|
An Oak by the window...Firefox 3 : การเดินทางของจิ้งจอกไฟ
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
ถ้าความทรงจำของผมยังไม่ขาดวิ่นไปเสียก่อน บราวเซอร์ตัวแรกที่ผมมีโอกาสใช้มาจากค่ายโมซิลลา (Mozilla) ในชื่อของเน็ตสเคป (Netscape) ภายหลังเสื่อมความนิยมไปและไมโครซอฟท์ส่งอินเทอร์เน็ตเอ็กซ์พลอเลอร์ (Internet Explorer) หรือไออี (IE) มาตีตลาดโดยฝังมันไว้กับทุกๆ ส่วนของวินโดวส์ ทำให้กลายเป็นประเด็นถกเถียงและเป็นคดีความกันมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ไออีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในยุคสมัยของอินเทอร์เน็ตบูม สุดขีดจนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของคนเราในทุกวันนี้ไปแล้ว
ตัวเลขล่าสุดจากการสำรวจความนิยมของการใช้บราวเซอร์ทั่วโลกเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ของ Janco Associates Inc. พบว่าในรอบสามเดือนล่าสุดแม้ไมโครซอฟท์ยังคงยึดตลาดบราวเซอร์ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น โดยมีไฟร์ฟ็อกซ์และกูเกิล เดสก์ทอป (Google Desktop) ยังคงเป็นคู่แข่งสำคัญที่พยายามจะบีบไม่ให้ไมโครซอฟท์สามารถยึดครองตลาดได้เพียงผู้เดียว แต่ฟังก์ชัน Live update ของไมโครซอฟท์ เองไม่ได้ช่วยทำให้เพิ่มความยอมรับในไออีเจ็ด เมื่อรวมถึงการยอมรับในวิสต้า (Vista) ที่เป็นไปอย่างเชื่องช้าทั้งในกลุ่มผู้ใช้ ตามบ้านและระดับองค์กรที่ยังไม่ยอมขยับไปใช้วินโดวส์เวอร์ชั่นใหม่ๆ มากมายอย่างที่ไมโครซอฟท์หวังไว้ได้กลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญ นอกจากนี้ปัญหาอีกอย่าง หนึ่ง คือ สำหรับคนที่เปลี่ยนไปใช้วิสต้า แล้วกลับเป็นตัวเสริมทำให้พวกเขาสามารถ มีทางเลือกในการใช้บราวเซอร์ที่หลากหลาย มากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนใช้งานกลับไปกลับมาจากบราวเซอร์หนึ่งไปอีกบราวเซอร์หนึ่งได้บ่อยครั้งขึ้นและส่งผลกระทบน้อยมาก
ที่สำคัญรายงานฉบับนี้ระบุว่ากูเกิล เดสก์ทอปกำลังจะกลายเป็นความท้าทายใหม่ของไมโครซอฟท์ที่พวกเขาต้องเผชิญ ในขณะที่พวกเขายังไม่สามารถล้มความยิ่งใหญ่ของยุคสมัยของกูเกิลได้ แต่ที่มองข้ามไม่ได้คือบราวเซอร์ทั้งหลายจากค่ายโมซิลล่า
จากตารางจะเห็นว่าส่วนแบ่งตลาด ของไออีมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่คู่แข่งรายหลักๆ กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตรา ส่วนที่เพิ่มมากขึ้นค่อนข้างสูง นอกจากนี้ จะเห็นว่ามีบราวเซอร์รายใหม่ๆ เกิด ขึ้นอีกมากมายในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา เพราะสัดส่วนรวมของการใช้บราวเซอร์เจ็ดอันดับแรกมีสัดส่วนรวมลดลงจากปีกลาย
กูเกิลเดสก์ทอปแสดงถึงความมาแรงอย่างเห็นได้ชัดโดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ในขณะที่บราวเซอร์จากค่ายโมซิลล่าทั้งไฟร์ฟ็อกซ์, เนสเคป และโมซิลล่า ก็เพิ่มส่วนแบ่งตลาดรวมมากขึ้นและกำลังทำหน้าที่กดดันไมโครซอฟท์อย่างเห็นได้ชัด
ในวันคล้ายวันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยนั้น ไฟร์ฟ็อกซ์ เวอร์ชั่น 3 เปิดให้คนทั่วโลกดาวน์โหลดอย่างเป็นทาง การ โดยถือว่าเป็นบราวเซอร์ที่มียอดดาวน์ โหลดมหาศาลในช่วงเวลาไม่กี่วัน
การที่ไฟร์ฟ็อกซ์ได้รับความนิยมแบบถล่มทลายและเพิ่มขึ้นรวดเร็วนั้น อาจ พอจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุได้ 2-3 ข้อ ได้แก่
หนึ่ง ความเร็วในการใช้งาน โดยไฟร์ฟ็อกซ์ถือว่าเป็นหนึ่งในบราวเซอร์ที่ทำให้สามารถโหลดหน้าเว็บขึ้นได้อย่างรวดเร็ว อาจกล่าวได้ว่า ประสิทธิภาพในการ ใช้งานของไฟร์ฟ็อกซ์สร้างความประทับใจให้กับผู้หลงใหลได้อย่างมาก
สอง ความปลอดภัยในการใช้งานเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หลายๆ คนเลิกใช้ไออีและเปลี่ยนมาใช้งานไฟร์ฟ็อกซ์มากขึ้นในช่วงหลังๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีไวรัส ที่มุ่งโจมตีช่องว่างและรูรั่วต่างๆ ของไออีอย่างหนักหน่วง
สาม ความหมั่นไส้ไมโครซอฟท์ ปัจจัยนี้อาจจะเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาที่อาจ จะมีผลกระตุ้นให้จำนวนคนใช้ไฟร์ฟ็อกซ์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงแรกๆ เปิดตัวและเมื่อคนได้ลองใช้ก็ได้เห็นถึงข้อดีอีกสองข้อข้างต้นและเกิดเป็นการตลาดแบบปากต่อปากในที่สุด
ความหมั่นไส้ไมโครซอฟท์เกิดจากการพยายามผูกขาดตลาดของไมโครซอฟท์ ผ่านการมีส่วนแบ่งตลาดซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการหรือโอเอสที่มีมากเกือบ 90% ใน ช่วงเวลาหนึ่งโดยเฉพาะช่วงเวลาที่อินเทอร์ เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจ ทำให้ไมโครซอฟท์ย่ามใจว่าพวกเขาสามารถทำอะไรกับตลาดคอมพิว เตอร์ก็ได้ โดยเฉพาะพวกเขาต้องพยายามควบคุมตลาดอินเทอร์เน็ตที่กำลังเติบโตขึ้น อย่างมีนัยสำคัญให้ได้ ความเป็นอินเทอร์เน็ต นี่เองย้อนกลับมาทำให้ไมโครซอฟท์ต้องยอมรับ ถึงศักยภาพของตลาดเสรีที่พวกเขาไม่สามารถผูกขาดทุกอย่างได้
ความหมั่นไส้ไมโครซอฟท์นำมาสู่การพยายามปลดแอกจากไมโครซอฟท์และทำให้เกิดการบูมของกลุ่มโอเพ่นซอร์สหลากหลายกลุ่มเกิดการช่วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน ทั่วโลก เกิดโอเอสใหม่ๆ ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการ พัฒนาและความเป็นเจ้าของลีนุกซ์เติบโตขึ้นมาในช่วงเวลานี้ เช่นเดียวกับไฟร์ฟ็อกซ์และการปรับเปลี่ยนตัวเองจากการดำเนินงานเชิงธุรกิจมาสู่มูลนิธิของโมซิลล่าที่อาศัย มือไม้ของนักพัฒนาทั่วโลกมาสร้างเครือข่าย ชุมชน (Com-munity) ที่มีศักยภาพมากขึ้นเรื่อยๆ
ความเป็นชุมชนกลายเป็นธุรกิจใหม่ ที่สร้างรายได้ให้เหล่าคนตาถึงได้แสวงหา ความร่ำรวยบนความรู้สึกแปลกใหม่ของคนที่ได้เข้าร่วมชุมชนออนไลน์ทั้งหลาย
สำหรับไฟร์ฟ็อกซ์แล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องของการสร้างความร่ำรวย บทความหนึ่งกล่าวเกี่ยวกับไฟร์ฟ็อกซ์ว่าเป็นสมบัติของสาธารณชน พวกเขาให้ความสำคัญกับการ สร้างชีวิตออนไลน์หรือสังคมออนไลน์ขึ้นมา โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีใครร่ำรวยขึ้นมา สำหรับชีวิตออนไลน์ที่เขาพูดถึงหมายรวมถึงชีวิตส่วนตัว ชีวิตด้านสังคม การศึกษา และความเป็นชุมชนของคนจำนวนมาก โดยแต่ละคนสามารถมีส่วนในการสร้าง สรรค์ชีวิตออนไลน์นั้นขึ้นได้ นั่นหมายความ ว่าพวกเขาเห็นถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตออนไลน์ซึ่งจำเป็นจะต้องมีฐานของชีวิต และสังคมรองรับอยู่ ไม่ใช่การสร้างสังคมโดยมีใครบังคับหรือกำหนดอยู่เบื้องหลัง
ไฟร์ฟ็อกซ์จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่ในแง่ที่มีคนจำนวนหลายพันหลายหมื่น คนให้ความใส่ใจและทุ่มเทเพื่อให้มันทำงาน ได้ดียิ่งขึ้น นั่นทำให้ปรากฏการณ์ไฟร์ฟ็อกซ์ สามารถเกิดขึ้นได้โดยปรากฏการณ์นี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้แน่ ถ้าไฟร์ฟ็อกซ์เป็นของบริษัทใดบริษัทหนึ่งและถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความร่ำรวยของใครคนใดคนหนึ่ง
คนจำนวนมากมายช่วยการสร้างไฟร์ฟ็อกซ์ขึ้นมาเผยแพร่ ทำให้มีเวอร์ชั่น ของท้องที่ใดท้องที่หนึ่งขยายต่อเติมเพิ่ม add-on ต่างๆ บอกต่อให้คนอื่นเข้ามาใช้ ติดตั้งให้ทั้งตนเองและคนอื่นๆ
ปรากฏการณ์ไฟร์ฟ็อกซ์จึงมีผลทาง ด้านอารมณ์และจิตใจด้วย ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายยกเว้นเราได้เคยมีอารมณ์ร่วมนี้แล้ว อารมณ์ที่ว่านี้คือความเชื่อใจที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความรักและคิดว่า ไฟร์ฟ็อกซ์ เป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา เพราะพวกเขามีส่วนร่วมในการสร้างไฟร์ฟ็อกซ์ขึ้นมา ซึ่งพวกเขามองว่าไฟร์ฟ็อกซ์จะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยทำให้สังคมอินเทอร์เน็ต ที่พวกเขาอยู่ดีขึ้น
นี่อาจจะเป็นด้านดีของความรู้สึกของการเป็นชุมชนนิยม ความรักในชุมชนที่แต่ละคนสังกัดอยู่ ซึ่งไฟร์ฟ็อกซ์เติบโตมา ในชุมชนนั้น เป็นสมบัติของชุมชน
การเดินทางของไฟร์ฟ็อกซ์คงจะไม่หยุดอยู่แค่เวอร์ชั่นสามเป็นแน่ เพียงแต่ว่า ไฟร์ฟ็อกซ์จะรักษาความเป็นสมบัติของ ชุมชนได้ยาวนานแค่ไหนมากกว่า
1. "Firefox is a public asset," http://blog.mozilla.com/blog/2007/08/09/firefox-is-a-public-asset/
2. Browser and OS Market Share White Paper, http://www.e-janco.com/browser.php
3. "Everywhere and nowhere," The Economist, http:/www. economist. com/business/displaystory. cfm? story_id=10880936
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|