Core Banking เทคโนโลยีที่เต้นผิดจังหวะของ ธอส.

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้จัดการโครงการ บริษัทอินโฟซิส เทคโนโลยี จำกัด ต้องขนทีมงานมาทำงานใกล้ชิดกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากที่ระบบ Core Banking ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงประสิทธิผลในการทำงาน

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ นำทีมผู้บริหารธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และผู้สื่อข่าวไปเยี่ยมชมแคมปัสของ บริษัทอินโฟซิส เทคโนโลยี จำกัด เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย เพื่อยืนยันว่าระบบคอร์ แบงกิ้ง ที่ธนาคารเลือกใช้เป็นระบบที่มีมาตรฐานระดับโลก นอกเหนือจากการเยี่ยมชมงานแล้ว ผู้บริหารยังมีเป้าหมายเพื่อประชุมกับผู้บริหารของอินโฟซิส ให้แก้ไขปัญหาการทำงานของระบบคอร์ แบงกิ้งอย่างเข้มข้น เพราะเห็นว่าเป็น เรื่องที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ขรรค์ยอมรับว่าหลังจากที่นำระบบคอร์ แบงกิ้ง เริ่มทดสอบเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา ระบบการทำงานเกิดความผิดพลาด อย่างเช่น โปรแกรมไม่คิดดอกเบี้ย หรือโปรแกรมไม่สั่งตัดชำระหนี้ในระบบของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งสาเหตุเกิดจาก "คน" เป็นหลัก ที่ยังไม่เข้าใจการทำงานของระบบและการทำงาน ของระบบเทคโนโลยียังไม่นิ่ง

ปัจจุบันทีมงานของบริษัทอินโฟซิสฯ จะเข้ามาร่วมทำงานกับธนาคารเป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่กรกฎาคมถึงกันยายนนี้ เพื่อ มอนิเตอร์ระบบ แก้ไขระบบทั้งฮาร์ดแวร์ และระบบเชื่อมโยงโครงข่าย ตามสัญญาว่าจ้างบริษัทอินโฟซิสจะต้องดูแลระบบบริการหลังการขายอีก 3 ปี ซึ่งบริษัทคาดว่าจะต้องมาดูแลโดยตรง หลังจากบริษัทดาต้าแมท จำกัด (มหาชน) บริษัทจำหน่ายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอทีมีปัญหาด้านการเงินไม่สามารถเข้ามาดูแลได้อีกต่อไป

ก่อนหน้านี้บริษัทดาต้าแมทฯ รับเป็นตัวแทนของบริษัทอินโฟซิสฯ เข้าร่วมประมูลโครงการติดตั้งระบบคอร์ แบงกิ้งให้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ เมื่อปี 2548 และเป็นผู้ชนะในการเสนอราคา 600 ล้านบาท และใช้เวลาในการติดตั้งเป็นเวลา 3 ปี จนกระทั่งมีการทดสอบระบบเมื่อปลายปี 2550 ที่ผ่านมา

ระบบคอร์ แบงกิ้ง เป็นหัวใจหลักของการทำงานของธนาคาร ซึ่งเทคโนโลยีจะทำหน้าที่เชื่อมโยงระบบการทำงานทั้งหมดของธนาคารทั้งระบบภายใน (back office) และระบบบริการลูกค้า (front office) ที่จะรองรับบริการรับฝากถอนเงิน รับชำระเงิน พิจารณาสินเชื่อ บริการเงินกู้ ระบบบัญชี ติดตามหนี้ รวมไปจนถึงการฟ้องคดีต่างๆ

ระบบนี้ยังทำหน้าที่เชื่อมโยงบริการ ที่เรียกว่า e-Banking เพื่อให้บริการลูกค้ารายย่อย และธนาคารยังหวังไว้ว่าระบบนี้จะสามารถปรับเปลี่ยนบริการให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม

ระบบคอร์ แบงกิ้งจะเชื่อมระบบกับ สาขาทั่วประเทศทั้งหมดสาขาหลัก 75 แห่ง สาขาย่อย 28 แห่ง สาขาศูนย์บริการที่เรียกว่า OSS 20 แห่ง และเคาน์เตอร์การเงินนอกสถานที่อีก 15 แห่ง

เรื่องของการพัฒนา "คน" เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ธนาคารกำลังบรรจุอยู่ในแผนเพื่อพัฒนาอย่างเร่งด่วนในระยะเวลา 2 ปี (2550-2551) เพราะจากบทเรียนที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารตระหนักว่าธนาคารต้องลงมือ ทำเองและพัฒนาบุคลากร

อภิรัตน์ ตันติเวชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์บอกว่า โปรแกรมเมอร์ของธนาคารจะต้องผ่านการ อบรมเป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อเรียนรู้ระบบคอร์ แบงกิ้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบฟินาเคิล (Finacle) ของบริษัทอินโฟซิสฯ

ส่วนของพนักงานบริการประจำสาขาต่างๆ ได้รับการอบรมทั้งหมดเช่นเดียวกัน และการทำงานจะต้องเป็นระบบวันต่อวัน นอกเหนือจากนั้นจะมีทีมงานที่เรียกว่า Help Desk ให้ความช่วยเหลือ พนักงานประจำสาขาต่างๆ กรณีเกิดข้อสงสัยในการทำงานของระบบ

ในด้านของผู้ใช้บริการมีประสบการณ์โดยตรงที่พบปัญหาการทำงานของธนาคารมาเป็นเวลา 7 เดือน ได้เรียนรู้วิธีแก้ไขและธนาคารได้ปรับปรุงระบบคอร์ แบงกิ้งมาระยะเวลาช่วงหนึ่งแล้ว พบว่ามีปัญหาลดน้อยลง

การปรับปรุงระบบคอร์ แบงกิ้งเป็น ส่วนหนึ่งที่จะช่วยรับมือกับการบริหารหนี้สินของธนาคารที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงอนาคต เพราะธนาคารมองว่าภาวะเศรษฐกิจโดยในปัจจุบันมีผลต่อการชำระสินเชื่อ ภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยรวมได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ น้ำมันแพงที่ผลักดันให้ต้นทุนวัตถุดิบของวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กปรับราคาสูงขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ อัตราค่าก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ที่ยากลำบากกว่านั้นจากภาวะเศรษฐกิจที่กระทบโดยตรง ทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ทำให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ประเมินสถานการณ์ภาพรวมของธนาคารในครึ่งปีหลัง จะทำให้ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลงน้อยกว่า 94,000 ล้านบาท จากเดิมที่ได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะมียอดสินเชื่อตลอดปี 2551 ไว้ที่ 95,000 ล้านบาท

"แม้ว่าสินเชื่อที่ธนาคารตั้งเป้าไว้ที่ 94,000 ล้านบาท เป็นเรื่องลำบากที่ต้องทำ เพราะเงินที่อยู่ในกระเป๋าของลูกค้าจะมีกู้หรือเปล่า รายได้สุทธิของผู้บริโภคเป็นตัวเลขสำคัญบ่งบอกว่าผู้กู้จะมีความสามารถชำระได้หรือเปล่า"

แม้ว่าธนาคารอาคารสงเคราะห์จะเป็นธนาคารเฉพาะด้านที่ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก และอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลังก็ตาม แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มีความแน่นอนในปัจจุบันก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธนาคารเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ และในขณะที่ธนาคารอยู่ระหว่างการปรับปรุงเทคโนโลยีคอร์ แบงกิ้งก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธนาคารสามารถมอนิเตอร์วิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.