|
เค-เอสเอ็มอี ทางเลือกใหม่ ผู้ประกอบการรายย่อย
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
"ผมอยากได้เงิน อยากได้ชื่อ และอยากได้เพื่อน เป็น 3 เหตุผลหลัก ที่บริษัทฮิวแมนิกา จำกัด ตัดสินใจเปิดทางให้บริษัทร่วมทุนเค-เอสเอ็มอี ในเครือธนาคารกสิกรไทยเข้ามาถือหุ้น"
บริษัทฮิวแมนิก้า จำกัด ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ และให้คำปรึกษาด้านระบบงานองค์กรและทรัพยากรบุคคล เริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา แต่เจ้าของธุรกิจอย่างสุนทร เด่นธรรม กรรมการผู้จัดการ และพนักงานเกือบทั้งหมดต่างมีประสบการณ์ทางด้านไอที
ทั้งผู้บริหารและพนักงานส่วนใหญ่แยกออกมาจากบริษัทไพรช์ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นองค์กรระดับโลก
สุนทรในฐานะผู้บริหาร มีประสบการณ์ในวงการด้านไอทีมากว่า 10 ปี เขามองเห็นโอกาสธุรกิจ จึงทำให้เขาตัดสินใจลาออก และมีลูกน้องจำนวนหนึ่งมาร่วมทำงานและก่อตั้งบริษัทฮิวแมนิก้า จำกัด
บริษัทฮิวแมนิก้า ก่อตั้งเมื่อปี 2546 ด้วยทุนเริ่มต้น 30 ล้านบาท เป็นบริษัทที่มีเจ้าของเป็นคนไทย มีเป้าหมายเพื่อผลิตซอฟต์แวร์จำหน่ายภายในประเทศ เพราะสามารถจำหน่ายในราคาถูกกว่าซอฟต์แวร์ ที่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ
ปัจจุบันบริษัทฮิวแมนิก้ามีฐานลูกค้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ อาทิ ซีเกท เทคโนโลยี รอยเตอร์ ยูนิลิเวอร์ และกรุงไทย คอมพิวเตอร์ เซอร์วิส
จากฐานลูกค้าขนาดใหญ่และความต้องการของตลาดที่จะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต สุนทรรู้ดีว่า บริษัทต้องการเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจ
ที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าร่วมโครงการ "นวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ย" ได้รับอนุมัติสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อพัฒนาระบบซอฟต์ แวร์จัดการทรัพยากรบุคคลในองค์กร เป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถแข่งขันกับบริษัทต่างประเทศอย่างออราเคิล หรือพีเพิลซอฟท์ และสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ถูกกว่า
สุนทรไม่ได้หยุดหาแหล่งเงินทุน แต่เขายังแสวงหาจากช่องทางอื่นๆ จนกระทั่งเขาได้เข้าร่วมสัมมนาธุรกิจเอสเอ็มอีกับธนาคารกสิกรไทย แม้ว่าเขาจะไม่เคยเป็นลูกค้ามาก่อนก็ตาม
การเข้าร่วมสัมมนาทำให้เขารู้ว่า ธนาคารกสิกรมีบริษัทในเครือ คือ บริษัทร่วมทุนเค-เอสเอ็มอี จำกัด ที่มีเป้าหมายเข้าร่วมลงทุนในบริษัทเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนในการขยายธุรกิจ และมีเป้าหมายเข้าตลาดหลักทรัพย์
เขามองว่า บริษัทร่วมทุนเค-เอส เอ็มอีตรงกับธุรกิจของเขาที่ต้องการสนับ สนุน สิ่งที่เขาต้องการมี 3 ด้าน เงินทุน ชื่อเสียง และพันธมิตร
สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเปิดทางให้บริษัทร่วมทุน เค-เอสเอ็มอีฯ เข้าร่วมทุนใน บริษัท คือ ชื่อเสียงของธนาคารกสิกรไทย เพราะจะทำให้บริษัทฮิวแมนิก้าได้รับความ น่าเชื่อถือจากลูกค้า สุนทรบอกถึงความตั้งใจของเขา
ส่วนด้านพันธมิตร ธนาคารมีบริษัทในเครือ และมีกลุ่มสมาชิกเอสเอ็มอี ที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทสามารถขยายเครือข่ายได้เพิ่มมากขึ้น
ก่อนที่จะเกิดการร่วมหุ้นกันอย่างเป็นทางการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินร่วมลงทุน ข้าวกล้า จำกัด (บลท.ข้าวกล้า) บริษัทแม่ของบริษัทร่วมทุนเค-เอสเอ็มอี มีบทบาทเป็นผู้บริหารเงินร่วมลงทุนและพิจารณาคัดเลือกบริษัทเอสเอ็มอีได้เข้าไปตรวจสอบบัญชี และแผนธุรกิจของบริษัทฮิวแมนิก้าอย่างละเอียด ในบางวันใช้เวลาตรวจสอบถึงตี 2 หรือตี 3
จนกระทั่งบริษัทร่วมทุนเค-เอสเอ็มอี ตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนด้วยจำนวนเงิน 8.97 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 15.60% เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท
นอกเหนือจากการร่วมทุนในบริษัทฮิวแมนิก้าแล้ว บริษัทเค-เอสเอ็มอียังได้ร่วมทุนอีก 2 บริษัท บริษัทเนอร์วาน่าฟูดส์ แอนด์ คอมเมิซ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผลิตและจำหน่ายชา กาแฟบรรจุขวดแก้ว ที่มีโรงงานในสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย เพื่อจำหน่ายในและต่างประเทศ
บริษัทร่วมทุนเค-เอสเอ็มอีร่วมทุนจำนวน 30 ล้านบาท หรือถือหุ้น 15.38% ของทุนจดทะเบียน 195 ล้านบาท
บริษัทที่ 2 บริษัททูสปอตคอมมิวนิ เคชั่น จำกัด ประกอบธุรกิจด้านการออก แบบและพัฒนารูปแบบคาร์แรกเตอร์ต่างๆ เพื่อขายลิขสิทธิ์ให้บริษัทอื่นๆ นำไปผลิตสินค้า บริษัทร่วมทุนเค-เอสเอ็มอีร่วมทุน 5.004 ล้านบาท ถือหุ้น 20.17% ทุนจดทะเบียน 20.67 ล้านบาท
บลท.ข้าวกล้า ก่อเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2550 ด้วยฝีมือการเขียนแผนธุรกิจของ วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย ที่ต้องการเติมเต็มธุรกิจเอสเอ็มอีของธนาคารกสิกรไทย ที่หันมารุกตลาดเอสเอ็มอีอย่างเอาจริงเอาจัง จนกระทั่งธนาคารตัดสินใจให้เงินก้อนแรกจำนวน 200 ล้านบาท
บลท.ข้าวกล้าจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เค-เอสเอ็มอี จำกัด บริษัทนี้มีบทบาทหน้าที่ เป็นนิติบุคคลร่วมทุน ที่ไม่อยู่ในรูปของ กองทุนร่วมทุนเหมือนกับ บลจ.วรรณ และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
เป้าหมายของ บลท.ข้าวกล้า หวังไว้ว่า บริษัทที่จัดตั้งขึ้นจะสามารถตอบโจทย์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการ ทั้งเงินทุนและที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจไปพร้อมๆ กัน ในครึ่งปีแรกบริษัทก็สามารถ เข็นบริษัทร่วมทุนออกมาได้ 3 บริษัท
ในปี 2551 บลท.ข้าวกล้ากำหนดแผนธุรกิจไว้ว่า จะเข้าร่วมทุนกับบริษัทเอส เอ็มอีอีกประมาณ 20 รายๆ ละ 10-12 ล้านบาท พร้อมกับผลักดันให้บริษัทร่วมทุนเข้า ตลาดหลักทรัพย์ทั้งในประเทศและต่าง ประเทศ
เงื่อนไขของการร่วมทุน บริษัทผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องมีประสบ การณ์การทำงานไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยบริษัทร่วมทุนเค-เอสเอ็มอีจะเข้าไปถือหุ้นร้อยละ 10-50 ของทุนจดทะเบียน มีกำหนดระยะเวลาลงทุน 3-5 ปี และไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารงานประจำวัน
แม้ว่า บลท.ข้าวกล้าจะมองเห็นโอกาสในการลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็ตาม แต่ด้วยประสบการณ์การทำงานที่กำหนดระยะขั้นต่ำเพียง 3 ปีและไม่จำกัดประเภทอุตสาหกรรม โอกาสที่จะพบความเสี่ยงจึงมีไม่น้อย บลท.ข้าวกล้าได้เตรียมรับมือกับเรื่องนี้ด้วยการกระจายความเสี่ยง โดยกระจายการลงทุนในอุตสาหกรรมเดียวกันไม่เกิน 1 ใน 3 ของเงินทุนจดทะเบียน
ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ในมุมมองของวิวรรณ มองแนวโน้มของธุรกิจที่จะผลิดอกออกผลในอนาคต จะเป็นธุรกิจที่อิงกระแสโลก และเป็นธุรกิจที่เหมาะจะเกิดขึ้นในเมืองไทย เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับสมุนไพร พืช ผัก สัตว์ เพราะความต้องการของตลาดโลกนับวันยิ่งทวีเพิ่มขึ้น
การก่อตั้งบริษัท 2 แห่ง ทั้ง บลท. ข้าวกล้า และบริษัทร่วมทุนเค-เอสเอ็มอี มีเป้าหมายใหญ่ก็เพื่อขยายธุรกิจบริการให้กับธนาคารกสิกรไทย จากบทบาทที่รับเงินฝาก และให้บริการสินเชื่อ มาเป็นการร่วมทุน โดยเจาะไปที่กลุ่มเอสเอ็มอี
ถือได้ว่า ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารเดียวในปัจจุบันที่มีนโยบายเข้าไปร่วมทุนกับกลุ่มเอสเอ็มอี เป็นมุมมองที่แตก ต่างจากธนาคารกรุงเทพ ที่เป้าหมายหลักให้สินเชื่อเพียงอย่างเดียว เพราะมองว่า กองทุนร่วมทุนในเมืองไทยแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลยในหลายๆ ปีที่ผ่านมา
เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งระหว่าง 2 มุมมองของแบงก์รวงข้าวสีเขียว กับแบงก์ดอกบัวสีน้ำเงิน ใครจะมองธุรกิจเอสเอ็มอีทะลุปรุโปร่งได้มากกว่ากัน!
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|