Green Mirror...เยอรมัน-สงครามและสันติภาพ

โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

สงครามโลกครั้งที่สองได้ทำลายเยอรมัน เมือง Berlin และอีกหลายเมืองในเยอรมันลงอย่างสิ้นเชิง แล้วยังถูกซ้ำเติมด้วยการแบ่งแยกลัทธิการปกครอง เศรษฐกิจและสังคม กำแพงเบอร์ลิน สัญลักษณ์แห่งความไร้มนุษยธรรมและการปิดกั้นสิทธิมนุษยชน ถูกสร้างขึ้นมากั้นแดนระหว่างเยอรมันตะวันตกและตะวันออก Berlin ในทุกวันนี้เป็นอย่างไร เพราะเหตุใดเยอรมันจึงฟื้นฟูก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วนัก

ประวัติศาสตร์
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ยุคกลาง (medieval) ของยุโรป Berlin เป็นศูนย์กลางทางการค้าของอาณาจักร Prussian มีผู้คนหลายเชื้อชาติเข้ามาตั้งหลักแหล่ง เป็นเมืองที่ยอมรับกันในยุคนั้นว่าเป็น international city

นับตั้งแต่นโปเลียนแห่งฝรั่งเศสเข้ามายึดครอง Berlin ตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 18 ไปจนถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 Berlin เจริญรุ่งเรืองสูงสุดเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม จวบจนเยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 พ่ายแพ้ เศรษฐกิจย่อยยับ ค่าปรับสงคราม ผลักดันให้ผู้คนหมดหนทางสู้และหันหน้าเข้าสู่สงครามอีกครั้ง คราว นี้เข้าอย่างสุดตัวภายใต้การนำของผู้นำชาตินิยมอย่าง Hitler ซึ่งพาชาติไปสู่ ความหายนะยับเยินมากขึ้น

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง พันธมิตรผู้ชนะสงครามได้แบ่งแยกเยอรมัน ออกเป็นเยอรมันตะวันตกและเยอรมันตะวันออก เยอรมันตะวันออกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต ส่วนฝั่งตะวันตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายพันธมิตร ปกครองในระบอบเสรีทุนนิยม ซึ่งยังถูกแบ่งโซนออกเป็นเขตของอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกัน ไม่มีเมืองหลวงแห่งใดในโลกที่ถูกแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ ถึงเช่นนี้ แต่เยอรมันก็สามารถฟื้นตัวและพัฒนาขึ้นมาเป็นมหาอำนาจได้อีกครั้ง ภายในเวลาเพียงไม่กี่สิบปีต่อมา

กำแพงเบอร์ลินถูกสร้างขึ้นในปี 1961 สิบหกปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง เพื่อปิดกั้นการเล็ดลอดของผู้คนจากฝั่งตะวันออกภายใต้การปกครองลัทธิคอมมิวนิสต์ของโซเวียต เข้าสู่ฝั่งตะวันตก ซึ่งในระยะนั้นเยอรมันตะวันตกกำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนเศรษฐกิจฝั่งตะวันออกยังล้าหลัง บ้านเมืองถูกทอดทิ้ง ผู้คนยากไร้ ค่าแรงต่ำ เศรษฐกิจฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกจึงแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

ในการพยายามหนีข้ามกำแพงเมือง เกิดเหตุการณ์ไร้มนุษยธรรมและโศกนาฏกรรมขึ้นมากมาย มีคนถูกทรมานและถูกฆ่าตายอย่างทารุณ และในที่สุดจุดวิกฤติก็มาถึง เมื่อกำแพงเบอร์ลินถูกทุบทลายลง ด้วยฝูงคนที่โกรธแค้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1989 เล่ากันว่าเหตุการณ์อำมหิตที่เป็นจุดวิกฤติครั้งนั้นมาจากการที่หนุ่มน้อย อายุ 18 คนหนึ่งพยายามข้ามมาฝั่งตะวันตก ถูกยิงตกลงในฝั่งตะวันออก เลือดไหลออกจากร่างทีละน้อยค่อยๆ เสียชีวิต โดยมีทหารฝั่งนั้นยืนดูเขาอย่างเลือดเย็นและสะใจ กำแพงเบอร์ลินจึงเป็นสัญลักษณ์ของความอัปยศอดสูของชาวโลกที่สะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งแยกและความขัดแย้ง

สภาพบ้านเมืองในปัจจุบัน
Berlin เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของเยอรมัน ปัจจุบันเป็นเมืองหลวง เป็นศูนย์ กลางทางธุรกิจ เทคโนโลยีและความบันเทิง มีประชากรประมาณ 3.5 ล้านคน ในจำนวน นั้น 10% เป็นคนต่างชาติ กลุ่มต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดคือ ตุรกี เช่นเดียวกับเมืองใหญ่ในยุโรปอื่นๆ Berlin มีระบบสาธารณูปโภค และขนส่งมวลชนที่ครอบคลุมเป็นระบบและทันสมัย ถ้าใครใช้รถส่วนตัว การหาที่จอดรถในเมืองเป็นเรื่องยากยิ่ง

คนเยอรมันและวัฒนธรรม
Berlin เป็นเมืองที่ไม่น้อยหน้าใครในเรื่องเสรีภาพและความบันเทิง มีการจัด film festival ที่ยิ่งใหญ่เป็นที่สองรองจากเมืองคานส์ เป็นศูนย์รวมชาวเกย์และผู้นิยม รักร่วมเพศ ผู้มาเยือนสามารถหาความบันเทิงได้ทุกรูปแบบตั้งแต่ศิลปกรรม การละครแบบคลาสสิกไปจนถึงร็อกคอนเสิร์ต คนเยอรมันเป็น artist ไม่น้อยไปกว่าคนฝรั่งเศสและคนอิตาเลียน แต่ศิลปะและนวัตกรรมของชาวเยอรมันค่อนข้างจะออกมาแบบแปลกแหวกแนวมากกว่า สะท้อนให้เห็นลักษณะนิสัยที่กล้าหาญ ท้าทายไม่เอาแบบใคร และบางครั้งนิสัยศิลปินก็รุกล้ำไปถึงกำแพง ตึกร้าง ที่สาธารณะอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากภาพวาดสีเปรอะเปื้อนตามสถานีรถไฟ และอาคารทิ้งร้างต่างๆ งานศิลปะเหล่านี้มิได้เขียนขึ้นมาชุ่ยๆ แต่บางครั้งเป็นงานสวยงามที่น่าทึ่งทีเดียว

เหตุที่ประเทศเยอรมันฟื้นฟูพัฒนาขึ้นมาจากความล่มสลายได้อย่างรวดเร็ว ตอบได้ชัดเจนว่า คนเยอรมันเองเป็นปัจจัย หลักอันหนึ่ง คนเยอรมันเป็นคนที่เข้มแข็งอดทน จริงจัง และเคารพในกฎระเบียบยิ่งนัก ทำนองเดียวกับคนญี่ปุ่นในซีกโลกตะวันออก คนเยอรมันมีคำขวัญประจำใจว่า "Works make life sweet." หรืองานทำให้ชีวิตเป็นสุข คล้ายๆ กับ "งานคือ เงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" ของไทย แต่ความยึดมั่นนั้นต่างกันมาก

ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างในการฟื้นฟูประเทศของเยอรมันคือ การวางแผนที่ดี มีการกระจายอำนาจการปกครอง การปฏิบัติและการตัดสินใจไปสู่ท้องถิ่นอย่างเข้มแข็ง การวางแผนเมืองจะดำเนินการร่วมกันหลายระดับและหลายหน่วยงาน นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานเผยแพร่ข้อมูลและเสาะหาข้อมูลอีกมากมาย ทั้งให้และรับแบบปฏิสัมพันธ์ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและลงในรายละเอียดเป็นแนวทางในการปฏิบัติสู่ท้องถิ่น และจากท้องถิ่นขึ้น มาสู่ระดับบนนั้นเอง นับเป็นวิถีทางการวางแผนที่มีประสิทธิภาพและให้ประสิทธิผล อย่างสำคัญ

แม้ว่า Berlin จะมีระบบและการวางแผนที่ดีอย่างไรก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ มิได้ทำได้ง่ายๆ ด้วยเหตุเบื้องหลังหลายประการ ปัญหาที่ยังค้างคาอยู่คือ การบูรณะ ส่วนเบอร์ลินตะวันออกที่ถูกละเลยมาถึง 40 ปี ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล จนเกือบทำให้รัฐบาลเยอรมันล้มละลายไปแล้วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความขัดแย้ง ทางเศรษฐกิจระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกยังคงปกคลุมอยู่ เยอรมันตะวันตก มักจะวิจารณ์เสมอว่า คนเยอรมันตะวันออกขี้เกียจกว่า คอยแต่จะเรียกร้องเงินสวัสดิการ

การจัดการสิ่งแวดล้อม
คนเยอรมันห่วงใยและจริงจังในเรื่อง สิ่งแวดล้อมมาก อาจจะเป็นอิทธิพลมาจาก จิตสำนึกที่บ้านเมืองถูกทำลายลงอย่างยับเยิน คนเยอรมันเห็นสภาพธรรมชาติและวัฒนธรรมเป็นสิ่งมีค่ายิ่ง ควรหวงแหน เอาไว้ยิ่งชีวิต เห็นได้จากการจัดตั้งกระทรวง Ministry of Urban Development and Environmental Protection ซึ่งมีนัยว่า การพัฒนาเมืองต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเมืองก็มุ่งเป้าไปที่การบูรณา การให้ลงตัวระหว่าง การค้า การท่องเที่ยว การอุตสาหกรรม และการอยู่อาศัย โดย รักษาสิ่งแวดล้อมไว้เป็นสำคัญ โดยมีการวางแผนประสานร่วมกันระหว่างเขตอำเภอต่างๆ 12 อำเภอ เนื่องจากแนวคิดเช่นนั้นในทางปฏิบัติทำได้ไม่ง่ายนัก มีอุปสรรคมากมาย เมื่อไม่นานมานี้จึงมีการเสนอแนวคิด Experimental Urbanism โดยเขต Weimer ของ Berlin เป็นแนวทาง psychotechnik approach to environment and planning หรือการวางแผนที่อาศัยวิถีทางทางจิตวิทยามาใช้ เริ่มด้วยการจัดสร้างระบบเมืองทดลองดูก่อน นับเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่นำไปสู่การปฏิบัติก้าวสำคัญก้าวหนึ่ง

Berlin เป็นเมืองใหญ่ก็จริงแต่ก็มีพื้นที่สีเขียวอยู่ถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ เป็นพื้นที่สวนสาธารณะ ประกอบไปด้วยป่าละเมาะ สวนสัตว์ ทะเลสาบ คลองเชื่อม จนชาวเยอรมันมักอ้างว่า แม้ว่าปารีสมีสวน สาธารณะอยู่ทุกมุมเมือง แต่ Berlin ก็มี ต้นไม้มากกว่าปารีส และถึงเวนิสมีคลอง อยู่มากมาย แต่ Berlin ก็มีสะพานข้ามคลองมากกว่าเวนิส เมื่อดูสภาพภูมิประเทศ Berlin มีสภาพพื้นที่เป็นเนินเขาสูงๆ ต่ำๆ มีแม่น้ำไหลผ่านถึง 2 สาย คือ แม่น้ำ Spree และแม่น้ำ Havel แม่น้ำ Spree ไหลคดเคี้ยวผ่านเมืองเป็นระยะทางถึง 30 กิโลเมตร ส่วนแม่น้ำ Havel ไหลลงสู่ทะเล สาบและคลองเชื่อมหลายแห่งของเมือง

เช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆ ของโลก Berlin ต้องผจญกับปัญหามลพิษ ทั้งอากาศเสีย ขยะ น้ำเสีย แต่ปัญหาเหล่านี้รุนแรงน้อยกว่าที่อื่น เพราะมีระบบการจัดการโซนของเมืองที่ดี มีพื้นที่สีเขียวมาก มีระบบขนส่งมวลชนและสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ และกฎหมายที่เข้มงวด ทำให้ลดความรุนแรงของปัญหาไปได้มาก คนเยอรมันเคร่งครัดในเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก นั่นเป็นเพราะความรู้สึกที่ต้องบำรุงรักษาบ้านเมือง (ที่ถูกทำลาย) ให้น่าอยู่ยังติดอยู่ ในจิตสำนึก มีการปฏิบัติอย่างจริงจังเห็นได้จากการแยกขยะอย่างเป็นเรื่องเป็นราวทั้งคนทิ้งและคนเก็บ มีโรงงาน recycle ที่มีประสิทธิภาพ

ทุกวันนี้ เยอรมันเป็นผู้นำทางด้านเครื่องจักรอุปกรณ์ในการบำบัดของเสีย Berlin อ้างว่าเป็น environmental research center ที่ก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของโลกแห่งหนึ่ง

บทเรียนจากเยอรมัน
ความพ่ายแพ้เป็นบทเรียนที่น่าเรียนรู้ หากเราถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของโลก ที่ควรถือเป็นโจทย์อันหนึ่งในการแก้ไขปัญหาก็จะนำไปสู่การสร้างสรรค์และการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น การประท้วงและความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยในขณะนี้ ถ้าเรามองเช่นเดียวกับคนเยอรมันด้วยกำลังใจที่เข้มแข็งอดทน ก็น่าจะเป็นหนทางที่จะนำประเทศไปสู่ระบบการปกครองที่ดีขึ้นได้เป็นแน่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.