|
ด้านร้ายของมรดกโลก
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)
กลับสู่หน้าหลัก
บางทีการได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกอาจสร้างผลร้ายมากกว่าผลดี
ผลกระทบจากการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ความพยายามที่จะประเมินคุณค่าของการเป็นมรดกโลกได้ดำเนินไปอย่างกว้างขวาง
นิตยสาร Newsweek ฉบับ 10 เมษายน 2006 ได้นำเสนอเรื่องราวของ Castel del Monte ในอิตาลี ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 1996 ความคู่กับความเป็นไปของมรดกโลกในพื้นที่ ต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ
รายงานที่ชื่อ "The Curse of Approval"มีรายละเอียดของเรื่องราวดังนี้
เมื่อจักรพรรดิ Frederick ที่สองแห่งจักรวรรดิ โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ทรงก่อสร้างป้อมปราการ Castel del Monte บนภูเขาอันโดดเดี่ยวใน Puglia ที่ซึ่งเป็นชัยภูมิอันดีเยี่ยม ทำให้พระองค์ทอดพระเนตร เห็นข้าศึกที่เคลื่อนทัพเข้ามาใกล้ได้อย่างชัดเจนในปี คริสต์ศักราช 1240 นั้น
พระองค์คงไม่เคยคิดไปถึงว่า สถานที่ที่พระองค์ทรงสร้างแห่งนี้จะกลายเป็นจุดหมายปลาย ทางอันมีชื่อเสียง และคงจะทรงคิดไม่ถึงเช่นกันว่า ศัตรูที่กำลังกรีธาทัพเข้ามานั้นจะกลับกลายเป็นนักท่องเที่ยว
แต่ในวันนี้ปราสาทโบราณแห่งนี้ถูกขัดสีฉวีวรรณจนเอี่ยมลออไว้รอต้อนรับคาราวานรถบัส หลากสีสันนับร้อยๆ คัน ที่จะค่อยๆ ไต่ขึ้นไปตามถนนที่ทอดยาวคดเคี้ยวขึ้นไปสู่บริเวณที่เป็นที่ตั้งตัวปราสาทโบราณอายุหลายร้อยปีนั้น ซึ่งบัดนี้ระเกะระกะไปด้วยแผงขายเสื้อยืด และสัญลักษณ์ของ Coca-Cola รวมทั้งที่จอดรถขนาดใหญ่ที่จอดรถได้ 200 คัน
ทั่วทั้งพื้นที่ที่เคยมีแต่ความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ในภาคใต้ของอิตาลี บัดนี้กลับมีนักท่องเที่ยวจำนวน มากที่ต่างกระวีกระวาดแวะเที่ยวที่นั่นที่นี่ไปทั่วทั้งแถบนี้ อย่างเช่น บ้านหิน trullo ใน Alberobello ซากถ้ำแห่ง Matera ในเมือง Basilicata
สถานที่ทั้งหมดนี้คงจะมีน้อยคนนักที่จะเคยรู้จักหรือแม้กระทั่งเคยได้ยิน
หากไม่ใช่เป็นเพราะองค์การการศึกษา, วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ที่ประกาศให้สถานที่เหล่านั้นเป็นมรดกโลก
โดยทางการแล้ว เจตนาของ UNESCO ที่ยกย่องให้เกียรติสถานที่ที่เป็นเหมือนตัวแทนของอารยธรรมโบราณก็เพราะต้องการจะทำให้แน่ใจว่า สถานที่นั้นๆ จะได้รับการปกปักรักษา
แต่หากจะพูดอย่างไม่เป็นทางการแล้ว การยกย่องให้สถานที่ใดเป็นมรดกโลก ก็เปรียบเสมือนเสกอัญมณีทางวัฒนธรรมที่ไม่เป็นที่รู้จักเหล่านั้นให้กลายเป็นสถานที่น่าดึงดูดใจของนักท่องเที่ยวภายในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นระหว่างสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกับเขาบ้าง
นั่นไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป "บางครั้งสถานที่ที่ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงมาก จนกลายเป็นเรื่องยากมากที่จะสามารถเข้าไปเยี่ยมเยือนหรือชื่นชมได้" Francesco Bandarin ผู้อำนวยการศูนย์มรดกโลก (World Heritage Center) ของ UNESCO ยอมรับ
"และนั่นก็คือปัญหาใหญ่ของการที่ทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาอย่างมาก"
อันที่จริงแล้วเริ่มมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า การยกย่องให้สถานที่ใดได้เป็นมรดกโลกนั้น ในที่สุดแล้วอาจจะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี
Lisa Mastny ที่ปรึกษาอาวุโสสถาบัน World Watch Institute ชี้ว่า การท่องเที่ยวเป็นดาบสองคม สำหรับสถานที่ที่ได้รับยกย่องว่ามีคุณค่าโดดเด่นต่อมนุษยชาติ
เพราะการเป็นมรดกโลกเปิดโอกาสให้แก่ชุมชนยากจนที่เป็นเจ้าของมรดกโลกนั้นได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวผลตอบแทนทางการเงิน
แต่ขณะเดียวกันก็กลับเป็นภัยคุกคามต่อมรดก โลกนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นมรดกโลกที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือมรดกโลกทางธรรมชาติก็ตาม ซึ่งที่จริงก็เป็นฐาน ให้แก่การสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขึ้น ณ สถานที่ แห่งนั้น
ซากเมืองโบราณ Chichen Itza ของชาวเผ่า มายาโบราณในเม็กซิโก กลายเป็นสถานที่มีชื่อเสียงหลังจาก UNESCO ประกาศให้เป็นมรดกโลกในปี 1988 ทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไปเยี่ยมชมเป็น จำนวนมาก
ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 5,000 คนต่อวันที่เข้าไปเยือนเมืองโบราณแห่งนี้ทำให้ซากเมือง โบราณมีสภาพไม่ผิดกับสวนสนุกดิสนีย์แลนด์
ที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นคือ เมืองโบราณแห่งนี้กำลังตกอยู่ในอันตรายของการสึกกร่อนผุพังจากการถูกเดินเหยียบย่ำอย่างไม่หยุดไม่หย่อนของนักท่องเที่ยว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงพฤติกรรมที่เข้าข่ายทำลาย สถานที่ท่องเที่ยวที่เห็นเด่นชัดอื่นๆ อีก
ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ การได้รับประกาศให้เป็น มรดกโลกนั้น ไม่ได้มาพร้อมกับเงินรางวัลก้อนโตแต่อย่างใด
เพราะหลังจากที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก ยังต้องผ่านกระบวนการที่เต็มไปด้วยขั้นตอนที่ยุ่งยากมากมายซึ่งต้องใช้เวลาอีกเกือบ 5 ปี นับจากวันที่สถานที่แห่งนั้นได้รับยกย่องเป็นมรดกโลก
ซึ่งในช่วงเวลานั้น สถานที่เหล่านั้นจะถูกทิ้งให้ต้องดิ้นรนด้านการเงินไปตามลำพัง เงินทุนที่มีอยู่เพียงอย่างเดียวจากกองทุนมรดกโลก (World Heritage Trust) อยู่ในรูปของเงินกู้ยืมเท่านั้น หรือผ่านองค์กรเอกชนอย่างเช่น มูลนิธิ United Nations Foundation ของ Ted Turner
ถึงกระนั้นการแข่งขันก็ยังคงดุเดือด ช่วงเวลา 27 ปีหลังจาก UNESCO เริ่มประกาศให้สถานที่ 12 แห่งเป็นมรดกโลกแห่งแรกๆ ของโลก รายชื่อมรดกโลกได้เพิ่มขึ้นเป็น 812 แห่งแล้วในวันนี้ (ข้อมูล เมื่อครั้งตีพิมพ์)
ภายใต้รัฐบาลที่รู้จักบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด จะมีการกันส่วนหนึ่งของรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นไปใช้ในการบำรุงรักษามรดกโลกแห่งนั้น อย่างเช่นกรณีปราสาท Caltel del Monte ของอิตาลี ค่าผ่านประตูที่เก็บได้จะถูกนำไปใช้ในการบำรุงรักษามรดกโลกดังกล่าวโดยตรง
แต่กรณีของอิตาลีต้องถือ เป็นข้อยกเว้น เพราะสถานที่ที่เป็นมรดกโลกส่วนใหญ่มักอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งถูกรุมเร้าทั้งจากปัญหาคอร์รัปชั่น ความขัดแย้งภายใน และความยากจนขนาดหนัก
ยิ่งกว่านั้น หายนภัยไม่ว่า จากธรรมชาติหรือฝีมือมนุษย์สามารถจะทำลายได้แม้กระทั่งแผนที่วางไว้อย่างดี อย่างเช่นรัฐบาลอิหร่าน ไม่สามารถจะฟื้นเมืองมรดกโลก Bam มรดกทางวัฒนธรรมซึ่งถูกทำลายจากแผ่นดินไหวได้
แนวปะการังใหญ่ Great Barrier Reef ของ ออสเตรเลีย และภูเขา Everest ของเนปาล ซึ่งต่างเป็นมรดกโลก ก็กำลังตกอยู่ในอันตรายที่เกิดจาก ภาวะโลกร้อน อันเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่อาจแก้ไขกลับ กลายได้ด้วยรัฐบาลของประเทศนั้นๆ เพียงฝ่ายเดียว
เริ่มมีความรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า การได้เป็น มรดกโลกจาก UNESCO เป็นสิ่งที่ไร้ค่า หรือที่เลวร้ายกว่านั้นคือถึงกับเปล่าประโยชน์หรือติดลบ หากไม่ตามมาด้วยการจัดทำโครงการหรือแผนการที่จะอนุรักษ์ปกป้องสถานที่นั้น
ในช่วงแรกๆ ที่เริ่มมีการยกย่องให้สถานที่บางแห่งเป็นมรดกโลกนั้น ยังไม่ค่อยมีใครสนใจมากนักว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหลังจากที่สถานที่นั้นได้เป็นมรดกโลกแล้ว
Joseph King แห่งศูนย์ศึกษาการอนุรักษ์และฟื้นฟูสถานที่ทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ (International Centre for the Study of the Preservation and Restoration of Cultural Property: ICCROM) ซึ่งอยู่ในกรุงโรมกล่าว แต่ความคิดนั้นก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ
ในแอฟริกา sub-Sahara มีการทำโครงการฝึกอบรมนาน 12 ปีที่มีชื่อว่า Africa 2009 เพื่อสอน ให้คนท้องถิ่นไม่เพียงแต่รู้จักวิธีปกปักรักษาโบราณสถาน หรือสถานที่ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังสอนวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากสถานที่เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ในเชิงการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย
ในยุโรปตะวันออก การท่องเที่ยวกำลังกลาย เป็นสินค้าตัวใหม่ เมืองต่างๆ กำลังขอให้ช่วยคิดว่า จะขีดเส้นแบ่งระหว่างการอนุรักษ์สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์กับการส่งเสริมการพัฒนาในเขตเมืองได้อย่างไร เส้นแบ่งควรจะอยู่ตรงไหน
Tomas Hajek ผู้อำนวยการสำนักพิทักษ์อนุสรณ์แห่งชาติแห่งสาธารณรัฐเช็ก (Czech National Monument Protection Office) เสนอให้จัดสรรเขตหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อจัดให้เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์และสร้างอาคารใหม่ๆ ทั้งหมดในบริเวณที่เป็นมรดกโลกรวมไว้ที่เขตนี้เท่านั้น
"กรุง Prague จะสูญเสียมนต์เสน่ห์ หากเราอนุญาตให้สร้างตึกสูงๆ จำนวนมากจน รกเส้นขอบฟ้า" Hajek เตือน
อย่างไรก็ตาม เขายอม รับว่า "การได้เป็นมรดกโลกโดย การประกาศของ UNESCO เป็น หลักประกันว่ามรดกของเราจะได้รับการปกป้องคุ้มครอง แม้ว่าจะทำให้เราได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากพวกนักพัฒนา ก็ตาม"
ในส่วนของ UNESCO กำลังพยายามอย่างดีที่สุดที่จะทำให้มรดกโลกทั้ง 812 แห่งเป็นตัวอย่างที่ดีของการอนุรักษ์ แต่นั่นก็จำเป็นต้องอาศัยพึ่งพาการท่องเที่ยวในการปกปักรักษา มรดกโลก
UNESCO ได้จับมือกับบริษัทหลายแห่งอย่าง Expedia และ Jet Tours ในการพยายามจะทำตลาดการท่องเที่ยวสถานที่ที่เป็นมรดกโลก และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือการสอนนักท่องเที่ยวให้รู้จักรับผิดชอบเมื่อไปเยือนสถานที่เหล่านั้น
UNESCO ยังร่วมมือกับ ICCROM และหน่วย งานอื่นๆ ขอให้บรรดาบรรณาธิการของหนังสือคู่มือ ท่องเที่ยวอย่าง Michelin และ Lonely Planet ให้อุทิศหนึ่งหน้าสำหรับสอนวิธีการเยือนสถานที่มรดกโลกที่ถูกต้อง
โดยสิ่งที่ UNESCO ต้องการให้สอนนักท่องเที่ยวมากที่สุดก็ได้แก่ "ห้ามเคลื่อนย้ายวัตถุใดๆ" "ห้ามดูหมิ่นคนท้องถิ่น" "เป็นเรื่องสำคัญมากที่นักท่องเที่ยวควรจะเข้าใจว่า สถานที่เหล่านี้ดำรงอยู่ มานานแล้ว" King แห่ง ICCROM กล่าว
ด้วยความพยายามที่จะปกปักรักษาสถานที่เหล่านั้นก็จะสามารถคงอยู่เป็น "มรดกโลก" สมกับ ชื่อของมันต่อไปอีกตราบนานเท่านาน
แปลและเรียบเรียงโดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|