อยุธยา มรดกโลก...บนซากไร้วิญญาณ

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2551)



กลับสู่หน้าหลัก

อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน จิตใจอาวรณ์มาเล่าสู่กันฟัง...

หากอดีตที่รุ่งเรืองของอยุธยาสะท้อนให้เห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมและร่องรอยแห่งอารยธรรม จนได้รับการประกาศให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ความเป็นไปของอยุธยาในวันนี้ กำลังรอคอยการประเมินคุณค่าครั้งใหม่ที่อาจมีนัยความหมายและท้าทายอย่างยิ่ง

โบราณสถานภายในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยายังคงตั้งตระหง่าน แม้บางส่วนจะ ถูกทำลายให้หักโค่นลงจากภาวะสงครามเมื่อกว่า 200 ปีก่อน การกร่อนพังไปกับกาลเวลาตามวิถีจากธรรมชาติเป็นประหนึ่งอนุสรณ์ที่คอยบอกกล่าวเรื่องราวให้อนุชนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงหลักอนิจลักษณ์

การมีอยู่ของโบราณสถานจำนวนมากมายในเขตเมืองอยุธยา ดำเนินเคียงคู่ไปกับการขยายตัว ของชุมชนเมือง ซึ่งแม้ว่ากรณีดังกล่าวจะได้รับการถกแถลงและแสวงหาแนวทางในการบริหารจัดการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

หากแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้ากลับกลายเป็นว่า การวางผังเมือง การจัดรูปและใช้ประโยชน์ในที่ดิน ดำเนินไปโดยปราศจากทิศทางที่ชัดเจน

ขณะที่โบราณสถานจำนวนไม่น้อยได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ พร้อมการเกิดขึ้นของทัศนะที่แปร่งปร่า ออกไป

มูลเหตุสำคัญของกรณีดังกล่าวประการหนึ่งอยู่ที่การให้คุณค่าความหมายในลักษณะที่มุ่งเน้นไปที่ความอลังการใหญ่โตทางวัตถุ ซึ่งทำให้การบูรณะ ซ่อมแซมโบราณสถาน จำนวนไม่น้อยดำเนินไปอย่าง ผิดหลักวิชาการและไม่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์

กรมศิลปากร ซึ่งเดิมเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานบูรณะซ่อมแซมโบราณสถาน ผ่านกลไกระดับกองต่างๆ ถูกผลักให้ถอยห่างออกไป เมื่อมีความพยายามปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน พร้อมกับ เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถเข้ามารับงานประมูลบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานเหล่านี้ได้

บ่อยครั้งที่งานบูรณะซ่อมแซมซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจ รวมถึงความคลาดเคลื่อนในมิติของข้อเท็จจริงว่าด้วยวัสดุ รูปแบบ และองค์ประกอบที่เกี่ยว เนื่องนี้กลายเป็นการทำร้ายฝีมือช่างและจิตวิญญาณ ที่มีอยู่ในงานสถาปัตยกรรมและประติมากรรมดั้งเดิม ลงอย่างสิ้นเชิง

กรณีดังกล่าวต่อเนื่องไปสู่การละเลยที่จะให้ข้อมูลพื้นฐานของสถานที่แต่ละแห่งภายในอุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งควรเป็นจุดเริ่มต้นและแรงบันดาล ใจให้เกิดการศึกษา ค้นคว้า และการเรียนรู้ที่มีมิติเชื่อมประสานกับวิถีและความเป็นไปในลักษณะของ living culture

ทำให้อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นอุทยานแห่งการเรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ซึ่งควรเป็นแหล่งค้นคว้า ศึกษา และสื่อแสดง ความเป็นไปเชิงประวัติศาสตร์ได้อย่าง ครบถ้วนสมบูรณ์

การส่งผ่านข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของอยุธยา ทำให้เป็นเพียงงานประจำปีที่มีจุดเน้นอยู่ที่การแสดงนาฏศิลป์ประกอบแสงสีเสียง แทนที่จะมุ่งให้เกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้อย่างรอบด้าน

เมื่อมหกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านพ้นไป โบราณสถานภายในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาถูกปล่อยให้เป็นประหนึ่งซากโบราณสถานกลางแจ้งที่ไม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับ ความเป็นไปของอยุธยาในวันนี้ได้

"เรากำลังทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเพียงเรื่องของหินดินทราย มากกว่าที่จะพิจารณาในมิติของสังคม" ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในช่วงหนึ่งของการสนทนา

มิติทางสังคมที่ถูกละเลยในกรณีของอยุธยาที่เด่นชัด ประการหนึ่งอยู่ที่ความไม่สามารถในการรักษาและยกระดับให้อยุธยามีฐานะเป็นประหนึ่งศูนย์กลางของการศึกษาและค้นคว้าวิจัยในเชิงประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาของไทย

ทั้งที่อยุธยาเป็นศูนย์กลางของรัฐไทยในอดีต มาอย่างยาวนาน

ร่องรอยความจำเริญและเสื่อมลงของอยุธยา ซึ่งควรจะมีโอกาสเปิดเผยและส่งผ่านองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ ให้กับคนรุ่นหลัง กลับ มีค่าเป็นเพียง "ทรัพย์สมบัติของผู้วายชนม์" ที่พร้อม จะถูกขุดขึ้นมาขายกิน

ภาพขบวนแถวของกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างแดนกรูเข้ามาที่ประตูทางเข้า ขณะที่มัคคุเทศก์พยายามสื่อความให้เห็นถึงความเป็นไป

ซึ่งแน่นอนว่าบทบรรยายที่ถูกกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่านับร้อยนับพันครั้ง ย่อมไม่พ้นเรื่องราวความยิ่งใหญ่ และความงดงามวิจิตรบรรจงของเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และเป็นราชธานีของชาวสยามมานานกว่า 400 ปี

ก่อนจะนำไปสู่บทสรุป ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของความเรืองรองไว้ที่การกรีธาทัพของผู้รุกราน เผาทำลายทุกอย่างไว้ภายใต้เปลวเพลิงแห่งสงคราม

กลายเป็นปรากฏการณ์ปกติสามัญที่เกิดขึ้นในอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้

อยุธยาในมิติดังกล่าวจึงถูกผลักให้เป็นเพียงเศษซากที่ไร้วิญญาณ และรอคอยการล่มสลายครั้งใหม่ ซึ่งกำลังคืบคลานมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง ทางสังคม

อุทาหรณ์ของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปที่ ส่งผ่านออกมาจากความเป็นไปของอยุธยา ย่อมมิได้ มีบทสรุปหยุดอยู่ที่การเข้ารุกรานของกองกำลังต่างชาติ หากอยู่ที่รูปการณ์จิตสำนึกว่าด้วยการพัฒนา ที่ถาโถมเข้ามาสู่สังคมไทยในช่วง 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมา

ควบคู่กับมรดกของความพยายามที่จะเสริมสร้างให้ประเทศไทย มีเกียรติและศักดิ์ศรีในสังคมการเมืองระหว่างประเทศ ด้วยการปรุงแต่งและเติมเต็มให้เกิดเรื่องราวในลักษณะ "เขามี...เราก็มี" ที่ดำเนินมากว่าศตวรรษ

ทัศนะของการพัฒนาที่มุ่งหมายจะสร้างงานและกระจายรายได้จากส่วนกลาง ไปสู่พื้นที่รอบนอก และชนบทไทย ดำเนินไปท่ามกลางโครงร่างที่กำหนด ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ขณะเดียวกันกลไกรัฐยังคาดหวังว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยว จะหนุนนำให้เกิดความจำเริญทาง เศรษฐกิจ และเป็นการนำพาวัฒนธรรมไทยให้แพร่หลายปรากฏในสายตาของผู้มาเยือนจากนานาประเทศด้วย

กิจกรรมขี่ช้างรอบอุทยานประวัติศาสตร์เป็นภาพสะท้อนของแนวคิดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ความเป็นไปของกิจกรรมขี่ช้าง นอกจากจะเป็นการสร้างงานให้กับผู้คนที่เกี่ยวเนื่องกับช้างจำนวน หนึ่งแล้ว ธุรกิจการถ่ายภาพนักท่องเที่ยวขณะขี่ช้างก็กำลังดำเนินไปอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยมิต้องคำนึง ว่ากิจกรรมดังกล่าวกำลังส่งให้อยุธยา เป็นเพียง another adventurous place แต่อย่างใด

ภาวะทันสมัยแต่ไม่พัฒนา ซึ่งเกิดจากแนวคิด ของการพัฒนาที่บกพร่อง ทำให้การวางผังเมือง การจัดรูปและใช้ประโยชน์ในที่ดิน ดำเนินไปโดยปราศจากทิศทางที่ชัดเจน

ก่อให้เกิดทัศนะอุจาดขึ้นหลากหลายในอยุธยา โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบของเกาะเมือง ซึ่งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

สำนึกทางประวัติศาสตร์อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมชมโบราณสถานแต่ละแห่งในประเทศไทย มีจำนวนน้อยกว่านักท่องเที่ยวที่ไปสถานตากอากาศชายทะเล น้ำตกหรือแหล่งพักผ่อนเชิงสันทนาการแห่งอื่นๆ

แต่นั่นย่อมไม่ใช่มูลเหตุที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ เกี่ยวข้องจะปฏิเสธความรับผิดชอบ

เพราะการประเมินผลในมิติของมูลค่าการท่องเที่ยวในแต่ละปีจะมีความหมายอย่างไร หากประชาชนคนในชาติ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แท้จริง ไม่สามารถเก็บเกี่ยวคุณค่า เพื่อจรรโลง สติปัญญาได้

ข้อเท็จจริงที่น่าเศร้าใจก็คือ ขณะที่หน่วยงาน ของรัฐไทย มุ่งเน้นไปที่การจัดเก็บรายได้ โดยละเลย หรือขาดความสามารถในการส่งผ่านข้อมูลความเป็นไปของอยุธยาได้อย่างมีระบบระเบียบ

หน่วยงานจากต่างประเทศกลับทวีบทบาทดังกล่าวแทนและก้าวหน้าไปไกลแล้ว

อาคารผนวก ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ภายในหมู่บ้านญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในกรณีนี้

นิทรรศการและสื่อแสดงที่จัดสร้างไว้ภายใน ไม่เพียงแต่จะบอกกล่าวเรื่องราวความเป็นไปในอยุธยาเท่านั้น หากยังเชื่อมโยงให้เห็นมิติที่เกี่ยวเนื่อง สัมพันธ์กันระหว่างอยุธยากับความเป็นไปของโลก และกับญี่ปุ่นอย่างแหลมคมด้วย

ขณะที่เรื่องราวการลงหลักปักฐานของชาวญี่ปุ่น เมื่อครั้งอยุธยารุ่งเรือง โดยเฉพาะกรณีของ Yamada Nagamasa กลายเป็นต้นทางของแรงบันดาลใจให้กับชาวญี่ปุ่นในยุคหลังอีกเป็นจำนวนไม่น้อย ในการเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ของชีวิต

เป็นการช่วงชิงพื้นที่ในการให้ข้อมูล พร้อมกับ กำหนดนิยามตีความปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ ให้มีนัยความหมายสอดรับกับบริบทและวิถี การดำเนินไปทางยุทธศาสตร์และแนวนโยบายของทั้งภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นอย่างมีเอกภาพ

ความยิ่งใหญ่อลังการที่สะท้อนความเรืองรอง เมื่อครั้งอดีตของพระนครศรีอยุธยาในฐานะราชธานี ที่ยืนยาวกว่า 4 ศตวรรษของสยามประเทศ ปัจจุบันเหลือเพียงซากปรักหักพัง กำลังเป็นกระจกเงาบานใหญ่ให้สังคมไทยได้พิจารณาตัวเองก่อนก้าวไปข้างหน้าอีกครั้ง

หรือเราควรจะถอยหลังดี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.