|
กรุงเทพฯ หยุดหมุนที่ร้าน "สวนกาลเวลา"
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
หากทางด่วนเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญและความรีบเร่ง ตลาดนัดก็เป็นตัวแทนของความคึกคักและจอแจ แต่เชื่อหรือไม่... บนทำเลที่อยู่ติดทางขึ้นทางด่วนกำแพงเพชรติดกับตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ต่างชาติรู้จักกันดีว่า JJ Market ยังมีความร่มเย็นของไม้ใหญ่เต็มบริเวณของบ้านสวน รวมทั้งยังมีความสงบและความรื่นรมย์จากเงาอดีตให้พอชื่นชม
ภายใต้ทิวแถวของร้านขายต้นไม้จำนวนมากที่เรียงรายอยู่ริมถนนกำแพงเพชร ไม่ไกลจากตลาดนัดจตุจักร บริเวณก่อนถึงทางขึ้นทางด่วน ท่ามกลางรถราที่วิ่งขวักไขว่เต็มถนนทั้ง 8 เลน ใครเลยจะนึกว่ากลางกรุงเทพฯ ขนาดนี้จะมีร้านอาหารที่มีบรรยากาศอบอวลไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์นับร้อยต้นซุกซ่อนในซอกหลืบของพงไม้สีเขียวเหล่านั้น
ร้านอาหาร "สวนกาลเวลา" ตั้งอยู่เบื้องหลังฉากวุ่นวายของย่านจตุจักร โดยมีคลองบางซื่อเป็นราวพรมแดนที่กั้นระหว่างโลกภายนอกกับโลกภายใน และมีเพียงสะพานไม้เล็กๆ ที่เป็นประตูมุ่งสู่ร้านอาหารแห่งนี้
กิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่อายุหลายสิบปีไหวตามแรงลม ดูเข้ากับอารมณ์เพลงเย็นๆ ของชรัส เฟื่องอารมย์ และสุนทราภรณ์ จนหลายคนรู้สึกว่ามิติกาลเวลาของที่นี่ดูจะเดินช้ากว่าภายนอก ราวกับคนที่นี่วิ่งตามกระแสเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ทัน... หรือไร!?!
"รูปนี้คือคลองบางซื่อ เมื่อก่อนฝั่งตรงข้ามบ้านหลังนี้ยังไม่มีอะไรเลย มีเพียงทุ่งหญ้าเลี้ยงวัวควาย ต่อมาก็มีตึกที่ทำการองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุ รสพ. เพียงตึกเดียว ตลาดนัดจตุจักรก็ยังไม่มี รถราก็ยังไม่ค่อยมีวิ่ง สมัยนั้นแถวนี้เปลี่ยวมาก ปู่ผมก็มาซื้อที่ดินฝั่งนี้ทำสวนทำนา" สมนึก แพแสง เจ้าของบ้านบรรยายภาพอดีต ขณะหยิบรูปถ่ายใบเก่าอายุกว่า 40 ปี จากกล่องเหล็กที่มีสนิมจับตามกาลเวลาออกมาอวด "ผู้จัดการ"
แม้ตลาดนัดจตุจักรมีความเป็นมายาวนานกว่า 60 ปี เริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายให้จัดตั้งตลาดนัดขึ้นในทุกจังหวัด โดยครั้งแรกกรุงเทพฯ เลือกสนามหลวงเป็นสถานที่จัดตลาดนัด ต่อมาก็ย้ายไปที่อื่น จนปี พ.ศ.2525 การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้มอบที่ดินย่านพหลโยธินส่วนต่อจากสวนจตุจักรด้านทิศใต้ให้แก่กรุงเทพมหานคร จัดสรรเป็นตลาดนัดที่เรียกว่า "ตลาดนัดย่านพหลโยธิน" ก่อนมาใช้ชื่อ "ตลาดนัดจตุจักร" ในปี พ.ศ.2530 จนปัจจุบัน
จากภาพถ่ายใบเก่า บ้านของสมนึกดูเหมือนเปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสมัยปู่ของเขาผิดกับความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่รอบข้างที่แทบจะไม่เหลือเค้าเดิมตามรูป
บ้านไม้จั่วไทยท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ยังคงหลงเหลือ หากแต่วันนี้ดูเหมือนว่าจะมีต้นไม้ใหญ่หนาแน่นและชุกชุมมากขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของสมนึก ไม่ว่าจะเป็นต้นโมกริมรั้ว ต้นมะม่วงข้างบ้าน ต้นมะขามกลางลาน ต้นขนุนริมน้ำ ต้นปีบเต็มบ้าน ต้นจันทน์กระพ้อ จันทน์ผา หรือกล้วยไม้ป่า ฯลฯ
ด้วยเสน่ห์บ้านสวน ประกอบกับรสชาติปลายจวักที่ตกทอดมาจากแม่ มักดึงดูดให้เพื่อนฝูงที่เป็นข้าราชการประจำกระทรวงเกษตรด้วยกัน มาตั้งก๊วนดื่มเหล้ากันเป็นประจำที่บ้านของสมนึก แม้วันเวลาจะทยอยนำพา "ความเจริญ" มาลงพื้นที่รอบบ้านเขาเรื่อยๆ แต่บรรยากาศวงเหล้า "บ้านนอก" แบบจับปลาขึ้นมาจากท้องร่องแล้ว เอามาทำกับแกล้มกันสดๆ ก็ยังคงดำรงอยู่
จนปี 2538 สมนึกจึงตัดสินใจเปลี่ยนบ้านเป็นร้านอาหารเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา เป็นเวลาร่วมสามปีที่ร้านของเขาดำรงอยู่ด้วยลูกค้าที่เป็นเพื่อนฝูงของเขาเองเป็นหลัก กระทั่งหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเขียนถึงร้านแห่งนี้ หลังจากนั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ร้านสวนกาลเวลาจึงเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น เพื่อนของเขาหลายคนก็ยังคงเป็นขาประจำที่ร้านอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
ลูกค้าของที่นี่ไม่ได้มีเพียงนักดื่มรุ่นใหญ่ที่มักจะมาสังสรรค์กันเพราะติดใจความเป็นส่วนตัวของโต๊ะนั่งหลายทำเลภายในร้าน ขณะเดียวกันก็มีวัยรุ่นขาเที่ยวและคู่รักจำนวนไม่น้อยก็นิยมมาดื่มด่ำกับความร่มรื่นของมวลแมกไม้ในร้านนี้ โดยเฉพาะคืนวันศุกร์และเสาร์ซึ่งนักเที่ยววัยละอ่อนมักมาทานอาหารรองท้องที่นี่ ก่อนออกตระเวนราตรีย่านนั้น
โต๊ะริมน้ำ โต๊ะขนุน โต๊ะโมก โต๊ะปีบ โต๊ะมะขาม (หิน) โต๊ะขอน โต๊ะเรือเล็ก โต๊ะเรือใหญ่ ตั้งชื่อตามลักษณะทางกายภาพของที่ตั้งโต๊ะ ซึ่งลูกค้าประจำกับเจ้าหน้าที่ของร้านเท่านั้นที่จะคุ้นเคย ทำเลที่ขายดีที่สุดเป็นโต๊ะที่อยู่ริมน้ำ จนทางร้านต้องสร้างโต๊ะริมน้ำเพิ่มเติม นอกจากนั้นในร้านยังมีโต๊ะนั่งขนาด 20-30 คนสำหรับพรรคพวกที่มาสังสรรค์กันเป็นกลุ่มใหญ่ และที่นั่งในห้องแอร์ขนาด 40 คน ซึ่งมีบริการคาราโอเกะให้ด้วย
แม้ลูกค้าจะนิยมที่นั่งกลางแจ้ง แต่หลายคนก็อดไม่ได้ที่จะต้องเดินเข้ามาชมของเก่าของสะสมของเจ้าบ้าน ทั้งรูปภาพเก่าๆ โคมไฟเก่าแก่ เปียโนโบราณอายุเกือบร้อยปีที่ซื้อต่อมาจากคุณแม่ของนันทนา บุญหลง ซึ่งทางร้านก็ยินดีให้ลูกค้าลองบรรเลงได้ และนาฬิกาลูกตุ้มหลายสิบเรือน บางเรือนเก่าร่วมสมัยกับสงครามโลกครั้งที่สอง ทุกเรือนหยุดทำหน้าที่บอกเวลา ณ ปัจจุบัน แต่กลับทำหน้าที่บอกเล่าอดีตได้ดีไม่น้อย
ต้นไม้เก่า นาฬิกาโบราณ และภาพวันวานของตลาดนัดจตุจักรที่ยังพอเหลืออยู่บ้าง ทำให้สมนึกตั้งชื่อร้านอาหารของเขาว่า "สวนกาลเวลา"
สำหรับเมนูจานเด็ดของร้านแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นบรรดาเมนูปลาทั้งหลาย ไม่ว่าปลาช่อนกาลเวลา ปลาช่อนหลงเวลา ปลาแรดทอดกระเทียม ปลาแรดสองใจ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเนื้อกวางผัดพริกไทยดำ และอาหารไทยแท้รสชาติจัดจ้านอีกหลายเมนูที่ถูกใจลูกค้า
"ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องเมนูปลา เพราะบ้านเราอยู่ติดน้ำ แล้วแต่ก่อนคลองนี้ก็มีปลาอุดมสมบูรณ์ กับข้าวของที่บ้านส่วนใหญ่ก็เลยทำมาจากปลาที่จับได้จากคลองและร่องสวน บ้านนี้จะได้กินเนื้อหมูก็ตอนที่มีเรือกับข้าวแจวมาขายนั่นแหละ" สมนึกฉายภาพวัยหนุ่มของเขา
นอกจากบรรยากาศและรสชาติอาหาร ร้านสวนกาลเวลายังมีจุดเด่นอยู่ที่บริการ ไม่ใช่บริการหรูระดับสี่หรือห้าดาว ไม่ใช่ความรวดเร็วในการปรุงหรือเสิร์ฟอาหาร แต่เป็นรอยยิ้มพิมพ์ใจและมิตรไมตรีของสมนึกและสโรชรัตน์ ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนคนเดียวของเขา
ตั้งแต่ครั้งแรกที่มาใช้บริการ สโรชรัตน์มักจะเข้ามาพูดคุยและสอบถามถึงวันเกิดของลูกค้าทุกคน พอถึงวันเกิดของลูกค้าคนใด เธอก็จะโทรไปเชิญชวนให้มาฉลองที่สวนกาลเวลา หรือลูกค้าคนใดก็ตามที่แจ้งมาว่าจะมาฉลองวันเกิดที่ร้าน เธอและพ่อก็จะเตรียมเค้กและต้นกระบองเพชรไว้เป็นของขวัญให้กับลูกค้า
แต่ถึงจะไม่ใช่วันเกิด หากเป็นลูกค้าขาประจำ ถ้าห่างหายไปนาน เธอก็มักจะโทรไปพูดคุยด้วยความคิดถึงและชวนให้หาเวลาว่างแวะมาเยี่ยมคุณพ่อหรือตัวเธอที่ร้านบ้าง ...กลเม็ดมัดใจลูกค้าเหล่านี้ สโรชรัตน์เล่าว่าลูกค้าที่ทำงานโรงแรมระดับห้าดาวแนะนำมา
"นิ้งจะชอบมากเวลาที่ลูกค้าบอกว่า ร้านเราเหมือนบ้านนอก และจะภูมิใจทุกครั้งที่มีลูกค้ามาบอกว่าเขาไปซื้อต้นไม้เพราะอยากได้บรรยากาศเหมือนบ้านเรา เพราะเขารู้สึกมีความสุขและได้พักผ่อนภายใต้บรรยากาศแบบนี้" ทุกครั้งที่พูดถึงความน่ารื่นรมย์ของร้าน สโรชรัตน์มักจะมองไปที่น้ำสีดำในคลองบางซื่อหน้าบ้านพร้อมกับบ่นเสียดาย
ตลอดเวลา 55 ปีของสมนึก เขาเกิดและเติบโตมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ รอบบริเวณบ้านหลังนี้ แต่ตลอดเวลา 29 ปีของสโรชรัตน์ เธอเติบโตมาพร้อมกับการเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของพื้นที่ย่านนี้ โดยเฉพาะสิบกว่าปีหลังมานี้เปลี่ยนไป จนแทบไม่เหลือภาพวัยเด็กให้พ่อลูกได้รำลึกถึง โดยสมนึกมองว่าพลวัตครั้งสำคัญมาจากความเจริญของสถานีขนส่งหมอชิตแห่งแรก
สายน้ำใสในคลองบางซื่อที่ไหลผ่านหน้าบ้าน จากที่เคยเป็น "อู่ข้าวอู่น้ำ" เพราะกุ้งปลาเต็มคลอง จากที่เคยใช้เป็นสระน้ำว่าย จากที่เคยเป็นเส้นทางสัญจรสายหลักมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าจนถึงรุ่นนิ้ง เธอเองก็ยังเคยว่ายน้ำข้ามคลองไปมา เคยพายเรือรับส่งเพื่อนคุณพ่อที่มาดื่มเหล้า และเคยพายเรือพาคุณย่าจ่ายตลาดเป็นประจำ
ณ วันนี้ น้ำในคลองเริ่มเน่าดำ เพราะน้ำทิ้งปริมาณมหาศาลจากการใช้น้ำของผู้คนเขตเมืองชั้นในที่เริ่มหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ถูกระบายลงสู่คลองบางซื่อไหลมาบรรจบกับคราบน้ำมันและขยะที่ถูกทิ้งลงมาจากบ้านเรือนริมคลองที่ผู้คนเริ่มหมดรักหมดอาลัยและผู้มาอยู่ใหม่หลายคนที่ไม่เคยผูกพันกับคลองสายนี้ ยิ่งหากหน้าแล้งหรือยามที่ประตูระบายน้ำถูกปิด สภาพของน้ำในคลองก็ยิ่งแย่ลง
กล่าวได้ว่า ผลจากสิ่งที่เรียกว่า "ความเจริญ" ได้พรากคลองออกจากวิถีชีวิตของผู้คนแถวนั้นจนหมดสิ้น จะพอหลงเหลือก็มีแต่บ้านของสมนึกที่ยังคงใช้คลองเป็นหน้าบ้าน ขณะที่เพื่อนบ้านคนอื่นล้วนพากันหันหลังให้คลองแล้วลงทุนซื้อที่ดินอีกด้านเพื่อเข้าออกทางถนน
ขณะที่มองข้ามฝั่งคลองบางซื่อจากโลกภายนอกที่ทุกก้าวของเข็มนาฬิกาคือการเปลี่ยนแปลง ภายใต้ร่มไม้ของสวนกาลเวลาจึงดูเชื่องช้าและล้าสมัยไป แต่เมื่อข้ามคลองเข้าสัมผัสกับธรรมชาติและความสงบภายในร้านแห่งนี้จึงทำให้เข้าใจว่า สิ่งใดก็ตามที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกาลเวลาสิ่งนั้นย่อมไม่มีความทันสมัยหรือล้าสมัย แต่ย่อมขายได้ในทุกยุคทุกสมัย
...นี่คงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ร้านสวนกาลเวลายืนหยัดอยู่ได้ โดยไม่ต้องอาศัยการตลาดมาช่วยสร้างกระแสนิยมที่มีแต่จางลงไปตามวันเวลาที่เปลี่ยนไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|