อาจจะเป็นเพราะแรงขับเคลื่อนส่วนลึกของมนุษย์ที่ใฝ่หาความมั่นคงทนถาวรในสรรพสิ่งให้มากที่สุดและยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้
แม้แต่กลิ่นของธรรมชาติที่ไร้ตัวตน มิอาจสัมผัสจับต้องได้ก็มิถูกละเว้น
ความหอมหวนทั้งมวลจากพฤกษานานาพันธุ์หรือจากต่อมน้ำมันเร้นลับของสัตว์บางชนิด
อันเต็มเปี่ยมด้วยพลังที่สร้างอารมณ์ความรู้สึก เมื่อปลายประสาทสัมผัสของจมูกทำหน้าที่สูดลมหายใจกลิ่นที่อาจจะเป็นความสดชื่นเย็นฉ่ำชื่นใจอวลอุ่นกรุ่นละไม
รื่นรมย์รุกเร้าเสียดแทง และอื่น ๆ อีกนับพันประการ จึงถูกรังสรรค์ยืดอายุความหอม
คงความเข้มข้นและคงคุณภาพของกลิ่นไว้ มิต้องเหี่ยวเฉาโรยราจากไปตามสภาพของสิ่งมีชีวิตที่เคยอยู่ร่วมกัน
การกลั่นกรองเฉพาะหัวเชื้อกลิ่นจรุงใจหรือหัวน้ำมันหอมนั้นถือกันว่าเป็นยอดศิลปะแขนงหนึ่งทีเดียว
ต้องมีความรู้ทั้งทางพฤษาศาสตร์ - ต้องรู้ว่ากลิ่นดอกมะลินั้นจะจางหายไปกับแสงอาทิตย์
หรือต้องรู้ว่ากล้วยไม้บางชนิด ส่งกลิ่นหอมเพียง 2-3 ชั่วโมงในตอนเช้าเท่านั้นทั้งยังต้องรู้วิธีทางเภสัชกรรมเคมี
และที่สำคัญคือต้องมีประสาท "จมูก" ที่ไว ละเอียดอ่อนสามารถแยกแยะกลิ่นได้ดี
ในสมัยโบราณ วิธีสกัดหัวน้ำมันหอมมีอยู่เพียงวิธีเดียวคือการต้มกลั่น หรือเรียกว่าการกลั่นด้วยไอน้ำ
สมัยนั้นการจะกลั่นหัวน้ำมันหอมแต่ละครั้งต้องใช้ความอดทนพอสมควร
เริ่มจากการรอคอยดอกไม้ให้ผลิบานตามฤดูกาล นำมาคัดเลือกเพื่อเด็ดแยกกลีบดอกเตรียมไว้
เสร็จแล้วโรยใส่ลงในหม้อต้มกลั่นทองเหลืองใบเขื่องมีน้ำหล่อคลอตั้งบนเตาไฟ
ปิดปากหม้อด้วยหม้อกลั่นหรือหม้อแขกมัวร์ ชื่อที่เรียกตามชาวฝรั่งเศสผู้เป็นต้นตำรับการกลั่นด้วยวิธีนี้
หม้อแขกมัวร์มีลักษณพิเศษคือจะมีท่อระบายอากาศ เข้า - ออก และท่อระบายหัวน้ำมันหอม
เมื่อน้ำในหม้อทองเหลืองเดือดขึ้น ไม่ช้านักก็จะมีของเหลวหยอดออกมาจากท่อ
เริ่มจากค่อย ๆ ทยอยมาทีละหยด ๆ หยดถี่ ๆ แล้วรี่ไหลเป็นสายลงในขวดแก้วที่ตั้งรองรับไว้
ของเหลวที่กลั่นได้นี้ดูคล้าย ๆ กับน้ำซุปขุ่นสีน้ำตาลจางเมื่อตั้งทิ้งไว้สักพักจะแยกตัวออกเป็น
2 ชั้น ชั้นล่างคือน้ำเชื่อดอกไม้ ส่วนที่ลอยอยู่ชั้นบนคือ หัวน้ำมันหอม
ขวดแก้วที่รองรับเป็นขวดที่สั่งทำพิเศษมีฝาจุกด้านล่างของขวด เพื่อให้น้ำเชื้อดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมเพียงน้อยนิดไหลอก
ให้เหลือเฉพาะน้ำมันหอมบริสุทธิ์อันเข้มข้นเท่านั้น
วิธีการต้มกลั่นแบบดั่งเดิมยังคงใช้อยู่จวบจนทุกวันนี้จะมีข้อต่างก็เพียงเครื่องมือเครื่องใช้ทันสมัยขึ้น
วิธีนี้เหมาะสำหรับพวกสารกลิ่นหอมระเหยยาก เช่น กุหลาบ กล้วยไม้ พิกุล ผู้เชี่ยวชาญได้จัดกลุ่มสารชนิดนี้เป็นอันดับสามเรียกว่า
BOTTOM NOSE รองลงมาจาก MIDDLE NOSE สารระเหยปานกลาง และ TOP NOSE -สาระระเหยง่าย
การต้มกลั่นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพอตัว มิเช่นนั้นแล้วอาจกลายเป็นกลิ่นคล้ายน้ำมันดิบแทนที่จะเป็นกลิ่นดอกไม้หอมตามที่ตั้งใจไว้
ต่อมาเมื่อวิวัฒนาการทางด้านปิโตรเคมีก้าวหน้าขึ้น ทำให้ค้นพบการสกัดกลิ่นเพิ่มขึ้น
ด้วยการใช้ตัวทำละลาย ซึ่งบริษัทที่ผลิตน้ำหอมชื่อดังของโลกนิยมใช้วิธีนี้กันมาก
ตัวทำละลายที่ใช้ต้องมีคุณสมบัติเฉื่อยต่อการเกิดปฏิกิริยาของสารประกอบอื่น
ๆ ที่อยู่ในดอกไม้ ที่นิยมใช้คือ HEXANE มีคุณสมบัติเป็นของเหลว
วิธีการไม่ซับซ้อนนัก เพียงแต่แช่ดอกไม้หอมในอ่างที่บรรจุ HEXANE ทิ้งไว้ประมาณ
10-20 นาทีเท่านั้น แล้วยกดอกไม้ขึ้นแต่ความยุ่งยากอยู่ที่การระวัง HEXANE
ไม่ให้สัมผัสอากาศและรักษาอุณหภูมิให้เย็นจัดที่ -120 องศาเซลเซียส ถึงจะได้กลิ่นที่เหมือนธรรมชาติ
เพราะหากอุณหภูมิสูง เซล ตัวอื่นที่อยู่ในกลีบดอกจะแตกออกมาผสม ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเขียว
HEXANE จะทำหน้าที่ดูดซับความหอมจากเกสรดอกไม้ไว้เต็มที่ จากนั้นนำไประเหยออกช้า
ๆ ก็จะคงเหลือแต่กลิ่นหอมที่ต้องการซึ่งอาจจะออกมาในรูปทรงเป็นของแข็ง หรือเป็นของเหลวข้นก็ได้
เช่นกลิ่นพิกุลจะมีรูปทรงเป็นของแข็ง
การค้นคว้าวิธีการสักดกลิ่นหอมยังคงมีต่อไปเรื่อย ๆ ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว
มีการคิดค้นวิธีการสกัดกลิ่นด้วยการใช้เครื่องดูดกลิ่นหอมขึ้นโดยนักประดิษฐ์คนไทย
คือรองศาสตราจารย์ โสภณ เริงสำราญ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าคณะ ได้ทำการทดลองดูดกลิ่นหอมจากดอกกล้วไม้มิสอุดรซันไฌน์
เพื่อใช้เป็นหัวเชื้อน้ำมันหอมสำหรับทำน้ำหอมไทย "มิสอุดรซันไฌน์"
จนสำเร็จ
วิธีการคือ นำดอกไม้ใส่ในภาชนะ หรือกล่อง ที่มีทางไหลอากาศเข้า-ออกเพียงทางเดียว
กลิ่นหอมของดอกไม้จะถูกดูดออกไปตามท่อวิ่งเข้าหลอดดัก ซึ่งตั้งอุณหภูมิเย็นจัดที่
-190 องศาเซลเซียส
หลังจากนั้นจึงนำกลิ่นหอมมาควบแน่นกลายเป็นของเหลวก็จะได้กลิ่นหอมของดอกไม้ล้วน
ๆ ดอกไม้ที่ถูกดูดกลิ่นยังคงสภาพเดิมไม่บอบช้ำเหมือนวิธีกลั่นด้วยตัวทำละลาย
และสามารถนำไปดูดกลิ่นได้อีก จนกระทั่งต่อมกลิ่นเสียไม่ผลิตกลิ่นต่อไป
วิธีการนี้ อาจารย์โสภณ กล่าวว่า เหมาะสมกับกลิ่นหอมระเหยง่าย หรือ TOP
NOSE มากที่สุด เช่น ดอกมะลิ ดอกราตรี
แต่ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นด้วยวิธีใดก็ตาม การจะได้สารกลิ่นหอมมาสักประมาณ
30 มิลลิกรัม หรือถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คงมีขนาดราว ๆ เมล็ดถั่วเขียว
1 เม็ดต้องใช้ดอกไม้เป็นจำนวนเลขหลัก 5 ขึ้นไป ซึ่งจำนวนนี้ไม่ได้รวมตัวเลขที่อยู่ในระหว่างทำการทดลอง
หรือที่ผิดพลาดได้กลิ่นเพี๊ยนไปจากของจริง
การลงทุนราคาแพงและความยุ่งยากในการที่จะได้หัวน้ำมันหอมธรรมชาติมานั้น
สำหรับผู้ผลิตน้ำหอมในยุคนี้จึงมีไว้เพื่อนำไปวิเคราะห์หาสูตรโครงสร้างทางเคมี
มิใช่มีไว้เพื่อทำหน้าที่เป็นหัวน้ำมันหอมอย่างแท้จริงเฉกเช่นในยุคก่อน
สูตรโครงสร้างทางเทคจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตงอนง้อะรรมชาติน้อยลง
แม้นว่าดอกไม้เจ้าของกลิ่นหอมนั้นจะสูญพันธุ์ไปแล้วก็ตาม
องค์ประกอบทางเคมีของกลิ่นหอมมีความแตกต่างออกไป อย่างเช่น กล้วยไม้พันธุ์มิสอุดรซันไฌน์
มีสารประกอบทั้งหมด 30 ชนิดด้วยกัน แต่การวิเคราะห์ไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับนักเคมี
โดยเฉพาะเมื่อ 10 ปีให้หลังมานี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงมาก เครื่องวิเคราะห์จะทำการวิเคราะห์แยกสารให้เสร็จรู้ผลทันที
หัวน้ำมันหอมหรือสูตรเคมีของกลิ่นหอมแต่ละตัวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นขั้นแรกเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนที่สำคัญคือการนำหัวน้ำมันหอมกลิ่นต่าง
ๆ มาผสมผสานเป็นกลิ่นใหม่ที่หอมดึงดูดกว่ากลิ่นธรรมชาติที่ได้มา
ตรงนี้เองที่เป็นหัวใจชี้ขาดว่าน้ำหอมที่เพียรพยายามปรุงนั้นจะได้รับการประพรมฟุ้งกระจาย
หรือเก็บไว้ในกรุปิดตาย
แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นหัวน้ำมันหอมตามธรรมชาติหรือหัวน้ำมันหอมเทียมก็ดี ปริมาณที่ผสมในน้ำหอม
หรือ PERFUME นั้น จะมีสัดส่วนน้อยกว่า 10% เท่านั้น
ที่เหลือจะถูกครอบครองด้วยเอทิลแอลกอฮอล์เสีย 90% เอธิลแอลกอฮอล์เป็นสารละลายตัวสำคัญท่ำทให้หัวน้ำมันหอมโปรยกลิ่ยนไปไกล
และจะต้องมีความบริสุทธิ์ปราศจากกลิ่นอื่นแทรกซ้อน นอกจากนี้แล้วยังเป็นตัวช่วยเจือจางให้กลิ่นอ่อนละมุมขึ้น
เพราะลำพังแล้วหัวน้ำมันหอมจะมีกลิ่นแรงเข้มข้นมากเกินไป
ส่วนผสมอีกตัวหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เป็นตัวจับกลิ่นหอมไว้
และกักกลิ่นหอมให้ปล่อยออกช้า ๆ เรียกว่า FIXATIVE COMPOUND หากไม่มีตัวนี้กลิ่นหอมที่โรยตามเนื้อตัวจะหายไปตามอากาศที่พัดผ่าน
FIXATIVE จะมีสัดส่วนประมาณ 5% ของหัวน้ำมันหอม หากใส่มากเกินไปจะให้กลิ่นเหม็นหื่นแต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยูกับคุณภาพด้วย
สำหรับน้ำหอมเกรดดีเลิศจะใช้ "ชะมดเช็ด" ซึ่งมีราคาแพงมหาศาล
กิโลกรัมละถึงแสนบาท ปัจจุบันนี้คงมีผู้ผลิตน้ำหอมน้อยรายนักที่ใช้สารตัวนี้
FIXATIVE ที่ได้จากสัตว์ยังมีอีก 2 ชนิดคือ CASTOREUM จากต่อมอวัยวะเพศของบีเวอร์
และ AMBERGRIS จากมูลของปลาวาฬ ราคาของสารเหล่านี้มีราคาแพงเช่นกัน ประมารกิโลกรัมละ
4-5 หมื่นบาท
ดังนั้นสารที่นิยมใช้ในอุตสหากรรมน้ำหอมจึงมักได้จากการสกัดจากเปลือกไม้
ที่เรียกกันว่า "กำยาน" มีตั้งแต่ราคาถูก ๆ กิโลกรัมละ 500 บาท
ไปจนถึงเป็นพัน ๆ บาท
การเลือกใช้สารตัวนี้ มีเหตุผลทางธุรกิจที่จำเป็นนอกเหนือที่ว่าหาซื้อได้ง่าย
และราคาพอควรแล้ว คือสารประเภทนี้ช่วยให้ความหอมติดทนนานประมาณ 6 ชั่วโมงเท่านั้นไม่เหมือนน้ำหอมสมัยก่อนที่กลิ่นติดกายนานเป็นเดือน
การเลือกสรรสารใช้ในการทำน้ำหอมก็คงต้องเป็นไปตามกาลสมัย กระนั้นก็ดี ฉายาที่ใช้เรียกผู้ปรุงน้ำหอมในสมัยแรกเริ่มว่าเป็น
"นักเล่นแร่แปรธาตุ" ก็คงใช้เรียกผู้ปรุงน้ำหอมยุคนี้ได้เช่นเดิม
เพราะการปรุงกลิ่นน้ำหอมเป็นศิลปะที่ไม่มีสูตรตายตัวดังสูตรเลขคณิต ฉะนั้นย่อมขึ้นอยู่กับฝีมือว่าจะทำให้กลิ่นหอมนั้นกลมกลืน
ราวกับวงดนตรีบรรเลงประสานกันไพเราะหรือมีเสียงปร่างแปร่งของไวโอลินโดดออกมาให้ต้องสะดุ้งทุกครั้งที่บรรเลง