|
แกะรอยนักคิดที่ "อนุสรณ์สถาน ปรีดี พนมยงค์"
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
การจัดแสดงชีวประวัติบุคคลสำคัญ ไม่เพียงบอกเล่าถึงชีวิตคนคนหนึ่ง แต่ยังเป็นฉากหนึ่งของประวัติศาสตร์ยังอาจแฝงบางแง่มุมของอุดมการณ์ที่ควรค่าแก่การเอาเยี่ยงอย่าง "อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์" โฉมใหม่ ไม่เพียงสะท้อนวิวัฒนาการทางการเมืองของไทย แต่ยังสื่อถึงความคิดของหนึ่งบุคคลสำคัญของโลก
หลังจากก้าวขึ้นไปบนชั้นสองของตึกโดม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รูปปั้นปรีดี พนมยงค์ ในมือถือหนังสือเล่มใหญ่ท่าทางน่าเกรงขามตั้งอยู่ด้านหน้า ฐานรูปปั้นมีคำจารึกว่า "นักอุดมการณ์และนักอภิวัฒน์ประชาธิปไตย"
เบื้องหลังรูปปั้นประกอบด้วยคำ 5 คำ ได้แก่ เอกราช อธิปไตย ความไพบูลย์ประชาธิปไตย สันติภาพ และความเป็นกลาง แสดงไว้เป็น 3 ภาษา ไทย อังกฤษ และฝรั่งเศส คำเหล่านี้ประดับอยู่บนแท่นคอนกรีตที่ดูเหมือนพร้อมที่จะสร้างขึ้นไปเป็นเสาใหญ่ แต่ทว่ามีเพียงฐานราก แต่หาได้ถูกฉาบก่อให้เสร็จเป็นเสาไม่
นี่เป็นพื้นที่ส่วนแรกของการจัดแสดงในห้องอนุสรณ์-สถานปรีดีฯ ที่มีการปรับปรุงใหม่
สำหรับใครที่ไม่ค่อยได้ติดตามผลงานของอาจารย์ปรีดีอาจจะไม่เข้าใจว่าความหมายของ 5 คำนี้นัก แต่หลังจาก
เดินชมนิทรรศการจนรอบ ทีมคณะทำงานปรับปรุงอนุสรณ์-สถานแห่งนี้ฯ เชื่อมั่นว่า ผู้ชมจะเข้าใจที่มาที่ไปและเนื้อหาของคำ 5 คำนี้ เพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย
แต่นั่นถือเป็นเพียงผลพลอยได้จากวัตถุประสงค์หลักในการปรับปรุงครั้งนี้ ดังที่คณะทำงานทางวิชาการเพื่อปรับปรุงห้องอนุสรณ์สถานปรีดีฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าไว้ในหนังสือจุลสารดังนี้
"คณะทำงานฯ เล็งเห็นว่า สิ่งที่สังคมไทยควรจดจำ ยกย่อง และระลึกถึงมากที่สุดเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์ มิใช่เรื่องราวชีวประวัติว่า คนคนนี้ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร ได้รับรางวัลอะไรมาบ้าง ซึ่งแม้ว่าจะสำคัญ แต่ก็เป็นเพียงเรื่องราวเปลือกนอกเท่านั้น แต่แก่นแท้สำคัญที่ควรทำความเข้าใจมากกว่าก็คือ ความคิดและอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังและผลักดันการกระทำต่างๆ ของปรีดี พนมยงค์"
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีแนวคิดที่จะปรับปรุงห้องอนุสรณ์สถานแห่งนี้มาตั้งแต่กลางปี 2549 เนื่องจากห้องเดิมใช้งานมากว่า 15 ปี จึงได้ว่าจ้างบริษัท รักลูก เอ็ดดูเท็กซ์ จำกัด เป็นผู้ออกแบบนิทรรศการ ภายใต้งบประมาณ 3 ล้านบาท โดยมีทีมงานวิชาการฯ ของธรรมศาสตร์สนับสนุนด้านข้อมูลและสื่อจัดแสดง
"เราใช้เวลาศึกษาเนื้อหา ซักถามและถกเถียงประเด็นร่วมกับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยอยู่นานร่วม 6-7 เดือน โดยทางธรรมศาสตร์จะช่วยส่งข้อมูลมาให้ ส่วนทางรักลูกฯ ก็ทำหน้าที่กรอง message และเป็น editor ส่วนดีไซเนอร์ที่ออกแบบนิทรรศการก็ต้องเอาหนังสือไปอ่านเลยคนละหลายๆ เล่ม ใช้เวลาอ่านอยู่ 3 เดือน เพื่อให้ "อิน" ไม่เช่นนั้นจะคิดออกมาไม่ได้" ศิริพร ผลชีวิน ผู้อำนวยการโครงการ แห่งบริษัทรักลูก เอ็ดดูเท็กซ์ กล่าว
ถัดจากโถงโล่งสีนวลตาเป็นส่วนที่สองที่มีหัวข้อ "ชีวิตช่วงต้นและการหล่อหลอมทางสังคม"
ภายใต้โทนสีแดงดำบนพื้นมียกระดับชั้นไม่สม่ำเสมอ ผนังด้านซ้ายแสดงข้อมูลของปรีดีนับตั้งแต่ปี 2440 ก่อนปีเกิดถึง 3 ปี ไล่จนถึงปี 2475 ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้อความสั้นๆ กับภาพความกดดันทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ถูกนำเสนอเป็นแผนภูมิเหตุการณ์และปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในเมืองไทยและต่างประเทศ ทางขวามือมีแท่งประติมากรรมทางชนชั้นจัดแสดงบนฐานยกสูง ด้านบนสุดเป็นภาพพระราชพิธีและวิถีของชนชั้นเจ้า กล่องตรงกลางเป็นชนชั้นกลางและข้าราชการ แถบสีขาวสื่อถึงช่องว่างระหว่างชนชั้นที่ชัดเจน และกล่องชั้นล่างสุดเป็นวิถีชีวิตของชนชั้นไพร่ หรือก็คือชาวนาและกรรมกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของไทย
"โซนนี้ เราแสดงให้เห็นว่ามีเหตุการณ์อะไรที่เป็นการส่งผ่านความคิดหรือเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดของอาจารย์ ทั้งความเป็นลูกชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือการไปเรียนกฎหมายที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบแห่งประชาธิปไตย และบริบททางสังคมไทยที่มีการแบ่งชนชั้น ฯลฯ เราเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้ก็ก่อตัวอยู่ในความคิดของอาจารย์ อันนำมาสู่แนวคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อความเท่าเทียมกันทุกชนชั้น"ศิริพรอธิบายความหมายแฝงที่อยู่ในเนื้อหาและดีไซน์
ช่องแสงที่พาความสว่างและปลอดโปร่งสาดเข้ามาในห้อง ไม่เพียงเบรกความอึดอัดคับข้องจากโซนที่สองยังเป็นเสมือนประตูทะลุผ่านจากยุคศักดินามาสู่ยุคแห่งการก่อรากฐานประชาธิปไตย
บนพื้นที่จัดแสดงทั้งหมดราว 400 ตารางเมตร โซน "สามัญชนผู้ยิ่งใหญ่" มีขนาดใหญ่และสว่างไสวกว่าส่วนอื่น และดูเหมือนทุกก้าวในโซนนี้จะมีเนื้อหาแฝงอยู่ทุกพื้นที่อย่างหนาแน่น
รูปหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม 2 รูปถูกขยายใหญ่ เบื้องหลังของภาพแรกมีเนื้อหาเล่าถึงการเตรียมการและเจตนารมณ์ของคณะราษฎร โดยวิธีอ่านข้อความเหล่านี้ ผู้ชมต้องก้มมองผ่านช่องว่างกลางภาพ ให้อารมณ์การหลบซ่อนและความเสี่ยงต่ออันตรายที่คณะราษฎรต้องแบกรับ
ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่ปรีดีเป็นผู้ร่างถูกนำมาจัดแสดงไว้ด้วย เพื่อยืนยันคุณธรรมในใจของหัวหน้าคณะราษฎร ว่ากันว่า นอกจากดูผ่านอินเทอร์เน็ตแล้ว จะหาดูจากที่อื่นไม่ง่ายเลย แม้ว่าประกาศฉบับนี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของไทยก็ตาม
หมุดประชาธิปไตยระบุว่า "คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ ณ ที่นี้" ถูกนำมาฝังไว้บนพื้นซึ่งถูกยกสูงเสมอกันทั่วพื้นที่ อีกด้านเป็นเสา 6 ต้นที่มีคำว่า เอกราช-ปลอดภัย-เศรษฐกิจ-เสมอภาค-เสรีภาพ-การศึกษา หรือ "หลัก 6 ประการ"ตามประกาศคณะราษฎร จารึกไว้
รูปพระที่นั่งอนันตฯ รูปที่สอง แม้จะดูไม่ชัดแต่หากเพ่งดูจะเห็นว่า มีรถถังอยู่ด้านหน้า แสดงถึงวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ บนภาพมีทั้งข่าวจากหนังสือพิมพ์แขวนไว้ เนื้อหาบอกถึงความตื่นตัวและตื่นเต้นต่อการเมืองสมัยใหม่ของสื่อมวลชนและประชาชนยุคนั้น
ทว่าสิ่งที่สะดุดตามากกว่าเห็นจะเป็นจดหมายที่ปรีดีส่งถึงท่านผู้หญิงพูนศุข เขียนจากพระที่นั่งอนันตฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2475 ใจความว่า
"ขอโทษที่ต้องพูดปดในวันนั้นว่าจะไปอยุธยาเพราะถ้าบอกความจริงก็เกรงว่าจะมาจากบ้านไม่ได้และผลร้ายจะเกิดขึ้นกับแผนการ คือทางเจ้าหน้าที่ได้คิดจะทำการจับกุมฉันในวันรุ่งขึ้น... การที่ทำอะไรไปทั้งนี้ก็เพื่อเห็นแก่ชาติและราษฎรเป็นส่วนมาก เห็นว่าเกิดมาครั้งเดียวเมื่อมีโอกาสทำได้ก็ควรทำ... ที่ไม่บอกมาแต่ต้นก็เพราะกลัวว่าจะตกใจและเมื่อข่าวตกใจแพร่งพรายออกไปก็จะเสียแผนที่ได้คิดไว้ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างก่อนลงมือกระทำก็ได้เป็นห่วงและคิดไว้ว่า ถ้าตายลงไปก็คงพอมีเงินเลี้ยงลูกและเธอ...
...ขอให้เธอนึกว่าฉันบวช เพราะก่อนลงมือได้เคยถามแล้วว่า ถ้าฉันบวชสัก 6 เดือนเธอจะว่าอย่างไร เธอก็ตอบตามใจ การที่ทำทั้งนี้ยิ่งกว่าการบวช เราได้กุศล ผลบุญที่ทำให้ชาติย่อมได้สืบต่อไปจนบุตรหลาน ความจริงบ่นถึงทุกวันกับหัวหน้าทนายที่นี่ แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อเราทำงานเพื่อชาติ และในชีวิตของคนอีกหลายร้อยล้านหามีโอกาสไม่ ไม่ช้าเมื่อเรียบร้อยแล้วเราคงอยู่บ้านเป็นปกติต่อไป ขอให้คิดถึงชาติและราษฎรให้มากๆ..."
พื้นที่ส่วนนี้ยังจัดแสดงผลงานสำคัญในช่วงที่ปรีดีดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ซึ่งผลงานหลายชิ้นชี้ให้เห็นความพยายามในการสร้างและผลักดันให้หลัก 6 ประการตามประกาศคณะราษฎรเป็นรูปธรรม ซึ่งผลงานทางการศึกษาชิ้นเอกนั่นก็คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้นี่เอง
ระหว่างเดินตามทางไปเรื่อยๆ เสียงเพลงปลุกใจที่ดังแว่วเริ่มชัดขึ้นจนฟังพอได้ศัพท์ว่านี่เป็นเพลงคณะราษฎรที่ดังมาจากวีดิทัศน์ชื่อว่า "สยามใหม่ใต้เงาคณะราษฎร" ซึ่งแสดงภาพสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และนาฏกรรม รูปแบบใหม่ที่เน้นความเรียบง่าย ลดทอนความวิจิตร ปฏิเสธจารีตศักดินา และเน้นความเสมอภาค ผ่านสัญลักษณ์สำคัญ เช่น เสาหกต้นและพานรัฐธรรมนูญ หรือรูปปั้นคนที่มีกล้ามเนื้อกำยำเหมือนผู้ใช้แรงงาน แทนที่จะเป็นรูปปั้นอรชรอ่อนช้อยเยี่ยงผู้มีบุญวาสนาในวรรณคดี
ก่อนเข้าสู่โซน "มรสุมทางการเมือง" ชีวประวัติย่อของผู้อภิวัฒน์การเมืองไทยคนนี้ถูกแสดงไว้ โดยมีจุดเริ่มต้นที่ปี 2475 และสิ้นสุดที่ปี 2489
จากนั้นพื้นที่ลาดเอียงก็นำเข้าสู่เส้นทางเดินเล็กๆ เพดานต่ำ ภายใต้ผนังสีแดงและกราฟิกรั้วลวดหนามให้อารมณ์รุนแรงและรวดร้าว แต่ดูจะไม่ทิ่มแทงคนในครอบครัวพนมยงค์เท่ากับคำกล่าวหาที่นำเสนอด้วยข้อความสั้นๆ ขณะที่ช่องแสงผ่านรูป "สการ์ (scar)" ก็คงไม่ใหญ่เท่ากับแผลเป็นที่ครอบครัวนี้ได้รับระหว่างที่ผู้นำครอบครัวถูกกล่าวหา จนทำให้คนในครอบครัวนี้ไม่มีโอกาสได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันอีกเลย ภายหลังการลี้ภัยครั้งสุดท้ายของปรีดี
จดหมายจากปรีดีที่ส่งถึงภรรยาในวันแต่งงานครบ 41 ปี ที่ถูกคัดเลือกออกมาจากหลักฐานนับร้อยๆ ชิ้น ถูกนำมาจัดแสดงเพื่อสื่อถึงความเจ็บปวดจากการพลัดพรากของคนรักชาติคู่นี้ได้เป็นอย่างดี
ในโซน "ชีวิตช่วงปลาย: ผู้ลี้ภัยกับการตกผลึกทางความคิด" ดีไซเนอร์เลือกใช้วิธีประมวลภาพประสบการณ์ทั้งชีวิตของปรีดีมาเรียงร้อยจนเต็มผืนผนัง ควบคู่กับการจัดวางโต๊ะหนังสือ สมุด ปากกา วิทยุ และหนังสือ เพื่อจำลองเป็น "ห้องแห่งความคิด" สะท้อนถึงการทำงานเพื่ออุดมการณ์ซึ่งปรีดีทุ่มเททำมาทั้งชีวิต
แม้จนวินาทีสุดท้ายของชีวิต ปรีดีก็ยังสิ้นลมขณะนั่งเขียนจดหมายอยู่บนโต๊ะทำงาน
"เมื่อข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ"
คำพูดนี้ของปรีดีถูกแสดงไว้ที่ผนังด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านเป็นเงาเลือนรางของอาจารย์ในช่วงบั้นปลายชีวิต จัดวางไว้คู่กับผลึกทางความคิดที่ว่าด้วยเรื่องอุดมการณ์ "สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย" ซึ่งมีจุดยืนอยู่ว่า ไม่ว่าสังคมนิยมหรือประชาธิปไตย ควรมีพื้นฐานเป็นวิทยาศาสตร์
และหากอยากรู้ว่าอุดมการณ์นี้ประกอบด้วยหลักอะไรบ้าง ก็เพียงเพ่งมองที่ช่องกระจกวงกลมที่อยู่ใกล้ๆ หรือมองทะลุกระจกออกไปก็จะเจอกับหลักการทั้ง 5 คำ อันเป็นคำตอบที่เห็นได้ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามา
"...นายปรีดีตายนะ อาศัยอยู่ประเทศจีน 21 ปี สถานทูต (จีน) พวงหรีดใหญ่อาศัยอยู่ประเทศฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรี (ฝรั่งเศส) ก็ส่งพวงหรีด แต่เมืองไทยที่เราเกิด ไม่มีสักหรีดหนึ่ง... ก็ต้องจำไว้เหมือนกันนะ อย่าคุยว่าเราได้ทำประโยชน์เลย รับใช้ประเทศชาติในฐานะที่เกิดมาเป็นคนไทย แต่ว่าไม่ได้รับอะไรเลย..."
เสียงท่านผู้หญิงพูนศุขแว่วมาจากวีดิทัศน์ใกล้ๆ ดังซ้อนคำอาลัยรักจากผู้ชมสูงวัยที่กำลังอ่านบทอสัญกรรมของปรีดี "น่าเสียใจ แทนที่คนดีๆ จะได้ตายบนแผ่นดินเกิด"
ส่วนสุดท้ายจัดแสดงข้อความจากการแปลอักษรในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ปี 2526 ที่ว่า "พ่อสร้างชาติด้วยสมองและสองแขน พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ" อีกด้านเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ปรีดีได้รับมาจากประเทศต่างๆ ถูกนำมาจัดไว้ในตู้โชว์ ขณะที่ผลงานวิชาการที่นักวิชาการรุ่นหลังเขียนขึ้นเพื่อตอบโต้การใส่ร้ายนายปรีดีถูกแสดงในอีกตู้ ...นี่เป็นการเล่าถึงขบวนการกอบกู้ภาพลักษณ์ของนายปรีดี
จากภาพผู้ต้องหาในคดีสำคัญทางการเมืองเมื่อหลายสิบปีก่อน จนกลับมาเป็นรัฐบุรุษและนักวิชาการที่สร้างคุณูปการให้กับบ้านเมืองเมื่อไม่กี่สิบปี
"อันที่จริง เราไม่ได้ให้รายละเอียดสักเรื่อง แต่ข้อความหลักที่เราต้องการแสดงก็คือความคิดของคนคนนี้ เราเชื่อว่า ถ้าผู้ชมได้รู้ว่าคนคนนี้คิดอย่างไร พวกเขาจะเรียนรู้เองว่าอาจารย์ทำอะไรเพื่อชาติ และไม่ได้ทำอะไรตามข้อกล่าวหา" ศิริพรกล่าวย้ำถึงใจความสำคัญของนิทรรศการ
แม้ขบวนการรื้อฟื้นคืนเกียรติยศของปรีดีจะสำเร็จอย่างสูง แต่สิ่งที่น่าเสียดายนั่นคือ การรื้อฟื้นดังกล่าวเป็นการรื้อฟื้น เฉพาะความยอมรับในตัวตนของปรีดี พนมยงค์ หาใช่การรื้อฟื้นแนวความคิดและอุดมการณ์เพื่อนำมาสานต่อไม่! ทั้งที่ "อุดมการณ์"นี่ต่างหากที่เป็นสิ่งที่นักอภิวัฒน์ประชาธิปไตยผู้นี้ยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อแลกมา แม้กระทั่ง ความสุข เกียรติยศ ชีวิต และครอบครัวที่รักยิ่ง
หลังจากชมครบทุกพื้นที่จนวนกลับมาสู่โถงด้านหน้าอีกครั้ง รูปปั้นอาจารย์ปรีดี ภาพเดิมกลับดูน่าเคารพนับถือและดูคุ้นเคยกว่าครั้งแรกที่เห็น คำทั้ง 5 คำที่ประดับอยู่บนแท่นคอนกรีตกลับดูมีความหมายและมีคุณค่าคู่ควรแก่การช่วยกันสานต่อเจตนารมณ์ ของนักอุดมการณ์ผู้เสียสละที่มีชื่อว่า "ปรีดี พนมยงค์"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|