|
Stay another Day...in Cambodia
โดย
วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
Stay Another Day เป็นโครงการท่องเที่ยวที่มีจุดประสงค์ในการพัฒนาชุมชนชาวบ้านยากจนในกัมพูชา ลาว และเวียดนาม โดยพยายามดึงประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาช่วยกระจายรายได้ให้ตกถึงชาวบ้านและ "คนชายขอบ" ของสังคม
"...มาดาม... อั่งก่อวัด อั่งก่อวัด (นครวัด) บ่าย้น (บายน) 10 ใบ 1 ดอลลาร์เท่านั้นค่ะ..."
เสียงตะโกนเจื้อยแจ้วของเด็กหญิงชาวเขมรตัวน้อย ผมยุ่งเหยิง ผิวเข้มเพราะกรำแดด ผ่านมา ยังโสตประสาทของผู้เขียน พร้อมกับร่างน้อยๆ ของเจ้าของเสียงที่ตรงปรี่มายังผู้เขียนอย่างแน่วแน่ เพื่อวิงวอน (แกมบังคับด้วยสายตาละห้อย) ให้ช่วยซื้อโปสต์การ์ดจากตนหน่อย ทันทีที่ผู้เขียนย่างเท้าเข้าเขตตัวปราสาทนครวัด
ช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานในเรื่องความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาที่กำลังคุกรุ่น อันเนื่องมาจากปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหารอย่างนี้ ทำให้ผู้เขียนไม่ค่อยอยาก ที่จะเอ่ยชื่อประเทศเพื่อนบ้านของไทยให้แสลงหูผู้อ่านบางท่านสักเท่าใดนัก
...แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร ใบหน้าของน้องหนูวัยสี่ขวบที่ร้องตะโกนขายโปสต์การ์ดอยู่หน้าปราสาทนครวัด ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในใจของผู้เขียนเสมอ
ในขณะที่กัมพูชายืดอกประกาศอย่างภาคภูมิใจต่อชาวโลกว่า ประเทศของตนได้ปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation: ILO) อย่างเคร่งครัดนั้น แรงงานเด็กอันเนื่องมาจากปัญหาความยากจนยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ทำให้หนูน้อยตัวเล็กที่บอกว่าตัวเองอายุเจ็ดขวบทั้งๆ ที่ดูแล้วน่าจะอายุไม่ถึง 4 ขวบ จำต้องเดินกรำแดดไปมาภายในตัวปราสาทอลังการอยู่ทั้งวัน เพื่อใช้แรงกายเดินเร่ขายโปสต์การ์ดใบละ 3 บาทให้กับนักท่องเที่ยวที่นานๆ จะเผลอใจอ่อนซื้อโปสต์การ์ดชุดละ 10 ใบกับเจ้าตัวเล็กสักครั้ง เพราะทนใจแข็งกับความจอมตื๊อของหนูน้อยไม่ไหว
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกัมพูชา ทำรายได้ให้แก่ประเทศถึงประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 33,000 ล้านบาท ในปี 2548 นับเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นอันดับต้นๆ รายได้จากธุรกิจ การท่องเที่ยวในกัมพูชา คิดเป็น 13.56% ของผลิตภัณฑ์ประชาชาติ (GNP) ของประเทศในปี 2548 เพิ่มขึ้นจากเพียง 1.6% ในปี 2538 จำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนกัมพูชา เพิ่มขึ้นถึง 546% ภายในระยะเวลาเพียง 1 ทศวรรษ จาก 220,000 คนในปี 2538 เป็น 1.4 ล้านคน ในปี 2548 (ข้อมูลจาก UNESCAP) นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ ที่ได้มาเยือนทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว น้อยรายที่จะยอมพลาดการไปเยือนเมืองเสียมเรียบเพื่อยลโฉมปราสาทนครวัด นครธม อันตระการตา
แต่ถึงกระนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวที่อยู่เที่ยวต่อในกัมพูชาจริงๆ เพื่อเยี่ยมชม เมืองอื่นๆ ของประเทศ กลับมีบางตา เพราะแต่ละคนรีบเดินทางไปเที่ยวประเทศ อื่นๆ ในภูมิภาคนี้ต่อ โดยส่วนใหญ่ใช้ไทย เป็นฐาน เนื่องจากสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวของไทยมีความพร้อมกว่าอีกหลายๆ ประเทศ ดังนั้นรายได้จากการท่องเที่ยวจึงไหลเข้าสู่ประเทศไทยมากกว่าจะตกไปถึงประเทศ เพื่อนบ้านอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้การกระจายรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในกัมพูชาไปสู่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวหลักๆ ของประเทศ เป็นไปได้อย่างยากลำบาก ประชาชนที่พอจะได้ประโยชน์จากการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวของกัมพูชา จึงกระจุกตัวอยู่เพียงในเมืองใหญ่ๆ อย่างเสียมเรียบ และพนมเปญ เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ องค์กร International Finance Cooperation (IFC)-องค์กรระหว่างประเทศด้านการเงินที่เปรียบเสมือน เป็นแขนขาของธนาคารโลก จึงได้ริเริ่มโครงการ "Stay Another Day" ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ "อยู่เที่ยว ต่อ" อีกสักวันสองวันในกัมพูชา และในอีก 2 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการคือ สปป.ลาว และเวียดนาม เพื่อเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นในแต่ละประเทศ โดยนำ เสนอประสบการณ์ใหม่ซึ่งนักท่องเที่ยวทั่วไปที่มักเที่ยวแบบ "ล่กๆ" ไม่มีโอกาสได้สัมผัส
โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนพัฒนาภาคเอกชนของกลุ่มประเทศในลุ่มน้ำโขง (The Mekong Private Sector Development Facility: MPDF) ขององค์กร IFC ซึ่งนอกจาก IFC แล้วยังมีประเทศพัฒนาแล้วอีกหลายประเทศที่ร่วมให้เงินสนับสนุนโครงการ คือ ออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์
Stay Another Day เป็นโครงการ ท่องเที่ยวที่มีจุดประสงค์ในการพัฒนาชุมชน ชาวบ้านยากจนในกัมพูชา เวียดนาม และลาว โดยพยายามดึงประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมาช่วยกระจายรายได้ให้ตกถึงชาวบ้านและ "คนชายขอบ" ของสังคม เช่น ผู้พิการทางกาย จากสงครามในกัมพูชา และชนกลุ่มน้อย
Stay Another Day เน้นการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม เชิญชวนให้นักท่องเที่ยว "อยู่ต่อ" ในแต่ละประเทศอีกสักวันสองวัน เพื่อไปเยี่ยมเยือนองค์กรและร้านค้าต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ศึกษางานช่วยเหลือชุมชนที่องค์กรแต่ละแห่งทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อช่วยให้ชาวเขมร ลาว และเวียดนาม ที่ด้อยโอกาสมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
สิ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้ก็คือ ความเข้าใจในปัญหาและสภาวะทางสังคมในประเทศทั้งสามได้ดีขึ้น ซึ่งทางโครงการหวังว่าเมื่อนักท่องเที่ยวเข้าใจดีแล้ว ก็จะหันมาให้ความช่วยเหลือองค์กรและประชาชนในประเทศทั้งสาม ทั้งโดยการบริจาคเงิน และการอุดหนุนสินค้าและบริการของชาวบ้าน ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่มักเป็นสินค้าหัตถกรรมที่ชาวบ้านผลิตมาโดยได้รับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทักษะความรู้จากกลุ่มองค์กรต่างชาติซึ่งเข้ามาช่วยพัฒนาด้านวิชาชีพให้แก่ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพเป็นผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรม และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนไว้ได้
ปัจจุบันมีองค์กรในกัมพูชาที่เข้าร่วม โครงการ Stay Another Day ประมาณ 52 องค์กรทั่วประเทศ เทียบกับ สปป.ลาว และเวียดนาม ที่มีสมาชิก 45 และ 17 องค์กร ตามลำดับ
Artisans d'Angkor เป็นหนึ่งในโครงการที่เข้าร่วมโครงการ Stay Another Day ของ IFC โดยเป็นโครงการความร่วมมือของ 4 องค์กรคือ The National Cambodian Institutions กระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส สหภาพยุโรป และโรงเรียน Chantiers-Ecoles de Formation Professionnelle (CEFP) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อจะช่วยกัมพูชาฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของกัมพูชา หลังจากประชาชนในประเทศต้อง เผชิญกับโศกนาฏกรรมของสงครามกลาง เมือง สมัยที่พอลพตเรืองอำนาจ Artisans d'Angkor จึงก่อตั้งโรงเรียน CEFP ขึ้นมา ในปี 2535 เพื่อช่วยรื้อฟื้นงานศิลปะ หัตถกรรมของกัมพูชาให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ โดยฝึกสอนงานหัตถกรรมให้แก่เด็กชนบทอายุระหว่าง 18-25 ปี ที่ด้อยโอกาสและด้อยการศึกษา ให้มีอาชีพที่มั่นคง และช่วยดำรงศิลปะของประเทศของตนให้สืบต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจไม่ให้เด็กๆ ย้ายถิ่นฐาน ออกจากหมู่บ้านของตนเพื่อไปดิ้นรนหางานทำตามเมืองใหญ่ๆ ซึ่งเยาวชนที่มาฝึกงานกับ Artisans d'Angkor นั้น นอกจากจะได้เรียนฟรีแล้ว ทางองค์กรยังมีค่าเบี้ยเลี้ยงพร้อมที่พัก อาหาร เสื้อผ้า และเครื่องมือในการประกอบอาชีพให้ด้วย สินค้าของ Artisans d'Angkor มีตั้งแต่งานแกะสลักหิน งานไม้ งานลงรักปิดทอง แต่ละชิ้นมีความงดงาม ตามแบบฉบับงานศิลปะดั้งเดิมของวัฒนธรรมเขมร แต่ในขณะเดียวกันก็ผสมผสานความร่วมสมัย ไว้ได้อย่างลงตัว ผลิตภัณฑ์ของ Artisans d'Angkor จึงเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว กระเป๋าหนักที่ยินดีจ่ายเงินสูงกว่าราคาสินค้าหัตถกรรมตามท้องตลาดทั่วไป เพื่อแลกกับงานศิลป์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ผสมผสานอยู่ในชิ้นงาน
นอกจากนี้ การที่ได้รับรู้ว่ารายได้จากการจำหน่ายสินค้าเหล่านี้จะถูกคืนไปให้ชาวบ้านยากจนผู้รังสรรค์งานศิลป์ ก็มีผลทางด้านจิตวิทยากับลูกค้านักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติไม่น้อย สินค้าของ Artisans d'Angkor จึงขายดิบขายดี จนทำให้โครงการสามารถเลี้ยงตัวเองได้และเลิกรับเงินช่วยเหลือจากภายนอกมาตั้งแต่ปี 2546
ปัจจุบัน Artisans d'Angkor จดทะเบียนในรูปของบริษัท และเปิดร้านจำหน่ายสินค้าขึ้น 2 แห่ง ที่ท่าอากาศยาน กรุงพนมเปญและเมืองเสียมเรียบ นอกจากนี้ร้านอาหาร Angkor Cafe ของ Artisans d'Angkor ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามของนครวัด ก็เป็นแหล่งระบายสินค้าให้กับองค์กรที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
นอกจาก Artisans d'Angkor แล้ว องค์กรอื่นๆ ที่เข้าร่วมในโครงการ Stay Another Day ยังมีอีกมากมาย เช่นองค์กร M'Lop Tapang ในสีหนุวิลล์ ให้ที่พักและความคุ้มครองแก่เด็กร่อนเร่พเนจร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เด็กๆ สามารถกลับสู่สังคมและดำเนินชีวิตได้อย่างปกติต่อไป สิ่งที่ทางองค์กรเสนอให้แก่นักท่องเที่ยวก็คือ การแสดงระบำนางอัปสรของเด็กข้างถนนที่เป็นสมาชิกขององค์กร รวมทั้งสินค้าของชำร่วย ที่เด็กซึ่งเคยถูกบังคับให้มาเป็นขอทานสมัยที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ เป็นผู้ผลิต มาขายให้แก่นักท่องเที่ยวตามชายหาด Serendipity ของเมืองสีหนุวิลล์
นอกจากนี้ยังมีองค์กร National Centre of Disabled Persons ซึ่งเปิดร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมที่ทำจากผ้าไหมสีสดใสโดยคนพิการที่เป็นสมาชิกขององค์กรร้านดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งของกระทรวงสตรี (Ministry of Women's Affairs) ในกรุงพนมเปญ อีกทั้งยังมีองค์กร Sangkheum Centre for Children ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลเด็กกำพร้า เด็กที่ถูกทำร้ายและเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ก่อตั้งโดย NGO จากประเทศอิตาลีชื่อ Progetto Continenti ร่วมกับองค์กร the Khmer Angkor Development Organisation (KADO) ของกัมพูชา สิ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสก็คือการเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์ ได้เรียนรู้ปัญหาของเด็กในกัมพูชา นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถเยี่ยมชมห้องผลิตผ้าไหมและเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตโดยสมาชิกขององค์กรด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านบางท่าน อาจคิดว่า โครงการ Stay Another Day เล่นกับการสร้าง "ความรู้สึกผิด (guilt)" ให้กับนักท่องเที่ยวมากเกินไปหรือเปล่า เพราะแต่ละโครงการเหมือนกับเป็นเพียงการเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวไปดูงานตามองค์กรการกุศลเพื่อจะได้รู้สึกเห็นใจ และจบลงด้วยการบริจาคเงินหรืออุดหนุนซื้อสินค้าขององค์กรเท่านั้น แล้วสำหรับนักท่องเที่ยวที่แค่อยากมาพักสมองในกัมพูชา โดยไม่ต้องการคิดถึงเรื่องปัญหาสังคมของประเทศยากจนแห่งนี้ให้รกสมองล่ะ เขาจะได้อะไร
คำตอบก็คือ Stay Another Day มีกิจกรรมให้เลือกทำหลากหลาย โดยแบ่งองค์กรที่เข้าร่วมโครงการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ องค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และองค์กรพัฒนาชุมชน นั่นหมายความว่า สมาชิกของโครงการไม่ได้จำกัดอยู่แค่องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO เท่านั้น แต่รวมไปถึง SMEs ธุรกิจเล็กๆ ที่ต้องการนำเสนอการท่องเที่ยวที่ไม่ได้ยึดแต่เรื่องเงินเป็นหลัก แต่เป็นธุรกิจ ที่คำนึงถึงการคืนกำไรให้กับสังคมด้วย
นั่นเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมร้านขาย คุกกี้เล็กๆ แต่มีสไตล์อย่าง Camory Premium Cookie Boutique ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบริเวณ Sisowath Quay ของกรุงพนมเปญถึงเข้ามาอยู่ในโครงการนี้ด้วย พนักงานของร้านจะได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมเพียงพอที่จะทำให้พวกเขาดำรงชีวิตได้อย่างไม่ลำบากนัก (living wage ไม่ใช่ ค่าแรงขั้นต่ำหรือ minimum wage) และ มีชั่วโมงการทำงานไม่หนักจนเกินไป อีกทั้งมีสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดี ร้านคุกกี้เล็กๆ แห่งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างชาวเขมรบางกลุ่มกับเพื่อนๆ ชาวสิงคโปร์ ขายคุกกี้หลายรสชาติในราคาพรีเมียม (ตามชื่อร้าน)
นอกจากสินค้าหลากหลายแล้ว Stay Another Day ยังมีสมาชิกที่นำเสนอ "บริการ" ให้แก่นักท่องเที่ยว เช่น องค์กร Khmer Architecture Tours ให้บริการนำเที่ยวเพื่อชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่และสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในกรุงพนมเปญ พร้อมรับความรู้ด้านสถาปัตยกรรม ผังเมือง และประวัติศาสตร์ของกัมพูชาอย่างเจาะลึกจากผู้เชี่ยวชาญ หรือองค์กร Pour un Sourire d' Enfant (แปลว่า 'เพื่อรอยยิ้มของเด็กๆ') ในกรุงพนมเปญ ตั้งขึ้นโดยคู่สามีภรรยาชาวฝรั่งเศส เพื่อช่วยเหลือเด็กเก็บขยะให้หลุดพ้นจากชีวิตที่ไร้อนาคต ได้เปิดบริการร้านอาหาร Le Lotus Blanc รวมทั้งให้บริการสปา นวดแผนโบราณ และ บริการตัด สระ ซอยผมให้แก่นักท่องเที่ยว โดยองค์กรจะนำรายได้จากธุรกิจดังกล่าวไปเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการช่วยเหลือเด็ก นอกจากนี้ยังมีโรงภาพยนตร์ Meta House ของนักสร้างภาพยนตร์ชาวเยอรมันร่วมกับเพื่อนชาวเขมรของเขาและสถาบัน International Academy ของมหาวิทยาลัยอิสระกรุงเบอร์ลิน (Free University of Berlin) เปิดฉายหนังอาร์ต และเปิดเวที ให้นักดนตรีชาวเขมรแสดงฝีมือได้อย่างเต็มที่ หรือศูนย์ฝึกอบรมด้านการท่องเที่ยว ตนเล (Tonle Tourism Training Centre) องค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจาก NGO สัญชาติสวิสชื่อ Tourism for Help ให้บริการที่พักแก่นักท่องเที่ยวในรูปแบบของเกสต์เฮาส์ โดยพนักงานเป็นเยาวชนในพื้นที่ที่มาจากครอบครัวฐานะยากจน ซึ่งได้รับการฝึกฝนวิชาชีพด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ
เช่นเดียวกับโรงเรียน Paul Dubrule School of Hotel and Tourism ของ Paul Dubrule หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มโรงแรม Accor ซึ่งหันมาจัดตั้ง NGO ชื่อ Formation et Progres Cambodge ทำหน้าที่ให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนในกัมพูชาที่สนใจจะเรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อจะได้มีวิชาชีพติดตัวไปประกอบอาชีพในอนาคต
นอกจากนี้โครงการ Stay Another Day ยังได้ผลิตคู่มือแนะนำสมาชิกของโครงการฯ ในกัมพูชา เพื่อแจกจ่ายให้แก่นักท่องเที่ยวตามโรงแรม และสถานท่องเที่ยวต่างๆ โดยการจัดพิมพ์คู่มือดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนจาก IFC และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งรัฐบาลประเทศเยอรมนี หรือ GTZ (Deutsche Gesellschaft fur Technische Zusammenarbeit)
เม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากต่างชาติบวกแรงกายแรงใจจากองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรพัฒนาเอกชนจากต่างแดน ช่วยให้กัมพูชากำลังจะถีบตัวทิ้งห่างจากการเป็นประเทศยากจน กลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาเทียบเท่ากับประเทศไทยที่มักทำตัวเป็นพี่เบิ้มในภูมิภาคนี้ได้ในเวลาอีกไม่นานเกินไปนักหลังจากที่ต้องตกอยู่ในยุคมืดทางการเมืองมานานกว่า 30 ปี
ข้อได้เปรียบของกัมพูชาคือ ในขณะที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจกำลังดำเนินไปอย่างเร่งรัด การพัฒนาทางสังคม ก็มิได้ถูกทอดทิ้ง โดยที่กัมพูชาได้รับความ ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ที่ยังคงให้โควตาส่งออก เสื้อผ้าแก่กัมพูชาอย่างต่อเนื่อง แม้ระบบโควตาสิ่งทอหรือข้อตกลง Multi-Fibre Arrangement (MFA) ภายใต้องค์การการค้าโลกจะสิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 ก็ตาม โดยมีข้อแม้ว่าโรงงานผลิตเสื้อผ้าส่งออกจะต้องเข้าร่วมโครงการตรวจมาตรฐานแรงงาน "Better Factories Cambodia" ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO
สำหรับการพัฒนาทางด้านสังคมนั้น กัมพูชาก็ยังได้ความร่วมมือมากมายจากองค์กรต่างชาติ โดยมีฝรั่งเศสประเทศ ที่มีอำนาจเหนืออธิปไตยของกัมพูชามาก่อน เป็นโต้โผในการจัดแจงกิจกรรมต่างๆ ส่วน หนึ่งคงเป็นเพราะความสัมพันธ์ทางการเมืองอันแน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศที่ยังตัดกันไม่ขาด อีกส่วนหนึ่งคือความผูกพันของประชาชนชาวฝรั่งเศสเอง ที่มีต่อกัมพูชาถึงขนาดตัดสินใจย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่นี่ เพราะตกหลุมรักประเทศ เล็กๆ แห่งนี้ บางรายนิยมกัมพูชามากกว่า ประเทศไทยเสียอีก เพราะรู้สึก "คุ้นเคย" กว่า
อาจารย์สอนภาษาชาวฝรั่งเศสที่ผู้เขียนได้รู้จักในกรุงพนมเปญเล่าว่า พนมเปญยังมีร่องรอยแห่งความเป็นฝรั่งเศสหลงเหลืออยู่มาก ทั้งร้านอาหารฝรั่งเศสมากมาย ที่เสิร์ฟอาหารรสชาติเป็น ฝรั่งเศสแท้มากกว่าร้านอาหารฝรั่งเศสราคาแพงในกรุงเทพฯ อีกหลายแห่ง หลายคนหลงใหลเสน่ห์แห่งความเงียบสงบและชีวิตที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้าในบางพื้นที่ของกัมพูชา ซึ่งยังไม่ถูกกระทบจากแรงเหวี่ยงของอานุภาพแห่งโลกาภิวัตน์และกระแส "การพัฒนา" มากเท่ากับประเทศไทย
จึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะเห็นโครงการพัฒนาชุมชนและสังคมในกัมพูชา ที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด ซึ่งในกรุงพนมเปญเอง ตึกรามบ้านช่องมากมายที่ดูเผินๆเหมือนเป็นเพียงบ้านหลังโตของผู้มีอันจะกิน แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นที่ตั้งของสำนักงานของหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์การยูเนสโก ยูนิเซฟ องค์การ อนามัยโลก (WHO) และสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ฯลฯ นับว่ามากมายทีเดียวสำหรับประเทศเล็กๆ ที่มีพื้นที่เพียง 181,035 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้
Stay Another Day เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกัมพูชากับประเทศพัฒนาแล้วหลากหลายประเทศ ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาอย่างเต็มที่หากได้รับการขอร้อง ดังกรณีของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกที่กัมพูชาได้แรงสนับสนุนจากประเทศยักษ์ใหญ่ ซึ่งควรจะเป็นบทเรียนราคาแพงให้แก่ไทย ถึงการ "ไม่รู้จักเขา ไม่รู้จักเรา" เพราะคนไทยไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านของตนเท่ากับที่เพื่อนบ้านของเราให้ความสำคัญกับเรา ชาวกัมพูชาเกือบทุกบ้านดูรายการโทรทัศน์ จากไทย ซึ่งไม่เพียงแต่ละครเท่านั้นที่เขาดู แต่รวมไปถึงรายการข่าวและความเป็นไปต่างๆ ในสังคมไทย แต่ไทยเองกลับเมินเฉยที่จะรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านของตน มีคนไทยสักกี่คนที่ติดตามข่าวสารและได้ดูรายการโทรทัศน์จากประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าไม่ใช่คนไทยที่อาศัยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนระหว่างไทยกับ สปป.ลาว และกัมพูชา
Stay Another Day บ่งบอกถึงนัยสำคัญให้ไทยรับทราบว่า กัมพูชาในปี 2551 นี้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยดังที่หลายคนเข้าใจ (ผิด) เพราะในฐานะที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาฐานะยากจน กัมพูชาได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร อีกทั้งตลาดส่งออก รวมทั้งเงินอุดหนุนจากประเทศต่างๆ ที่ยินดีที่จะยื่นมือเข้ามาเกื้อหนุนกัมพูชาในทุกๆ ด้าน ซึ่งเครือข่ายพันธมิตรในต่างแดนที่หลากหลายของกัมพูชานี้อาจเป็นจุดบอดที่ไทยเรามองข้ามมาโดยตลอด
ก็ได้แต่หวังว่า ความช่วยเหลือจาก องค์กรต่างประเทศอย่างโครงการ Stay Another Day ที่พรั่งพรูเข้ามาสู่ประเทศเพื่อนบ้านของเรานั้นจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในกัมพูชาในเวลาไม่ช้า และเร็วพอที่จะช่วยให้น้องหนูวัยเจ็ดขวบที่วิงวอนให้ผู้เขียนซื้อโปสต์การ์ดจากเธอนั้น หลุดพ้น จากการต้องใช้แรงงานเด็กของเธอเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว
และก็หวังต่อไปว่า ภาพเด็กน้อยตัวเล็กๆ ที่ต้องตะเบ็งเสียง "อั่งก่อวัด อั่งก่อวัด บ่าย้น..." แข่งกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันจะกลายเป็นเพียงภาพแห่งความทรงจำในอดีตของนครวัดเท่านั้นในอนาคตอันใกล้นี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|