JUMP show รอยยิ้มแห่งการต่อสู้

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัจจุบันการต่อสู้ไม่ได้เป็นแค่วิชาการป้องกันตัว หรือเป็นเพียงแค่เกมกีฬาเท่านั้น แต่ยังเป็นศิลปะและการแสดงที่แม้ไม่ต้องใช้คำพูด แต่ด้วยท่วงท่าและลีลาอันสวยงามก็เป็นภาษาสากลที่สามารถสร้างความเข้าใจระหว่างกันได้ พร้อมด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ...ดังเช่นกรณีของ JUMP Show

เสียงหัวเราะดังเป็นระยะ สลับกับเสียงปรบมือกึกก้องทุกครั้งที่ผู้แสดงบนเวทีมีการโชว์ลีลาศิลปะป้องกันตัวในท่าทางที่โลดโผน กระโจนขึ้นฟ้าบ้าง ตีลังกาบ้าง กระโดดเตะบ้าง ฯลฯ เกิดขึ้นทุกรอบของการแสดง "JUMP" ที่จัดขึ้น ณ สยามพารากอนฮอลล์ เมื่อราวกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

"จั๊มป์" เป็นละครเวทีรูปแบบใหม่จากประเทศเกาหลี เป็นละครใบ้ที่มีเอกลักษณ์อยู่ที่การนำเสนอศิลปะการต่อสู้แบบโบราณของเกาหลี ได้แก่ เทควันโด้และเทคยอน ผสมผสานกับศิลปะการต่อสู้ของชนชาติอื่นในแถบเอเชีย เช่น กังฟู คาราเต้ กระบี่กระบอง และมวยจีน โดยมีมุกตลกขำขันเป็นเสมือน "ผงชูรส"

สุนทรีย์ในการสร้างเสียงหัวเราะของจั๊มป์ไม่ได้มาจากมุก "ตลกเจ็บตัว" เหมือนการแสดงตลกคาเฟ่บ้านเรา และก็ไม่ได้ชูจุดขายอยู่ที่การแสดงแบบ "เล่นจริง เจ็บจริง" แต่เป็นการแสดงความสวยงามในท่วงท่าลีลาของวิชาศิลปะป้องกันตัว และความสามารถในการแสดงภาพทุกแง่มุมของร่างกายผ่านการแสดงตลก ศิลปะการป้องกันตัว กายกรรมผาดโผน และการเต้นรำ

นักแสดงของจั๊มป์ส่วนใหญ่เป็นแชมป์ยิมนาสติก บ้างก็เป็นนักกีฬาเทควันโดสายดำ ส่วนคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานสองด้านนี้มาก่อนก็ต้องฝึกฝนหนักกว่าคนอื่นหลายเท่า แต่ถึงแม้จะมีพื้นฐานกันมาแล้ว นักแสดงทุกคนก็ยังต้องได้รับการฝึกฝนอย่างหนักต่อเนื่องมาตลอด 3 ปีทั้งทางด้านการแสดงและละครใบ้

สำหรับรูปแบบและไอเดียของการแสดงชุดนี้ถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกในปี 2542 จากนั้นบทภาพยนตร์ก็ถูกเขียนขึ้นในชื่อเรื่อง "เครซี่ แฟมิลี" (CRAZY FAMILY) เมื่อปี 2544 และ 8 เดือน

นับจากนั้น ทีมนักแสดงทั้งหมดก็เข้ารับการฝึกฝนด้านกายกรรมโดยการดูแลของโค้ชยิมนาสติกหญิงทีมชาติ เพื่อเตรียมแสดงละครใบ้ครั้งแรก

ในปี 2546 การแสดงชุดนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น JUMP (จั๊มป์) และเปิดการแสดงในโรงละครหลายแห่งในเกาหลี และในปี 2549 พวกเขาก็มีโรงละครในกรุงโซลเป็นของตัวเองชื่อว่า "JUMP Theatre" ขนาด 376 ที่นั่ง เปิดแสดงทุกวัน เฉลี่ยวันละ 2 รอบ หลังจากนั้น 1 ปีก็เปิดโรงละครชื่อเดียวกันในเมืองปูซาน และยังเปิดโรงละคร Union Square ในมหานครนิวยอร์กอีกด้วย

ความสำเร็จของจั๊มป์อาจวัดได้จากจำนวนรอบแสดงที่มากกว่า 3 พันรอบ มีผู้ชมมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก และนับตั้งแต่ปี 2548 การแสดงชุดนี้ได้เดินทางไปเปิดการแสดงมาแล้วในหลากหลายประเทศ เช่น อังกฤษ อิสราเอล สหรัฐอเมริกา จีน กรีซ สเปน ญี่ปุ่นอินเดีย ฮ่องกง มาเก๊า ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ บาห์เรน และในปีนี้นักแสดงจั๊มป์ยังมีทัวร์แสดงรอบโลกอีกด้วย

การแสดงจั๊มป์ในประเทศไทยครั้งที่ผ่านมาถือเป็นครั้งแรก โดยมี BEC Tero เป็นหัวเรือใหญ่ในการนำการแสดงนี้เข้ามา ภายใต้การสนับสนุนขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเกาหลี

ในประเทศไทย ความนิยมของจั๊มป์ดูได้จากจำนวนบัตรที่ขายได้มากถึง 15,000 ใบ ภายใน 5 วัน หรือเพียง 7 รอบที่เปิดแสดง ทั้งนี้ ทีมงานของ BEC Tero ถึงกับบอกว่าตัวเลขดังกล่าวมากเกินความคาดหวัง จนเรียกได้ว่า โชว์ชุดนี้ขายดีไม่แพ้ละครบรอดเวย์ ชื่อดังอย่าง CAT ทั้งที่เรื่องหลังนี้ใช้งบโปรโมตเยอะกว่ามาก และเมื่อเห็นผลตอบรับของจั๊มป์ BEC Tero ก็ตัดสินใจนำละครเวทีจากเกาหลีที่มีชื่อว่า "Break Out" เข้ามาเปิดแสดงในช่วงเดือนตุลาคมนี้

ทั้งนี้ ความสำเร็จเหล่านี้ของการแสดงจั๊มป์ ส่วนหนึ่งย่อมมาจากความสามารถของนักแสดงศิลปะการต่อสู้ทุกคน แต่จะว่าไปแล้ว นักแสดงศิลปะการต่อสู้ หรือ "สตั๊นท์แมน" คนไทยเองก็มีความสามารถในการแสดงและการต่อสู้ไม่แพ้กัน สตั๊นท์แมนคนไทยไม่น้อยที่ทางทีมงาน Hollywood ให้การยอมรับ เช่น วิโรจน์ แซ่โล้ว สตั๊นท์แมนหนุ่มจากอุดรธานี ปัจจุบันเป็นหัวหน้าสตั๊นท์แมนทำงานให้กับเฉินหลงมาหลายเรื่อง หรือจาพนม ยีรัมย์ อดีตสตั๊นท์แมนที่มีทักษะสูงจนได้เลื่อนขั้นเป็นดารานักบู๊ชื่อดังก้องโลก เป็นต้น

นักแสดงจั๊มป์อาจไม่ต่างจากกลุ่มสตั๊นท์แมนที่ได้รับการผลักดันและสนับสนุนให้ก้าวขึ้นมาเป็น "ดารา" ขณะที่สตั๊นท์แมนคนไทยก็ดูไม่ต่างจากผู้รับจ้าง "เล่นแทน-เจ็บแทน" นักหากยังต้องแสดงในแบบ "เล่นจริง เจ็บจริง" และแน่นอนว่า รายได้และศักดิ์ศรีก็ย่อมเทียบกันไม่ได้ ถึงแม้ฝีไม้ลายมืออาจจะใกล้กัน

ขณะที่รัฐบาลเกาหลีกำลังสนับสนุนให้นักแสดงจั๊มป์ออกไปทำการแสดงรอบโลก เพราะเห็นว่านี่ไม่ใช่เพียงชื่อเสียงและรายได้มหาศาล แต่ยังเป็นการเผยแพร่และส่งออกศิลปะการต่อสู้และวัฒนธรรมเกาหลีไปทั่วโลก...ส่วนประเทศไทยดูเหมือนยังไม่เห็นความสำคัญกับการพัฒนาวงการสตั๊นท์แมนมากนัก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.