นจึงกลายเป้นสัญลักาณ์ของศรีไทยฯ เมื่อถึงยุคที่ 3 ยุคของธุรกิจครบวงจร ประจวบกับสนั่นไปเกี่ยวดองเป็นเขยตระกูลวัธนเวคิน เขาจึงถูกจับตาว่าวันหนึ่งคงจะจากศรีไทยฯ ไป ถ้าเป็นจริงใครจะมาแทนในเมื่อ "ณพล" ทายาทของสุมิตรก็ยังไม่พร้อม นี่ย่อมชี้ให้เห็นว่าศรีไทยฯกำลังขาดทีมบริหารการจัดการ

ชื่อ "สนั่น อังอุบลกุล" ในวันนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ "บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด" จนดูเหมือนจะเป็นเจ้าของที่นี่ และศรีไทยฯ ก็กลายเป็นตัวแทนของสินค้าซุปเปอร์แวร์

เมื่อพูดถึงซุปเปอร์แวร์ผู้คนจะนึกถึงศรีไทยฯ บริษัทซึ่งกลายเป็นผู้นำในตลาดเมลามีน ทั้งที่

ศรีไทยฯ เริ่มต้นด้วยสินค้าพลาสติกราคาถูก

นั่นเป็นจุดหักของศรีไทยที่ผันตัวเองจากสินค้าพลาสติกในยุคแรกมาสู่สินค้าเมลามีนในยุคที่

สอง

หากย้อนไป 30 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครคิดว่าเด็กหนุ่มขายของย่านเยาวราชอย่าง "สุมิตร เลิศสุ

มิตรกุล" จะกลายมาเป็นเจ้าของบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด จ้าวยุทธจักรเมลามีนและผู้นำด้านสินค้าพลาสติกอุตสาหกรรมในวันนี้

สุมิตร เริ่มต้นชีวิตเฉกเช่นคนจีนจากโพ้นทะเลในยุคก่อนด้วยเสื่อผืนหมอนใบ ทั้งที่เขาเกิดใน

อยุธยากรุงเก่าของไทย 5 ขวบก็ถูกส่งกลับเมืองจีน พออายุ 15 ปีก็ย้อนกลับมาตั้งรกรากในไทยแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาจึงไม่ได้เรียนต่อ

สุมิตรทำงานจากโรงงานครีมใส่ผมเล็ก ๆ ขนาดหนึ่งคูหาอยู่ 3 ปีกว่า ก็คิดอย่างทำงานอิสระ

มีธุรกิจของตัวเอง

แผงแปกะดินขายเลหลัง "อะไร ๆ ก็บาทเดียว" เริ่มีให้เห็นในย่านเยาวราช ซึ่งสุมิตรบอกว่า

"จะพูดว่าผมเป็นคนริเริ่มก็ได้"

"อะไร ๆ ก็บาทเดียว" ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับคนไม่ค่อยมีทุนอย่างสุมิตรในตอนนั้น

พอขายดี มีทุนมากขึ้นก็ซื้อสินค้าราคาสูงขึ้นเป็น 2-3-4-5 บาท และขยับจากร้าน "ตั้งฮั่วไถ่" จากวัดเกาะมาจดทะเบียนเป็น "ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุตสาหกรรมศรีไทยพลาสติก" ในปี 2506 อยู่ตรงข้ามร้านทองตั้งโต๊ะกัง เยาวราช

สุมิตรขายสินค้าหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องครัวทั้งมีดตราแพะจากเยอรมันหรือมีดสแต

เลสจากญี่ปุ่น กะละมัง ทัพพี รวมไปถึงกุญแจทองเหลือง โดยเฉพาะของเด็กเล่นพลาสติกขายดีเป็นพิเศษจึงเริ่มสั่งเข้าสินค้าพลาสติกจากฮ่องกงมาขาย

ขณะเดียวกัน สุมิตรเห็นเด็กหนุ่มหน่วยก้านดีอย่างศักดิ์สิทธิ์ ดิลกวณิชกุล ซึ่งเป็นคนส่งสินค้า

ก็ชวนมาอยู่ด้วย

ตอนนั้นศักดิ์สิทธิ์มีรายได้เป็นรายวัน รวมแล้วพันกวาบาทต่อเดือน เมื่อสุมิตรถามว่า "อยู่กับ

ผมเอามั้ย ถ้าเป็นคนอื่นจะให้ 80 บาทต่อเดือน แต่เป็นคุณจะให้ 300 บาทต่อเดือน"

ศักดิ์สิทธิ์ไม่คิดมากเลย มาอยู่กับสุมิตรทันที เพราะเห็นว่าสุมิตรให้ความเป็นกันเอง เมื่อมา

อยู่ก็ทำหน้าที่ดูแลหน้าร้านและส่งของ

ต่างก็ชื่นชมซึ่งกันและกัน เพราะศักดิ์สิทธิ์สู้งานทุกแบบ เป็นคนมาเปิดร้านแต่เช้า กว่าจะกลับก็เที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง ทำอย่างนี้อยู่หลายปี สุมิตรพอใจมากรวมไปถึงพ่อแม่ของสุมิตรที่เผื่อแผ่ความรักมาถึงศักดิ์สิทธิ์ด้วย

ช่วงนี้สินค้าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า มีการแลหลังตามงานวัดทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทำให้หมุนเงินได้เร็วมาก

สุมติรเห็นว่าตลาดพลาสติกมีอนาคต จึงตั้งโรงงานพลาสติก "มีแม่พิมพ์ฉีดของเด็กเล่นครั้งแรก เป็นเครื่องเล็ก ๆ ใช้มือ พอมีทุนเพิ่มก็ซื้อเครื่องใหญ่ทำของใช้ เช่น ขันน้ำ ขวดโหล ที่ใส่ตะเกียบ ขยายมาสู่สินค้าชิ้นใหญ่เช่นกระติกน้ำแข็งตะกร้า ถังน้ำ"

เขาอยากมีโรงงานของตัวเองทั้งที่ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง แต่ก็ได้ทุนจากคุณพ่อซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในตอนนั้นมา 500,000 บาท และได้เพื่อนคู่หูคือ "เฮียสือ" ผู้ทำสินค้าพลาสติกในย่านสำเพ็งและเพื่อนอีกคนหนึ่งที่มีความรู้ด้านพลาสติกมาช่วยตนความฝันของสุมิตรเป็นจริงขึ้นมา

ประกอบกับระยะนั้น ตลาดผงซักฟอกเริ่มแข่งขันกันรุนแรง สุมิตรเกิดความคิดขึ้นมาว่าผู้ขายผงซักฟอกควรจะมีสินค้าพรีเมี่ยมหรือของแถมแก่ผู้ซื้อ

สินค้าพรีเมี่ยมจึงกลายเป็นของแถมที่คู่กับผงซักฟอก เรียกว่าต่างฝ่ายต่างแข่งกันแถม คนก็แย่งกันซื้อ เพราะมีแถมตั้งแต่กะละมัง ถังน้ำ ที่เด่น ๆ ก็เป็นลายสก๊อต จนสุมิตรบอกว่าผลิตไม่ทัน

เฉพาะตลาดพรีเมี่ยมนี้ นับเป็นตลาดใหญ่ขนาดแสนชิ้น จนทำให้สุมิตรต้องสั่งซื้อเครื่องจักรทีเดียว 5-6 เครื่อง จัดเป็นก้าวสำคัญในการขยายตัวของศรีไทยฯ ในยุคที่ยังเป็น "ศรีไทยพลาสติก" และสุมิตรยอมรับว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทำให้เขามีทุนเป็นกอบเป็นกำ

สินค้าในช่วงนี้ ไม่ว่าจะถังน้ำ ตะกร้า ฯลฯ ล้วนแต่ลอกแบบมาจากฮ่องกง

มีหลายรายที่ผลิตสินค้าพลาสติกส่งตลาดสำเพ็ง เช่น ร้านกุยเส็งหรือเซ็นจูรี่พลาสติกในปัจจุบันร้านซิงแซหรือไทยพลาสติกที่ถนนเสือป่า ร้านโกยโฮ้งหรือน่ำไห่ฮง ร้านเลี่ยงฮั้วซึ่งมีโรงงานชื่อวาบางกอกพลาสติก โดยรวมแล้วช่วงเริ่มแรกก็ยังแข่งกันไม่รุนแรง แต่พอนานเข้าก็แข่งกันหนักจนไม่มีกำไรขณะที่ตลาดพรีเมี่ยมเริ่มอิ่มตัว

สุมิตรเห็นว่าขืนทำต่อคงแย่ มีสิทธิเจ๊ง จึงคิดหาทางผลิตสินค้าตัวอื่นแทน

แล้วเขาก็ไปสะดุดที่สินค้าเมลามีน เวลานั้นมีแต่ "มาลาเคมีอุตสาหกรรม" เพียงรายเดียวเท่านั้นซึ่งเน้นขายแต่โรพยาบาลเพราะเจ้าของเป็นหมอ ขณะที่สุมิตรเห็นว่า "น่าจะมีตลาด"

เนื่องจากเมลามีนซึ่งแม้เป็นพลาสติก แต่จะเป็นพลาสติกพิเศษที่ทนความร้อนสูงถึง 140 องศาเซ็นติเกรด แข็ง ตกแตกแยก แห้งเร็ว ทนต่อรอยขีดข่วน ไม่เกาะฝุ่น โดยเฉพาะถ้าเป็นเมลามีนที่เคลือบหรือตกแต่งด้วยลายต่าง ๆ จะดูแวววาวและป้องกันการเกาะติดของคราบต่าง ๆ ได้ดี

เมื่อคิดได้ เขาไม่รีรอที่จะลงมือสร้างฝันให้เป็นจริง

"ยอมรับว่า ตอนเปิดตลาดใหม่ยากน่าดู เพราะคนคิดว่าเมลามีนก็คือพลาสติกธรรดานี่เอง แต่กลับขายราคาแพง" สุมิตรเปิดเผยถึงความคิดและความรู้สึกในตอนนั้นว่า "พอเริ่มต้น เห็นว่าคนเดียวคงไม่ไหว ก็พอดีได้สนั่นมาช่วย"

ทำให้ศรีไทยฯก้าวสู่ยุคที่ 2 ด้วยความราบรื่นและไปโลดเกินกว่าที่คิด

สุมิตรรู้ว่า เมื่อบุกเบิกศรีไทยฯ มาพักใหญ่ ก็เริ่มเห็นข้อจำกัดของตัวเอง แม้จะมองตลาดออก แต่ตนมีความรู้น้อยภาษา (อังกฤษ) ก็ไม่ดี จึงเป็นข้ออ่อนที่ต้องหาทางเสริมให้แข็งขึ้น

กอรปกับสุมิตรมีปัญหาเรื่องเครื่องเป่าพลาสติก จึงหารือสนั่น ตัวแทนขายของบริษัทริคเคอร์มานด์แห่งเยอรมัน การพูดคุยจากเรื่องงานเรื่อยไปถึงเรื่องสังคม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องคน ซึ่งต่างก็มีความเห็นตรงกันว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาองค์กร เรียกว่าถูกคอกันมากจนสุมิตรชักชวนสนั่นมาร่วมทำงานด้วย

ที่สุมิตรถูกใจสนั่นเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งเพราะเห็นว่า "บุคลิกและนิสัยดี" ทำให้สุมิตรมั่นใจว่าสนั่นจะช่วยงานที่ศรีไทยฯได้มาก โดยเฉพาะในช่วงที่สุมิตรกำลังต้องการคนมีฝีมือและไฟแรงมาช่วยทั้งงานบริหารภายในและการตลาด

สนั่นเคยเป็นนักเรียนทุนเอ.เอฟ.เอสรุ่นที่ 4 ที่ WINTER PARK HIGH SCHOOL, FLORIDA, สหรัฐอเมริกา และจบปริญญาตรีบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัย OGLETHORPE, ATLANTA.GEORGIA. ดีกรีเหล่านี้ยิ่งช่วยให้สุมิตรมั่นใจในตัวสนั่นยิ่งขึ้น

ขณะที่สนั่นรับผิดชอบอยู่กับเครื่องจักรพลาสติกที่ตนจำหน่าย พื้นฐานเหล่านี้ทำให้สนั่นมองว่าอนาคตอุตสาหกรรมเมลามีนและพลาสติกยังจะโตอีกมาก ซึ่งถ้าสนั่นเลือกทำงานที่ริคเคอร์มานด์ต่อคงจะไม่คุ้มทั้งเรื่องของค่าตอบแทนและประสบการณ์ที่จะได้โอกาสก้าวหน้าก็น้อย เพราะปกติแล้วทางริคเคอร์มานด์นิยมจะให้คนในประเทศของเขาเป็นใหญ่มากกว่า

สนั่นจึงตัดสินใจเลือกทำงานกับศรีไทยฯ ในปี 2515 เริ่มด้วยตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน (พลาสติก)

เมื่อสนั่นก้าวเข้าสู่อาณาจักรศรีไทยฯ เขายอมรับว่าช่วงแรกหนักใจมากทีเดียว สำหรับการบริหารที่เป็นลักษณะ ONE MAN SHOW ขณะที่ลูกหม้อเก่าต่างก็มีลีลาการทำงานเฉพาะของตนเอง ไม่มีระบบอะไรเลย อีกทั้งพื้นความรู้ก็ต่างกัน

ความแปลกแยกจึงเกิดขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่อย่างสนั่นซึ่งมีความรู้สูงแถมจบนอก ส่วนคนเก่าล้วนแต่ฝึกฝนตนเอง ไต่เต้ามาจากที่ไม่รู้ จนชำนาญในงานของตนและมีประสบการณ์สูง

ประกอบกับในปี 2516 เกิดวิกฤติน้ำมันครั้งแรกขึ้น ราคาวัตถุดิบคือ เม็ดพลาสติกถีบตัวสูงขึ้นอย่างพรวดพราด แม้ในวันเดียวปรับราคากันวันละ 3-4 ครั้งเลยทีเดียว ระยะนั้นราคาเม็ดพลาสติกสูงจากเดิมถึง 500 เท่า

ตอนนั้นบรรดาพ่อค้าขายพลาสติกจึงหันมาตุนและขายเม็ดพลาสติกแทนซึ่งกำไรกว่าการขายสินค้าพลาสติกหลายร้อยเท่า

สุมิตรยอมรับว่า ตรงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทำให้ศรีไทยฯ มีกำไรอย่างมากและหันมาสนใจด้านเมลามีนเป็นพิเศษ

เพราะถ้าขืนผลิตและขายสินค้าพลาสติกต่อมีหวังเจ๊งลูกเดียว เพราะรับออเดอร์มาแล้ว กำหนดราคากันแน่นอน อีก 3 เดือนจึงจะส่งสินค้าให้ เมื่อเจอราคาวัตถุดิบสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนอย่างนี้สุมิตรก็กลับลำเหมือนพ่อค้าพลาสติกคนอื่นที่หันมาตุนเม็ดพลาสติก แทบจะพูดได้ว่ามีสต็อกเม็ดพลาสติกมากกว่ารายอื่น จนมีทุนก้อนโตไว้ขยายงานในระยะต่อมา

ด้วยสถานการณ์ด้านพลาสติกที่ตกต่ำอย่างรุนแรงประสานเข้ากับแนวคิดที่สุมิตรจะโยกมาเน้นงานเมลามีนก่อนหน้านี้แล้ว ผนวกกับที่ได้สนั่นมาร่วมทีม ยุคเมลามีนของศรีไทยฯ จึงเริ่มขึ้น

สนั่นเองเห็นว่าภายใต้โครงสร้างการบริหารแบบเก่า หากอยู่ ๆ จะไปปรับเปลี่ยนใหม่ คนเก่าย่อมจะรับไม่ได้ กลับจะกลายเป็นแรงต้านตัวสนั่นด้วย

ดังนั้น จึงเน้นความสนใจที่เมลามีนเป็นหลักเพื่อหลีกแรงปะทะโดยตรง และปรับทิศทางการพัฒนาธุรกิจของศรีไทยฯใหม่ไปพร้อม ๆ กัน

ดังที่สนั่นยอมรับว่า "การเริ่มงานด้านเมลามีนแม้ตัวเราจะไม่รู้ แต่ทุกคนก็เริ่มต้นเหมือนกันใหม่หมด ที่ไม่รู้ก็อาศัยซื้อโนฮาวก่อน"

แต่ที่สุดทุกอย่างย่อมจะต้องพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ที่สำคัญเจ้าของอย่างสุมิตรอยู่เบื้องหลังที่ให้การสนับสนุนเต็มที่

ช่วงต่อตรงนี้ พูดได้ว่ามีคนคัดค้านสนั่นอย่างมาก มีคนส่วนหนึ่งลาออกไปจากผลการเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งลาออกไปทำธุรกิจของตัวเองก่อนหน้านี้แล้ว เหลือเพียงศักดิ์สิทธิ์ หรือเฮียซ้วง ลูกหม้อเก่าแก่ที่ยังอยู่ยงคงกระพันกับศรีไทยฯ มา 30 ปี ซึ่งคอยดูแลตลาดพลาสติก

สุมิตรรู้ว่า เมื่อบริษัทใหญ่ขึ้น ถ้าขืนยังทำอยู่คนเดียว บริหารแบบเดิม คงลำบาก และเห็นท่าจะไปไม่รอด หากจะบริหารธุรกิจให้ก้าวหน้าก็ต้องมีทีมที่แข็งพอ

พอสนั่นเข้ามา ก็เริ่มงานด้านเมลามีนโดยสั่งเครื่องจักรเข้ามา 3 เครื่อง

ดูจะเป็นความบังเอิญที่สนั่นมีเพื่อนชื่อ "วิชัยโกสินทรานนท์" ปัจจุบันอยู่บริษัท สินทราการช่าง ซึ่งเคยทำงานด้วยกันที่ริคเคอร์มานด์มาก่อน และวิชัยได้ชักชวน "ทวี คงยั่งยืน" ที่อยู่ไดมอนพลาสติกมาร่วมทีมโดยให้รับผิดชอบทางด้านโรงงานเมลามีน

ขณะเดียวกัน สนั่นก็ดึงมานิต อติวานิชยพงศ์ เพื่อนซึ่งเคยเรียนด้วยกันก่อนที่สนั่นจะแยกไปต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาย และมานิตไปต่อที่พาณิชยการ พระนคร แล้วมาทำงานที่ "แกรานด์" บริษัทโฆษณามีชื่อควบคู่ไปกับคาเธ่ย์ในยุคนั้น

มานิตเริ่มด้วยการเข้าอบรมความรู้ด้านเมลามีน แล้วช่วยดูตัวสินค้า จัดรูปแบบ รวมไปถึงงานขายและได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการด้านตลาด

ระยะนั้นเมลามีนยังไม่แพร่หลายในตลาดเท่าใดนัก บริษัทด้านนี้ก็มีอยู่ 3 รายคือ มาลาเคมีอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้บุกเบิกใช้ยี่ห้อ "มาลา" รายที่สองคือตราปลาของบริษัท บางกอกสอิสเทิร์น จำกัด รายที่ 3 คือฟลาวเวอร์แวร์หรือตราดอกไม้ ซึ่งตอนหลังขายกิจการให้ศรีไทยฯ ส่วนศรีไทยฯนั้นถือว่าเข้ามาในตลาดเป็นอันดับที่สี่

ศรีไทยฯ ออกเมลมีนยี่ห้อ "ซุปเปอร์แวร์" แต่ในช่วงแรก ขายเท่าไหร่ก็ขายไม่ค่อยได้ แม้จะเป็นรายแรกที่ออกสินค้าเมลามีนมีลวดลาย แต่แพงมาก ขนาดวางในห้างไดมารูราชดำริ ซึ่งขึ้นชื่อว่าของแพงกว่าที่อื่นก็ไม่เป็นผล

เพราะคนมองว่า "ซุปเปอร์แวร์" ก็คือพลาสติก แต่มาเรียกชื่อใหม่ เพื่อบวกราคาเพิ่ม ทำให้สถานะของซุปเปอร์แวร์กลายเป็นสินค้าเกรดเดียวกับพลาสติก ซึ่งผู้บริโภคเห็นว่าเป็นเกรดต่ำ ต่างกับกระเบื้องที่ดูมีเกรดมีระดับกว่า

"ซุปเปอร์แวร์" ของศรีไทยฯ จึงตกที่นั่งลำบาก แม้แต่สัญลักษณ์นกเพนกวินที่สนั่นบอกว่าทุกคนเห็นตรงกันว่าเป็นนกแปลก สวนแต่เวลาพิมพ์ลงบนตัวสินค้า กลับพิมพ์ชื่อให้ใหญ่แล้วใช้รูปนกเล็ก ๆ เพื่อว่าคนซื้อจะได้ไม่สะดุดรูปนก แต่จะเด่นที่ตัวหนังสือ "ซุปเปอร์แวร์"

เพราะคนซื้ออาจจะเข้าใจผิดว่า ซุปเปอร์แวร์คือสินค้าเกรดเดียวกับพลาสติกตราไก่ ตรานกของรายอื่น ขณะที่เสรีไทยฯต้องการวางตำแหน่งสินค้าเมลามีนที่ออกมาให้อยู่ในระดับ "สินค้าคุณภาพพิเศษ" เช่นเดียวกับนกเพนกวินซึ่งมีความแปลกและสวยอยู่ในที

กว่าจะเข็นนกเพนกวินตัวเล็ก ๆ ที่แอบไว้ให้ขึ้นมาผงาดในตลาดเมลามีน ทำเอาศรีไทยฯ แทบแย่ไปเหมือนกัน แล้วสนั่นก็เป็นดุจอัศวินม้าขาวที่มาปลุกปั้นให้นกเพนกวินเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่ออออก "ซุปเปอร์แวร์" ใหม่ ๆ แต่ละเดือนขายได้เพียงไม่กี่แสนบาท

แล้ววันหนึ่งสนั่นแว่บคิดขึ้นได้ใหม่ แต่ละเดือนขายได้เพียงไม่กี่แสนบาท

แล้ววันหนึ่งสนั่นแว่บคิดขึ้นได้ใหม่ เมื่อมีคนนำสินค้าทัปเปอร์แวร์ (จากออสเตรเลีย) ไปแนะนำที่บ้าน เขาจึงคิดว่าถ้าซุปเปอร์แวร์ใช้วิธีขายตรงหรือระบบพิธีกรน่าจะทำให้ไปได้ดีกว่า

โดยเริ่มเลือกพิธีกรหรือตัวแทนขายจากคนใกล้เคียงที่มีกำลังซื้อ "จะทำให้เขารู้สึกภูมิใจ ขณะเดียวกันคนไทยเป็นคนขี้เกรงใจ และการแนะนำสินค้าอย่างใกล้ชิด ผู้ขายมีโอกาสบริการลูกค้าได้มากกว่าการวางสินค้าตามห้าง ซึ่งลูกค้าได้แต่จับต้องไม่มีคนคอยอวดสรรพคุณ" เป็นเหตุผลที่สนั่นค่อนข้างแน่ใจกับกลยุทธ์ใหม่

ทางด้านสุมิตรเองก็มั่นใจโดยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "เราต้องริเริ่ม กล้าเสี่ยง ตอนนั้น คิดว่าควรจะลองสัก 3 เดือน"

จึงเรียกเก็บสินค้า "ซุปเปอร์แวร์" คืนจากห้างสรรพสินค้าทั้งหมด จนถูกวิจารณ์กันทั่วว่าเห็นทีศรีไทยฯ จะบ้า

แต่ศรีไทยฯ ก็เดินหน้าเริ่มด้วยพิธีกร 4 คนผ่านไป 3 เดือนก็เห็นผล จากสัปดาห์หนึ่ง ๆ เครื่องจักร 3 เครื่อง ผลิตแค่ 8 ชั่วโมงต่อวันก็ยังไม่มีที่เก็บ ก็เดินเครื่องเพิ่มเป็น 24 ชั่วโมงต่อวันจนต้องสั่งซื้อเครื่องจักรเพิ่มเป็น 8 เครื่องเพื่อสนองความต้องการลูกค้าให้ได้มากขึ้น และขยายตัวมาเป็นระยะปัจจุบันรวมมีเครื่องจักร 152 เครื่อง ซึ่งต้องเดินเครื่องตลอดวัน

ยอดขายก็เพิ่มพรวดทันตาเห็น จากแค่แสนบาทต่อเดือนมาเป็นล้านบาทต่อเดือน โดยเน้นลูกค้ามีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป จนเป็นที่พอใจทั้งพิธีกรและลูกค้า พิธีกรที่ทำยอดได้ถึง 5,000 บาท ก็จะมีรางวัลซึ่งส่วนใหญ่จะทำได้ตั้งแต่ใน 2 สัปดาห์แรก

จุดขายของ "ซุปเปอร์แวร์" ที่วางไว้ตั้งแต่เริ่มแรกคือ คงทน มีระดับ เน้นคุณภาพ ซึ่งจะใช้ขนาดเครื่องที่เหมาะกับชิ้นงาน ต้องมีขนาดแรงอัดเพียงพอทำให้สินค้าดูมีเกรด

ตอนนั้น ศรีไทยฯ ออก "ลายจีน" และ "สองสี" โดยเฉพาะการออกลายจีนที่เรียกว่า "กังไส" ถ้าเทียบราคากับสินค้ากระเบื้องตอนนั้น "กังไส" จะแพงกว่า แต่การเน้นกลยุทธืตลาดตามภัตตาคารทำให้ลาย "กังไส" ประสบความสำเร็จสูง

แต่กว่าจะคิดลวดลาย รูปแบบและช่องทางตลาดจนเป็นที่น่าพอใจนั้น มานิต ผู้จัดการฝ่ายการตลาด (เมลามีน) เล่าว่าเริ่มจากพื้นที่ในกรุงเทพมีหน่วยรถออกไปวิ่งขายตามร้านอาหาร ภัตตาคาร แต่คนไม่ยอมรับ ร้านที่ไม่เชื่อว่าซุปเปอร์แวร์ดีจริงจะให้ทดลองใช้ก่อนซึ่งต่อมาทุกร้านก็ขอซื้อเพิ่ม

ถ้าเปรียบ "ซุปเปอร์แวร์" ที่ศรีไทยฯ ต้องการเน้นจุดเด่นว่าไม่ใช่พลาสจิก แต่เป็นเมลามีน และพุ่งเป้าที่จะให้ชื่อ "ซุปเปอร์แวร์" สร้างความรู้สึกว่าเป็นผลิตภัณฑ์เมลามีนระดับคุณภาพ จนกลายเป็น GENERIC NAME ที่คนทั่วไปจะเหมาเอาว่าซุปเปอร์แวร์กหมายถึงเมลามีนเมลามีนก็คือซุปเปอร์แวร์นั่นเอง

กระทั่งเปลี่ยนชื่อ "ศรีไทยพลาสติก" มาเป็น "ศรีไทยซุปเปอร์แวร์" เมื่อปี 2522 ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท จนปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี สินค้าเมลามีนที่ศรีไทยฯออกสู่ตลาดนั้นมี 4 ยี่ห้อด้วยกัน

เริ่มจาก "ซุปเปอร์แวร์" ที่เน้นคุณภาพเป็นพิเศษมีทั้งที่เป็นสีเดียว สองสี และลวดลายต่าง ๆ ราคาจะต่างจากสินค้าเมลามีนของ "มาลาเคมี" ประมาณ 10% มียอดขายราว 65% ของยอดขายเมลามีนทั้งหมดของศรีไทยฯ

ยี่ห้อที่ 2, 3 คือ "ฟลาวเวอร์แวร์" กับ "แวนด้า" เป็นยี่ห้อที่แข่งในระดับเดียวกับยี่ห้อ "มาลา" ที่ออกมาก่อนแต่แรก ราคาจะถูกกว่า "ซุปเปอร์แวร์" ประมาณ 10% แต่ละยี่ห้อจะขายได้ประมาณ 15%

ยี่ห้อสุดท้ายซึ่งเน้นตลาดระดับล่างคือ "ยูนิก้า" ยอดขายน้อยที่สุดเพียง 5% และเป็นส่วนศรีไทยฯจะไม่สนใจพัฒนาอะไรมากนัก จะคงไว้เพื่อสนองตลาดระดับล่าง แต่ศรีไทยฯจะเน้นพัฒนาชิ้นงานด้านคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะ "ซุปเปอร์แวร์" จะเห็นว่าได้พัฒนาทั้งเทคโนโลยีและลวดลายมากขึ้นเป็นลำดับ

ไม่ว่าจะเป็นลายการ์ตูนมิคกี้เมาส์ของบริษัทวอลท์ ดิสนีย์ โปรดักชั่น จำกัด ที่ศรีไทยฯได้รับลิขสิทธิ์เพื่อผลิตขายในประเทศไทย ฮ่องกง สิงคโปร์และอินโดนีเซีย ซึ่งจเน้นตลาดเด็ก หรือการได้รับเลือกเป็นผู้ผลิต "ซุปเปอร์แวร์" ให้แก่มาร์ค แอนด์สเปนเซอร์ ห้างมีชื่อเสียงในประเทสอังกฤษ

นอกจากนี้ยังได้รับเครื่องหมาย "มอก." เครื่องยืนยันมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมประเภทเครื่องใช้เมลามีนจากกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นรายแรกตั้งแต่ปี 2528

จุดเด่นเรื่องคุณภาพของ "ซุปเปอร์แวร์" ผนวกกับกลยุทธ์การขายตรง ทำให้ศรีไทยฯกลายเป็นเจ้าตลาดเมลามีน แบ่งสัดส่วนขายในประเทศและส่งออกประมาณ 64:36 ของขายผลิตภัณฑ์เมลามีน

ถ้าเทียบส่วนครองตลาดเมลามีนทั้งหมด แยกเป็นของศรีไทยฯ 60% มาลาเคมี 21% ที่เหลือเป็นรายอื่น

จะเห็นว่าศรีไทยฯได้พัฒนาระบบการขายตรงจนมีพนักงานกว่า 15,000 คนในปัจจุบัน มีทั้งระดับพนักงานขายโดยตรง ผู้จัดการหน่วยและผู้จัดการเขต

"ซุปเปอร์แวร์" ที่ขายวิธีนี้จะมีเอกลัษณ์ด้านรูปแบบและลวดลายไม่ซ้ำช่องทางอื่น เช่น ลายบลูดานูป ลายที่ออกใหม่ล่าสุด เป็นต้น

อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการขายตรงโดยรับออเดอร์ มีทั้งลูกค้า โรงแรมภัตตาคาร สายการบินซึ่งจะกำหนดทั้งรูปแบบและลวดลายมาให้

นอกจากนี้ จะขายผ่านบริษัท ศรีไทยมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้แก่ตรานกเพนกวิน หรือ "ซุปเปอร์แวร์" ที่เป็นลายทั่วไป สีเดียวหรือสองสี ตราแวนด้าและตรามือ (ยูนิก้า) ส่วนตราดอกไม้หรือฟลาวเวอร์แวร์จะให้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามเมลามีน (สุมิตรถือหุ้นใหญ่) รับผิดชอบ

ตัวแทนทั้งสองนี้จะเป็นคนขายสินค้าเมลามีนไปยังห้างสรรพสินค้า สหกรณ์ ยี่ปั๊ว และซาปั๊วอีกต่อหนึ่ง โดยมีส่นลดให้ห้างและยี่ปั๊ว 20% และซาปั๊ว 15%

สำหรับตลาดต่างประเทศ มีทั้งนำสินค้าไปเสนอขายและรับออเดอร์กว่า 30 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมันตะวันตก ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ตลอดจนกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

ความโดดเด่นด้านเมลามีนในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชื่อของสนั่นได้รับการกล่าวขวัญคู่กับความสำเร็จของศรีไทยฯ ยุค "ซุปเปอร์แวร์" จนธุรกิจพลาสติกดูจะถูกบดบังไป

อันที่จริง หลังจากที่ได้ริเริ่มธุรกิจเมลามีนจนเข้ารูปเข้ารอยระยะหนึ่ง สนั่นยอมรับว่าความสำเร็จของกลยุทธ์ขายตรงทำให้เขามีเครดิตในศรีไทยฯ เพื่อพิสูจน์ว่ามืออาชีพอย่างเขาก็ทำการค้าได้เหมือนกัน

ช่วงซึ่งสินค้าพลาสติกตัดราคากันมากนั้นสนั่นเห็นว่าถ้าฝืนแข่งกันต่อไปคงพัฒนาตลาดยาก ดังนั้น จึงต้องฉีกแนวออกไป ซึ่งสนั่นใช้เทคนิคฉีกแนวตลาดออกไปโดยเลือกลูกค้ารายใหญ่ เมื่อต้องการเทคนิคก็ซื้อโนฮาวก่อน แล้วเรียนรู้เอาทีหลัง โดยเริ่มจากการซื้อโนฮาวจากชูลเลอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งเยอรมันตะวันตกมาผลิตลังพลาสติกแทนลังไม้

เมื่อตลาดลังพลาสติกไปได้ดีมาก ทำให้ชาวศรีไทยฯยอมรับสนั่นมากขึ้นเป็นลำดับ

นับเป็นจุดเปลี่ยนที่ศรีไทยฯ เริ่มหันมาสนใจตลาดพลาสติกอุตสาหกรรมแทนสินค้าอุปบริโภคบริโภคในบ้าน เช่น กะละมัง ถังน้ำ ซึ่งถือเป็นการหลีกตลาดที่เป็น MASS PRODUCTS

สัดส่วนการผลิตสินค้าพลาสติกของศรีไทยฯ แยกประเภทได้ดังนี้

ลังน้ำอัดลม สัดส่วนผลิต 33% จะป้อนบริษัทเสริมสุข จำกัดและบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด เจ้าของน้ำอัดลมโค้กและเป๊ปซี่ ครองตลาดได้ 90% มีคู่แข่งหลักอยู่ 2 รายคือบริษัท บางกอกยูเนี่ยน จำกัดและบริษัท ไดนามิค จำกัด

ชิ้นส่วนอุตสากรรมต่าง ๆ สัดส่วนผลิต 16% ส่งให้บริษัท ฮอนด้าและชาร์ปในไทย โดยครองตลาดได้ 20% คู่แข่งในตอนนี้ก็มี บริษัท ยูเนี่ยนพลาสติก จำกัดและบริษัท เซ็นจูรี่ จำกัด

เปลือกหม้อแบตเตอรี่มีสัดส่วนผลิต 10% ป้อนให้บริษัทเนชั่นแนลในไทย ครองตลาดได้ 85% คู่แข่งมีเพียงบริษัท ยูเนี่ยนพลาสติก จำกัด

บรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ลังปลา ถังใส่สีและเคมีภัณฑ์ผลิตในสัดส่วนประมาณ 8% เฟอร์นิเจอร์ สัดส่วนผลิต 6% กว่าและออเดอร์พลาสติกเพื่อส่งออกประมาณ 10%

การผลิตสินค้าพลาสติก ศรีไทยฯ จะเน้นการร่วมทุนกับหลายชาติ รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากหลายประเทศ ซึ่งย่อมจะดีกว่าการซื้อโนฮาวที่มักจะกำหนดระยะเวลาของการถ่ายทอด เมื่อหมดสัญญาก็จบกัน

ขณะที่ต่างชาติผู้ร่วมทุนกับศรีไทยฯ ยินดีแนะนำวิชาความรู้ให้ ที่สำคัญเพราะต้องการขยายตลาดในธุรกิจพลาสติกประเภทนั้น ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของกิจการ อีกเหตุผลหนึ่งยอมรับกันว่าผู้รับการถ่ายทอดจะก้าวหน้าไปได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับความสนใจและความตั้งใจของผู้รับเทคโนโลยีด้วย

โดยเฉพาะกับญี่ปุ่นซึ่งมักจะมีเสียงวิจารณ์กันว่า มักจะไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เต็มที่ แต่ผู้เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมรวมทั้งที่ศรีไทยฯ อธิบายว่า "เอาเข้าจริง ๆ พอเราสนใจนรายละเอียดพยายามซักถาม สังเกตให้มาก เขาก็ยินดีให้ความรู้ อยู่ที่ว่าเราจะเก็บเกี่ยวได้มากแค่ไหน"

สุมิตรและสนั่นกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าศรีไทยฯ จะเน้นการพัฒนาสินค้าพลาสติกสำหรับอุตสหกรรมเป็นหลักและมุ่งเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ

ด้วยนโยบายที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีตลอดเวลา สนั่นเชื่อว่าจะทำให้ศรีไทยฯเป็นผู้นำด้านพลาสติกอุตสาหกรรม โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องการแข่งด้านราคา

เพราะโดยของธุรกิจพลาสติกที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเน้นปริมาณเป็นหลัก เมื่อมีใครริเริ่มใหม่สินค้าตัวใดที่ไปได้ดี ก็มักแห่กันลงทุน จนขณะนี้มีโรงงานพลาสติกทั่วประเทศประมาณ 2,000 รายซึ่งส่วนใหญ่จะรายเล็ก

ดังนั้น จุดที่จะทำให้ธุรกิจพลาสติกก้าวหน้าไปได้นั้น จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้งอันเป็นทิศทางที่ศรีไทยฯ เลือกเดิน

ด้วยเหตุที่ศรีไทยฯ แยกธุรกิจพลาสติกออกไปหลายแขนงและเฉพาะด้านมากขึ้น "ช่วยตัดปัญหาการแข่งขันด้านราคา" สุมิตรกล่าวถึงแนวพัฒนาพลาสติกในอนาคต

จากจุดขายที่เน้นตลาดเฉพาะกลุ่มและอาศัยการขายตรง 90% เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม วิธีการนี้จึงเหมาะกับตัวสินค้าส่วนหนึ่งอีก 10% จะขายผ่านบริษัท ศรีไทยมาร์เก็ตติ้ง จำกัด สัดส่วนตลาดในประเทศและต่างประเทศ 90:10

ศรีไทยฯ ยังมีอีก 3 โครงการที่กำหนดเปิดรงงานภายในปี 2535

ได้แก่โรงงานแม่พิมพ์ของเด็กเล่น 50 ล้านบาทโดยจะเทกโอเวอร์บริษัทไต้หวัน ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา โรงงานผลิตเม็ดพลาสติก PET 200 ล้านบาทร่วมทุนกับไต้หวันเพื่อสนองความต้องการเม็ดพลาสติก PET ที่จะขาดแคลนในปี 2536 และโรงงานผลิตสินค้าพลาสติกด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันโรคเอดส์ มูลค่า 30 ล้านบาท อยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนกับยุโรป

ด้านเมลามีนนอกจากจะตั้งโรงงานขยายกำลังการผลิตสินค้าเมลมีนแล้ว ยังมีโรงงานผลิตผงเมลามีนขนาด 600 ตัน โดยร่วมทุนกับบริษัท นิปปอนคาร์ไบด์แห่งญี่ปุ่นมูลค่า 225 ล้นาบาท ซึ่งจะช่วยทดแทนการนำเข้า

ผงเมลามีนที่ผลิตได้จะป้อนโรงงานของศรีไทยฯ 400 ตัน อีก 200 ตันป้อนโรงงานอื่น

สุมิตรกล่าวว่าโครงการเหล่านี้ เป็นไปตามนโยบายที่ศรีไทยฯ เน้นธุรกิจครบวงจรมากขึ้นทั้งด้านพลาสติกและเมลามีน ต่อไปจะให้ความสำคัญทั้ง 2 ธุรกิจ "เป้ายอดขายครึ่งต่อครึ่งอาจจะต่างนิดหน่อย แล้วแต่สถานการณ์"

หากดูแนวโน้มแล้วพบว่ายังไปได้ดีทั้ง 2 ตลาด ตลาดเมลามีนยังขยายได้อีกมากโดยเฉพาะในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าโดยประมาณว่าอัตราเติบโตไม่น้อยกว่า 10% ต่อปีแต่จะอยู่ในวงแคบกว่า เนื่องจากวัตถุดิบเมลามีนจะมีข้อจำกัดการขึ้นรูปในตัวของมันเอง นั่นก็คือถ้าเป็นรูปทรงที่ตรงเป็นเหลี่ยมหรือมีร่องลึก จะทำยาก

ขณะที่ตลาดพลาสติกขยายได้กว้างกว่ามากขึ้นรูปสินค้า ได้หลากหลายแยกตลาดออกไปได้นับร้อย ๆ ชนิด มีอัตราการขยายตัวประมาณ 15-20% ต่อปีแล้วแต่ประเภทของสินค้าที่จะเข้าไปทดแทนทั้งที่เป็นไม้และโลหะ

ภาพตอนนี้ ศรีไทยฯ กำลังไปได้สวย จะเห็นว่ามีโครงการที่จะเกิดขึ้นอีกมาก โดยจัดตั้งบริษัทในกลุ่มเพิ่มเติมด้วยการร่วมทุน

ขณะเดียวกันก็ปรับโฉมแต่งตัวใหม่ด้วยการนำจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเริ่มซื้อขายในวันที่ 2 ตุลาคมศกนี้เป็นครั้งแรก ภายใต้โครงสร้างการบริหารใหม่

แต่ภายใต้ความยิ่งใหญ่ ศรีไทยฯต้องพัฒนาเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา ปัญหาอยู่ที่ว่าจะเตรียมคนได้พร้อมทันความต้องการหรือไม่ ขณะที่มีกระแสว่าสนั่นอาจจะทิ้งที่นี่ไปบริหารงานในธุรกิจการเงินของตระกูลวัธนเวคิน หลังจากที่แต่งงานกับนัฏฐิกาลูกสาวนักบริหารของตระกูลนี้เมื่อตุลาคม 2533

หากศรีไทยฯ ไม่มีคนชื่อสนั่น อะไรจะเกิดขึ้น

ยอมรับกันว่าความสำเร็จตลอดเวลาที่ผ่านมาในยุคที่ 2 ของศรีไทยฯเป็นฝีมือของสนั่นเป็นหลัก แม้ว่าจะมีทีมงานซึ่งมีประสบการณ์ทั้งด้านพลาสติกและเมลามีนนับ 10 ปีก็ตาม แต่การริเริ่มใหม่ ๆ ส่วนใหญ่จะมาจากสนั่น

ไม่ว่าจะเป็นการบุกเบิกขยายตลาดเมลามีนต่างประเทศหรือการเปลี่ยนแนวมาเน้นหนักสินค้าพลาสติกอุตสาหกรรม ตลอดจนถึงการเจาะตลาดด้านนี้ล้วนแต่เป็นฝีมือของสนั่นทั้งสิ้น ตลอดจนการเปิดตัวต่อสาธารณชน จนกลายเป็นว่าศรีไทยฯคือสนั่น สนั่นคือศรีไทยฯ และแทบจะลืมสุมิตรไปแล้วในยุคที่ 2 นี้ เพราะแม้แต่บริษัทในกลุ่มส.สหธาราก็เข้าใจกันมากกว่าเป็นของศรีไทยฯ ทั้งที่เป็นของสนั่นและตระกูลอังอุบลกุล

หากเปรียบเทียบสไตล์การบริหารและการตลาดของศรีไทยระหว่างยุคแรกกับยุคที่ 2 แล้วจะเห็นว่ายุคแรกเป็นยุคของสุมิตรซึ่งเป็นเสมือนประธานผู้ศักดิ์สิทธิ์ขององค์กร ความสัมพันธ์กับลูกค้าในตลาดก็เป็นคนจีนเสียส่วนมาก จึงใช้ภาษาจีนเป็นหลัก

จะเห็นได้จากสไตล์ของ ศักดิ์สิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด (พลาสติก) จะออกมาในรูปของลูกทุ่งมีใจนักเลงตามระบบธุรกิจในยุคนั้น แต่อาศัยความเป็นกันเองและบริการดีจนเติบโตและก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้

ส่วนยุคที่ 2 เป็นยุคของสนั่น ผู้เป็นดุจเสาหลักการบริหารและกระบอกเสียงขององค์กร เนื่องเพราะมีความเป็นพีอาร์แมนอยู่ในตัว สนั่นจึงเป็นคนเดียวที่จะพูดคุยหรือบอกกล่าวทุกอย่างที่เกี่ยวกับศรีไทยฯ

สำหรับความสัมพันธ์กับลูกค้าในตลาดขยายตัวมาเน้นหนักด้านเมลามีน เป็นความสัมพันธ์ที่เป็นระบบและอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่พัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า โรงแรม สายการบิน ตลอดจนตลาดต่างประเทศ ซึ่งใช้การสื่อสารที่ดูนุ่มนวล ทั้งภาษาไทยและขยายไปสู่ภาษาอังกฤษ จะเห็นได้จากสไตล์ของมานิตที่ดูอ่อนโยนแบบลูกกรุงมากกว่า

เมื่อศรีไทยฯ ได้พัฒนาด้านเมลามีน ทั้งรวมเอาเทคโนโลยีของชาติต่าง ๆ ไว้ที่นี่ จนพูดได้ว่าเป็นผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะที่อื่นกำลังจะเลิกผลิตจากสาเหตุว่าสู้ค่าแรงไม่ไหวบ้างหรือมีขีดจำกัดในการพัฒนาบ้าง ศรีไทยฯยังได้ให้ความสำคัญของธุรกิจพลาสติกไม่น้อยกว่าเมลามีน และในยุคต่อไปมีแนวโน้มจะเน้นด้านพลาสติก เนื่องจากตลาดโตกว่ามากดังกล่าวแล้ว

แต่ไม่ว่าจะเป็นเมลามีนหรือพลาสติกล้วนแต่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติทั้งสิ้น ถึงจะมีข้อตกลงว่าเจ้าของโนฮาวจะมาช่วยฝึกฝนและถ่ายทอดวิทยายุทธ์แก่คนของศรีไทยฯก็ตาม หากต้องอาศัยระยะเวลา

จะเห็นว่าล่าสุดเมื่อออตโต้ เครมเมอร์ กรรมการและผู้จัดการโรงงาน (พลาสติก) ชาวเยอรมันลาออกไปเพื่อทำธุรกิจของตนเอง ก็ยังหาคนมาแทนไม่ได้ สนั่นต้องขึ้นมารักษาการขัดตาทัพไปก่อน

แหล่งข่าวหลายคนในศรีไทยฯ จะกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ด้วยนัยเดียวกันว่า เมื่อคนเก่าลาออกไปก็จะมีคนใหม่มาแทน และที่ยังมีต่างชาติอยู่เป็นผู้บริหารระดับสูงเช่นนี้ เพราะเขามีประสบการณ์มากกว่า และเป็นในลักษณะของที่ปรึกษา แต่ผู้ปฏิบัติเป็นคนของศรีไทยฯ

นับเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ศรีไทยฯโตเร็วมาก แต่ไม่ได้เตรียมวางฐานด้านบุคลากรไว้

ตอนนี้ด้านโรงงานเมลามีนเองก็ยอมรับว่ายังสร้างคนไม่ทันกับงานที่จะขยายไปสู่นิคมสุรนารีในปีแรก 40-60 เครื่อง โดยเฉพาะระดับช่าง

เมื่อผ่านยุคเติบโตของทั้ง 2 ตลาดแล้ว ศรีไทยฯกำลังก้าวสู่ยุคที่ 3 ยุคของการเน้นเทคโนโลยีมุ่งธุรกิจครบวงจร และปรับโครงสร้างเพื่อกระจายการบริหารให้คล่องตัวยิ่งขึ้น โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็เป็นความคิดของสนั่นอีกเช่นเดียวกัน

การเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างภาพพจน์และเปลี่ยนฐานะของศรีไทยฯ ที่เป็นธุรกิจครอบครัวร่วม 30 ปีไปสู่ภาพของธุรกิจที่ดูมีระบบมากขึ้น และยกระดับบริษัทเท่านั้น แต่จะช่วยเพิ่มเครดิตยามเจรจาต่อรองกับลูกค้าต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นช่องทางระดมทุกนที่ช่วยลดภาระหนี้ ในขณะที่ศรีไทยฯ มีโครงการลงทุนอีกมาก

ศรีไทยฯ จึงแต่งตัวใหม่จากที่มีเพียงสนั่นเป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อ ณพล ลูกชายคนโตของสุมิตรจบจาก ASSOCIATE OF APPLIED SCIENCE IN BUSINESS MANAGEMENT UNIVERSITY OF HOUSTON, TEXAS สหรัฐอเมริกาแล้วได้เข้ามาเรียนรู้งานด้านส่งออก ฝ่ายการตลาด (เมลามีน) และฝ่ายตลาด (พลาสติก) กระทั่งถึงเดือนพฤษภาคมศกนี้ ช่วงปรับโครงการใหญ่ของศรีไทยฯ ณพลจึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและกรรมการ

ขณะเดียวกัน ผู้บริหารระดับสูงทุกคนซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของศรีไทยฯ จะปรับตำแหน่งใหม่เป็นผู้จัดการฝ่าย 6 ฝ่าย ควบคู่ไปกับตำแหน่ง "กรรมการ" ซึ่งจะมีอำนาจตัดสินใจในสายงานของตนได้เต็มที่

พร้อมทั้งเพิ่มฝ่ายศูนย์คอมพิวเตอร์ ฝ่ายศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และศูนย์อบรม เพื่อปรับระบบข้อมูลให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ศึกษา-วิจัยรูปแบบลวดลายของชิ้นงานเมลามีนและพลาสติกใหม่ของตัวเอง และเน้นสร้างคนเพื่อรองรับงานที่ขยายมากขึ้นในอนาคต

ส่วนงานที่เกี่ยวข้องทั้งพลาสติกและเมลามีน คือ ฝ่ายต่างประเทศ ฝ่ายครีเอทีฟ และฝ่ายซ่อมสร้างแม่พิมพ์ จะขึ้นต่อกรรมการผู้จัดการหรือสนั่นโดยตรง

ทางด้านณพลจะมีบทบาทช่วยดูแลงานศึกษาวิจัยตัวสินค้ารวมถึงโครงสร้างองค์กร ฝ่ายครีเอทีฟ ฝ่ายการตลาด (พลาสติก) และงานที่ได้รับมอบหมายจากสนั่นหรือสุมิตร รวมถึงการประสานระหว่างสุมิตรกับผู้จัดการฝ่าย

การที่ให้ณพลให้เรียนรู้งานทั่วไป และรับผิดชอบงานสำคัญ ๆ เช่นนี้ พูดได้ว่าเป็นการเตรียมทายาทตระกูล "เลิศสุมิตรกุล" สู่ผู้บริหารสูงสุดของศรีไทยฯ ในยุคที่ 3

ณพลเองยอมรับว่าด้วยวัย 30 ในขณะนี้ตนยังมีประสบการณ์น้อย และการที่ชื่อของสนั่นคู่กับศรีไทยฯก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นคนเก่ง มีจิตใจดี และทุ่มเทแก่ศรีไทยฯ มาตลอด

ขณะที่เกิดกระแสอยู่บ่อย ๆ ว่า สนั่นอาจจะจากศรีไทยฯ ไปช่วยทางวัธนเวคินเพราะความเชื่อถือในการบริหาร

สุมิตรในฐานะเจ้าของศรีไทยฯ คนแรกเปิดใจว่าตนเป็นผู้ให้กำเนิดศรีไทยฯ ส่วนสนั่นเป็นคนอุ้มชูปลุกปั้นศรีไทยฯ ให้เจริญเติบโต สนั่นก็เป็นเจ้าของด้วย ไม่เฉพาะแต่ในศรีไทยฯเท่านั้น แต่รวมไปถึงการเป็นหุ้นส่วนบริษัทในเครือศรีไทยฯ และบริษัทในกลุ่มสุมิตรกรุ๊ปด้วย เช่น ไทยทอย แวนด้าแพคศรีไทยคอนโดทาวน์ ไทยควอลิตี้แพค และยังไปทำธุรกิจและตั้งบริษัทส่วนตัวในกลุ่มส.สหธารา

การที่สนั่นเข้าถือหุ้นในสุมิตรกรุ๊ปนั้น อาจจะชี้ให้เห็นได้ว่าสนั่นสนใจธุรกิจพลาสติกอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นช่องทางที่เขาจะเรียนรู้และขยายข่ายในธุรกิจพลาสติกประเภทต่าง ๆ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ และสนใจธุรกิจพัฒนาที่ดินเหมือนนักธุรกิจคนอื่นในช่วงที่เป็นยุคทองวงการที่ดินว่า น้ำขึ้นให้รีบตัก

ส่วนกิจการกลุ่ม ส.สหธาราเป็นธุรกิจเฉพาะในตระกูล "อังอุบลกุล" เป็นเพราะสนั่นต้องการมีธุรกิจของตนเองเต็มตัว เป็นข่ายผูกความสัมพันธ์ของธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นความกว้างขวางของสนั่น ขณะเดียวกันเป็นการบ่งชี้ได้ว่าเขาไม่เพียงแต่เป็นนักบริหารมืออาชีพ แต่เป็นนักธุรกิจเต็มตัวด้วย

อย่างไรก็ตาม สุมิตรย้ำว่า "ที่สำคัญเขาย่อมต้องภูมิใจกับผลงานที่ทำมาได้ขนาดนี้และตลอดเวลาที่ผ่านมา ตนให้อำนาจในการบริหารและตัดสินใจแก่สนั่นเต็มที่เช่นกัน"

ยิ่งกว่านั้นสุมิตรเชื่อว่า ความผูกพันที่สนั่นมีต่อศรีไทย "คุณสนั่นคงไม่ทิ้งศรีไทยฯ ไป เพราะเขาก้าวหน้าได้อีกมาสำหรับที่นี่ คุณสนั่นเป็นคนดีผมรู้นิสัยคุณสนั่นคงไม่อยู่ ๆ แล้วทิ้งที่นี่ไป ผมมั่นใจ"

ขณะที่สนั่นบอกว่า คนทั่วไปมักจะคิดว่าตนเป็นมือปืนรับจ้าง แต่ที่จริงเป็นหุ้นส่วนด้วย "ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปจากที่นี่ ธุรกิจการเงินผมไม่ถนัดชอบอุตสาหกรรมมากกว่า ส่วนทางนั้น (วัธนเวคิน) เขาทำได้ดีอยู่แล้ว คุณนัฎฐิกาเองก็บริหารได้ดี ยิ่งกว่านั้นที่นี่ยังมีงานท้าทายอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้าพลาสติกอุตสหกรรม ตลอดจนขยายตลาดไปสู่อินโดจีนทั้งด้านเมลาทีนและพลาสติก"

นี่แสดงให้เห็นได้ว่า เขาคงไม่เลือกไปเป็นรองในธุรกิจของวัธนเวคิน ที่ซึ่งภรรยาบริหารอยู่แล้วเพราะถ้าเทียบกับศรีไทยฯแล้ว ที่นี่เขาน่าจะแสดงฝีมือได้มากกว่า

สำหรับณพลนั้น สุมิตรบอกว่า "เขาไม่ใช่คนเก่ง แต่มีความตั้งใจ คงต้องใช้เวลาเรียนรู้ หาประสบการณ์อีกระยะหนึ่ง อาจจะอีก 5 ปี 10 ปีที่เขาจะขึ้นมาแทน แต่ถ้าคนอื่นเก่งกว่า เป็นคนอื่นก็ได้"

โดยส่วนตัวแล้ว สุมิตรมองว่า ทำธุรกิจต้องใจกว้าง "ถ้าคิดว่าตัวเองเก่งคนเดียวบริษัทก็ไม่ใหญ่และอีกไม่นานศรีไทยฯจะตั้งที่ปรึกษาบริษัท"

แต่ถ้าสมมุติวันหนึ่งสนั่นตัดสินใจอำลาศรีไทยฯ ไปไม่ว่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สุมิตรยังยืนยันเช่นกันว่า "ก่อนคุณสนั่นจะไป ผมเชื่อว่าเขาจะต้องสร้างตัวแทนขึ้นมาให้ได้ก่อน จะเป็นใครก็แล้วแต่เขาไม่ทิ้งไปเฉย ๆ แน่"

แต่ไม่ว่าสนั่นจะยืนหยัดหรืออำลาศรีไทยฯ ไปก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่บอกชัดก็คือ ศรีไทยฯยังขาดทีมบริหารการจัดการ ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องมีมุมมองธุรกิจที่ยาวไกลแต่ต้องเกิดคู่กับการจัดการบริหารให้องค์กรเติบโตไปอย่างมั่นคง

น่าจับตามองว่าฯศรีไทยฯจะก้าวผ่านยุคที่ 3 นี้ไปได้ราบรื่นหรือไม่เพียงใด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.